แรงจูงใจจากผู้บริโภค นับเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการเกษตรกรรม เพราะนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้แล้ว ยังถือเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้กับการคิดค้นและขยายพันธุ์ต่อยอดจากสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่
ทว่าอุปสรรคสำคัญที่คอยกีดกันลู่ทางสู่การขยายผลต่างๆ เหล่านี้ เป็นที่ทราบกันดีและปฏิเสธไม่ได้ว่า “หนี้สิน” คือตัวการใหญ่ของปัญหาในที่นี้
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระหว่างปี 2552-2559 พบว่า หนี้สินปลายปีของเกษตรกรต่อครัวเรือน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว จาก 54,061 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มเป็น 123,454 บาทต่อครัวเรือน โดยในช่วงปี 2553-2556 มีอัตราการเพิ่มของหนี้สินเกินกว่า 20% ต่อปี
90% ของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร มีเจ้าหนี้ที่ชื่อว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินและการทำเกษตรอินทรีย์โดย เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ให้เห็นเหรียญสองด้านในการลงทุนของเกษตรกร
ด้านแรกคือ เครดิต หรือการให้ความเชื่อมั่นแก่ “นายทุน” ว่า “เกษตรกร” จะสามารถขยายผลการผลิตให้ได้เงินคืนพร้อมผลตอบแทนที่เหมาะสม น่าดึงดูดใจ
เครดิต นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับนายทุน เพราะสามารถทำให้เกษตรกรเพิ่มได้ทั้งขนาดและประสิทธิภาพของการผลิต อีกทั้ง เครดิต ยังส่งผลให้นายทุนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ ว่าจะให้ลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตแบบใด
เมื่อมองในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ นั่นคือ หนี้ เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองซึ่งกันและกัน กล่าวคือ การที่เกษตรกรสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นายทุนได้ว่า ผลตอบแทนจากการผลิตนั้นมีความคุ้มค่า น่าดึงดูดใจ แต่ทว่าอีกนัยหนึ่ง หากเกษตรกรไม่สามารถทำให้ผลผลิตประสบความสำเร็จเป็นไปอย่างที่คาดหวัง แน่นอนว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนย่อมได้ไม่คุ้มค่า
ทั้งนี้ หากแนวทางและหลักประกันเดิมๆ ยังสร้างผลตอบแทนให้กับนายทุนอยู่ ความเสี่ยงที่พ่วงมาในด้านต่างๆ จึงนำไปสู่การกู้หนี้ยืมสิน เพื่อรักษากระบวนการผลิตแบบเดิมๆ และรักษาหลักประกันที่ให้ไว้กับผู้ให้กู้ยืม
อย่างไรก็ตามเมื่อเกษตรกรก้าวเข้าสู่วงเวียนของหนี้สิน ก็เสมือนกับการติดกับดัก เพราะจากผลการวิจัยของ ดร.เดชรัต ชิ้นนี้ พบว่ามีจำนวนเกษตรกรไม่น้อยที่ไม่ทราบข้อมูลหนี้สินของตน สาเหตุเพราะส่วนหนึ่งไม่มีสัญญาเงินกู้อยู่ในมือ โดยบางรายไม่เก็บเอกสารชำระหนี้ของตนไว้ และเกษตรกรบางส่วนจะได้เห็นสัญญาเงินกู้ของตนก็ต่อเมื่อถูกดำเนินคดีไปแล้ว
กับดักที่สองคือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่รู้กลไกการทำงานของอัตราดอกเบี้ย ทำให้พวกเขาไม่เข้าใจว่าเหตุใดเงินต้น 1 แสนบาท ถึงทบต้นกลายเป็น 4 แสนบาท จึงทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ และกับดักที่สาม เกษตรกรไม่เคยตรวจสอบเอกสารหนี้และการคิดดอกเบี้ย เนื่องจากมีความเกรงใจต่อเจ้าหน้าที่ดำเนินงาน ส่วนกับดักที่สี่ เมื่อเข้าสู่การดำเนินคดี เกษตรกรส่วนมากไม่รู้กระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย คนส่วนใหญ่จึงไม่สู้คดี ทั้งยังยอมเข้าสู่การบังคับคดีในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ยังมีกับดักสุดท้ายเมื่อเข้าสู่ขั้นบังคับคดี ซึ่งจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น 3 แบบ คือ 1.ที่ดินของเกษตรกรได้รับการประเมินในราคาประมูลที่ต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้พวกเขาไม่สามารถชำระหนี้ได้หมด 2.เกษตรกรที่พอมีแรงจะรักษาที่ดินของตนเอง จะต้องเข้าร่วมการประมูลขายทอดตลาด และบางครั้งเกษตรกรอาจได้ที่ดินกลับคืนจากการประมูล 3.ในระยะหลังเจ้าหนี้มีการเข้าร่วมประมูลที่ดิน และเสนอราคาที่สูงจนทำให้เกษตรกรไม่สามารถชนะการประมูลได้
หากมองในภาพรวมของประเทศไทย เกษตรกรที่ขอขึ้นทะเบียนไว้ที่กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการหนี้สิน มีประมาณ 5.1 แสนราย คิดเป็นยอดหนี้ประมาณ 86 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีอยู่ 1.5 แสนรายเริ่มเป็นหนี้ที่ผิดนัดชำระ 1.3 หมื่นรายถูกดำเนินคดีไปแล้ว ประมาณ 7,000 รายเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาดที่ดิน และ 2,400 รายถูกขายทอดตลาดไปแล้ว
เกษตรกรหลายรายที่ติดกับดักหนี้สิน ต่างพยายามหาทางออกให้ตนเองในแบบต่างๆ เช่น การหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนในวงจรการผลิตแบบเดิม แสวงหาวิธีผลิตแบบใหม่ที่จะทำให้ตนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ทว่าบางคนกลับยังมองว่า แม้การผลิตเพื่อตอบสนองนายทุนจะมีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็สูงตามไปด้วย ผิดกับการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ที่การลงทุนมีความเสี่ยงสูง ส่วนผลตอบแทนต่ำ
ตัวอย่างหนึ่งในกรณีศึกษาจากงานวิจัย เรื่องการปรับตัวของสวนส้มอินทรีย์ของ วรพนธ์ สาสดี ซึ่งเขาระบุว่า การทำเกษตรเคมีมีต้นทุนสูง เพราะต้องซื้อทั้งสารเคมีและอุปกรณ์ในการฉีดพ่น เนื่องจากสารเคมีเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างผลผลิตให้เกษตรกรมีรายได้มาก แต่การลงทุนไปกับสารเคมี ทำให้เขาเหลือเงินไม่เพียงพอสำหรับจ่ายหนี้ ธกส. เขาจึงเปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์
ในปีแรก สวนส้มของวรพนธ์มีสภาพสดชื่นและแข็งแรง แม้ผลผลิตจะออกมาไม่มากก็ตาม ในปีถัดมาสวนส้มของเขาให้ผลผลิตจำนวนมาก แต่ก็เสียหายไปไม่น้อยเนื่องจากส้มที่ออกมาเปลือกบาง
เมื่อเข้าสู่ปีที่สาม วรพนธ์ได้ผลผลิตถึง 30 ตัน แต่ยังคงมีปัญหาทางการตลาด ทั้งในด้านการรับรองมาตรฐานแปลงเกษตรอินทรีย์ และการเข้าถึงแหล่งเกษตรอินทรีย์โดยตรงแทนที่จะผ่านคนกลาง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า แม้เกษตรอินทรีย์จะลดการผูกขาดใช้สารเคมี แต่ตลาดของเกษตรอินทรีย์ก็ยังผูกขาดกับผู้รับรองมาตรฐานและพ่อค้าคนกลางอยู่
แม้การปลูกส้มอินทรีย์จะให้ผลผลิตที่ต่ำกว่าส้มที่ปลูกแบบเคมีถึงครึ่งต่อครึ่ง แต่ในด้านของการลงทุนและค่าใช้จ่าย ต้องนับว่าการปลูกส้มแบบอินทรีย์ค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก ทั้งยังได้ราคาที่สูงกว่าส้มเคมีด้วย เพราะตลาดผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์ เป็นตลาดที่ผู้ซื้อยินดีจ่ายราคาสูงกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงสารเคมี
โดยสรุปแล้ว เครดิตก็ยังถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นายทุน ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งของตลาดเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรเคมีก็ตาม ส่วนหนี้คอยทำหน้าที่เป็นอุปสรรคเพื่อกีดขวางไม่ให้เกษตรกรออกจากแนวทางการผลิตแบบเดิมๆ ปัญหาเรื่องหนี้สินของเกษตรกรไทยจึงอาจตอบคำถามได้ข้อหนึ่งว่า สาเหตุใดเกษตรกรบางส่วนจึงเลือกที่จะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเดิมๆ มากกว่าการหาลู่ทางใหม่เพื่อทำกิน
พอเป็นเช่นนั้น การจะทำให้เกษตรกรเปลี่ยนผันตนเองไปสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ได้ จึงจำเป็นต้องสร้างเครดิต ที่จะพาเกษตรกรออกจากกระบวนการเดิมๆ และให้ความมั่นใจแก่เกษตรกรว่า วิธีการผลิตแบบใหม่จะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพียงพอต่อการนำไปปลดล็อคพันธนาการเดิมๆ ที่ถูกกับดักหนี้สินรัดตรึงเอาไว้
ที่มา : สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม วันที่ 1 เม.ย. 2562
ผู้เขียน : เกษมะณี วรรณพัฒน์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.