ต้นหมีฉีก ต้นทุเรียนพื้นเมือง
29 มกราคม 2553 เดือนเต็มดวงในค่ำคืนนี้ อยู่ใกล้แทบจะเอามือคว้าได้ ฉันเข้านอนก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย เมื่อหัวค่ำพี่น้องชาวบ้านตระได้เล่าประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านและ บรรพบุรุษของพวกเขา ฉันหลับตานอนเท่าไรก็ไม่ค่อยจะหลับ ด้วยจิตใจจินตนาการถึงหนังสือของบริก แฮม ยัง ที่เขียนเรื่องหมู่บ้านโบราณที่โลกลืมของอินเดียแดงเผ่าอินคาท่ามกลางป่าดง ดิบบนเทือกเขาแอนดีส (The Lost City of Incas)
ฉัน ฟังตำนานของบ้านตระที่อยู่ท่ามกลางป่าดงพงไพรของเทือกเขาบรรทัดแล้วก็ได้แต่ ครุ่นคิดไปเรื่อยๆ แม้แสงเดือนจะสาดส่องไปทั่วหมู่บ้าน ลมเย็นพัดมาตลอดเวลา พี่น้องชาวบ้านก็คงจะนอนไม่หลับเช่นฉัน เพราะพวกเขากำลังถูกข้อหาบุกรุกทำลายป่า
เช้าวันที่ 30 มกราคม 2553 ทีมงานได้ขอให้ชาวบ้านพาไปที่กูโบว์เพื่อไปดูหลุมฝังศพทวดเล็ก บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อราว 4 ทศวรรษมาแล้ว ทีมงานได้ขอดูหลักหินที่ปักอยู่ที่เท้าและศรีษะทั้งสองด้านของทวดเล็ก เราได้บอกให้ชาวบ้านดูไลเคน (lichen) ที่อาศัยอยู่บนหลักหิน เพื่อที่จะใช้ไลเคนนี้คำนวณอายุของไลเคนเองโดยอาศัยอัตราการเจริญเติบโต
การใช้ไลเคนตรวจหาอายุ (Lichenometry) ของตัวมันเอง เรียกว่าไลเคนโนเมตรี (Lichenometry) เมื่อ ทราบอายุไลเคนจะทำให้ทราบอายุของหลุมฝังศพ แต่เมื่อดูแล้วก็ปรากฎว่าไลเคนได้ถูกขัดออกไปแล้วเหลือแต่รอย ชาวบ้านบอกว่าหลักหินหลายหลักได้ถูกเคลื่อนย้าย ทหารเคยถอนบางหลักไปทำก้อนเส้าหุงข้าว การใช้ไลเคนโนเมตรีดูเหมือนจะสิ้นหวัง
เราจึงขอให้พาไปดูต้นผลไม้ที่ชาวบ้านปลูก ชาวบ้านพาไปดูต้นทุเรียนพื้นเมืองต้นหนึ่งใกล้กูโบว์ ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นหมีฉีก” โตประมาณ 2-3 คนโอบ เป็นสวนผลไม้ที่ชาวบ้านปลูกเมื่ออยู่ในป่าข้างขนำ เราดูแล้วลักษณะคล้ายสวนดูซงแถบจังหวัดยะลา ปัตตานี เป็น “วัฒนธรรมลังกาสุกะ” (Landkasuka Civilization) แต่ ต้นหมีฉีกมีพูพอนที่โคนต้นใหญ่มาก ค่อนข้างจะวัดความโตได้ลำบาก แต่เนื่องจากเวลาของเรามีไม่มาก เรานั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปสวนของพี่วัฒน์ เพื่อไปวัดความโตของต้นทุเรียนพื้นเมืองที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไอ้ขี้ขมิ้น” (ขมิ้น) เป็นต้นทุเรียนที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษของพี่วัฒน์ ซึ่ง โคนต้นก็มีพูพอนเช่นเดียวกับต้นหมีฉีก เราไม่มีทางเลือกก็บอกให้ชาวบ้านปีนขึ้นไปวัดความโตเหนือพูพอนโดยใช้เทปที่ อ่านค่าได้ทั้งเส้นรอบวง (Girth) และเส้นรอบวง (Diameter) วัดเสร็จก็ใช้สีน้ำมันสีแดงคาดตรงจุดที่วัดอย่างระมัดระวัง ปีหน้าเราจะกลับมาวัดอีกครั้ง
เจ้าขี้หมิ้นต้นนี้ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 91.5 เซนติเมตร (ตรงระดับเหนือพูพอน) จากนั้นก็ขอวัดความโตของต้นยางพารารุ่นแรกของพี่วัฒน์ ซึ่งแกบอกว่าปลูกราวๆ ปี 2501 วัดความโตตรงระดับสูงเหนือพื้นดิน 1.30 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์เส้นกลาง 66 เซนติเมตร
เรา ถามพี่วัฒน์ว่า มีต้นทุเรียนพื้นเมืองที่ปลูกขึ้นใหม่หลังเจ้าขี้หมิ้นหรือไม่ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทราบปีที่ปลูกด้วย พี่วัฒน์บอกว่า “มี” ชื่อเรียนพารา (ตั้งชื่อเลียนแบบยางพารา) เรียนพาราต้นนี้พี่วัฒน์ปลูกอยู่ห่างจากเจ้าขี้หมิ้นราวๆ 50 เมตรในสวนยางพาราของแกเอง แกปลูกเมื่อปี 2526 และแกเอาลูก (เมล็ด) ของเจ้าขี้หมิ้นมาปลูก
เราวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นเรียนพาราต้นนี้ได้ 21.0 เซนติเมตร แล้วคาดสีน้ำมันตรงจุดที่วัดโดยรอบ ปีหน้าเราจะกลับมาวัดอีกครั้ง
วิธีคำนวณหาอายุของเจ้าขี้หมิ้น
ต้นเรียนพาราปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2527 เส้นผ่าศูนย์กลาง = 21.0 ซ.ม.
อายุของเรียนพาราปีพ.ศ. 2553-2527 = 26 ปี
ความเพิ่มพูนเฉลี่ยรายปี (mean annual increment) = 21.0/26
= 0.81 ซ.ม./ปี
เจ้าขี้หมิ้นปัจจุบันมีเส้นผ่าศูนย์กลาง = 91.5 ซ.ม.
อายุเจ้าขี้หมิ้น = 91.5/0.81
= 113 ปี
วิจารณ์ผลการคำนวณ
การหาอายุของต้นไม้นั้นมี 2 วิธีใหญ่คือ
1) ใช้วงปี (annual ring)
2) ใช้วิธีการอย่างอื่น
การใช้วงปีนั้น ต้นไม้ในประเทศไทยที่เชื่อว่าเกิดขึ้นปีละหนึ่งวง ใช้วงปีบอกอายุได้ก็คือ ต้นสัก และ ต้นสนจำพวกสนสองใบและสนสามใบ ต้นไม้ที่มีวงปีมักพบในที่ซึ่งมีภูมิอากาศที่มีฤดูกาลชัดเจนคือ มีฤดูฝน ฤดูแล้งชัดเจน ในหน้าฝนต้นไม้โตดี มีเซลล์ขนาดใหญ่ (spring wood) ส่วนหน้าแล้ง เซลล์มีขนาดเล็ก ผนังเซลล์หนา (summer wood) เนื้อไม้สองชนิดสลับกันเป็นวงปีละหนึ่งวง แต่บางครั้งก็มีวงปีปลอม (false ring) คือเป็นวงไม่ครบรอบตามล่าต้น บางตอนหายไป ความจริงต้นไม้ในป่าชายเลนก็มีวงปี แต่ไม่ใช่วงปีเรียกว่า วงการเจริญเติบโต (growth ring) ซึ่งถ้าต้นใหญ่มากก็มีจำนวนวงมาก ต้นขนาดเล็ก ก็มีจำนวนวงน้อย วงนี้เกิดขึ้นเอง (endogenous) ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ฤดูกาล
ใน ทางภาคใต้ มีฝนตกชุกเกือบตลอดปี ป่าภาคใต้จึงหาต้นไม้ที่มีวงปีไม่ได้ วิธีหาอายุโดยวิธีที่สอง คือ การรู้ว่าต้นไม้อพยพมาเกิดขึ้นเมื่อไร เช่น ในนากุ้งร้าง ต้นโปรงแดงลอยมาตามน้ำแล้วงอกขึ้นจะทำให้ทราบอายุต้นไม้ได้ หรือบางครั้ง ถ้ารู้ว่ามีคนปลูกและถ้าหากบอกประวัติการปลูกได้ว่าปลูกเมื่อไร ก็จะสามารถหาอายุต้นไม้ได้ ส่วนพืชที่เป็นพวกปาล์ม เช่น มะพร้าวปรง หาอายุได้ยากเพราะพืชพวกนี้ไม่โตทางเส้นผ่าศูนย์กลาง แต่โตทางความสูงเท่านั้น อาจนับจำนวนรอยกาบใบที่ติดอยู่ตรงโคนต้นไม้แล้วประมาณว่า พืชใช้เวลานานเท่าไรจึงเกิดใบใหม่ขึ้น
การหาอายุของต้นไม้ที่ไม่มีวงปี (Tree without annual ring) หาได้โดยวัดอัตราการเจริญเติบโต หรือใช้วิธีวิเคราะห์ทางเคมี เช่น Lowe (1961) ใช้วิธีย้อมเนื้อไม้ด้วยไอโอดีนหรือ ใช้ถ่านกัมมันต์ (radiocarbon หรือ carbon 14 dating) แต่วิธีนี้ใช้ได้ในกรณีคำนวณหาอายุ กรณีที่คาร์บอนตรงไส้ไม้ไม่เปลี่ยนแปลง หรือ ค่อนข้างเสถียร (stable) แต่ถ้าต้นไม้เป็นโรคแก่นผุ (heart rot) เช่น ที่เกิดขึ้นกับต้นยางพาราอายุมากหลายต้นในสองหมู่บ้านทั้งที่บ้านทับเขือและ บ้านตระ ต้นยางพาราแก่ๆ หลายต้นมีไส้กลวง การใช้ถ่านกัมมันต์หาอายุก็จะเป็นปัญหาได้
การ ใช้อัตราการเจริญเติบโตของต้นพืชในช่วงเวลาหนึ่ง คำนวณหาอายุของต้นไม้ที่เราสนใจในภาคใต้ น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้ เพราะทำได้ง่ายและใช้เวลาไม่นานนัก เราจึงคาดสีบนต้นทุเรียนพื้นเมืองและต้นยางพาราอีกหลายๆ ต้น อ.สมศักดิ์ สุขวงศ์ และคณะ (1975) เคยใช้อัตราการเจริญเติบโตคำนวณหาอายุต้นไม้ยางนาที่อำเภอห้วยมุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี คำนวณอายุโดยใช้สมการ First Order Difference Equation ได้ผลดี
ที่ ห้วยมุด สุราษฎร์ธานี ไม้ยางนาเติบโตทางเส้นรอบวงปีละประมาณ 1.98 เซนติเมตร (เส้นผ่าศูนย์กลางโตปีละ 0.63 เซนติเมตร) ส่วนไม้ยางนาปลูกริมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ปลูกราวปีพ.ศ. 2445 ข้อมูลของ Dr.Loctsch ปรากฏ ว่าในปี พ.ศ.2501-2502 มีเส้นรอบวงเฉลี่ย 227.5 เซนติเมตร (อายุขณะนั้น 56 ปี) เติบโตทางเส้นรอบวงปีละ 4.704 เซนติเมตร (ทางเส้นผ่าศูนย์กลางปีละ 1.5 เซนติเมตร)
ใน การใช้อัตราการเจริญเติบโตที่เก็บได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อนำมาคาดการณ์ไปในอนาคตเพื่อหาอายุนั้นก็มีใช้กันแพร่หลาย เช่น ในอังกฤษ ที่ประมาณอายุต้นไม้จาก 1,000 ถึง 4,000 ปี (Hartzell, Jr. 1991) และใช้กับการประมาณอายุต้นปรง (Cycad) โดยการนับรอยก้านใบ (leaf scar) หาอายุไปถึง 2,000 ปี (Chamberlain, 1919) Longman and Jenik (1974) ได้รายงานว่า ต้นไม้ชั้นบนๆ ของป่าดงดิบในแถบอินโดมาเลเซียจะมีอายุประมาณ 200-250 ปี
เราได้นำข้อมูลของต้นทุเรียนพื้นบ้านชื่อ “ทุเรียนพารา” ของพี่วัฒน์ มาหาอัตราการเจริญเติบโตรายปีเพราะรู้ปีปลูก แล้วนำอัตราการเติบโตนี้มาคำนวณหาอายุของต้นชื่อ “ขี้หมิ้น” โดยอาศัยสมมติฐานว่า มีอัตราเจริญเติบโตเช่นเดียวกัน เพราะอยู่ในสวนเดียวกัน คุณภาพดินหรือคุณภาพพื้นที่ปลูก (site quality) เหมือนกัน ขึ้นอยู่ห่างกันประมาณ 50 เมตร และที่สำคัญคือเป็นสายพันธุ์เดียวกัน เพราะเรียนพาราปลูกจากเมล็ดของขี้หมิ้น
แม้สมมติฐานเหล่านี้มีจุดอ่อน แต่เราก็ไม่มีข้อมูลที่ดีกว่านี้ พี่วัฒน์บอกว่า “เจ้าเรียนพาราได้ปุ๋ยอยู่บ้าง” เจ้าเรียนพาราอาจโตเร็วกว่า แต่ถ้าเรียนพาราโตช้ากว่านี้ ตัวเลขที่นำไปหารความโตของขมิ้นจะน้อยลง จะทำให้อายุของขมิ้นมากขึ้น
ขมิ้น หรือ ขี้หมิ้น ยังดูแข็งแรง แม้จะโดนมรสุมจากสองฝั่งทะเลพัดกระหน่ำปีแล้วปีเล่านานนับร้อยปี แต่ก็มีเรือนยอดความอ่อนพลิ้วตามสายลม จากวันที่เราย่างเข้าหมู่บ้านจนถึงวันจาก น้ำใจของชาวบ้านจะฝังใจเราไปอีกนาน เรื่องของขมิ้นจะไม่จบลงเพียงเท่านี้ เราจะพัฒนาความรู้จากขมิ้นต่อไป....
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
1. สมศักดิ์ สุขวงศ์, ทวี แก้วละเอียด และจักรพันธ์ สกุลมีฤทธิ์. 1975, ความสัมพันธ์ระหว่างอายุกับเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นไม้ในป่าเต็งรังและไม้ยางในป่าดงดิบธรรมชาติ. The Kasetsart Journal 9(2):162-169.
2. Chamberlain, C. J. 1919. The living Cycads. Chicago. The University of Chicago Press.
3. Hartzell Jr. Hal. 1991. The Yew Tree: a thousand whispers. Eugene, Oregon : Hulogosi.
4. Lowe, R. G. 1961. Periodic Growth in Triplochiton scleroxylon. Dept. For. Res. (Nig.)Tech. Note 13 (also paper to 13th Congress. I.U.F.R.O 25/5-S/5)
5. Longman, K. A. and J. Jenik. 1974. Tropical Forest and its Environment. Lowe and Brydon Ltd. Thetford, Norfolk. Gt. Britain. 196 p.
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.