บันทึกการสัมมนาวิชาการ
“การคิดค่าเสียหายคดีความโลกร้อน:นัยทางวิชาการและกระบวนการยุติธรรม”
29 กรกฎาคม 2553 ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก รำไพพรรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดโดย...
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.)
ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Recoftc)
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส)
กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (Local Act)
Oxfam GB (โครงการประเทศไทย)
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
ศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน
สถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย
…………………………………………………………………………………………………………………
วัตถุประสงค์
1.เพื่อระดมความเห็นจากสาธารณะ นักวิชาการ นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญ สื่อมวลชนต่อสถานการณ์การฟ้องร้องคดีความทางแพ่ง ข้อหาทำให้โลกร้อน
2.เพื่อทำความเข้าใจกับสื่อและสาธารณะในประเด็นวิถีการผลิตและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของชุมชน
3.เพื่อ นำเสนอแนวทางนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนวิถีการผลิตและการจัดการ ทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและสร้างความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม อันเป็นการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน
เกณฑ์คำนวณค่าเสียหายของป่าต้นน้ำตามหลักการ
แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของกรมอุทยานฯ
1.การทำให้สูญหายของธาตุอาหาร คิดค่าเสียหาย 4,064 บาทต่อไร่ต่อปี
2.ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี
3.ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่ โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี
4.ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรทุกดินขึ้นไปและปูทับไว้ที่เดิม
5.ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี
6.ทำให้ฝนตกน้อยลง คิดค่าเสียหาย 5,400 บาทต่อไร่ต่อปี
7.มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด คือ
7.1การทำลายป่าดงดิบค่าเสียหายจำนวน 61,263.36 บาท
7.2การทำลายป่าเบญจพรรณ ค่าเสียหายจำนวน 42,577.75 บาท
7.3การทำลายป่าเต็งรัง ค่าเสียหายจำนวน 18,634.19 บาท
เมื่อ นำค่าเฉลี่ยของมูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด(ตามข้อ7.1-7.3)ซึ่งมี ค่าเท่ากับ 40,825.10 บาทต่อไร่ต่อปี มารวมกับมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม(ข้อ1-6) จำนวน 110,117.60 บาทต่อไร่ต่อปี รวมมูลค่าทั้งหมดเท่ากับ 150,942.70 บาท แต่เพื่อความสะดวกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชคิดค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี
ช่วงที่ 1
เปิดการสัมมนา
อ.ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย
ความจริงต้องการมีปาฐกถาหรืออภิปรายใหญ่ในเรื่องนี้สักหนแต่ต้องขอเวลาเตรียมตัวหน่อย และช่วงที่ผ่านมาก็มีปัญหาสุขภาพด้วย
ส่วน ตัวสนับสนุนการปลูกต้นไม้ และการรักษาธรรมชาติมาตั้งแต่ต้น อีกส่วนคือภูมิหลังเป็นนักวิทยาศาสตร์ เมื่อมาเห็นวิธีคิดคำนวณที่ใช้จึงรู้สึกตะขิดตะขวงใจและอึดอัดว่าเป็นวิธี คิดที่ไม่ทราบว่าตั้งอยู่บนหลักคิดอะไร เป็นวิธีคิดที่คนที่พอจะเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ สังคม ฯลฯ จะรู้สึกว่าวิธีคิดนี้ไม่มีพื้นฐานที่เหมาะสมถูกต้อง จำเป็นต้องมีการถกเถียงในประเด็นนี้ เพื่อให้เกิดเข้าใจที่ดี ถูกต้อง และวิธีคิดที่เป็นธรรมมากขึ้น
ปัญหา นี้เมื่อดูถึงที่สุดจะพบว่า เป็นโจทย์ดั้งเดิมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย คือ การมองปัญหาที่ปลายสุดแต่ไม่ได้มองถึงรากเง้าของปัญหา การดำเนินคดีและการคิดคำนวณค่าปรับกับชาวบ้านเรื่องโลกร้อนสะท้อนลักษณะเช่น นี้ของสังคมไทยออกมาได้ชัดเจนมาก ส่วนตัวมองภาพรวมว่ารากเง้าของปัญหาวันนี้มาไกลมาก ทั้งนี้ จุดสำคัญเป็นปัญหาเรื่องความรู้ อำนาจในสังคมที่มันไม่ถูกต้อง ไม่สมดุล ไม่มีการพัฒนาหรือเยียวยาเท่าที่ควร โดยภาพรวมชาวบ้าน หรือคนจนได้ตกเป็นเหยื่อของความรู้ ความคิด ที่กล่าวได้ว่าไม่ถูกต้อง คือความคิดแบบโมเดิร์นไนเซชั่น(Modernization) เป็นผลจากกระบวนการพัฒนาทำให้ทันสมัย โดยอำนาจทุนนิยมตะวันตกเอามาใช้เพื่อเอาเปรียบ เอาผลประโยชน์ กดขี่ ขูดรีดจากประเทศยากจน ดังนั้น กระบวนการคิดแบบโมเดินไนเซชั่นจึงเป็นกระบวนการคิดที่สร้างผลเสียหายให้กับ ประเทศยากจนค่อนข้างมาก อีกทั้งยังทำให้เกิดข้อถกเถียงกันในวันนี้แทบทั้งหมด เช่น ปัญหาคนเมือง ปัญหาสลัม แรงงาน ผู้อพยพ ปัญหาเหล่านี้มีรากเหง้ามาจากกระบวนการพัฒนา เมื่อไม่ได้พิจารณารากเหง้าปัญหา กระบวนการพิจารณาตัดตอนก็ยิ่งสร้างปัญหากับชาวบ้าน เช่นในทุกวันนี้
“ปัญหา เรื่องที่ทำกิน ปัญหาเรื่องการรุกป่า ความขัดแย้งระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับเศรษฐกิจใหญ่ๆ อาชีพย่อยๆ กับอาชีพขนาดใหญ่ เช่น ประมงพื้นบ้านกับประมงขนาดใหญ่ SME ล้วนเป็นปัญหาอันเกิดจากกระบวนการพัฒนาทั้งสิ้น”
มอง ในแง่ของรัฐ รัฐเองก็เป็นเหยื่อของความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกระบวนการพัฒนาเช่นกัน คือ ยอมรับกระบวนการพัฒนามาทั้งดุ้นโดยไม่นึกถึงปัญหาที่จะตามมา และไม่ได้มีการปรับใช้ให้เข้ากับแต่ละสังคม ตามจริงซึ่งกระบวนการนี้หากลองสำรวจดูจะเห็นว่า ปัญหามีอยู่มากมายไม่สามารถแก้ไขได้ และท้ายที่สุดจะเห็นว่ามันเป็นกระบวนการที่น่าสนใจมากที่มันเกิดขึ้นทั่วโลก
ยก ตัวอย่างในกรุงเทพฯ เรื่องปัญหาการจราจรซึ่งไม่เคยแก้ได้สำเร็จ ทั้งที่ระบบขนส่งมวลชนมีทั้งรถเมล์เล็ก รถเมล์เขียวหรือที่เปลี่ยนเป็นเมล์ส้มในปัจจุบัน มีรถกะป๊อ รถสองแถว มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และสิ่งต่างๆ อีกมากมาย เราจะพบตลาดนัดย่อยๆ อาชีพแปลกๆ ที่เพิ่มขึ้นมา เป็นอีกกระบวนการย่อยๆ ที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการพัฒนาใหญ่ๆ ที่ดูมีกฎเกณฑ์วิธีคิดบางอย่าง แทบทุกจุดในเมืองใหญ่ๆ เราจะเห็นสิ่งเล็กๆ ที่ไร้ระเบียบเหล่านี้มาแทรก มาเสริมอยู่ ยกตัวอย่าง หากกรุงเทพฯ ไม่มีมอเตอร์ไซค์ ไม่มีรถเมล์เล็ก ไม่มีรถกะป๊อ ไม่มีสองแถว หรือระบบย่อยต่างๆ คิดว่ากรุงเทพฯ คงทำงานไม่ได้ และส่วนที่ไม่เป็นทางการเหล่านี้เป็นกลไกที่ช่วยเชื่อมต่อระหว่างแผนพัฒนา ที่อยากจะไปให้ได้ กับสิ่งที่เราทำแล้วมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของประเทศ มันจึงต้องมีสิ่งเหล่านี้มารองรับกระบวนการ ตรงนี้คือปัญหาโลกแตกสำหรับสังคมอย่างประเทศไทย
ตัวอย่าง อาคารจามจุรีสแควร์ ซึ่งมีบริษัทเอกชนมาเช่าทำกิจการ และบริษัทแห่งหนึ่งได้มีการออกคำสั่งห้ามพนักงาน มาแย่งนิสิตรับประทานอาหารในโรงอาหารมหาวิทยาลัย เพราะราคาอาหารในมหาวิทยาลัยราคาถูกกว่า เพื่อสนับสนุนการบริโภคของนักศึกษา หรือในย่านการค้าอย่างสีลมจะเห็นได้ว่ามีร้านหาบเร่แผงลอยอยู่จำนวนมาก ตรงนี้เพื่อรองรับกลุ่มคนมีรายได้น้อยที่ทำงานอยู่ในพื้นที่นั้นสามารถอยู่ ได้ กลไกเชื่อมต่อตรงนี้เป็นสิ่งที่แก้ไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าการที่รัฐจะไม่ให้มีหาบเร่แผงลอย เพื่อให้มีความเป็นระเบียบ สวยงาม เป็นความคิดที่ผิด แต่เรายังคงจำเป็นต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ต่อไป เพราะเราไม่ได้เริ่มต้นการพัฒนาที่สอดคล้องกับประเทศ กับสังคมของเรา กระทำการโดยอำนาจไม่ได้เป็นของชาวบ้านส่วนใหญ่จริงๆ แต่เป็นอำนาจที่เริ่มมาจากคนส่วนน้อยที่สุดแล้วค่อยๆ ขยาย และกระจายออกไป นี่คือรากเง้าหนึ่งของปัญหา
“ตราบใดที่อำนาจไม่ได้กระจายอย่างเต็มที่ ไม่ได้สมดุล และไม่ได้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง ผมคิดว่าปัญหาในบ้านเราก็จะสืบเนื่องต่อไป”
ปัญหาเรื่องการปฏิรูประเทศที่มีการพูดถึงกันในปัจจุบัน มีต้นตอมาจากทั้งฐานความรู้ และฐานอำนาจของสังคมเป็นปัญหาอย่างยิ่ง ตรงนี้ “ความเข้าใจปัญญาร่วมกัน” จะเป็นทางแก้ ทั้งจากการอ่านกฎเกณฑ์การคิดค่าเสียหายจากชาวบ้านแล้วมันไม่ได้ตั้งอยู่บน ความเข้าใจปัญหาร่วมกัน แต่เป็นวิธีคิดที่ตั้งใจจะลงโทษให้หลาบจำ ให้เกรงกลัวเป็นพิเศษ ไม่ได้ตั้งอยู่บนความยุติธรรมแม้แต่น้อย ต้องขอร้องไปทางฝ่ายอำนาจรัฐ ฝ่ายยุติธรรม ศาล หรือกฎหมายของเราว่า “ความเข้าใจปัญญาร่วมกัน” เป็นสิ่งจำเป็น ถัดมาคือการ “ยกระดับจิตใจร่วมกัน การทำงานร่วมกัน การอยู่ร่วมกัน” ของคนในสังคม ซึ่งตรงนี้จะช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ ในปัจจุบันของสังคมด้วย
เรื่อง ความไม่ยุติธรรมของหลักเกณฑ์ที่ใช้เรียกค่าเสียหายกับชาวบ้านอาจพูดถึงไม่ มากนัก เพราะอาจมีการรวบรวมข้อมูลจัดเป็นปาฐกถาหรือการอภิปรายใหญ่อีกสักครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าความยุติธรรมนั้นพิจารณาได้หลายแง่มุม โดยความยุติธรรมที่สุดต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและเป็นภาพรวมที่สุด ตรงนี้ต้องมองความยุติธรรมทั้งเชิง ประวัติศาสตร์ สังคม และเชิงเศรษฐกิจ สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน 3 ส่วนใหญ่ๆ นี้ประกอบเข้าด้วยกัน
ความ ยุติธรรมในเชิงประวัติศาสตร์ หากพิจารณาปัญหาโลกร้อนที่ผ่านมาใครเป็นตัวการสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดปัญหา ขึ้น หากใครติดตามเรื่องนี้จะพบว่าประเทศจีนไม่ยอมไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาระหว่าง ประเทศว่าด้วยเรื่องโลกร้อน เพราะไม่ยอมรับแนวความคิดของประเทศยุโรปและอเมริกา โดยจีนมีวิธีคิดที่มองเชิงประวัติศาสตร์ว่าโลกร้อนเกิดจากการดำเนินกิจกรรม ของประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกมาหลายร้อยปี หากจะทำเสมอหน้า การคำนวณการทำให้เกิดโรคร้อน เชิงปริมาณสามารถคำนวณตามวิธีคิดเชิงประวัติศาสตร์เป็นแฟคเตอร์ได้ เช่น สมมติว่ากว่า 200 ปี ที่ผ่านมา โลกอากาศร้อนขึ้น 3 องศา คำนวณเฉลี่ยต่อปีโลกอากาศร้อนขึ้นเท่าไร จะเห็นได้ว่าจากเริ่มต้นอุณหภูมิที่ไม่สูงมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับอุตสาหกรรมในแหล่งประเทศตะวันตกที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของประเทศโลกที่ 3 จะน้อยมา ดังนั้น จีนจึงไม่ยอมรับกติกาสากล ที่เสนออยู่ตอนนี้ไม่ได้ เพราะเป็นการเสนอบนฐานของสังคมตะวันตกในภาวะปัจจุบัน อีกทั้งจีนยังต้องการเวลาที่จะไปพัฒนาประเทศ ในส่วนประเทศไทย ตนเองคิดว่าควรเข้าไปมีส่วน contribute ในเรื่องนี้อย่างน้อยสัก 1-2 เปอร์เซ็นต์ อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ควรมีอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าเสียหายทั้งหมด และหากลองคิดลงมาเรื่อยๆ ว่า “ใครก่อปัญหาโลกร้อนมาก” คนกรุงเทพฯ ที่เปิดเครื่องปรับอากาศ พวกเราเอง รวมทั้งศาลเองต่างมีส่วนสร้างให้เกิดโลกร้อน และเมื่อมองลงไปจะพบว่าชาวบ้านสร้างไม่ได้เยอะมากเท่าไหร่
ความ จริงตามหลักกฎหมาย “คาร์ล สมิท” นักปรัชญาทางด้านกฎหมาย ฝ่ายขวา ผู้มีความคิดที่ท้าทายและเปิดโปงความจริงของโลกในหลายประเด็น หนังสือเล่มหนึ่งของเขาเขียนไว้ว่า ในตะวันตก วิธีการเขียนกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อประมาณปีค.ศ. 1500 กว่า ได้แบ่งโลกด้วยเส้นบางอย่าง โดยสันตะปาปาเป็นผู้ขีดเส้น ให้เส้นผ่านทวีปแอฟฟริกาและยุโรป ปีกที่ไปทางตะวันตก คือ อังกฤษ แอตแลนติก อเมริกา ผลประโยชน์ที่จะได้จากการไปแสวงหา หรือค้นพบในดินแดนใหม่ยกให้สเปน ส่วนปีกทางตะวันออกยกให้โปรตุเกส สังเกตได้ว่าประเทศในฝั่งเอเชียจะผูกพันกับโปรตุเกส เรามี ทองหยิบ ฝอยทอง สังขยา ขนมเบื้อง สิ่งเหล่านี้รับมาจากโปรตุเกสทั้งสิ้น นี่คือเส้นแบ่งโลกเส้นที่ 1 ถัดมาเวสมาเนีย มีการแบ่งโปแตสแตนท์ และคาทอริก มีการแบ่งกันไปเรื่อยๆ
หาก อ่านในประวัติศาสตร์ประเทศไทยเองก็ถูกแบ่ง จากเส้นแม่น้ำเจ้าพระยา ประเทศไทยอยู่ในอิทธิพลของอังกฤษ อินโดจีนอยู่ในอิทธิพลของฝรั่งเศส ป่าที่ถูกทำลายในประเทศไทยทั้งหมดก็ถูกทำลายโดยอังกฤษ ดังนั้น จุดเริ่มต้นของตัวการทำโลกร้อนในประเทศไทยก็คือป่าสักที่ถูกทำลายโดยอังกฤษ หากจะคิดค่าเสียหาย ก็เอาตรงนี้ไปคำนวณคิดค่าเสียหายของป่าสักทองชั้นดีจากอังกฤษ ซึ่งอังกฤษก็จะบอกว่าการตัดไม้เป็นการสัมปทาน ถือเป็นข้อตกลงทางธุรกิจ ผลประโยชน์ตรงนี้ได้เข้าสู่พระคลังข้างที่ไปแล้ว ค่าสัมปทานตรงนี้ต้องถูกนำมาคิดชดใช้ค่าเสียหายโลกร้อน ต้องเอาเงินจำนวนนั้นมาคิดคำนวณดอกเบี้ยทบต้นเรื่อยๆ เอามาหารช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ปัจจุบันเงินจำนวนนี้ไปอยู่ที่ไหนไม่รู้
นอกจากนั้น การทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเสียหายนับตั้งแต่ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา โรงงานต่างๆ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งการดำเนินชีวิตของคนเมือง ดังนั้นกระบวนการคิดจะเป็นกระบวนการมีความซับซ้อนมาก ไม่สามารถตัดตอน คิดอะไรที่ง่ายๆ ไม่เป็นเหตุเป็นผลอย่างที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ได้ อันที่จริง การคำนวณค่าเสียหาย ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี ที่คำนวณจากค่าบีทียูเครื่องปรับอากาศคูณราคาค่าไฟต่อหน่วยเพื่อจะทำให้ใน พื้นที่มีอุณหภูมิต่ำลง ตรงนี้จะต้องคิดค่าติดตั้งเครื่องปรับอากาศลงไปด้วย และค่าขนส่งการคำนวณก็ไม่ละเอียดเลย ผู้คิดสูตรควรทำงานการบ้านให้มากกว่านี้ ทั้งนี้ยังสามารถคิดต่อได้ว่าคนที่มาทำงานได้บริโภคอะไรบ้าง ทำให้เกิดโลกร้อนเท่าไหร่ คิดต่อไปได้เรื่อยๆ โดยสรุปแล้วส่วนตัวคิดว่านี่เป็นความคิดแบบทับซ้อน ซ้ำแล้วซ้ำอีก
หรือหากจะดูวิธีคิดอีกวิธีหนึ่ง สมมติป่าเสื่อมโทรมไป 5 ไร่ เอาเมล็ดพันธุ์ไปหว่านก็จะเติบโตโดยธรรมชาติ กลายเป็นป่า มีต้นไม้ที่ปกคลุมดินได้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี คำนวณค่าใช้จ่าย เมล็ดพันธุ์จะตกอยู่ที่ประมาณ 20-25 บาท ต่อไร่ เอาตรงนี้มาคำนวณเป็นค่าเสียหายที่ชาวบ้านควรจะจ่าย หากคำนวณค่าดอกเบี้ยเงินต้นทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ร้อยละ 5 ต่อปี วิธีนี้ชาวบ้านจะต้องจ่ายเงินราว 50-60 บาท แต่ตรงนี้ก็จะมีการโต้แย่งเรื่องการเสียผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งอาจมีการคิดคำนวณรวมค่าดอกเบี้ยต่อไร่ ตรงนี้ มีกรอบวิธีคิดเยอะมากที่จะใช้คิดความเสียหายในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เอื้อและไม่เอื้อต่อชาวบ้าน หรือทั้งที่จะทำให้เข้าใจกันและไม่เข้าใจกัน
ส่วน ตัวคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ จะช่วยเหลือชาวบ้าน ในการคิดเรื่องหลักเกณฑ์ใหม่ และบอกเลยว่าสิ่งที่มีการทำมามันใช้ไม่ได้ อีกทั้งวิธีการแก้ปัญหาควรจะไปทำที่ไหน อย่างไร ที่ดูแล้วเกณฑ์คำนวณทั้งหมดขึ้นอยู่กับดิน กับน้ำ ปุ๋ยที่จะเอาไปหว่าน อุณหภูมิ ฝน ต้นไม้ และป่า ซึ่งความจริงในทางวิทยาศาสตร์ หลายส่วนเป็นตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว หากแก้ไขปัญหาหนึ่งได้ อีกปัญหาหนึ่งก็จะจบไปอยู่แล้ว เช่น แก้ปัญหาด้วยการปลูกต้นไม้ ปัญหาเรื่องการรักษาดิน ปัญหาเรื่องน้ำ มันก็จะตกไปทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นวิธีคิดตรงนี้จึงไม่ถูกต้อง
“มันเป็นวิธีคิดแบบตั้งใจโง่ ผมคิดว่าคนที่มีเหตุ มีผล มีสติสัมปชัญญะ ที่เป็นนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่าเขาไม่กล้าคิด 7-8 กรณีผมคิดว่าไม่กล้าคิด นี่คือตั้งใจจริงๆ ตั้งใจที่จะให้มันออกมาอย่างนี้”
ตาม จริงส่วนตัวไม่สนับสนุนการรุกทำลายป่า ทำลายป่า แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพยายามแก้ไขกัน กระบวนการที่จะแก้ปัญหาควรดูเป็นกรณี ดูว่าพฤติกรรมของคนที่เข้าไปทำ ดูต้นตอปัญหาจริงๆ ให้ชัดเจน ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นกระบวนการที่ศาลน่าจะมีส่วนเข้ามาช่วยได้เยอะ รวมทั้งการปรับวิธีคิดใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมน่าจะเป็นกระบวนการที่ดีกว่า
ส่วน ตัวตั้งใจว่า หากมีจังหวะเวลาจะพูดถึงปัญหาใหญ่ที่พูดไปแล้วว่า ความจริงแล้วปัญหาใหญ่ของคนจนของเราเกือบทั้งหมดเกิดมาจากกระบวนการพัฒนา การเริ่มต้นยอมรับกระบวนการพัฒนาที่รัฐเป็นฝ่ายริเริ่มอย่างผิดพลาดมา ตั้งแต่ต้น แล้วส่งผลเป็นความทุกข์ให้ชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราเข้าใจจุดเริ่มต้นในตรงนี้ เราจะมองชาวบ้านอย่างชัดเจน ถูกต้อง เข้าใจกันมากขึ้น จะช่วยให้บรรยากาศของการมีชีวิตอยู่ในสังคมไทยดีขึ้น
………………………………………………………………………
ช่วงที่ 2
เสนอผลงานวิจัย “วิถีชุมชนทองถิ่น ผู้สร้างภาวะโลกเย็น”
อารีวรรณ คูสันเทียะ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
งาน วิจัย “วิถีชุมชนทองถิ่น ผู้สร้างภาวะโลกเย็น” เป็นงานวิจัยของชุมชนเอง โดย “ทีมวิจัยชาวบ้าน” ด้วยการสนับสนุนของเครือข่ายต่างๆ และองค์กรทางวิชาการ สืบเนื่องจากกรณีปัญหาที่ชาวบ้านชุมชนในเขตป่าตกเป็นจำเลยของสังคม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องโลกร้อน ภัยแล้ง น้ำท้วม ดินถล่ม และหมอกควัน รวมทั้งมีการตั้งคำถามที่ว่า “ชาวบ้านจะสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้จริงหรือ” ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงการกล่าวหา แต่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
จากสถิติของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน (คปท.) ปัจจุบัน (ก.ค.2553) มีสมาชิก คปท.ที่ถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาข้อหาบุกรุกพื้นที่ ทำให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติจากทั่วประเทศ ทั้งหมด 131 คดี จำนวน 500 ราย ดำเนินคดีความทางแพ่ง “ข้อหาทำให้โลกร้อน” มีจำนวนทั้งสิ้น 30 ราย มูลค่าความเสียหายที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรียกเก็บจากชาวบ้านโดยรวมกว่า 17,559,434 บาท ทั้งนี้ ชาวบ้านถูกฟ้องร้องคดีอาญาในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐ ทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาแล้วทั้งสิ้นก่อนที่จะถูกดำเนินคดีความทางแพ่ง
หลักเกณฑ์คิดค่าเสียหายที่กรมอุทยานฯ ฟ้อง ข้อหาทำให้เกิดการเสื่อมเสียของทรัพยากรมีทั้งหมด 7 ข้อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสื่อมสภาพทางนิเวศน์ ไม่ว่าจะเป็น ธาตุอาหาร ดินไม่ดูดซับน้ำฝน ทำให้ดินสูญเสีย ฝนตกน้อยลง และความเสียหายทางตรงจากป่าคือมูลค่าของเนื้อไม้ โดยค่าเสียหายเกี่ยวกับการทำให้โลกร้อนโดยตรงคือข้อที่ 5 “ทำให้อากาศร้อนขึ้น” ซึ่งหลักเกณฑ์นี้บังคับใช้ตั้งแต่ก่อนปี 2547 แต่ในกระบวนการฟ้องร้อง ศาลไม่เชื่อถือ จึงมีการปรับวิธีคิดใหม่ไปใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริง โดยการเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ที่มีการฟ้องร้อง การวัดเส้นรอบวงของต้นไม้ในพื้นที่ป่าข้างเคียงเพื่อนำมาเปรียบเทียบ โดยใช้แบบจำลองอัตโนมัติในการคำนวณค่าเสียหาย
ในส่วน ชาวบ้านสมาชิก คปท.มองว่าวิธีคิดนี้ไม่ได้มองจากพื้นที่จริง ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านต้องการพิสูจน์ว่าวิถีชุมชนที่อยู่ในเขตป่าทำให้โลกร้อนจริงหรือไม่ และในส่วนของงานวิจัยมีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ 1.เพื่อนำข้อมูลผลการศึกษาไปใช้อธิบาย ต่อสู้ทางคดีความในชั้นศาลให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ถูกดำเนินคดีและเรียกค่า เสียหาย และ 2.เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมในเรื่องวิถีการดำเนินชีวิต วิถีการผลิต และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของชุมชนที่สัมพันธ์กับเรื่องโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพทางนิเวศ
พื้นที่ศึกษา
1. ภาคเหนือ (โครงการวิจัยเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว)à ชุมชนห้วยหินลาด อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย โดย...ทีมวิจัยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และองค์การอ็อกแฟม เกรท บริเทน (โครงการประเทศไทย)
2. ภาคอีสาน à ชุมชนห้วยกลทา-ห้วย ระหงส์ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โดย...ทีมวิจัยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน และศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(รีคอฟ)
3. ภาคใต้à ชุมชนทับเขือ-ปลัก หมู อ.นาโยง และชุมชนบ้านตระ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง โดย...ทีมวิจัยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน และศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(รีคอฟ)
ผลศึกษา 4 ประเด็น
-สิทธิในการอยู่ในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่นในเขตป่า
-วิถีการดำรงชีวิต วิถีการผลิต และวิถีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของชุมชน
-ศักยภาพชุมชนในการกักเก็บและดูดซับคาร์บอน ชุมชนในเขตป่าเป็นบ่อเกิดของโลกร้อนจริงหรือไม่
-การศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงสภาพทางนิเวศน์ระหว่างพื้นที่การเกษตรของชุมชนกับพื้นที่ป่าธรรมชาติ
ข้อค้นพบจากการศึกษา
1.ชาว บ้านที่อยู่ในเขตป่ามีสิทธิชุมชนตามมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับรองสิทธิชุมชน ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนดั้งเดิมให้มีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าหลายแห่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชัดเจนว่า เป็นชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนดั้งเดิมที่มีการตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศเขต ป่า เช่น ที่ชุมชนบ้านตระจะมีคุโบร์ (หลุมฝังศพ) เก่าแก่ และมีประวัติสาสตร์การเป็นเส้นทางการค้าในอดีต อีกทั้งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยการสำรวจคำนวณอายุของต้นไม้ที่เกิดจากการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม เช่น ต้นยางพารา ต้นทุเรียน และต้นกระท้อน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 80-120 ปี
2.วิถี การดำรงชีวิต วิถีการผลิต และวิถีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในกรณีภาคเหนือ เป็นพื้นที่ของ “ชุมชนปกาเก่อญอ” ในพื้นที่สูง เน้นวิถีการผลิต การใช้ชีวิต การบริโภค การใช้พลังงาน ใช้ “รอยเท้านิเวศน์” มาจับว่าวิถีชุมชนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับค่า เฉลี่ยของคนโดยทั่วไป โดยนำเอาขนาดพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ไปเทียบกับพื้นที่ที่มีอยู่ของชุมชน ซึ่งพบว่า พื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จะต่ำมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีอยู่ เช่น ที่บ้านหินลาดในมีพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จริงเพียง 3.8 ไร่ โดยพื้นที่อยู่ถึงราว 112 ไร่ ขณะที่ค่าเฉลี่ยของคนไทย ใช้ไปถึง 10.63 ไร่ ทั้งที่มีพื้นที่ให้ใช้ได้อยู่ 6.88 ไร่ ซึ่งเราใช้เกินกว่าที่เรามี อีกทั้งในชุมชนมีวิถีการเกษตรหลายรูปแบบทั้ง วนเกษตร การปลูกพืชหมุนเวียน และการอนุรักษ์ป่าโดยวิถีชุมชนที่พึ่งพาและเกื้อกูล
ส่วนภาคอีสาน ที่ชุมชนห้วยกลทามีพื้นที่ทำกินเพียง 50-60 ไร่ แต่มีพื้นที่ป่าชุมชนที่ชุมชนได้ร่วมรักษาและใช้ประโยชน์ 1,500 ไร่ วิถีการผลิตของชุมชนเน้นเรื่องการทำสวนมะขาม มีการปลูกข้าวโพด 9 ไร่ ในชุมชน ปลูกผักสวนครัว พืชคลุมดิน ปลูกพืชผสมผสาน พื้นที่เป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ ขณะที่ชุมชนทับเขือ-ปักหมู มีภูมิปัญญาที่จำลองป่า โดยป่าอยู่แบบไหนชุมชนก็จะอยู่แบบนั้น ด้วยการปลูกพืช 4 ชั้น คือพืชคลุมดิน ไม้พุ่ม ผลไม้ และพืชชั้นบนสุดคือยางพารา หรือที่เรียกว่าสวนสมรม มีการจัดการป่าชุมชน มีพื้นที่ป่าความเชื่อ ป่าบรรพบุรุษ คล้ายปกาเก่อญอของภาคเหนือ
วิถีการผลิตต่อการกักเก็บและปลดปล่อยคาร์บอน คำนวณจากการทำแปลงทดลองในพื้นที่ 1 ไร่ (40x40 เมตร) ที่ชุมชนห้วยหินลาด จ.เชียงราย ได้ทำการศึกษาเมื่อปี 2551 พบว่า ในพื้นที่ป่าชุมชน 19,498 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 6.6 แสนตัน พื้นที่เกษตร 3,547 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 5.9 หมื่นตัน และทั้งชุมชนมีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนรวม 7.2 แสนตัน หรือเฉลี่ย 34.08 ตันต่อไร่
ภาคใต้ที่ชุมชนทับเขือ-ปลัก หมู ปี 2553 พื้นที่ป่าชุมชน 900 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 33,000 ตัน พื้นที่เกษตร 1,200 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 10,671.5 ตัน พื้นที่ทั้งชุมชน 2,100 ไร่ กักเก็บได้รวม 44,600 ตัน เฉลี่ย 21.23 ตันต่อไร่
ในส่วนภาคอีสานที่ชุมชนห้วยกลทา พื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งมีทั้งป่าเต็งรัง ป่าไผ่ซาง และป่าริมห้วยมีพื้นที่รวม1,528.20 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 1.35 หมื่นตัน พื้นที่การเกษตรรวม ได้แก่ ไร่ข้าวโพด สวนผลไม้และสวนมะขามพื้นที่134 ไร่ มีปริมาณการดูดซับคาร์บอนได้6.9 หมื่นตัน รวมทั้งชุมชนกักเก็บได้รวม 21,495 ตัน หรือเฉลี่ย 12.93 ตันต่อไร่ ทั้งนี้ ในภาคอีสานพื้นที่เป็นป่าผลัดใบ ศักยภาพในการเติบโต และดูดซับคาร์บอนจะแตกต่างกันไป
ปริมาณการเพิ่มพูนคาร์บอน และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปของเนื้อไม้ ที่ชุมชนห้วยหินลาด ป่าชุมชนมีปริมาณการเพิ่มพูนคาร์บอนของต้นไม้ 6.6 แสนตันต่อปี ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2.4 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีสูญเสียจากพื้นที่ไร่หมุนเวียนและนาข้าว 548 ตันต่อปี สัดส่วนการดูดซับ: การสูญเสียในรูปแบบการผลิต คือ ร้อยละ 99.92 ต่อ 0.08
ในชุมชนห้วยกลทาพื้นที่ป่าชุมชน (เฉพาะป่าเต็งรังและสวนมะขาม เพราะการวิจัยยังไม่เสร็จสิ้น) มีปริมาณการเพิ่มพูนคาร์บอนของต้นไม้ 642 ตันต่อปี ปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวม 2,356 ตันต่อปี ขณะที่มีการสูญเสียกับผลผลิตข้าวโพด 3.69 ตันต่อไร่ต่อปี สัดส่วนการดูดซับ: การสูญเสียร้อยละ 99.43 ต่อ 0.57
ส่วนที่ชุมชนทับเขือ-ปลัก หมู ป่าชุมชนมีการเพิ่มพูนคาร์บอนของต้นไม้ 3,102 ตันต่อปี ปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 11,373 ตันต่อปี ขณะที่มีการสูญเสียจากยางพารา 1,201 ตันต่อปี สัดส่วนการดูดซับ: การสูญเสียคือร้อยละ 72 ต่อ 28
วิถีการผลิตกับการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศน์ศึกษาว่าในพื้นที่เพาะปลูกรูปแบบต่างๆ เทียบกับพื้นที่ป่าธรรมชาติมีความแตกต่างกันอย่างไรใน 4 ประเด็น คือ “อุณหภูมิ การดูดซับน้ำ การปกคลุมเรือนยอด การปกคลุมผิวดิน” จากข้อมูลในพื้นที่บ้านห้วยกลทา ภาคอีสาน และชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ภาคใต้
เรื่องอุณหภูมิของอากาศ ศึกษาโดยการติดตั้งเทอร์โมมิเตอร์ในระดับความสูงที่แตกต่างกัน คือ ผิวดิน และเหนือผิวดิน 20-30-50-100-150 ซม. ที่ทับเขือ-ปักหมู ศึกษาสวนยางสมัยใหม่ สวนยางกึ่งสมัยใหม่และป่าธรรมชาติ ในระดับความสูงเหนือผิวดิน พบว่า 6.00-12.00 น.อุณหภูมิจะค่อยๆ สูงขึ้น และร้อนสุดในช่วง 14.00 น.จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ ความสูงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อุณหภูมิลดลงตลอดทุกช่วงระดับความสูง และมีความต่างของอุณหภูมิในพื้นที่ตัวอย่างลดลง โดยเวลา 18.00 น.ทุกช่วงความสูงอุณหภูมิในพื้นที่เกษตรแทบไม่ต่างจากป่าธรรมชาติ และเวลา 02.00 น.ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 100 ซม.ขึ้นไป สวนยางกึ่งสมัยใหม่อุณหภูมิจะต่ำกว่าป่าธรรมชาติ
ชุมชนห้วยกลทา ศึกษาแปลงข้าวโพด สวนมะขามและป่าผ่าซาง โดยสวนมะขามในความสูง 50 ซม.อุณหภูมิจะเย็นกว่าป่าไผ่ซาง และหากระดับความสูงเพิ่มขึ้นอุณหภูมิจะลดต่ำลง เมื่อเทียบไร่ข้าวโพดกับป่าไผ่ซาง สูงเหนือผิวดิน 150 ซม.อุณหภูมิไร่ข้าวโพดแทบไม่ต่างจากป่าธรรมชาติ และสูงกว่าป่าธรรมชาติเพียง 1 องศาเซลเซียส
สรุป คือ ในพื้นที่ทำกินอุณหภูมิไม่ได้สูงกว่าป่าธรรมชาติเสมอไป แต่บางกรณีทำให้อุณหภูมิต่ำมากกว่า เช่น สวนมะขาม กรณีการใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เช่น สวนยางพาราสมัยใหม่ ไร่ข้าวโพด แม้จะมีช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงกว่า แต่ก็สั้นเพียง 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น และในช่วงกลางคืน 8-10 ชั่วโมง ตรงข้ามอุณหภูมิกลับต่ำกว่า ส่วนการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ มักจะปรากฏในบริเวณผิวดินหรือใกล้ผิวดินเท่านั้น แต่เหนือผิวดิน 50-100 ซม.จากการศึกษาครั้งนี้ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างมีนัยสำคัญ
ใน เรื่องอื่นๆ เช่นประเด็นการปกคลุมผิวดิน การปกคลุมเรือนยอด ในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าชุมชนมีค่อนข้างดี ในส่วนการดูดซึมน้ำ ศึกษาโดยการนำน้ำรดลงดินและจับเวลา และพบว่าสวนมะขามมีการดูดซึมน้ำได้ดีกว่าป่าธรรมชาติ
“จาก ข้อมูลผลการศึกษาสามารถพิสูจน์ได้เลยว่าวิถีการผลิตของชาวบ้าน วิถีการใช้ประโยชน์จากป่าไม่ได้เป็นต้นเหตุ หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายกับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และไม่ได้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ชุมชนสามารถพิสูจน์ได้โดยงานวิจัยของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฉบับนี้”
“ชุมชน เกษตรกรที่ทำการการผลิต ดำรงวิถีชีวิต เพื่อความอยู่รอด ถ้าไม่ให้ทำเกษตร ไม่ให้ทำมาหากินกันป่าจะให้ชุมชนไปทำอะไร หรือจะให้ไปเป็นแรงงานรับจ้าง นั้นไม่ใช้เส้นทางที่ดี หรือมั่นคง ดังนั้นจึงอยากสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิของชุมชนที่จะดำรงวิถีทำกินและ ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ โดยมีแนวทางที่สร้างสรรค์ร่วมกัน”
การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก มีวงรอบ 30 ปี จึงจะชี้ชัดได้ ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่จะพิสูจน์ว่าวิถีของเขาร่วมเย็นก็ต้องพิสูจน์ด้วยวิถี กฎ กติกา รูปแบบการจัดการโดยองค์กรชุมชนด้วย
………………………………………………………..
วิถีชุมชนในเขตป่า กับการสร้างภาวะสมดุลทางสิ่งแวดล้อม
ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอิสระ
กล่าว ถึงบรรยากาศการศึกษา และสรุปผลพวงการทำลายป่าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการใช้ที่ดิน อีกทั้งยังรับรองว่าสิ่งที่ชาวบ้านวิจัยทั้งหมดใช้ทักษะที่ถูกต้องตามหลัก การ
จาก การลงพื้นที่บ้านตระ จ.ตรัง มีประวัติศาสตร์การล่องเรือ ของสุลต่านสุไลมานที่นำชาวบ้าน จากอินโดนีเซีย มีที่ปากทะเลสาบสงขลา จนถึงพัทลุง และอาจมีการไปขึ้นเรือที่บ้านตระ เนื่องจากพื้นที่นี้เดิมเป็นเส้นทางโบราณที่เชื่อมการค้า และผู้ก่อสร้างบ้านตระคือหลานของสุลต่านสุไลมาน เมื่อกว่า 400 ปีมาแล้ว
ในการเดินทางเข้าพื้นที่ใช้รถจักรยานยนต์ วิ่งไปบนทางลาดปูนซีเมนต์ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นเอง แล้วเดินทางไปกูโบร์(หลุมฝังศพ) ในหมู่บ้านที่อยู่ 3 แห่ง ตามเส้นทางเดินจากบ้านตระไปสู่ “รัฐภูมิ” และได้ไปดูหลุมฝังศพของทวดเล็ก ซึ่งคาดว่าได้มีการทำความสะอาดก่อนหน้า จึงมองไม่เห็นพืชคลุมดินมีแต่ทรายและหิน
ทวดเล็กบอกเราว่า “แม้จะมีต้นไม้ปกคลุม แต่ถ้าดินนั้นมีที่โล่ง ดินนั้นไม่ถูกปกคลุมด้วยอะไร มันก็ถูกกัดชะอยู่ดี แม้จะอยู่ใต้ต้นไม้” ดังนั้นหากจะไม่ให้ถูกกัดชะก็ต้องมีสิ่งที่ปกคลุม
ที่ ต่างประเทศ มีการใช้ไลเคนเพื่อบอกอายุของหลุมฝังศพ จึงได้ขอไปดูไลเคนบนหินปักอยู่หัวและท้ายของหลุมฝังศพ เพื่อหาอายุ ทั้งนี้จากการศึกษาที่เขาใหญ่ ไลเคนจะโต 1.12 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนไลเคนบนหินมีความยาวกว่า 10 ซม.คาดว่าราวร้อยกว่าปี แต่ถูกขัดไปเมื่อตอนที่ชาวบ้านเข้ามาดูแล และทหารเข้ามาอยู่และเอาหินเหล่านี้ไปรองหม้อข้าว ดังนั้นการพิสูจน์อายุของหลุมฝังศพด้วยวิธีนี้จึงทำไม่ได้
จากนั้นได้เดินทางไปดูต้นไม้ ต้นทุเรียนชื่อหมีฉีกมีรูอยู่ตรงกลางเหมือนหมีฉีก ปลูกอยู่ใกล้กูโบร์ ซึ่งเป็นต้นที่ค่อนข้างสูงมาก ต้นทุเรียนต้นต่อมาชื่อขี้หมิ้น(ขมิ้น) วัดเส้นรอบวงได้ 91.5 ซม. และมีต้นทุเรียนขนาดเล็กกว่าเป็นลูกของขี้หมิ้น วัดรอบวงได้ 21 ซม.อายุจะประมาณ 26 ปี โตเฉลี่ยปีละราว 0.8 ซม.แล้วนำมาคำนวณอายุของขี้หมิ้นได้ 113 ปี เท่าอายุกรมป่าไม้ไทย
ส่วนต้นยางพาราเก่า สวนยางพารามีการปลูกยาง 4 ชั้นอายุ ไม่ตัดโค่นทีเดียวหมดทั้งสวน แต่ปลูกสลับทีละแถว มีพืชคลุมดิน บริเวณบึงน้ำซับมีต้นหลุมพลี (ระกำพันธุ์หนึ่ง) ตรงนี้ถือเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติและมีการรักษาป่าในบริเวณใกล้เคียงกันนั้นเอา ไว้ บ้านตระมีป่าชุมชน ใช้ชื่อว่าทวดต่างๆ ส่วนการปลูกยางมีพืชคลุมดิน ราวเดือนมีนาคมจะมีการตัดพืชมาคลุมดิน และต้องมีการโค่นต้นยาง เปลี่ยนยางใหม่เพื่อความอยู่รอด แต่มีวิธีการเปลี่ยนยางใหม่โดยขวางแนวลาดชัน ลักษณะเป็นขั้นบันได ส่วนในป่าธรรมชาติ พื้นที่จะเดินง่ายเพราะแสงสว่างส่องถึงพื้นดินได้น้อย พืชคลุมดินจึงมีไม่ต่างจากสวนยางแก่ ชาวบ้านอยู่กันโดยไม่มีไฟฟ้าใช้
พื้นที่ ต่อมาที่ห้วยกลทาและห้วยระหงส์ ประทับใจที่ลำห้วยทุกลำห้วยจะมีป่าริมน้ำ ซึ่งน่าสนใจ เพราะมันเป็นเส้นทางเดินเชื่อมของสัตว์ป่า เป็นที่หลบภัยให้สัตว์ได้แวะพักระหว่างไป-กลับจากอุทยานกับป่าชุมชน ป้องกันการชะล้างดินริมฝั่ง ช่วยไม่ให้ดินพัง และเป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านด้วย ส่วนปาชุมชนเป็นป่าเต็งรังแคระ มีหินโผล่ไม่ค่อยมีพืชคลุมดิน หากฝนตกหนักๆ อาจเกิดดินถล่มได้ ในป่าชุมชนของชาวบ้าน เด็กๆ มีการเก็บผักหวาน
“สิ่ง หนึ่งที่อยากไปช่วยชาวบ้านในยุคนี้ เพราะอยากให้ชาวบ้านมีข้อมูลของตนเอง มีการเก็บข้อมูล เป็นเจ้าของข้อมูลของตนเอง ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายนำวิทยาศาสตร์สู่ชุมชน”
ชาว บ้านที่ห้วยกลทาและห้วยระหงส์ได้เปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกจากข้าวโพดสู่การ ปลูกพืชหลากหลายชนิดผสมผสานกัน ขณะที่เดินสำรวจป่าริมน้ำ พบต้นไทร 4-5 คนโอบ คำนวณการเก็บคาร์บอนได้ 20 ตัน สูงกว่าป่าเต็งรังแคระที่คำนวณการเก็บคาร์บอนได้ 4.1 ตันต่อไร่ คือต้นไม้ใหญ่ต้นเดียวเกือบคาร์บอนได้ราว 5 ไร่ ดังนั้นจึงอยากสนับสนุนให้รักษาต้นไม้ใหญ่เอาไว้ ช่วยรักษาสมดุลความหลากหลายตามธรรมชาติ
จาก การสำรวจ ชาวบ้านห้วยกลทามีการยกป่ามาไว้ในบ้าน ด้วยการปลูกไผ่ในพื้นที่บ้านเพื่อตัดใช้ประโยชน์ เป็นความพยายามจัดการอย่างยั่งยืน ชาวบ้านมีชีวิตเรียบง่าย วิถีชุมชนในเขตป่ามีการกันเขตอนุรักษ์ของชุมชน เช่นพื้นที่พรุ ป่าริมน้ำ ซึ่งปกติรักษาได้โดย 2 สิ่ง คือความเชื่อ (ผี บรรพบุรุษ ทวด) และองค์ความรู้ท้องถิ่น ที่เกิดเมื่อคนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่า มีความรู้ในเรื่องสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ และเรื่องระบบของป่า ทั้งนี้ องค์ความรู้ท้องถิ่นที่ตั้งถิ่นฐานมายาวนาน มีความน่าสนใจหลายอย่าง
Universal Soil Loss Equation
A = R x K x LS x C x P
A = ปริมาณดินที่สูญเสีย (Annual Soil Loss) คิดเป็นตัน / เฮกตาร์
R = ปัจจัยเกี่ยวกับความสามารถในการกัดชะของฝน (ตกหนัก, ยาวนาน, ปริมาณน้ำฝน)
K = ปัจจัย เกี่ยวกับดินว่าจะถูกกัดชะยากง่ายหรือไม่ (ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและเสถียรภาพของดิน เนื้อดิน (หยาบละเอียด) อินทรีย์ วัตถุในดิน น้ำซึมลงดินได้ช้าหรือเร็ว)
LS = ปัจจัยเกี่ยวกับความยาวของความลาดเท และความชัน
C = ปัจจัยว่าด้วยการจัดการพืชพรรณบนผิวดิน (เป็นตัววัดประสิทธิภาพของการจัดการ ปลูกอะไร ปลูกอย่างไร)
P = ปัจจัยว่าด้วยการจัดการ เพื่อลดน้ำไหลบ่าตามผิวดิน เช่น ปลูกขวางแนวลาดชัน นาขั้นบันได เป็นต้น
สมการที่ใช้ในการคำนวณการสูญเสียหน้าดินนั้น คำนวณถึง R ปัจจัยฝนว่ามีความสามารถกัดชะต่างกัน และ K ดินแต่ละชนิดก็ถูกกัดเซาะได้ต่างกัน รวมทั้งมีปัจจัยเรื่องความลาดชัน ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยของพื้นที่ที่เข้าไปเปลี่ยนได้ยาก แต่เราสามารถควบคุมการปะทะโดยลดความรุนแรงของเม็ดฝนด้วยการปลูกพืชคลุมดิน หรือใช้วัสดุคลุมดิน เช่นที่ห้วยกลทามีการปลูกถั่วแดงก่อนไถกลบเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร อย่างไรก็ตาม C ปัจจัยว่าด้วยการจัดการพืชบนผิวดิน และ P ปัจจัยว่าด้วยการจัดการเพื่อลดน้ำไหลบ่าตามผิวดินที่มีความลาดชัน ไม่เคยปรากฏอยู่ในการคำนวณ ทั้งที่วิทยาศาสตร์การเกษตรมักใช้ C และ P เป็นยุทธศาสตร์ในการจัดการดิน
ส่วนผลจะไปแสดงออกที่การวิเคราะห์ดินของชาวบ้าน ที่ทับเขือ-ปลักหมู ป่าดงดิบธรรมชาติลึก 0-5 ซม.ความหนาแน่นรวม 0.90 กรัม/ซ.ม3 มีเปอร์เซ็นต์ความชื้น 25.80 ซึ่งความหนาแน่นรวมยิ่งตัวเลขน้อยยิ่งดี เพราะมีความพรุนมาก ดูดซับน้ำได้ดี จากการสำรวจในความลึกเท่ากัน ป่ายางใหม่มีความหนาแน่นรวม 0.98 กรัม/ซ.ม3 ซึ่งไม่ต่างกันมาก ขณะที่ในป่ายางแก่กลับมีรูพรุนมากกว่าป่าดงดิบธรรมชาติและมีความชื้นมากกว่า และในส่วนอินทรียวัตถุ ป่าธรรมชาติมีอินทรียวัตถุสูงแต่ไม่ต่างกับป่ายางอ่อนมากนัก ขณะที่ป่ายางแก่มีอินทรียวัตถุมากกว่าทั้งป่ายางอ่อนและป่าธรรมชาติ
ที่ห้วย กลทา จากการสำรวจพบว่าความชื้นในดินที่ระดับความลึกใกล้เคียงกัน ดินไร่ข้าวโพดมีความชื้นสูงกว่าดินในป่าชุมชน ทั้งนี้เป็นเพราะในฤดูเพาะปลูกชาวบ้านมีการตัดต้นข้าวโพดเร็วในช่วงต้นหน้า แล้ง ช่วยลดการคายน้ำ มิฉะนั้นน้ำก็สูญเสียไปโดยการคายระเหย และมีการตัดต้นไม้ที่คลุมดินหรือการไถกลบเพื่อลดการสูญเสียน้ำในดิน ทำให้น้ำในดินสูงกว่าการคายน้ำ ช่วยอนุรักษ์น้ำในดินเพื่อให้เพียงพอต่อการเกษตร ซึ่งวิธีการเพื่อลดการสูญเสียน้ำในดินนั้นพบในไร่หมุนเวียนของชาวบ้านด้วย เช่นกัน โดยในฤดูแล้งที่มีการเผาไร่ปรากฏว่าน้ำในดินนั้นสูงกว่าในป่า เพราะเป็นการลดการคายน้ำ
สรุปบทเรียน ทั้ง 2 หมู่บ้าน รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่เข้าไปศึกษาเป็นตัวอย่างการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในที่อื่นๆ ได้ทั้งในเขตเกษตรและอุตสาหกรรม คือ การอนุรักษ์หย่อมป่าธรรมชาติ ให้เป็น Stepping Stones ของสัตว์ ใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยจัดทำป่าชุมชน ปลูกพืชผสมผสาน มีวิธีการเกษตรที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ เช่น พืชคลุมดิน เพิ่มอินทรียวัตถุ ปลูกขวางแนวลาดชัน การเปลี่ยนต้นใหม่แทรกระหว่างต้นเก่าช่วยการหมุนเวียนธาตุอาหารเร็วขึ้น ฯลฯมีการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรม คือการรักษาพืชดั้งเดิมไว้ และสุดท้ายใช้พลังงานต่ำ รักษาป่าและต้นไม้ช่วยกักเก็บคาร์บอน
……………………………………………………..
วิเคราะห์แบบจำลองในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ใน ฐานะนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าที่ผ่านมา “เศรษฐศาสตร์” มักตกเป็นจำเลยของสังคมว่าถูกใช้ไปเพื่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือความ เหลื่อมล้ำ แต่ความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้เกิดจากการใช้เศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีความเป็นธรรม การพัฒนาวิชาเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาในครั้งแรกโดย “อดัม สมิท” มีความมุ่งหวังให้เป็น “ปรัชญาด้านคุณธรรม” เพราะฉะนั้นการพัฒนาวิชานี้จึงต้องยึดมั่นในหลัก “เศรษฐธรรม” คือหลักที่จะสร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่ในบางครั้งผู้ใช้สนใจเฉพาะเครื่องมือของเศรษฐศาสตร์เท่านั้น โดยนำไปใช้ในทางที่ไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่น
รามอน แมกไซไซ อดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ กล่าวไว้ว่า “คนที่มามีน้อย รัฐควรหยิบยื่นให้มาก” แต่สิ่งที่เห็นในความเป็นจริงได้ดำเนินไปในทางตรงกันข้ามกับหลักการนี้ และหลักการคิดค่าเสียหายนั้นก็ขัดกับหลัก “เศรษฐธรรม” ซึ่งการคิดค่าเสียหายได้อ้างถึงหลักเศรษฐศาสตร์ข้อหนึ่ง คือ “ผู้ที่ก่อให้เกิดค่าเสียหายต้องเป็นผู้จ่าย” ซึ่งหลักการนี้ต้องใช้บังคับอย่างเป็นธรรมกับทุกคน เช่น การคิดค่าเสียหายที่ทำให้อากาศร้อนขึ้นต้องคิดกับผู้ก่อความเสียหายทุกคน รวมทั้งคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ การเปิดแอร์ การขับรถ จากตัวเลขการศึกษาพบว่าโดยรวมแล้วในเขตเมืองทำให้อุณหภูมิสูงกว่าชนบทถึง 3 องศาเซลเซียส
หาก คิดความเสียหายกับทุกคนไม่ได้ ก็ต้องพิจารณากับผู้ที่เป็นต้นเหตุหลักของความเสียหายนั้น เป็นเป้าหมายหลักในการนำหลักเกณฑ์ไปใช้ก่อน และการคิดค่าความเสียหายจากหลักการนี้ต้องคำนึงถึงแนวปฏิบัติทั่วไป ดังที่ อ.ธีรยุทธ กล่าวไว้ว่าการเปิดเครื่องปรับอากาศในพื้นที่ 9 เพื่อให้อุณหภูมิต่ำลง 1.6 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงแนวทางปฏิบัติที่ควรจะเป็นหรือควรจะเกิดขึ้นในแต่ละกรณีความ เสียหายเป็นเช่นไร อีกทั้งการคิดค่าความเสียหายไม่ได้มุ่งทำให้เกิดความล่มจม แม้จะเป็นในภาคอุตสาหกรรมก็ตาม แต่ต้องการให้เกิดการปรับตัว โดนนำต้นทุนตรงนี้ไปคิดและนำไปสู่การปรับตัวเพื่อให้อยู่ในการผลิตที่เหมาะ สมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอีก ยกตัวอย่างในประเทศตะวันตก มีการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการพัฒนากลไกลซื้อขายคาร์บอน
จากแบบจำลองการประเมินค่าความเสียหาย มีตัวแปรสำคัญ 5 ตัว คือ ที่ตั้ง ชนิดป่า พื้นที่หน้าตัดต้นไม้และความสูงเฉลี่ยต้นไม้ ลักษณะพื้นที่ที่ถูกทำลาย เนื้อดิน ตัวแปรส่วนที่เหลือใช้การเทียบเคียงกับผลการศึกษาที่เคยทำมาก่อน สังเกตได้ว่าไม่มีการวัดอุณหภูมิแต่เทียบเคียงกับการศึกษาที่เคยทำมา ซึ่งไม่ได้ทำการศึกษาระเอียดเหมือนที่ชาวบ้านทำ ปัญหาสำคัญของการใช้แบบจำลองนี้ตามมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ จะเห็นประเด็นหลักว่าเป็นการใช้แบบจำลองแยกส่วนในการคิดคำนวณค่าเสียหาย และเลือกปฏิบัติ โดยเป็นการเลือกปฏิบัติใน 2 ลักษณะ คือ 1 คิดค่าเสียหายกับเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น ทั้งที่ความเสียหายต่างๆ เหล่านี้เกษตรกรเป็นเพียงส่วนน้อยของภาพรวม เรื่องอากาศร้อนขึ้นทุกคนในเขตเมือง อุตสาหกรรม การใช้รถก็มีส่วน ในเรื่องการสูญเสียน้ำนั้น น้ำจะมีการหมุนเวียนในระบบโดยไม่ได้สูญเสียไปไหน ยกเว้นน้ำที่เป็นมลพิษ
2.การ คิดค่าเสียหายจงใจเลือกปฏิบัติ มุ่งเฉพาะส่วนที่เกษตรใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก แต่การที่จะบอกว่าใครทำลายหรือใครอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะดูเฉพาะที่ดินแปลงเดียวไม่ได้ ต้องดูภาพรวมวิถีชีวิตของคน ยกตัวอย่างห้วยกลทาที่ชาวบ้านดูแลป่าชุมชน 1,500 ไร่ แต่ถูกเลือกจับไร่ข้าวโพดจำนวนเพียง 9 ไร่ โดยที่ไม่มองว่าป่าชุมชนทั้งหมดที่ดูแลมาได้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมไว้อย่างไร
ข้อ เสนอหากจะวัดว่าใครดูแลรักษาทางหลักวิชาการมีการวัดได้ โดยใช้รอยเท้านิเวศน์ ว่าแต่ละคนมีการใช้พื้นที่และทรัพยากรไปเท่าไร ยกตัวอย่างที่หินลาดใน ใช้ทรัพยากรเทียบเป็นพื้นที่ประมาณ 3 ไร่กว่า ในขณะที่คนทั้งประเทศโดยเฉลี่ยใช้ประมาณ 10 ไร่ ส่วนคนกรุงเทพฯ คิดว่าจากเกิด 20 ไร่ต่อคนด้วยซ้ำ คำถามคือคนที่อยู่ในพื้นที่มีการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรใช้หรือไม่และเราจะมี วิธีสนับสนุนอย่างไร อีกวิธีคือการวัดสมดุลคาร์บอน ซึ่งที่หินลาดในพบว่ามีการสะสมคาร์บอนถึง 7 แสนตัดต่อปี แล้วเราจะเลือกมองสิ่งเหล่านี้หรือจะมองเฉพาะที่มีการทำไร่หมุนเวียน
“ผม ขอย้ำว่าเชิงวิชาการเราสามารถตอบได้ ปัญหาก็คือว่ามันเป็นการใช้เทคนิคทางกฎหมายที่ไม่ยอมรับรู้ความเป็นจริงของ วิถีชีวิต และความเป็นจริงของวิชาการใช่หรือไม่ ขอตั้งคำถามไว้สำหรับผู้ใช้แบบจำลองนี้”
การ ใช้แบบจำลองนี้ตั้งอยู่บนฐานที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรโดยไม่บังคับกับทุกคน ไม่มองถึงวิถีชีวิตเกษตรกรอย่างครบถ้วนเป็นภาพรวม แต่เลือกจุดที่จะฟ้องร้อง นอกจากนั้นยังมีปัญหาในแง่การปฏิบัติคือไม่ได้ไปดูพื้นที่จริง ป่า ชนิดหรือลักษณะของไม้ ธาตุอาหารหลักในพื้นที่จริง โดยแบบจำลองที่ใช้คำนวณนั้นมีการระบุว่าพื้นที่เกษตรกรรมมีค่าไนโตรเจนติดลบ ซึ่งน่าสงสัยถึงความเป็นได้ที่ธาตุในดินจะติดลบ อีกทั้งไม่พูดถึงปัจจัยเรื่องพืชคลุมดิน พืชเรือนยอด เรื่องอากาศร้อนขึ้นไม่มีการวัดอุณหภูมิในพื้นที่จริง เทคนิควิธีวัดโดยการใช้เครื่องปรับอากาศไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งหากใช้จริงจะเป็นการเพิ่มอุณหภูมิโดยรวมเพราะการใช้เครื่องปรับอากาศทำ ให้พื้นที่หนึ่งเย็นแต่ในอีกพื้นที่หนึ่งอุณหภูมิสูงขึ้น เป็นการไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
ใน เรื่องของน้ำ ไม่มีการเก็บข้อมูลการละเหยในสภาพพื้นที่จริง ข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ใช้ก็ใช้ตัวแทนในระดับจังหวัด ไม่ได้ใช้ในส่วนที่ย่อยลงมาทั้งที่มีสถานีวัดในส่วนนี้อยู่ ส่วนค่าความเสียหายโดยใช้รถบรรทุกน้ำไปรดนั้นเป็นวิธีที่คนทั่วไปไม่ใช้ อีกเรื่องคือ “การนับซ้ำค่าความเสียหาย” คือ หลายเรื่องหากลดทอนลงได้จะมีผลต่ออีกเรื่องหนึ่ง เช่น ระหว่างการคิดค่าดินสูญหายกับธาตุอาหารสูญหาย หรือระหว่างการคิดค่าอากาศที่ร้อนขึ้นกับการสูญเสียน้ำ แต่แบบจำลองกลับแยกกันคิด ในทางกลับกันนั่นก็คือการนับซ้ำ
สรุป แบบจำลองการคิดมูลค่าความเสียหายเป็นการเลือกปฏิบัติและกำลังสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกษตรกร
“แบบ จำลองนอกจากไม่เป็นธรรมแล้ว ยังมีความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ทางเทคนิคทำให้ไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงเป็นการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ปราศจากหลัก “เศรษฐธรรม”
ข้อ เสนอ คือ รัฐบาลควรยกเลิกการใช้แบบจำลองนี้โดยทันที และควรมุ่งเน้นการใช้มาตรการทางการบริหารแก้ปัญหา เช่น โฉนดชุมชน มากกว่าการใช้มาตรการทางกฎหมาย ส่วนการคิดค่าเสียหายต้องอยู่บนฐานการสำรวจพื้นที่จริงเท่านั้น มิใช่คิดจากแบบจำลองที่มีการรวบรวมข้อมูลเพียงคร่าวๆ หากรัฐบาลจะคิดค่าความเสียหายจากอากาศที่ร้อนขึ้น หรือความเสียหายจากการสูญเสียน้ำ รัฐบาลต้องวางระบบคิดค่าความเสียหายสำหรับผู้ก่อความเสียหายทุกภาคส่วน มิใช่คิดเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อีกทั้งหากรัฐบาลจะคิดค่าความเสียหายจากเกษตรกรรายย่อยรัฐบาลต้องพิจารณาถึง การใช้ทรัพยากรของเกษตรกรเหล่านั้น โดยภาพรวมของทั้งวิถีชีวิต และนำมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ มิใช่แยกส่วนมาคิดค่าเสียหายของทรัพยากรเฉพาะในพื้นที่ที่พิพาท
“กฎหมายนั้นควรใช้เพื่อรักษาความเป็นธรรมไม่ใช่เพื่อรักษากฎหมาย”
…………………………………………………..…..
วิถีชุมชนท้องถิ่น กฎหมาย กับกระบวนการยุติธรรม
ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สิทธิ ชุมชน” เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิการมีส่วนร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งเป็นสิทธิโดยทั่วไปของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ชุมชนเหล่านี้มีสิทธิที่เหนือไปกว่าชุมชนท้องถิ่น ด้วยเหตุผลทางสำคัญประวัติศาสตร์และเหตุผลทางกฎหมาย
“สิทธิการมีส่วนร่วม” ในการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ ประชาชนมีสิทธิรับรู้และมีสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 และ 58 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าบุคคลที่รวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิในการอนุรักษ์ หรือฟื้นฟู จารีต ประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
จาก มาตราดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า ชุมชนเหล่านี้จึงมีสิทธิร่วมกับกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานในการรักษาทรัพยากร ป่าไม้ด้วยหรือไม่ และในการคิดโมเดลค่าเสียหายเพื่อการบำรุงรักษาทรัพยากรใช่หรือไม่ หากเป็นอย่างนั้นเขาเคยถามไปยังชุมชนบ้างไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่ที่มีการ กล่าวหาว่ามีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ หากการคิดค่าสินไหมนั้นเป็นการคิดที่ไม่ฟังชุมชน ไม่เปิดการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม นั่นเป็นการฝ่าฝืนสิทธิการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นสมาชิกในชุมชน ถือเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ทรงสิทธิซึ่งก็คือชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกติที่กำหนดอำนาจหน้าที่กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานในการบำรุงรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ แต่องค์กรเหล่านี้มักใช้กฎหมายปกติโดยละเลยสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตาม รัฐธรรมนูญ นั้นจะทำให้วิธีคิดคำนวณค่าเสียหายนี้ใช้ไม่ได้ เพราะไม่ได้มีการรับฟังประชาชน
วิธี คิดคำนวณค่าเสียหายต้องคิดโดยสอดคล้องกับหลักความเสมอภาค ไม่ว่าจะใช้วิธีใดต้องมีคิดอย่างเสมอหน้ากัน การคิดโดยตั้งหลักเกณฑ์แนวเดียวแล้วใช้ทั่วไป จะทำให้เกิดปัญหาผิดกาละเทศะ เพราะแต่ละพื้นที่ความเสียหายและการเยียวยาความเสียหายไม่เหมือนกันใช้ มาตรการเดียวกันไม่ได้ จะทำให้เป็นการเรียกค่าเสียหายที่ไม่เสมอภาค ไม่เสมอหน้ากัน หากจะให้หลักความเสมอภาคต้องใช้กับสิ่งที่เหมือนกัน ด้วยมาตรการเดียวกัน แต่ในสิ่งที่ไม่เหมือนกันจะคิดด้วยมาตรการเดียวกันไม่ได้ ดังเช่นที่กรมป่าไม้คิดเป็นวิธีแบบกลางเพื่อใช้กับทุกพื้นที่เหมือนกันหมด ทั้งประเทศ นักวิชาการได้ชี้ให้เห็นแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ และการที่จะนำกระบวนการนี้ไปใช้ก็จะขัดกับความเสมอภาค สิทธิชุมชนในแง่สิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการและบำรุงรักษาทรัพยากร ธรรมชาติที่จะถูกใช้อย่างเสมอหน้า จะถูกกระทบกระเทือนโดยกระบวนการคิดของกรมป่าไม้
สิทธิชุมชนตามมาตรา 66 ข้อที่สำคัญมากแต่ให้ความสำคัญกันน้อยคือวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม แต่กลับมีการมองด้านเดียวว่าการใช้สอยทรัพยากร การใช้ป่า หรือการปลูกพืชนั้นเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางทรัพย์สินอย่างเดียว การมองอย่างนี้ทำให้กรมป่าไม้โต้แย้งได้ว่าทรัพย์สินที่ดูแลได้ถูกทำให้เกิด ความเสียหายและต้องได้รับการชดใช้เป็นทรัพย์สิน
อย่าง ไรก็ตาม ในทางหลักวิชา ทั่วโลกต่างยอมรับว่า การใช้สอยที่ดินเพื่อการทำกินโดยไม่ขัดต่อความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากร ธรรมชาตินั้นเป็น “แบบแผนทางวัฒนธรรม” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “การแสวงหาทรัพย์สิน” และตามมาตรา 66 ที่พูดถึงสิทธิการมีส่วนร่วมก็ได้พูดถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการ ทรัพยากร แต่ถ้าชุมชนจะอนุรักษ์จารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น หรือบำรุงรักษาภูมิปัญญาของทองถิ่น ตรงนี้คืออำนาจของชุมชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชน
ด้วย เหตุนี้ ชุมชนแต่ละชุมชนที่มีแบบแผนในการดำเนินชีวิตในลักษณะที่เป็นแบบแผนทาง วัฒนธรรม โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตที่เป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิตพื้นบ้าน อันมีความคิดความเชื่อเป็นของชุมชน และมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลรักษาธรรมชาติ จึงมีลักษณะของจารีตประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน ในลักษณะเช่นนี้ชุมชนเหล่านี้จะมีสิทธิดีกว่ากรมป่าไม้
ใน ต่างประเทศ คดีความเช่นนี้มีจำนวนมาก เช่น ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีพิธีกรรมทางศาสนาต้องเผาไฟในป่า แต่ป่านั้นมีการประกาศเขตป่าสงวนและคุ้มครองไปแล้ว คำถามคือชุมชนเหล่านี้ยังจุดไฟได้อีกหรือไม่ ซึ่งคำตอบคือได้ แต่ต้องเป็นเฉพาะชุมชนแห่งนี้เท่านั้น ชุมชนมีสิทธิดีกว่าเพราะเป็นการปฏิบัติตามจารีตประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น กรมป่าไม้จึงมีหน้าที่เพียงให้การดูแลพื้นที่ไม่ให้มีการลุกลามไปยังป่า อีกตัวอย่างคดีในต่างประเทศ กรณีการจับสัตว์ป่าบางชนิดซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน แต่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีจารีตประเพณีว่าเมื่อเด็กหนุ่มเติมโตขึ้นจะต้อง ล่าสัตว์ป่าคุ้มครองคือจระเข้ เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ และความสามารถในการอยู่รอดในท้องถิ่น แล้วถูกจับตามกฎหมาย ศาลจะพิพากษาโดยพิสูจน์ว่าเป็นจารีตประเพณีหรือไม่ และจารีตไม่ขัดต่อสมดุลและยั่งยืนตามธรรมชาติ ประเทศที่มีการตัดสินคดีความในลักษณะนี้ เช่น ทวีปอเมริกา แคนนาดา ออสเตรีย แต่ในประเทศไทยเรายังรอการทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ ผู้พิพากษา นักกฎหมาย ที่จะทำให้ความเข้าใจเรื่องนี้กว้างขวางออกไป
ทั้งนี้ แม้ว่ามาตราที่ 66 จะระบุถึงสิทธิของท้องถิ่นไว้โดยไม่ได้แยกออกจากกัน แต่ว่าโดยน้ำหนักของการคุ้มครอง ซึ่งมี 2 ระดับ คือ 1.ความคุ้มครองตามจารีต ประเพณี วัฒนธรรม และ 2.การคุ้มครองจากสิทธิการบำรุงรักษาและใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติ ในส่วนของการบำรุงรักษาและใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติโดยมีลักษณะของความเป็น จารีต ประเพณี วัฒนธรรมด้วย ชุมชนลักษณะนี้คือ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” จึงมีสิทธิดีกว่า เพราะมีความคุ้มครอง 2 ชั้น แต่ชุมชนบางแห่งมีสิทธิด้อยกว่า เช่น ชุมชนบ้านจัดสรร ชุมชนนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีสิทธิในการใช้ทรัพยากรด้อยกว่าชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจและยืนยันให้ชัดเจน ซึ่งกฎหมายหากอ่านไม่ลึกก็จะเข้าใจเพียงชั้นเดียวแต่หากอ่านกฎหมายด้วยสายตา ที่พินิจพิเคราะห์จะพบว่าชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมนั้นมีสิทธิ์ที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกอันหนึ่ง นั่นคือ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 290 คนที่มีอำนาจใกล้เคียงกันมากกับกรมป่าไม้และกรมอุทยาน นั่นคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นชุมชนก็จะต้องใช้สิทธิ ร่วมกับ อปท.และหน่วยงานของรัฐส่วนกลาง โดยก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ มุ่งรับรองสิทธิชุมชนในฐานะสิทธิโดยธรรมชาติ ซึ่งการคุ้มครองสิทธินี้ “มีความกว้างและลึกมาก” เพราะเป็นการรับรองตามวิถีชีวิตที่เป็นไป โดยการคุ้มครองสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ เป็นการกลับมารับรองให้กับสิทธิตามธรรมชาติที่ดำเนินไปตามความเป็นจริงของ วิถีชีวิตที่มีอยู่เดิม ที่ได้ถูกหลงลืมไปจากการมุ่งถึงแต่สิทธิของรัฐและเอกชน ด้วยการบัญญัติ “สิทธิชุมชน” ไว้ในรัฐธรรมนูญ และให้มีผลย้อนหลัง
การที่สิทธิชุมชนถูกหลงลืมไปนั้น เกิดจากการยกย่องการพัฒนาแบบสมัยใหม่ รัฐธรรมนูญมาตรา 66 จึงมายืนยันสิทธิชุมชนให้มายืนเคียงคู่กับการพัฒนา ไม่ให้ด้อยกว่าการพัฒนา ดังนั้นจึงจะเอาการพัฒนามากดสิทธิชุมชนไม่ได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการจะคงสิทธิชุมชน และคงสิทธินี้ไว้ เพื่อจะทำให้สิทธิเป็นจริงได้คือ 1.ชุมชนต้องพร้อมแสดงออกว่าเป็นผู้ทรงสิทธิชุมชน ให้ปรากฏ 2.แสดงตนว่ามีความสามารถในการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเพียงพอคือสูงกว่ากรมป่าไม้ สูงกว่าจึงควรเป็นผู้ดูแลยิ่งกว่า 3.ระบุบ่งได้ว่าอำนาจหรือสิทธิในการจัดการทรัพยากรเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต จารีตประเพณี และวัฒนธรรมของตนอย่างไร 4.พร้อมทำข้อตกลงกับ อปท.และหน่วยงานรัฐส่วนกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น หรือทำหนังสือแสดงเจตจำนงในการแสดงออกให้เป็นที่รับรู้ โดยระบุวิธี-กระบวนการอย่างไร ที่เป็นส่วนหนึ่งของจารีต ประเพณีวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงด้วยว่า “สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิทธิทำกิน ไม่ใช่สิทธิทำทุน”
……………………………………………………….
การคิดค่าเสียหายคดีความโลกร้อน กับกฎหมายสิ่งแวดล้อม
แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอิสระ
การ ดำเนินคดีต่อชาวบ้านของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อ้างกฎหมาย พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งระบุเนื้อหาที่ต้องจ่ายค่าเสียหายทางแพ่งแก่รัฐ ไว้ใน 2 มาตรา คือ มาตรา 96 ที่ว่าใครก็ตามที่ดำเนินกิจกรรมใดๆ ไม่ว่าโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ หากก่อให้เกิดมลพิษแพร่กระจายต่อสิ่งแวดล้อม แล้วมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ก็ต้องรับผิดและจ่ายค่าชดเชย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำให้เป็นภาระต่อรัฐในการที่จะต้องไปแก้ปัญหาสิ่งแวด ล้อมให้ ค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นของรัฐ สามารถนำมาคิดกับผู้ก่อปัญหามลพิษได้โดยทันที และในมาตรา 97 ซึ่งเป็นหลักการคู่ขนานกัน คือ ใครก็ตามที่กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหาย สูญสลาย หรือไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ ต่อทรัพยากรธรรมธรรมชาติ ต้องรับผิดจ่ายค่ามูลค่าของทรัพยากรที่เสียไปนั้นคืนให้แก่รัฐ
ใน ฐานะที่รัฐเป็นผู้ดูแลจัดการภาคหนึ่งของสังคม ซึ่งยังมีภาคชุมชนร่วมอยู่ได้แม้จะถูกมองข้ามและละเลยไป และเป็นภาคที่ดูแลในเชิงโครงสร้าง รัฐมีความสามารถเรียกต่อผู้กระทำความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติได้ และตามหลักกฎหมายเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนทำนองเดียวกับการละเมิด มีหลักการสำคัญคือใครก็ตามที่กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ จนเกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ต้องมีความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมนั้น ดังนั้นประการแรกจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ยืนยันก่อนว่าความเสียหายที่ เกิดขึ้นกับการกระทำของบุคคลนั้นมีความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลต่อกันโดยตรง หากเชื่อมโยงไม่ได้ มูลค่าที่จะนำมาเชื่อมโยงเพื่อเรียกเป็นความเสียหายในทางละเมิดไม่ได้
ข้อเรียกร้องค่าเสียหาย 7 ประการ ที่ถูกนำไปทำแบบจำลอง 1.ทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย โจทย์ต้องมีข้อเท็จจริงที่อธิบายบ่งชี้ได้ว่าการทำการเกษตรของชาวบ้านใน พื้นที่นั้นทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย ซึ่งส่วนตัวคิดว่ากระบวนการพิสูจน์ตรงนี้ไม่มี เพราะจากทุกคดีที่เกิดขึ้นมีแต่การคิดค่าเสียหายที่เป็นสูตรทั่วไป ไม่มีการประเมินความเสียหายเฉพาะของผู้เสียหายรายใดรายหนึ่ง 2.ปัญหาการดูดซับน้ำฝน และทำให้ฝนตกน้อยลง ปัจจัยที่ที่มีผลให้ฝนตกมากขึ้นหรือน้อยลงไม่ใช่เฉพาะต้นไม้ มีองค์ประกอบที่ซับซ้อน หลักใหญ่แล้วกระแสลมเป็นปัจจัยมากว่า ทั้งที่ปัจจัยมีความซับซ้อน แต่กรมอุทยานกลับนำมาอธิบายง่ายๆ ว่าเพราะต้นไม้น้อยลงนั้น ไม่สมเหตุสมผลในการเชื่อมโยงค่าเสียหายกับข้อเท็จจริง 3.การทำให้น้ำสูญเสียไปจากพื้นที่ ที่เกิดจากการแผดเผาของดวงอาทิตย์ก็เช่นกัน
4.การ ทำให้อากาศร้อนขึ้น คำนวณเป็นค่าเสียหายโดยคูณราคาค่าไฟฟ้าชั่วโมงละ 2.50 บาท ให้เครื่องปรับอากาศทำงานต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง คิดเป็นราคาค่าเสียหาย 45,000 บาทต่อไร่ต่อปี เหตุปัจจัยมีความซับซ้อนถูกทำให้ง่าย โดยอ้างว่ามีการเข้าไปทำกินในป่าสงวน เมื่อเข้าไปทำกินในป่าย่อมมีการตัดต้นไม้ เมื่อมีการตัดต้นไม้ในป่าย่อมทำให้อากาศร้อนมากขึ้น กลายมาเป็นค่าเสียหาย ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล เหลือเพียงอย่างเดียวที่เป็นเหตุเป็นผลพอที่กรมป่าไม้จะอ้างอิงได้ว่า เป็นผลเสียหายต่อมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมเสียอย่างแท้จริง คือมูลค่าไม้และงบประมาณที่ใช้จ่ายในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า เพียง 2 เรื่องเท่านั้นที่สามารถจะนำมาคำนวณเป็นมูลค่าความเสียหายได้ เกินจากนี้ไม่น่าอ้างได้ด้วยประการใดๆ ทั้งปวง
อุณหภูมิ ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ไม่ได้เป็นมูลค่าทรัพยากร ไม่ได้เป็นทรัพย์ในเชิงพาณิชย์ที่รัฐจะนำมาคำนวณเป็นมูลค่าเพื่อคิดค่าเสีย หายได้ และหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจในการจัดการดูแลให้อุณหภูมิแห่งชาติโดยรวมทั้ง ประเทศลดลงจากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นโครงการ มีงบประมาณ และหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องนี้ยังไม่มี ดังนั้นจะถือว่าเป็นความรับผิดของรัฐที่จะสามารถคิดค่าเสียหายต่อผู้กระทำ ละเมิดได้หรือไม่ นี่เป็นปัญหาที่ชุมชนและบรรดานักกฎหมายที่จะไปทำงานในคดีนี้จะต้องทำความ เข้าใจ
“ถ้า โจทก์ คือ กรมอุทยานไม่สามารถอธิบายความเชื่อมโยงตรงนี้ได้ ผมคิดว่าความถูกต้องในการคำนวณเรียกค่าเสียหายกำลังจะไม่มี และต้องบอกด้วยว่าถ้ายังเรียกค่าเสียหายอย่างนี้ ก็เป็นการเรียกค่าเสียหายโดยผิดกฎหมาย”
แต่ ในทางความเป็นจริงแล้วมีคำพิพากษาจำนวนมากที่ยอมรับ “กระบวนการคิดค่าเสียหายโดยผิดกฎหมาย” นี้ไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นปัญหาเทคนิคทางกฎหมายที่หลายคนพูดกันว่า เนื่องจากกระบวนการทางคดีอยู่ในระบบกล่าวหา โจทก์กล่าวหาและจำเลยต้องทำการแก้ต่าง หากไม่แก้ก็คือจำเลยยอมรับในข้อกล่าวหา ซึ่งในคดีทางแพ่ง จำเลยจำนวนมากที่เป็นชาวบ้านไม่มีความสามารถในหาทนายความ หรือไม่มีความรู้พอที่จะอธิบายข้อมูลกับศาล อีกข้อที่มีความน่าสนใจมากกว่า คือคดีที่ชาวบ้านซึ่งเป็นจำเลยลุกขึ้นต่อสู้ แต่ศาลใช้ดุลพินิจบางอย่างซึ่งไม่ได้ถือเอาข้ออ้างของกรมอุทยานที่อ้างมา ทั้ง 7 ข้อ แต่ยังเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้านอยู่ดี ศาลเองยังพิพากษามูลค่าความเสียหายจำนวนหนึ่งตามที่กรมอุทยานฟ้อง ทั้งที่ในคดีเหล่านั้นได้พิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าแบบจำลองทั้ง 7 ข้อฟังไม่ขึ้น แต่ขณะเดียวกันศาลก็บอกว่านักวิชาการผู้ให้ข้อมูลไม่ได้บอกว่าค่าเสียหายที่ ควรจะเป็นจริงคือเท่าไหร่ ศาลจึงถือหลักประเมินค่าเสียหายเอาเองตามความร้ายแรงของพฤติการณ์ของเหตุ ละเมิด โดยไม่ได้ให้คำอธิบายหลักเกณฑ์
หาก จะวินิจฉัยด้วยหลักเกณฑ์เช่นนี้ ก็ยังเห็นว่าไม่ได้เอาหลักของการละเมิดอย่างที่ศาลเองก็อ้างอิงในคำพิพากษา มาเป็นมาตรฐานในการคิดคำนวณอยู่ดี ส่วนตัวได้ชักชวนชาวบ้านในพื้นที่และทนายความที่ทำคดีนี้อยู่ว่า ในการต่อสู้คดีครั้งต่อๆ ไป อ้างอิงถึงเหตุผลในตรงนี้ด้วย ว่ามีผลที่เกิดขึ้นจริง และมีค่าเสียหายที่คำนวณได้ ต้องคำนวณออกมา โดยคิดง่ายๆ จากพื้นที่จริงว่าต้นไม้เสียหายอย่างไร เสียหายกี่ต้น ปริมาณ-สภาพป่าเท่าไหร่ หากฟื้นฟูจะต้องใช้ต้นทุนประมาณเท่าไหร่ คำนวณ และเชื่องโยงอธิบายผลของการกระทำและมูลค่าของความเสียหายตรงนั้นได้ เพียงเท่านั้นกรมอุทยานก็มีความชอบธรรมที่จะเรียกร้อง และศาลก็มีความชอบธรรมที่จะพิพากษาให้เป็นไปตามค่าเสียหายเช่นนั้น
แต่เบื้องต้นสิ่งที่บอกได้คือทั้ง7 ข้อที่ใช้ในการคิดค่าเสียหาย 1.ไม่มีหลักการความเชื่อมโยงเหตุผล ไม่เชื่อมโยงระหว่างการกระทำและความเสียหายที่ชัดแจ้งและเป็นจริง และ 2.เป็นข้ออ้างที่ถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นทรัพย์ หรือไม่อาจที่จะคำนวณมูลค่าทางธรรมชาติได้จำนวนมากมาตีขลุมว่าเป็นทรัพย์สิน ของรัฐที่จะเรียกค่าเสียหาย จากทั้ง 2 ข้อนี้สามารถสรุปได้ว่าการเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ขัดต่อข้อกฎหมาย และควรที่จะยกเป็นข้อต่อสู้ที่ทำให้ศาลพิพากษาเป็นบรรทัดฐานในโอกาสต่อไป
ปัจจุบัน มีการพูดถึงปัญหาโลกร้อน ปัญหาการสูญเสียทางทรัพยากรมากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องช่วยกันดูแล แต่พันธะข้อตกลงระหว่างประเทศจะเห็นแนวโน้มการหลีกเลี่ยงภาระความรับผิดชอบ จากภาคอุตสาหกรรมโดยโยนความรับผิดชอบสู่ภาคเกษตรกรรมและชุมชนท้องถิ่นดั้ง เดิมว่าเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ทั้งที่เป็นฐานการทำกิน ซึ่งหากการทำกินมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมกลับพยายามสร้างภาพให้เห็นว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยลด คาร์บอน โดยได้รับการสนับสนุนของรัฐ จากการมีคาร์บอนเครดิต และฉลากคาร์บอนบนสินค้า ไม่อยากเห็นคดีโลกร้อนในกรณีของชาวบ้านกลายเป็นตัวตอกย้ำภาพเช่นนี้ให้ชัด มากขึ้น จนกลายเป็นแรงกดดันต่อสังคมที่จะมากดดันต่อชาวบ้าน แทนที่จะมองทะลุไปยังตัวการที่แท้จริงของปัญหาโลกร้อนว่าอยู่ที่การผลิตของ ภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงาน กลายเป็นหาต้นตอที่แท้จริงไม่เจอ อย่าให้ทิศทางของสังคมเป็นเช่นนั้น
คำถาม
สิทธิชุมชนได้มีการยอมรับจากศาลจริงหรือ?
ดร.กิตติศักดิ์- ศาลปกครองสูงสุดรับรองสิทธิชุมชน ยกตัวอย่างในกรณีมาบตาพุด โดยไม่ต้องมีกฎหมายมาบัญญัติรับรอง ชุมชนสามารถหยิบยกมาโต้แย้งได้หากมีผลกระทบ 2.สิทธิชุมชนเป็นสิทธิทั่วไป มีสิทธิ 2 ข้อ 1.เป็นชุมชนดั้งเดิม มีมาก่อนกฎหมายป่าไม้ พ.ศ.2484 2.ตั้งขึ้นภายหลังแต่มีมาก่อนกฎหมายอุทยาน โดยไม่ได้กระทบทรัพยากร ยกเว้นรัฐทำการหวงกันโต้แย้งตั้งแต่ต้น “สิทธิมีแน่ แต่มีข้อยกเว้น เพื่อให้การใช้ประโยชน์เป็นไปโดยถาวรและยั่งยืน”
ทำไมชาวบ้านยังโดนตัดสินว่าผิด?
ดร.กิตติศักดิ์- ศาลไม่หยิบยกข้อกฎหมายมาตัดสิน กลัวตัดสินเกินคำขอ หรือเกิดข้อครหาวางตัวไม่เป็นกลาง จึงตัดสินตามที่เขาสู้กัน และมีบางส่วนที่ตัดสินตามตัวกฎหมาย ทั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ความรู้ข้อมูลมีไม่ทันกัน บางกรณีจำเลยรับสารภาพโดยไม่ต่อสู้ ผลให้คดีไปทางเดียวกันหมด คือประชาชนผิดอย่างเดียว
การเรียกร้องให้ชาวบ้านแสดงออกซึ่งสิทธิชุมชน ทำได้ยาก มีที่ไหน?
ดร.กิตติศักดิ์- มีที่กรณีโปแตส ชาวบ้านสู้ใช้สิทธิหวงกันพื้นที่เพื่อให้เกิดการรับฟังความเห็น ต้องทำให้ชัดเพื่อมุ่งรักษาทรัพยากรไม่ใช่เพื่อส่วนตัว
สิทธิชุมชนไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายลูกจริงหรือ?
ดร.กิตติศักดิ์- ชุมชนต้องต่อสู้เรียกร้อง แม้จะมีฐานะเป็นลูกเมียน้อยที่ถูกลืมในทุกๆ เรื่องเพราะรัฐมีหน้าที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญสามารถหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อ ต่อสู้ในศาลได้ แต่สิทธิชุมชนเป็นสิทธิเชิงซ้อน และสามารถขัดหรือร่วมกันได้ มีความเปลี่ยนแปลงได้ ชุมชนต้องอาศัยสิทธิตาม รัฐธรรมนูญในการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้ ตามวิถีชีวิต
คน ที่ทำลายความสมดุลไม่ใช่ชาวบ้านแต่เป็นรัฐ เช่น ทุนสงเคราะห์สวนยาง มีเงื่อนไขให้ทำลายความหลากหลายของพืช ตัดต้นไม้อื่นๆ ส่งเสริมการใช้ยาฆ่าหญ้า ทำไมคนของรัฐที่ส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ไม่ถูกลงโทษ แต่กลับไปลงกับชาวบ้านที่ต้องทำอยู่ทำกิน?
ดร.กิตติศักดิ์- หากคำสั่งหรือข้อแนะนำของรัฐ ขัดต่อการดำรงความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ชาวบ้านต้องพร้อมที่จะทำหนังสือร้องเรียน ส่วนโมเดลการคิดค่าเสียหาย ก็โต้แย้งได้ว่าใช้ผิด ไม่เป็นไปเพื่อความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และขัดต่อสิทธิชุมชนอย่างไร ขอให้เขายกเลิก ไม่เช่นนั้นก็ส่งฟ้องทางปกครอง อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการเข้ามาช่วย
ทำไมชาวบ้านสะสมทุนไม่ได้ ในขณะที่คนในเมืองสะสมได้ ในแง่ความเป็นธรรมควรอยู่ในระดับไหน?
ดร.กิตติศักดิ์- ในระดับดำรงชีพได้ เพื่อการยังชีพ ได้มาซึ่งปัจจัย 4 อันเป็นความจำเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่ทำในเชิงพาณิชย์ ความเจริญเป็นไปได้ตามความเปลี่ยนแปลงของชุมชน การกระทำที่เกินกว่าการใช้สิทธิ เพื่อการดำรงอยู่ด้วยความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ เปลี่ยนไปได้โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขการดำรงอยู่ของชุมชนนั้น และต้องยอมรับสิทธิที่ลดลงจากการเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ชุมชนท้องถิ่น หรือหากจะเป็นชุมชนพาณิชย์
ปัญหาประกาศอุทยานทับที่สมบูรณ์ที่ชาวบ้านดูแล
ดร.กิตติศักดิ์-แหล่ง ป่าเสื่อมโทรมออก สปก.ให้ เพราะเจ้าหน้าที่ได้ผลงานจากการออกหนังสือ เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐ “ใครทำป่าเสื่อมโทรมได้สิทธิ” แต่ใครรักษากลับถูกประกาศทับที่และโดนคดี เป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องปกป้องสิทธิโดยการร่วมกันทำหนังสือ และพร้อมที่จะเจรจากับเจ้าหน้าที่
………………………………………………………
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.