วันนี้ ลืมตาตื่นเช้ากว่าทุก ๆ วัน จะเป็นเพราะฟ้าสางแดดแทงตา หรือเพราะเสียงนกร้องอยู่รอบบ้านก็อาจเป็นได้ ที่มานอนในบ้านพักของกรมป่าไม้ ในป่ามีนกร้องเพลงด้วยเสียงอันไพเราะนอนฟังเหล่านกส่งเสียงประสานรับกันอยู่ นาน ต้องรีบลุกขึ้น เพราะนัดกับชาวบ้านทานอาหารเช้าตอน 08.00 น.
มาป่าคราวนี้ก็เพราะชาวบ้าน บ้านห้วยระหงส์ เพชรบูรณ์ ชวนมาช่วยทีมวิจัยโลกร้อน เพราะทุกวันนี้ถ้าไม่แล้งและร้อนสุดๆ ก็จะมีฝนตกน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ภาวะกลาง ๆ แทบจะหาไม่ได้ ใคร ๆ ก็พูดถึงโลกร้อน พี่น้องบ้านห้วยระหงส์จึงต้องการวิจัยว่า วิถีชีวิตพวกเขาช่วยให้โลกเย็นมากกว่าทำให้โลกร้อน เขาอยากเป็นเจ้าของข้อมูลเอง โจทก์ครั้งนี้ทำให้ต้องคิดอยู่มาก งานที่ทำต้องไม่ยากและแม่นยำ
เรา มีนัดทานอาหารเช้าที่บ้านพี่เอ๋ เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ฝาไม้ไผ่ขัดแตะ ใต้ถุนสูง ผมได้รับเกียรติให้ขึ้นบันไดคนแรก กลัวผมตกบันได คงรอรับอยู่ข้างล่าง
เบรคฟาสท์เช้านี้มีปลาแดดเดียวทอด ผักกาดนกเขา ลูกผักหวานและน้ำเต้าลวก น้ำพริกแจ่ว ถั่วฝักยาวผัด ข้าวสวยร้อน ๆ เรียบง่าย แต่อร่อยมากๆ เอาไข่ดาวหมูแฮมมาแลกก็ไม่ยอม เจ้าของบ้านทั้งพ่อแม่ และลูกอีกสองคน สี่ชีวิต ต่างอยู่ในทีมวิจัยโลกร้อน
วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวโพด บ้างก็เปลี่ยนมาปลูกผลไม้ เช่น มะขาม มะม่วง ลำไย เป็นต้น ที่ทำไร่ข้าวโพด ภายหลังเก็บเกี่ยวก็ไถฝังกลบต้นข้าวโพดและแกลบ บ้างปลูกถั่วแดงแทรกก่อนเก็บเกี่ยวข้าวโพด แล้วไถฝังกลบ
คนไม่มีที่ดินทำกินก็เก็บหาของป่าขาย เช่น ผักหวาน หน่อไม้ ช่วงปลายมีนาคม สองข้างทางมีคนขายผักหวานป่า ห้อยเป็นถุง ๆ ละ 20 บาท ว่ากันว่าผักหวานป่าที่นี่อร่อยที่สุด เพราะเก็บมาสด ๆ แน่นอนนักช็อปอย่างผมไม่เคยพลาด เอาไปแจกมากกว่าเอาไปกินเอง
ชาวบ้านเขามีป่าชุมชนราว ๆ 1,500 ไร่ ที่สะดุดตาสะดุดใจ เมื่อมองภาพถ่ายอากาศของหมู่บ้าน ขนาด1:4,000 ก็คือทุกลำห้วยมีป่าหลงเหลืออยู่สองฝั่งริมห้วยริมลำธาร ตะวันสูงมากแล้ว ชาวบ้านรวมทีมวิจัยได้ราว ๆ 40 คน มีตั้งแต่อายุ 12-13 จนถึงเกือบ 70 ปี ทั้งหญิงทั้งชาย และเยาวชน ดูเหมือนจะตื่นเต้นกับการวิจัยวันนี้
เมื่อคนพร้อม เครื่องมือพร้อม รถอีแต๊กได้พาเหล่านักวิจัย ลัดเลาะไปตามถนนริมไร่จนถึงป่าชุมชน ยังมีมอเตอร์ไซค์อันเป็นหน่วยเคลื่นที่เร็วและอ๊อฟโรดได้อีก 2-3 คันนำหน้า
ชาวบ้านเขาแบ่งกลุ่มทำงานมี ระวี ผึ้ง ต่าย หน่อย เมย์ เป็นพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม วิธีการและมาตรฐานการทำงานนั้นเราได้พูดคุยกับชาวบ้านแล้วเมื่อตอนเย็นและ หลังอาหารค่ำก่อนเข้านอนเมื่อคืนนี้
งานชิ้นแรกที่ชาวบ้านต้องการทราบคือ ป่าชุมชนที่เขาอนุรักษ์นั้นช่วยกักเก็บธาตุคาร์บอนได้ปริมาณเท่าไร ธาตุคาร์บอนอยู่ในตัวต้นไม้ตลอดจนพืชพรรณต่าง ๆ และซากพืชตามพื้นป่า ในดินก็มีการสะสมคาร์บอนอีกปริมาณหนึ่ง ในรูปของอินทรีย์คาร์บอน และอนินทรีย์คาร์บอน เช่น ในรูปเกลือคาร์บอนเนต
กลุ่มที่วัดต้นไม้ต้องวัดทุกต้น ที่สูงเกิน 1.30 เมตร ในเนื้อที่ 1 ไร่ (40x40 เมตร) วัด เส้นผ่าศูนย์กลาง บันทึกชนิดต้นไม้ คาดสีน้ำมันไว้รอบต้น แล้วติดหมายเบอร์เลขเรียงประจำต้นบนแผ่นอลูมิเนียมเล็ก ๆ เพราะปีหน้าเราจะกลับมาวัดซ้ำอีกครั้ง ส่วนกลุ่มที่ชั่งน้ำหนักเศษใบไม้ตามพื้นป่า พร้อมตัดพืชเล็ก ๆ เช่น ต้นหญ้า และลูกไม้ในแปลงตัวอย่างขนาด 1x1 เมตร บางกลุ่มก็เก็บตัวอย่างดิน เพื่อนำไปวิเคราะห์ เสียงตะโกนกันลั่นป่า
ขณะที่งานกลุ่มต่างๆ ดำเนินไปตามแผน มีชาวบ้านมาบอกว่า เขาพร้อมแล้วที่นำคนที่เหลือไปสำรวจป่าริมห้วย พวกเราอีก 10 คนได้แยกกลุ่มออกมา นั่งรถไปดูป่าริมลำธารที่เว้นไม่แผ้วถาง
เมื่อรถเข้าไปไม่ได้ เราก็พากันเดินลัดเลาะไปตามริมไร่ ชาวบ้านได้เตรียมดินปลูกข้าวโพดแล้วในเดือนนี้
ดวงอาทิตย์ใกล้ตรงศรีษะแล้ว ไม่มีอะไรบดบัง อยู่กลางไร่ข้าวโพดมีลมพัดอยู่บ้าง “ลมฤดูร้อนแห่งเดือนเมษา ผ่อนพัดมาพาให้ร้อนรน ร้อนเหมือนลมหายใจแรงข้น...” ได้ร้องฮัมเพลงนี้ เพื่อปลอบใจตัวเอง เมื่อมีฝนก็มีร้อน ผลัดเปลี่ยนเหมุนเวียนชั่วนิรันดร์ ทำอย่างไรได้
ก่อนถึงป่าริมธาร ตาเห็นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ใบเขียวชะอุ่มเต็มต้น ชาวบ้านบอกว่าเป็นต้นไทร จึงขอเข้าไปดู มีนักวิจัย 3-4 คนอาสาปีนไปวัดความโตโดยรอบได้ 740 เซนติเมตร ป้าคนหนึ่งบอกว่าที่เขาไม่ตัดก็คงกลัวเจ้าป่าเจ้าเขา คงมีเทพารักษ์คุ้มครองนั่นแหละ
เราสำรวจป่า สองฝั่งริมห้วย เริ่มจากวังน้ำสำรวจขึ้นไปบนฝั่งเป็นแถบกว้าง 5 เมตร เป็นกอไผ่ส่วนใหญ่ ชาวบ้านนับกอไผ่ และนับจำนวนลำแต่ละกอ พร้อมวัดความโตของลำ เป็นตัวอย่างของไผ่ไร่ และไผ่บง ชนิดละ 10-20 ลำ ก็มีต้นไม้จริงขึ้นปนไผ่อยู่ด้วย ก็ต้องวัดความโตเช่นกัน
งานเสร็จท้องร้องพอดี หลังอาหารเที่ยงชาวบ้านและพี่เลี้ยงต่างนำข้อมูลของทุกกลุ่มมารวมกัน เรามีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในโน๊ตบุค โดยใส่ค่าเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นไม้ และไม้ไผ่ลงไปก็สามารถคำนวณหาค่าธาตุคาร์บอนสะสมอยู่ในต้นไม้ได้ อาจารย์ทวี แก้วละเอียด ได้ช่วยเป็นโปรแกรมเมอร์ ชาวบ้านและนักเรียนก็คำนวณได้
เมื่อรวบรวมข้อมูลและคำนวณเสร็จ มีการนำเสนอผลวิเคราะห์ชั่วคราวต่อชาวบ้านทุกคนที่มาชุมนุมกัน หลังอาหารกลางวัน
ป่าชุมชนของบ้านระหงส์เป็นป่าเต็งรัง ที่ไม้รังและไม้เต็งมีมากกว่าไม้ชนิดอื่น เป็นป่าแห้งแล้ง มีหินทรายผุโผล่อยู่ทั่ว ๆ ไป ยิ่งหน้าแล้งอย่างนี้เดินหงายหลังเอาง่าย ๆ ทีมคำนวณของเราบอกว่า ป่าเต็งรังนี้สะสมคาร์บอนอยู่ประมาณ 4.1 ตัน/ไร่ เขามีป่าชุมชนทั้งหมดอยู่ราว 1,500 ไร่ ก็ลองคูณดูว่าทั้งป่าสะสมอยู่เป็นปริมาณเท่าไร
เมื่อนำป่าเต็งรังของบ้านห้วยระหงส์นี้ เปรียบเทียบกับป่าเต็งรังแห้งแล้งที่อื่นที่เคยเก็บมาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นได้เลือกป่าที่ไม่ถูกรบกวนจากคน มาศึกษา ผลปรากฎดังในตาราง
ตารางเปรียบเทียบปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในต้นไม้เหนือพื้นดิน
ของป่าเต็งรังประเภท (Subtype) แห้งแล้ง (Xeric) มีไม้รังไม้เต็งนำ ในที่อื่น ๆ กับบริเวณศึกษา
สถานที่ |
ปริมาณคาร์บอนสะสมในต้นไม้เหนือพื้นดิน (ตัน/ไร่) |
น้ำตกแม่กลาง อ.จอมทอง เชียงใหม่ (St. 8) 1/ |
5.7 |
บ้านห้วยน้ำอูน อ.สา น่าน (St. 48) 1/ |
6.0 |
ทิศใต้เขื่อนสิริกิตถ์ อ.น้ำปาด อุตรดิตถ์(St. 58) 1/ |
3.2 |
แม่ตีบ อ.งาว ลำปาง (St. 30) 1/ |
6.5 |
บ้านโป่ง อ.งาว ลำปาง (St. 41) 1/ |
5.7 |
บ้านห้วยระหงษ์ อ.หล่มสัก เพชรบูรณ์ |
4.1 |
1/ คำนวณจากข้อมูลของ Somsak Sukwong et al. ใน Quantitative Studies of The Seasonal Tropical Forest Vegetation in Thailand 1976 and 1978. BIOTROP Research Report. KUFF.
ส่วนต้นไทรใหญ่ริมลำห้วย เมื่อถามความสูงของคนคำนวณหาคาร์บอน เขาบอกว่าสูง 165 ซม. หากเอาความสูงของเธอไปหารความโตโดยรอบของไทรใหญ่ ก็จะได้ 4.5 ไทรต้นนี้ก็มีขนาด 4-5 คนโอบ
เราคำนวณการกักเก็บคาร์บอนของไทรต้นนี้ได้ 24.4 ตัน ไม้ใหญ่ต้นเดียวกักเก็บคาร์บอนได้เท่ากับป่าเต็งรังแห้งแล้งเกือบ 5 ไร่ เพราะน้ำหนักของต้นไม้นั้นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้น น้ำหนักต้นไม้จะเป็นปฏิภาคกับเส้นผ่าศูนย์กลางยกกำลัง 2.3 ถึง 2.6
ชาวบ้านในภาคใต้เขาศึกษาต้นไม้ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นตามริมน้ำ ก็พบว่ามะเดื่อ และไทร (Figs) นี่แหละ ขึ้นได้ดีมาก ๆ ตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง คณกุมารี แห่งตำบลช้างกลาง นครศรีธรรมราช ได้ปลูกไทรตามริมฝั่งน้ำ ยาวถึง 800 เมตร เพราะไทรมีรากยึดชายฝั่ง และโขดหินได้ดี โรงเรียนในท้องถิ่นเพาะต้นไทรส่งเสริมแจกจ่ายให้ปลูกกันตามริมฝั่งน้ำ
ป่าริมน้ำของหมู่บ้านห้วยระหงส์ นอกจากช่วยยึดฝั่งน้ำและดักตะกอนดิน ทำให้ลำน้ำมีสุขภาพดี แล้วยังเป็นอาหารของคน และสัตว์ นอกจากนี้ยังเป็นทางเชื่อม ทางเดิน หรือคอริดอร์ (Corridor) ช่วยให้สัตว์เคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งได้ง่ายขึ้น เหมาะกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และโลกที่ร้อนขึ้นกว่าเดิม
เราลาจากพี่น้องด้วยหัวใจที่เต็มด้วยมิตรภาพ และความตั้งใจดีของพวกเขา ขอให้ทีมวิจัยโลกร้อนได้ช่วยกันเก็บข้อมูลต่อ และขอฝากพวกเขาช่วยดูแลไทรใหญ่นี้ไว้ด้วย เพื่อช่วยให้โลกร่มเย็นตลอดไป
สมศักดิ์ สุขวงศ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.