สถานการณ์ฝุ่นตลบหลังการเลือกตั้งที่ยืดเยื้อยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านพ้นไปแล้ว ตอนนี้คงชัดเจนแล้วว่าใครได้เป็นนายกรัฐมนตรี ใครได้เป็นรัฐบาลและใครเป็นฝ่ายค้าน โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญที่แทบทุกพรรคการเมืองได้หยิบยกเป็นนโยบายหาเสียงกับเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ นั่นคือ การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรและหนี้สินเกษตรกร ซึ่งผู้เขียนขอถือโอกาสนี้ฝากไปยังรัฐบาลและฝ่ายการเมืองที่เข้ามาดูแลและรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้พิจารณา
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย(รวมถึงครัวเรือนเกษตร) นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หนี้ครัวเรือนไทยมีอัตราการขยายตัวเร็วกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 78.6 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วไปซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 40 จากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการสุ่มสำรวจตัวอย่าง 1,500 ครัวเรือนทั่วประเทศ มีข้อสรุปผลการศึกษาพบว่า “วินัยทางการเงินเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือน” ครัวเรือนที่มีหนี้มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังการใช้จ่ายน้อยกว่าครัวเรือนที่ปลอดหนี้ และครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหาทางการเงินมักเป็นกลุ่มที่ขาดการวางแผนทางการเงิน อย่างไรก็ตามมีข้อถกเถียงกันว่าหนี้ครัวเรือนเกษตร ควรแก้จากจุดไหน วินัยทางการเงินหรือปัญหาเชิงโครงสร้าง?
หนี้เกษตรกร คือ หนี้เรื้อรัง หนี้สะสมเพิ่มสูง เกิดจากโครงสร้างรายได้และรายจ่ายไม่สมดุล
ข้อมูลจากสำนักจัดการหนี้เกษตรกร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปี 2561 พบว่า มีเกษตรกรยากจนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 6 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ย 56,000 บาทต่อปี ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยสูงกว่าเท่าตัวคือ 130,000 บาทต่อปี และเกษตรกรยากจนเหล่านี้มีหนี้สะสมมากกว่า 84,000 ล้านบาท
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติสภาพเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรกร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระหว่างปี 2555-2559 พบว่า โครงสร้างรายได้และค่าใช้จ่ายของเกษตรกร รายได้จากการเกษตรเมื่อหักรายจ่ายทางการเกษตร ซึ่งเฉลี่ยคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของรายรับ เท่ากับเกษตรกรมีรายได้สุทธิจากการเกษตรเหลือเพียงไม่ถึงร้อยละ 40 (เฉลี่ยประมาณ 58,975 บาทต่อครัวเรือนในปี 2559) ซึ่งจะเห็นว่ารายได้จากภาคเกษตรไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายทั่วไปของครัวเรือน (ที่มา : รายงานศึกษาพฤติกรรมและสถานการณ์ทางการเงินของครัวเรือนที่ปัญหาหนี้สิน โดยผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ ,2562)
นอกจากนี้งานศึกษาดังกล่าวข้างต้นได้ทำการศึกษาเชิงลึกในพื้นที่ตำบลบางขุด จังหวัดชัยนาท พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สินจากการกู้มาเพื่อทำการเกษตร แล้วผลผลิตไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งมาจากปัญหาภัยธรรมชาติ หรือราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะไปใช้คืนหนี้สินได้ทันตามกำหนด หลายคนเป็นหนี้เริ่มต้นจากเงินต้นไม่มากนัก แต่จากการผิดนัดชำระหนี้ ไม่มีเงินพอไปใช้หนี้คืนก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และมีดอกเบี้ยคงค้างทบต้นมาเรื่อย ๆ บางกรณีถูกหลอกให้กู้จากการรวมกลุ่มทำการเกษตร บางกรณีเป็นหนี้นอกระบบจากการทยอยกู้มาลงทุนการเกษตร แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ จนหนี้สินบานปลาย และจำต้องยอมขายที่ดินให้กับนายทุนเพื่อใช้หนี้บางส่วน
“กลไกสินเชื่อ กับดักหนี้เกษตรกร”
สาเหตุสำคัญของการมีปัญหาหนี้ของครัวเรือนเกษตร เกิดจากรายจ่ายที่ไม่เพียงพอกับรายได้ โดยต้องยอมรับว่าหนึ่งในต้นตอหนี้สินเกษตรที่มีมานาน คือ ต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตต่ำ มีการใช้แรงงานจากเครื่องจักรมากกว่าแรงงานคน ทำให้เกษตรกรต้องเช่าหรือซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร รวมถึงกรณีผลผลิตทางการเกษตรลดลงเนื่องจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสาเหตุที่หนี้สินยังดำรงอยู่และเรื้อรัง นั่นเพราะ เกษตรกรส่วนใหญ่ติด “กับดักหนี้” โดยวังวนการเป็นหนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเกษตรกรขาดความรู้และวินัยทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งเกิดมาจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อพร้อมดอกเบี้ยในสถานการณ์ที่เกษตรกรไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้ จากการที่รายรับจากผลผลิตทางการเกษตรไม่สูงพอ และความต้องการพึ่งพาการสนับสนุนจากภายนอก คือเงื่อนไขให้ต้องกู้ยืมเงินจากช่องทางต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ดำรงชีพและประกอบอาชีพ นอกจากนี้โครงการพักชำระหนี้ของรัฐบาลแม้ว่าเหมือนจะช่วยยืดเวลาการชำระหนี้เงินต้นออกไป แต่ระหว่างที่หยุดพัก ก็ยังจำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ สำหรับเกษตรกรบางรายในช่วงเวลาปกติก็สามารถชำระได้เพียงดอกเบี้ยอยู่แล้ว ซึ่งเท่ากับไม่ใช่ทางออกของปัญหาหนี้สินของเกษตรกร หากไม่มีแนวทางอื่น ๆ ร่วมด้วย
จะเห็นได้ว่าต้นตอปัญหาหนี้สินเกษตรกร ไม่ใช่เพียงเพราะเกษตรกรขาดความรู้และวินัยทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะปัจจัยโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่กดทับ ทำให้เกษตรกรขาดทางเลือกและยังจำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานภายนอก ทั้งสองปัจจัยนี้ล้วนมีส่วนสัมพันธ์และมีผลสืบเนื่องกัน โดยแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรให้เกิดประสิทธิผล ควรมองแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งระดับครัวเรือนและเชิงโครงสร้าง ภาครัฐควรยื่นมือช่วยเหลือด้วยการแก้โครงสร้างหนี้พร้อมกับการ สร้างอาชีพ หากเกษตรกรมีความรู้และวินัยทางการเงินที่ดี สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ของตนเอง ประกอบการมีนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพและลดช่องว่างทางรายได้ของเกษตรกร ก็จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมั่นคงไปด้วย
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 มิ.ย. 2562
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.