ผลศึกษา 11 พื้นที่โฉนดชุมชน: สังคมไทยต้องสูญเสียอะไร หากไม่ปฏิรูปที่ดิน (2)
ตัวแทนชาวบ้าน ชี้ข้อดีการจัดทำ “โฉนดชุมชน” เร่งรัฐผลักดันเป็นกฎหมาย
กันยา ปันกิติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปัญหาเรื่องที่ดินที่ชาวบ้านประสบไม่ว่าเรื่องกฎหมายหรือนโยบาย ล้วนเป็นเรื่องของการใช้อำนาจรัฐและอำนาจทุน ขณะที่ชุมชนไม่มีอำนาจ ทำอะไรก็ผิด แม้แต่การอาศัยในที่ดินเดิมที่บรรพบุรุษทำมาหากินมานับร้อยปี แต่กลายเป็นคนที่ผิดกฎหมาย ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ ถูกดำเนินคดีไม่ว่าทางแพ่งในคดีโลกร้อนหรือทางอาญา และเราทำเรื่องนี้มานานเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้ทนไม่ไหวและเกิดการรวมตัวกันเรียกร้องนับตั้งแต่ความขัดแย้งประเด็นที่ดินในพื้นที่ป่าเมื่อปี 2543
ที่ผ่านมา ปัญหาเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ ทั้งในเรื่องที่ดินกระจุกตัว ไม่กระจายไปสู่เกษตรกรจริง รัฐและทุนมองว่าที่ดินเป็นสินค้า ไม่ใช่ปัจจัยในการผลิตอาหาร พยายามแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน ขณะที่เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินเนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดำรงชีวิต โดยไม่มีโครงสร้างมารองรับ ทำให้ปัญหาลุกลามมาเรื่อยๆ และเมื่อรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ชาวบ้านจึงต้องรวมกันเป็นองค์กรภาคประชาชนเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหา ซึ่ง คปท.ก็มีการเสนอเรื่องแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยใช้โฉนดชุมชน ภาษีที่ดิน กองทุนธนาคารที่ดิน และอาจรวมถึงการจำกัดการถือครองที่ดินในอนาคต
เรื่องโฉนดชุมชน กันยา กล่าวว่า ช่วยแก้ปัญหาที่ดินเปลี่ยนมือจากเกษตรกรและการใช้งานที่ดินผิดประเภท เนื่องจากที่ดินเป็นของชุมชน มีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการชุมชนหากจะมีการเปลี่ยนมือที่ดิน โดยแต่ละชุมชนจะมีกติกา มีแผนการจัดการ และการตรวจสอบ นอกจากนั้นยังมีกองทุนธนาคารที่ดินมาช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุนด้วย ส่วนปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา การมีแนวทางนโยบายของรัฐเรื่องโฉนดชุมชน และมีมติ ครม. มีการทำข้อตกลง รวมไปถึงการมีคำสั่งอัยการสูง ช่วยให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปทำอยู่ทำกินในพื้นที่ของตนเองได้ใน ถือเป็นการแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง เนื่องจากยังเป็นเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนปัญหาการบุกรุกทำลายป่าก็บรรเทาลง เพราะพื้นที่จัดทำโฉนดชุมชนมีกติกา มีแผนการจัดการทรัพยากร และทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น ในเรื่องภัยพิบัติ การทำเกษตรแบบโฉนดชุมชนเป็นการทำการเกษตรที่สมดุลและยั่งยืน ลดละเลิกการใช้สารเคมี มีการปลูกพืช 4 ระดับ ไม่ทำลายโครงสร้างของหน้าดิน ซึ่งตรงนี้ช่วยลดการเกิดภัยพิบัติได้ ส่วนด้านเศรษฐกิจ จากเดิมที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่ได้ ตอนนี้เข้าไปโค่นต้นยางของตนเองเพื่อปลูกใหม่ได้ มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของตนเอง สามารถผลผลิตอย่างเต็มที่ ทำให้เศรษฐกิจของคนในชุมชนดีขึ้น
“ทางออกเหล่านี้รัฐจะเอาหรือไม่เอา จะแก้หรือไม่แก้ แต่ในนามของภาคประชาชนต้องใช้อำนาจของตัวเองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ผลักดันต่อ แม้ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเอาหรือไม่เอา แต่เรายังต้องเดินต่อเรื่องโฉนดชุมชนให้เป็นกฎหมาย และเสนอเรื่องการแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงด้วย” กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าว
กันยา กล่าวด้วยว่า ตัวชี้วัดอีกอันหนึ่งทีสำคัญคือ นักวิชาการและราชการในพื้นที่ที่ให้การสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันมีมากขึ้น แสดงถึงการยอมรับในทางสังคม ทั้งนี้เพราะเห็นถึงความก้าวหน้าในการเดินหน้าของประชาชนที่ประสบผลจริง
“อดีตกรรมการปฏิรูป” ชี้นักการเมืองเจ้าที่ดินกำแพงปิดกัน “การปฏิรูปที่ดิน”
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตกรรมการปฏิรูปกล่าวว่า การผลักดันเรื่องการปฏิรูปที่ดินของไทยเหมือนเดินหน้าพุงชนกำแพง ซึ่งกำแพงนี้คือฝ่ายการเมือง จากการลงพื้นที่ติดตามปัญหาเรื่องที่ดินทั่วประเทศจะเห็นว่านักการเมืองมีที่ดินเป็นจำนวนมากอยู่ในแทบทุกพื้นที่ แม้แต่ในพื้นที่ติดเขตชายแดน ตรงนี้จึงกลายเป็นกำแพงที่ทำให้นักการเมืองไม่สนใจข้อเสนอของภาคประชาชน นักวิชาการ รวมทั้งของคณะกรรมการปฏิรูป ที่เสนอมายาวนานว่า ประเทศไทยจะถึงทางตีบตัน พัฒนาต่อยอดไปไม่ไกล ถ้าโครงสร้างพื้นฐานคือที่ดินซึ่งเป็นฐานของการผลิตในสังคมไทยอันเป็นสังคมเกษตรกรรมไม่มีความมั่นคง
อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวต่อมาว่า ปัญหาที่ดินในสังคมไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ปัญหาเฉพาะหน้ากรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นจากปัญหาการจัดการที่ดิน และคดีที่ดินทั้งที่ถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการตัดสินคดี รวมทั้งที่อยู่อย่างผิดกฎหมายในที่ดินของรัฐรอถูกฟ้องร้องดำเนินคดีซึ่งตรงนี้มีเป็นล้านครอบครัวในพื้นที่ 30-40 ล้านไร่ การที่ชาวบ้านต้องคดีถูกพิพากษาจำคุกนั้นส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อครอบครัว ญาติพี่น้อง และสังคมกระทบเชื่อมโยงกัน รวมทั้งกระทบสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และชุมชนถูกละเมิดสิทธิ์
2.ปัญหาระยะยาว เช่น ปัญหาการถือครองที่ดินกระจุกตัวซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2502 ซึ่งมีการแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน การสูญเสียที่ดินของเกษตรกร และการใช้ที่ดินไม่สอดคล้องกับศักยภาพ เช่น กรณีความขัดแย้งประเด็นที่ดินรัฐบนภูเขา ขณะที่ที่ดินอุดมสมบูรณ์ด้านล่างกับใช้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ที่ดินที่ถูกปล่อยรกร้างมีถึง 30-40 ล้านไร่ และกว่า 30 ปีที่ผ่านมา มีที่ดิน NPL ถึง 39 ล้านไร่
“รวบอำนาจที่ส่วนกลาง” การจัดการที่ดินที่ผิดพลาด
อดีตกรรมการปฏิรูปกล่าวต่อมาว่า ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาในเชิงระบบ ทำให้ชีวิตของคนในสังคมไทยเสื่อมโทรมและบางส่วนต้องล่มสลาย เกษตรกร 5.8 ล้านครัวเรือนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ นี่คือผลกระทบที่มีต่อสังคมชนบท ส่วนผลกระทบที่มีต่อสังคมเมือง เห็นได้จากตัวเลขชุมชนแออัดจำนวนมากในกรุงเทพฯ เพราะชีวิตในชนบทและชีวิตในเมืองที่เชื่อมโยงกัน เมื่อชีวิตในชนบทล่มสลายคนก็หลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเมือง ในชุมชนที่ครอบครัวหนึ่งๆ มีที่อยู่อาศัยขนาดไม่กี่ตารางเมตร ตรงนี้คือผลกระทบต่อสังคมที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่หลายปีที่ผ่านมาผู้บริหารบ้านเมืองกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ
ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เริ่มตั้งแต่การรวมโครงสร้างอำนาจการตัดสินใจมาอยู่ที่รัฐส่วนกลาง ตัดการกระจายอำนาจ เอาระบบจำกัดการถือครองออก มีการทำที่ดินให้เป็นสินค้า ใช้กลไกลการตลาดมาบริหารจัดการที่ดิน ทำให้เข้าสู่ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา จนหลัง 40 ทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลมาซื้อที่ดิน ทำให้ประเทศไทยสูญเสียที่ดินมากที่สุดและเร็วที่สุดในช่วงนั้น และแม้จะมีโครงการของรัฐเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นกลไกลบริหารจัดการโดยราชการขาดการมีส่วนร่วม สุดท้ายล้มเหลว
เสนอเปิดข้อมูลการถือครองที่ดินให้สาธารณะร่วมตรวจสอบ
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงข้อเสนอว่า 1.ปัญหาที่มีอยู่เนื่องจากประชาชนไทยยังไม่ลุกขึ้นมาเพราะไม่รู้ข้อมูล ดังนั้นควรทำข้อมูลการกระจุกตัวของที่ดินและผลกระทบจากการจัดการที่ดินให้เข้าใจง่าย เป็นข้อมูลสาธารณะและเข้าถึงง่าย เพื่อให้คนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ถึงวันนั้นประชาชนจะลุกขึ้นมาถามรัฐบาลว่าทำไมไม่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาสำคัญของชาติอย่างปัญหาที่ดิน และ 2.การปฏิรูปที่ดินต้องทำพร้อมกับการกระจายอำนาจ คือ อำนาจในการตัดสินใจเพื่อจัดการฐานทรัพยากร การกระจายที่ดิน ทั้งการจำกัดการถือครอง การคุ้มครองเกษตรกร การเก็บภาษี ฯลฯ ต้องอาศัยการตัดสินใจร่วมของท้องถิ่น และชุมชน
“ราษฎร เกษตรกรจะต้องมีทำกิน ประชาชนในทองถิ่นต้องมีอำนาจ ถ้าประเทศชาติมีการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรม” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว
“สุนี” ชี้ 3 โจทย์สำคัญปฏิรูปที่ดิน พื้นที่เกษตรกรรม-ชุมชนเมือง-ที่ดินในมือรัฐ
สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า การปฏิรูปที่ดินต้องยอมรับโจทย์ที่ว่าที่ดินมีจำกัด ขณะที่ทุกคนต่างก็อยากได้ อีกทั้งต้องกันพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่ป่าด้วย จากการพูดคุยที่ผ่านมาทำให้เห็นถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำ และความไม่มั่นคงทางอาหาร ที่รัฐบาลผ่านมาแทบทุกชุดพูดถึงความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงของมนุษย์เป็นทฤษฎี ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นจริงหากคนไม่มีที่ดิน โจทย์ตรงนี้คือต้องยอมรับแนวคิดที่ว่าเกษตรกรต้องมีที่ดินทำกิน หากรัฐต้องการให้มีความมั่นคงทางอาหาร อยากให้ผู้คนอยู่ได้ เข้าถึงสิ่งดีๆ และสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคม
นอกจากนั้นยังมีโจทย์ใหญ่ของชุมชนซึ่งต้องมีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในเมืองด้วย ตรงนี้สังคมไทยโดยเฉพาะพรรคการเมืองและรัฐบาลต้องทำความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถปฏิรูปที่ดินได้ เพราะประชาชนจะต้องกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายทั้งหมด เมื่อที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่วนโจทย์ที่สาม รัฐได้ตั้งตัวเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นเจ้าของที่ดินมหาศาล ในวันนี้หากนับเป็นตัวเลขกลมๆ พบว่ามี 1 ล้านครอบครัวอยู่พื้นที่ของรัฐ ซึ่งเป็นที่ป่า ที่ราชพัสดุ ที่ทหาร ที่ป่าชายเลน ฯลฯ ที่รัฐถือครองแล้วเปิดให้รัฐเองฉวยโอกาสใช้ประโยชน์โดยโครงสร้างและนโยบาย
งัดข้อเสนอเดิม กสม.จี้สางปัญหาประชาชนที่อยู่ในที่ดินของรัฐกว่า 1 ล้านครอบครัว
รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า เมื่อครั้งทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิฯ เคยได้มีการเสนอว่า หากจะปฏิรูปที่ดิน รัฐเพียงสะสางปัญหาประชาชนที่อยู่ในที่ดินของรัฐกว่า 1 ล้านครอบครัว เพราะหลายเรื่องมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าชาวบ้านเป็นผู้มีสิทธิ์ในที่ดิน แต่ไม่มีใครลงไปแก้ไข ทำให้ชาวบ้านอยู่ในสถานะผู้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และพร้อมที่จะถูกจับได้ตลอดเวลา ตรงนี้สามารถแก้ไขได้เลย เพียงแต่รัฐต้องลงมาจัดการ โดยยอมรับความเป็นจริงของการไม่มีเอกสารสิทธิของชาวบ้าน และเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ มีข้อมูลมากมายที่จะบอกว่าชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ควรได้รับสิทธิในที่ดิน อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็ได้รองรับว่าการเกิดมาเป็นคนต้องมีที่อยู่อาศัย การไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไม่ใช่การยุติปัญหา
ในส่วนการแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายนั้น คปก.มีหน้าที่สำคัญในการปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ โดยต้องพัฒนาองค์ความรู้และมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนบนฐานสิทธิมนุษยชน ซึ่งยุทธศาสตร์ 4 ข้อเร่งด่วน ของ คปก.มีเรื่องเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลักเรื่องที่หนึ่ง 2.การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.กระบวนการยุติธรรม และ 4.สวัสดิการสังคม ทั้งนี้ เรื่องที่ดินสิ่งที่ คปก.จะขับเคลื่อน คือ 1.การเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดิน ทำให้กฎหมายนี้เป็นที่ยอมรับ แต่ขณะนี้ยังมีการถกเถียงกันว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล 2.ออกกฎหมายสิทธิชุมชน 3.การกระจายอำนาจ เพราะปฏิรูปที่ดินไม่ใช่เพียงจัดสรรที่ดิน แต่หมายถึงการจัดการที่ดินซึ่งจะมีผลกระทบในหลายๆ ด้าน
นักวิชาการชี้ “โฉนดชุมชน” แนวคิดใหม่ แต่อย่าทิ้ง “ส.ป.ก.”
ศ.ดร.ทองโรจน์ อ่อนจันทร์ ประธานสถาบันทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า เขามีความแน่ใจมากว่านโยบายที่สำคัญที่สุดของประเทศคือนโยบายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นนโยบายที่จะสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และจากงานวิจัยที่ได้ทำมาก็ชี้ไปในแนวทางนี้ เมื่อมี พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 ขึ้นมาจึงรู้สึกดีใจมาก โดยไม่รู้ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหา เพราะคิดว่าอนาคตของเกษตรกรและประเทศจะดีขึ้น แต่จากการติดตามเรื่องนี้กลับพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากรัฐบาลในสมัยต่อๆ มาไม่ให้การสนับสนุน ไม่ให้งบประมาณ
ส่วน “โฉนดชุมชน” เป็นทางเลือกใหม่ ซึ่งจากที่ได้ศึกษามาเมื่อไม่นาน เห็นว่าข้อเสนอล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดี แต่ในแง่มุมทางวิชาการส่วนตัวยังไม่มีความมั่นใจ ยังไม่มีความชัดเจนว่าแนวนโยบายดังกล่าวจะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่เราประสงค์กัน และหากใช้วิธีโฉนดชุมชนแล้วจะเอา ส.ป.ก.ไปไว้ที่ไหน ในเมื่อนั่นคือสิ่งที่มีอยู่แล้วและก็ต่อสู่กันมาตลอดในการที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ
ศ.ดร.ทองโรจน์ กล่าวแสดงความเห็นว่า นโยบายที่ดินเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องคิดถึงว่านโยบายของ ส.ป.ก.ที่ทำมา ที่บอกว่าล้มเหลวนี้จะอยู่ตรงไหน มันหยุดไม่ได้และจะต้องทำต่อไป อาจต้องมีคณะกรรมการขึ้นมา ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่านโยบายโฉนดชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่สำคัญและมุ่งแก้ปัญหาในประเด็นปัญหาที่มีความเฉพาะ มีความพิเศษ ดังนั้นจึงควรต้องมีการเชื่อมกันของ ส.ป.ก.กับนโยบายนี้ และจะต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาของประเทศไทย คือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ แล้วกลไกที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมานี้ถึงจะเขียนเป็นกฎหมายดีอย่างไรก็ตาม แต่หากไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ประสบผล
“ปัญหาในเรื่องการปฏิรูปของประเทศไทยมันลึกซึ้ง มันมากมายกว่าที่เราจะมองเห็นปัญหาแต่เฉพาะจุด เราจะต้องมองทั้งประเทศ มองภาพรวม แล้วก็มองดูว่าอะไรซึ่งมันสามารถที่จะออกมาเป็นระบบที่ชัดเจน แล้วก็มีแนวทางปฏิบัติที่สามารถติดตามได้ ถ้าทำไม่ได้จะต้องรับผิดชอบ เป็นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ ใครรับผิดชอบในกระทรวงไหนก็ต้องให้เด่นชัด ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าในสังคมไทยจะต้องมี ถ้าไม่เช่นนั้นเราก็คงต้องมานั่งพูดเรื่องนี้กันไปอีก 40 ปี” ศ.ดร.ทองโรจน์ กล่าว
ปธ.สภาเกษตรกร เสนอร่วมเกษตรกร 20 ล้านคน ขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาที่ดิน
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว่า เรื่องการแก้ปัญหาที่ดินซึ่งเป็นเรื่องที่อยากทำในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะตอนนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่าเกษตรกรรายย่อยเป็นผู้พ่ายแพ้ในระบบเศรษฐกิจโดยรวม ยิ่งแข่งขันยิ่งสูญเสียที่ดิน ตอนนี้สิ่งที่คิด คือ 1.คนตัวเล็กตัวน้อยจะอยู่รอดได้อย่างไรในสังคม ไม่ใช่จะแข่งขันอย่างไร
2.สังคมหากจะแก้ปัญหาเรื่องที่ทำกิน ในระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่ไม่สามารถแก้เรื่องคุณภาพได้ เนื่องจากฝ่ายการเมืองไม่ยอมรับ จากที่ได้มีการพยายามในสภามาหลายปีมีคนจำนวนน้อยมากที่คิดเหมือนกันในเรื่องนี้ ดังนั้นการจะปฏิรูปที่ดินใหม่ทั้งระบบโดยพลิกฝ่ามือเป็นเรื่องเพ้อผัน สิ่งที่จะทำได้ในขณะนี้ อาจเป็นเรื่องการผลักดันโฉนดชุมชนให้ออกมาเป็นกฎหมาย ตรงนี้อาจสามารถเป็นไปได้ เรื่องกองทุนพัฒนาที่ดิน หรือเรื่องกฎหมายป่าไม้ที่เป็นปัญหาอาจผลักดันไปทางรัฐบาลให้มีมติ ครม.อนุญาตให้คนทำอยู่ทำกินในที่ทำกินเดิม โดยไม่มีการจับกุมชาวบ้าน อย่างไหนทำได้ทำก่อน สิ่งไหนทำยากคงต้องรอเวลา
3.การเตรียมการ ซักซ้อม เพิ่มปริมาณคนที่คิดเหมือนกัน เกษตรกรรายย่อยที่เข้าตาจนอยู่ขณะนี้รู้ข้อมูลเท่าเราหรือเปล่า หรือคนหนึ่งล้านครอบครัวที่ทำกินอยู่ในเขตป่ารู้ผู้ในแนวทางการแก้ปัญหาเดียวกับเราหรือเปล่า คนเหล่านี้จะมาร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนได้ ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นองค์กรใหม่ที่มีพลังของเกษตรกร 20 ล้านคน มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งต่างประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เสนอทำงานร่วมกัน จัดเวที ให้ข้อมูล ส่งข่าวสาร ร่วมกันขับเคลื่อน
ประชาไท วันที่ 22 ก.ค. 2555
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.