ปี 2550 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการประกันราคาข้าวทั้งสิ้น 3,102 ล้านบาท โดยให้ องค์การคลังสินค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการค้าภายใน เป็นผู้ดำเนินโครงการรับจำนำและเก็บรักษาผลผลิตข้าว มีรูปแบบการรับจำนำ 3 ประเภทคือ (1) รับจำนำข้าวเปลือก (2) รับจำนำใบประทวน[1] และ (3) รับจำนำยุ้งฉาง ราคารับจำนำ ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ข้าวเปลือกปีการผลิต 2549/50 อยู่ที่ราคาระหว่าง 6,100 – 9,000 บาทต่อเกวียน ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของข้าว
เป้าหมายและขั้นตอนโดยปกติของการรับจำนำข้าว รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส. และ อคส. ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป้า หมายหลักเพื่อช่วยเหลือชาวนา โดย อคส. จะรับฝากเก็บข้าวเปลือกไว้ในคลังสินค้าที่กำหนด และออกใบประทวนสินค้าให้แก่ชาวนาผู้ฝากเก็บ เพื่อนำไปจำนำไว้กับ ธ.ก.ส. เมื่อ ถึงเวลาที่ข้าวราคาสูงขึ้น ชาวนาสามารถมาไถ่ข้าวที่จำนำไว้ นำไปขายในราคาที่สูงกว่าได้ หากชาวนาไม่มาไถ่ข้าวคืน ข้าวที่ถูกเก็บไว้ในคลังสินค้า รัฐก็จะปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูลข้าวออกไปขาย และส่งออกต่อไป
โดยหลักการเป้าหมาย การรับจำนำข้าวจากชาวนา น่าจะสามารถช่วยเหลือชาวนาในเรื่องราคาข้าวได้ แต่ในความเป็นจริง มีรายละเอียดหลายประการที่ส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ที่จังหวัดชัยนาท ในปี 2550 ราคา ข้าวเปลือกปทุมธานี ที่ชาวนาขายได้จริง ณ โรงสี คือ 5,500 บาทต่อตัน ราคานี้เมื่อเทียบกับข้าวคุณภาพเดียวกัน ยังต่ำกว่าราคาตลาดหรือราคารับซื้อของรัฐ 6,500 บาทอยู่ถึงพันบาท ต่อตัน
ถึงอย่างไรชาวนาก็ยังต้องขายข้าวของตนเองออกไป เนื่องจากเหตุผลความขัดสนทางการเงิน และหนี้สินในครอบครัว ชาวนาส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐ เหตุผลทั้งในเรื่องปริมาณข้าวที่เปิดให้มีการรับจำนำมีปริมาณจำกัดเกินไป ประกอบกับหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ ชาวนาต้องรีบขายข้าวเพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนใช้ในครอบครัว ข้าวที่เก็บเกี่ยวเสร็จใหม่ๆ ยังไม่แห้งดี เมื่อนำไปขาย จะได้ราคาที่ต่ำลงเนื่องจากจะถูกหักค่าความชื้นที่สูงเกินไป
นอกจากนี้ถ้าชาวนารายใดเป็นหนี้กับ ธ.ก.ส.อยู่ ก็จะประสบความยุ่งยากลำบากใจในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐ เพราะเมื่อชาวนานำใบประทวนไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส. ชาวนารู้ดีว่า ธ.ก.ส. จะหักชำระหนี้เอาไว้เลย พวกเขาจึงไม่มีโอกาสได้รับเงินสด ถ้าไม่ไปขอกู้รอบใหม่ กับ ธ.ก.ส. ประเด็น คือ ชาวนากว่า 90 % ปัจจุบัน มีหนี้อยู่กับ ธกส ทั้งสิ้น ถ้าชาวนาที่ต้องการรับเงินสดจากการขายข้าวจริงๆ ดูเหมือน การเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว จะไม่ใช่เงื่อนไขที่ดี ที่จะได้รับเงินสดจากการขายข้าว
ในปี 2550 รัฐบาลมีมติกำหนดมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2549/50 จำนวน9 ล้านตันข้าวเปลือก และนาปรัง ปีการผลิต 2549 จำนวน 2.0 ล้านตันข้าวเปลือก ขั้น ตอนการรับจำนำข้าวที่ปล่อยให้ภาคธุรกิจเอกชนดำเนินการ ประกอบกับการตรวจสอบที่ไม่รัดกุมของภาครัฐ ทำให้โครงการรับจำนำข้าวของภาครัฐที่ควรจะประสบความสำเร็จกลับต้องประสบ ปัญหาขาดทุนทุกปี โดยในรัฐบาลชุดที่แล้วของ พ.ต.ท. ทักษิณ ขาดทุนถึงปีละ 10,000 ล้านบาท และขาดทุนอีกปีละ 3,000 ล้านบาทในรัฐบาลต่อมา ที่สำคัญคนรับผลประโยชน์ ก็มิใช่ชาวนา
มีโรงสีถึงกว่า 40 % ของ โรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ดำเนินการรับจำนำ และเก็บรักษาผลผลิตข้าวโดยไม่โปร่งใส มีทั้งการรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่ต่ำกว่าราคาจำนำ เนื่องจากรู้ว่า ชาวนามีความเดือดร้อนต้องการใช้เงินเร็ว จึงสร้างเงื่อนไขใหม่ที่สามารถจ่ายเงินสดให้ชาวนาได้ทันที แต่ต้องเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาจำนำ และต้องยินยอมเซ็นเอกสารที่ทำให้โรงสีสามารถนำใบระทวนเพื่อสวมสิทธิ์ เกษตรกร ไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส. ได้ในราคาจำนำ
ในขณะเดียวกัน ข้าวที่ถูกฝากไว้กับโรงสี ที่ดูแลกำกับโดย อคส. หรือ อตก. ในหลายจังหวัด มีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส เช่นการปลอมปนข้าว เปลี่ยนเอาข้าวราคาแพงที่รับจำนำไว้ไปขาย และซื้อข้าวราคาถูกกว่ามาผสม หรือมาคืนเก็บไว้ในคลังสินค้าแทน หรือแม้แต่การลักลอบขโมยนำเข้ารัฐที่ฝากไว้ ไปขายในคลังสินค้าจึงมีแต่สต็อกลมแทน จะ เห็นได้ว่า การคอรัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐ ทำให้รัฐต้องรับซื้อข้าวในราคาที่แพง แต่คนที่ได้รับประโยชน์จากการรับซื้อข้าวแพง กลับเป็นพ่อค้าเอกชนหรือโรงสีที่เห็นช่องว่างและเข้าไปสวมสิทธิ์เกษตรกร
ส่วนในขั้นตอนการประมูลข้าวที่อยู่ในคลังสินค้าเพื่อนำออกมาขาย โดยปกติรัฐจะเปิดให้ภาคเอกชนจากที่ต่างๆ ยืนขอประมูลซื้อข้าวที่อยู่ในคลังสินค้าเพื่อนำออกมาขายและส่งออก ที่ผ่านมารัฐต้องขาดทุนทุกครั้งจากโครงการรับจำนำข้าว เพราะเวลาประมูลข้าวออกมาขาย พบว่าบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลข้าว มักเป็นบริษัทเอกชนที่มีเส้นสายใกล้ชิดกับคนวงในรัฐบาล ราคาประมูลจึงมักเป็นราคาที่ต่ำ และรัฐต้องขาดทุน เนื่องจากซื้อข้าวมาแพง แต่ต้องขายออกไปในราคาที่ถูกกว่า
ตั้งแต่ปี 2535 ที่มีการก่อตั้งคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ขึ้น คชก.ได้อนุมัติให้หน่วยงานต่างๆ กู้เงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร จนถึงปัจจุบัน ใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 9.3 หมื่นล้านบาท 80% ของเงินกู้จำนวนนี้ เป็นเงินที่นำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวทั้งสิ้น สรุปภาพรวมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐจากปี 2542-2546 รัฐบาลขาดทุนสะสมกว่า 17,000 ล้าน บาท และมีแนวโน้มที่จะขาดทุนต่อไป พ่อค้ารายหนึ่งที่มีส่วนร่วมในโครงการระบายข้าวจากโครงการรับจำนำ ถึงกับยอมรับว่าเขาสามารถทำกำไรจากการจำหน่ายข้าวจากสต็อกรัฐบาลล็อตใหญ่ได้ เป็นจำนวนถึง 3,000 ล้านบาท
โครงการรับจำนำข้าว จึงเป็นเหมือนโครงการสร้างความร่ำรวยให้กับภาคธุรกิจเอกชน พ่อค้ารับซื้อข้าว โรงสี และบริษัทส่งออกข้าว ภายใต้คำกล่าวอ้างเป้าหมายของโครงการที่ต้องการช่วยเหลือชาวนาให้ขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น
ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องข้าวและชาวนาไทยยังคงถูกปล่อยปะละเลยให้เป็นไปตามยถากรรม วนเวียนอยู่ในวงจรเก่าๆ ที่ถูกนักการเมืองหยิบยกขึ้นมาใช้ประโยชน์ในทางการเมือง ชั่วครั้งชั่วคราว โดยไม่ได้มีจิตสำนึกอย่างแท้จริงต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนา ไทย มีเพียงมาตรการในการจำนำข้าว เพื่อให้ชาวนาพึงพอใจในราคาข้าวเปลือก แต่ไม่เคยมีนโยบายที่จะพัฒนาชาวนาและข้าวของประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
แต่ทำไมนักการเมืองกลับชอบให้มีโครงการจำนำและแทรกแซงข้าว ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และก็ทำต่อเนื่องกันมาทุกปีและทุกรัฐบาล คำตอบก็คือ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างต่อสาธารณชนว่ารัฐบาลได้ช่วยชาวนาแล้ว น่าเสียดายที่โครงการจำนำข้าวกลับเต็มไปด้วยวงจรอุบาทว์ของการทุจริตและ คอรัปชั่นอย่างเป็นขบวนการ
ขณะเดียวที่ชาวนากลับอ่อนแอลง จาก การศึกษาต้นทุนการทำนาในปี 2550 ของชาวนาในพื้นที่ตำบลบางขุด จังหวัดชัยนาท พบว่าชาวนามีต้นทุนการผลิตถึง 3,165 บาทต่อไร่ นั่นคือหากประมาณการแล้วในแต่ละรอบการผลิตชาวนาจะต้องนำเงินที่กู้ยืมมาหมุน เวียนลงทุนประมาณ 30,000 บาทต่อครอบครัวเป็นอย่างต่ำ
ตารางแสดงต้นทุนการทำนาปรัง ตำบลบางขุด ปี 2550
ต้นทุนการผลิต |
บาท/ ไร่ |
1. ค่าจ้างไถรถแทรคเตอร์ |
300 |
2. ค่าสารเคมีฆ่าหอยเชอรี่ (3 ขวดต่อ 10 ไร่) |
100 |
3. ค่าจ้างรถหว่านข้าว |
40 |
4. ค่าน้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำเข้านา |
30 |
5. ค่าสารเคมีจำกัดวัชพืช (1 ขวด 270 บาท ต่อ 3 ไร่) |
90 |
6. ค่าปุ๋ยเคมี (ปุ๋ยยูเรีย 50กก. 700 บาท ปุ๋ยสูตร 50กก. 500 บาท) |
1,200 |
7. ค่าสารเคมีจำกัดแมลง |
200 |
8. ค่าเมล็ดพันธุ์ (3 ถังต่อไร่ ถังละ 110 บาท) |
330 |
9. ค่าเช่านา (ข้าวเปลือก 15 ถังต่อไร่ ถังละ 55 บาท) |
225 |
10. ค่าฮอร์โมนฉีดพ่นตอนข้าวออกรวง(อามูเร่) |
70 |
11. ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว |
420 |
12. ค่าจ้างแรงงานขนข้าวขึ้นรถ |
100 |
13. ค่าจ้างรถขนข้าวไปขาย (100 บาทต่อตัน) |
60 |
ต้นทุนการผลิตรวมต่อไร่ |
3,165 |
ผลผลิตต่อไร่ (กก.ต่อไร่) |
700 |
ราคาที่ชาวนาขายได้ ต่อตัน |
5,500 |
ผลตอบแทนต่อไร่ /บาท |
3,850 |
ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ /บาท |
685 |
ที่มา : ข้อมูลจากเวทีเสวนากับกลุ่มชาวนา สคปท.จังหวัดชัยนาท วันที่ 28 พ.ย. 2550 ณ บ้านใหญ่ จ.ชัยนาท
เมื่อ พิจารณาต้นทุนการผลิตของชาวนาในพื้นที่ตำบลบางขุดจะเห็นได้ว่า ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวที่สูงที่สุดคือ ต้นทุนด้านเคมีภัณฑ์ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมน และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นสัดส่วนสูงที่สุดร้อยละ 52.45 รองลงมาคือ ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องจักรกลการเกษตรได้แก่ รถแทรคเตอร์ รถเกี่ยว รถขนส่ง และค่าน้ำมันร้อยละ 26.85 ค่าเมล็ดพันธุ์ร้อยละ 10.43 ค่าเช่านาร้อยละ 7.11 และสุดท้ายคือค่าจ้างแรงงานร้อยละ 3.16 ซึ่งแนวโน้มราคาต้นทุนการผลิตเหล่านี้ทั้งหมดเป็นจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี
เมื่อหักต้นทุนแล้ว ผลตอบแทนสุทธิที่ชาวนาได้รับคือ 685 บาทต่อไร่ โดยเฉลี่ยต่อครอบครัวจะมีผลตอบแทนประมาณ 6,850 บาทต่อครอบครัว ใน 1 รอบการผลิต คือ 4 เดือน นั่นคือ 1,712.50 บาทต่อเดือน ซึ่งรายได้จำนวนนี้สำหรับชาวนาในพื้นที่บางขุดแล้วย่อมไม่เพียงพอต่อค่าใช้ จ่ายในการดำรงชีพของครอบครัว ทำให้หลายครอบครัวต้องส่งลูกหลานไปทำงานในเมือง เนื่องจากรายได้จากการทำนาไม่สามารถทำให้ครอบครัวอยู่รอดได้
ในขณะที่ชาวนาส่วนใหญ่ในตำบลบางขุดร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่นาจากนายทุนเพื่อทำนา ที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ ที่นาเช่าก็คือที่นาเดิมซึ่งเคยเป็นของตนเองนั่นเอง แต่เนื่องจากประสบปัญหาหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นจึงต้องขายเพื่อปลดหนี้
สภาวะหนี้สินของชาวนาในพื้นที่โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวนามีหนี้สินตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาทต่อครัวเรือน ชาวนาส่วนที่เหลือซึ่งที่ดินยังอยู่ในมือ แต่ก็มีแนวโน้มว่าที่นาจะหลุดมือไปในไม่ช้าเพราะก็กำลังเผชิญชะตากรรมบ่วง หนี้อยู่เช่นกัน
สอดรับกับข้อมูลหนี้สินระดับประเทศ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2537 -2549 ที่แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้สินชาวนาในสัดส่วนที่สูงมาก โดยเฉพาะใน ปี 2545-2549 ชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 40 จาก 82,485 บาท เป็น 116,585 บาทต่อครัวเรือน
ตารางแสดงสภาวะหนี้สินชาวนาปี 2537-2549
ปี พ.ศ. |
หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน/บาท |
2537 |
31,387 |
2539 |
52,001 |
2541 |
69,674 |
2542 |
71,713 |
2543 |
68,405 |
2544 |
68,279 |
2545 |
82,485 |
2547 |
104,571 |
2549 |
116,585 |
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ
กล่าวได้ว่าสถานะของการทำนาที่ปลูกข้าวเพื่อส่งออกของชาวนาพื้นที่ตำบลบางขุด ของจังหวัดชัยนาททุกวันนี้ก็คือการผลิตเพื่อหมุนเวียนหนี้ เป็นการผลิตที่มีต้นทุนสูง เมื่อขายข้าวได้ก็ต้องรีบนำเงินดังกล่าวไปใช้ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย และขอกู้ยืมต่อทันที เพื่อจะได้นำเงินนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนารอบต่อไป โดยบ่วงหนี้เหล่านี้หมุนเวียนมายาวนานนับตั้งแต่มีการปลูกข้าวเพื่อการส่ง ออก
ข้าว คือพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ที่พรรคการเมืองใช้เป็นเครื่องมือสร้างฐานทางการเมือง เมื่อพรรคใดได้เข้ามาเป็นรัฐบาลจึงมีการ "ทุ่นทุน" เพื่อสินค้าข้าวเป็นพิเศษ การกำหนดนโยบายเพื่อยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้น โครงการจำนำและแทรกแซงราคาข้าว เป็นเพียงข้ออ้างในการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล และผลประโยชน์ทางการเมืองที่นักการเมืองหวังได้คะแนนเสียงจากชาวนาผู้ปลูก ข้าว ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของประเทศ
กลไกการแก้ไขปัญหาราคาข้าวและช่วยเหลือชาวนารายย่อย อยู่ในสภาพย่ำแย่ และขาดการเยียวยามานานแล้ว ผลประโยชน์ของการส่งออกข้าวจำนวนมหาศาล ผลประโยชน์ของโครงการช่วยเหลือชาวนา โครงการรับจำนำข้าวไม่เคยตกถึงมือของชาวนารายย่อยจริง แต่ได้ถูกเล่นแร่แปรธาตุ โยกย้ายเข้าไปอยู่ในมือของพ่อค้า โรงสี และบริษัทส่งออกข้าวเกือบทั้งสิ้น ดูแค่จำนวนหนี้สินล้นพ้นตัวที่ชาวนาไม่มีความสามารถในการใช้คืนในปีปัจจุบัน นี้ ก็พอจะเข้าใจได้ถ่องแท้แล้ว
นรัญกร กลวัชร
กุมภาพันธ์ 2551
[1] ใบ ประทวน คือ ตราสารทางการเงิน (คล้ายตั๋วจำนำ) ที่ชาวนานำสินค้ามาฝากไว้ที่โรงสี โดย อคส. จะออกใบประทวนให้ชาวนา ชาวนาเพื่อนำใบประทวนไปจำนำกับ ธ.ก.ส. โดยมีรายละเอียดที่ อคส. กับ ธ.ก.ส. ตกลงกันไว้ให้ครบถ้วน ก็จะขึ้นเงินได้
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.