การเปิดเผยของกรมส่งเสริมการเกษตร ถึง รายได้ของเกษตรกรว่ามีเกษตรกรถึงร้อยละ 85 ที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต่อวัน สะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจน ถึงสถานะทางเศรษฐกิจของชาวนาและเกษตรกรไทยในยุคปัจจุบัน
ผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรปีการผลิต 2558/2559 สำรวจครัวเรือนเกษตรกรจำนวน 6.5 ล้านครอบครัว ของกรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2558 พบด้วยว่ามีเกษตรกรร้อยละ 69.2 มีหนี้สินจากภาคเกษตรเฉลี่ย 134,020 บาท ต่อครอบครัว และเกษตรกรร้อยละ 54.64 มีหนี้สินนอกภาคเกษตรเฉลี่ย 130,164 บาท ต่อครอบครัว เฉพาะชาวนาจำนวน 3.7 ล้านครอบครัว พบว่ามี 4.5 แสนราย ต้องเช่าที่ดินทำนา ในพื้นที่ของคนอื่นมากกว่า 8.4 ล้านไร่ (ซึ่งไม่ได้ระบุว่า ที่ดินสำหรับเช่าเหล่านี้ เป็นพื้นที่ของใคร)
สถานการณ์ของชาวนาที่เป็นอยู่ นายนิพนธ์ วงศ์ตระหง่าน ประธานสมาพันธ์สมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย ถึงกับกล่าวว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนา จะไม่สามารถสำเร็จได้ หากชาวนาไม่พยายามที่จะลดต้นทุนการผลิต และชาวนาในภาคกลางร้อยละ 86 ไม่มีที่นาเป็นของตนเองแล้ว แต่อยู่ในสภาพต้องเช่าที่ดินคนอื่นเพื่อทำนา (โพสต์ทูเดย์ 10 พ.ย. 2558)
ข้อความที่กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้ดูเหมือนว่า มีความหวังน้อยเหลือเกิน ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรไทย ไม่ให้ตกอยู่ในภาวะหมดเนื้อหมดตัว จมดิ่งอยู่กับปัญหาหนี้สิน และไม่สูญเสียที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวได้
คำถามคือเพราะเหตุใด การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ที่ผ่านมาจึงไม่สามารถแก้ไขได้ตรงจุด และไม่ทำให้สถานภาพของเกษตรกรไทยดีขึ้น แม้จะมีการอนุมัติโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมาแล้วมากมาย และใช้งบประมาณไปแล้วจำนวนไม่น้อย
แก่นกลางสำคัญของปัญหานี้ น่าจะอยู่ที่ผู้ที่มีปัญหา ไม่ได้เป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ส่วนผู้ที่แก้ไขปัญหา ก็ไม่ใช่ผู้มีปัญหาโดยตรง จึงไม่เข้าใจความลึกซึ้งและซับซ้อนของปัญหา และแก้ไขกี่คราว ก็ยังไม่ตรงจุดอยู่นั่นเอง ในที่นี้ไม่นับรวมเจตนารมณ์และความจริงใจในการแก้ไขปัญหา
ในงานศึกษาวิจัยรูปธรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร พบว่ามีเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ค้นพบแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน และสามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ แม้เกษตรกรจำนวนนี้ จะมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ยังตกอยู่ในวังวนของปัญหาหนี้สิน และหาทางออกไม่เจอ ในงานศึกษายังพบด้วยว่า ครอบครัวเกษตรกรที่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินและรักษาที่ทำกินไว้ได้ ล้วนเคยผ่านประสบการณ์เกือบจะสูญเสียที่ดิน จากภาระหนี้สินและดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนทั้งจากธนาคารของรัฐ เอกชน และเจ้าหนี้นอกระบบ มาแล้วทั้งสิ้น
จุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเหล่านี้ มีทั้งที่ ได้รับความรู้และข้อมูลที่ชัดเจน เชื่อถือได้ จากศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ในแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน และการสร้างเศรษฐกิจครอบครัวที่ยั่งยืนมากกว่าการผลิตแบบต้นทุนสูงที่เคยทำมา มีทั้งที่ ได้รับโอกาสในการช่วยเหลือจากกลุ่มธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็งในการรับซื้อผลผลิต เมื่อพวกเขาเปลี่ยนวิถีชีวิตและเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบเดิมๆ มาสู่ระบบการผลิตแบบอินทรีย์ที่ยั่งยืนกว่า และมีทั้งที่ เกิดจากการหยุดคิดและทบทวนด้วยตัวเกษตรกรเอง ถึงประสบการณ์ความล้มเหลวที่ผ่านมาของครอบครัวและวิธีทำการผลิต เกษตรกรบางรายกล้าพูดด้วยซ้ำว่า การทบทวนทำให้พวกเขาคิดได้ว่า ความอยากรวยและการลงทุนสูง ไม่น่าจะใช่วิถีของเกษตรกรอย่างพวกเขา พวกเขาจึงยอมถอยหนึ่งก้าว เพื่อกลับมาทำให้สิ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้จริง แม้จะไม่ได้จับเงินจำนวนมากเหมือนเดิมก็ตาม
แน่นอนว่า เกษตรกรจำนวนมากส่วนหนึ่ง อยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจะสูญเสียที่ดิน ตามข้อมูลการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยที่พบว่า มีเกษตรกรนำที่ดินไปจำนองและขายฝากกับเจ้าหนี้นอกระบบ และมีคำพิพากษาให้บังคับคดียึดที่ดินแล้วจำนวน 2,292 ราย นี่เป็นเพียงตัวเลขในเบื้องต้นของการสำรวจระยะสั้นเท่านั้น ตัวเลขจริงหากมีการสำรวจอย่างละเอียด จึงน่าจะมากกว่านี้ เกษตรกรที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางกลุ่มนี้ จึงต้องการมาตรการช่วยเหลือที่เร่งด่วน แตกต่างจากเกษตรกรอีกกลุ่มที่ยังมีโอกาส ในการทบทวน และปรับเปลี่ยน เพื่อสร้างความอยู่รอดในการทำอาชีพเกษตรต่อไป
แก่นกลางของการแก้ไขปัญหาหนี้สิน จึงต้องนำเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนแก้ไขปัญหานี้ด้วย การให้ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ทางเลือกที่ชัดเจน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรหยุดคิด และทบทวนถึงประสบการณ์และที่มาของปัญหาหนี้สินของตนเองอย่างจริงจัง เพื่อเดินหน้าสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐมีหน้าที่ในการหยิบยื่นโอกาสเหล่านี้ เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ ทบทวน และฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเองให้กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง
ประเด็นคือ เกษตรกรบางส่วนเริ่มหยุด และทบทวนตนเอง เพื่อก้าวไปสู่สิ่งใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาของพวกเขาแล้ว ตอนนี้ก็เหลือเพียงแต่ภาครัฐ ที่ต้องหยุด และทบทวนแนวทางแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ว่าใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ที่ยั่งยืน อย่างแท้จริงหรือเปล่า
พิมพ์ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ 20 พฤศจิกายน 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.