เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 46 เรื่องความผิดเกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้ชาวนา มีสาระสำคัญว่าเนื่องจากมีสถานการณ์การทวงถามหนี้จากชาวนาอย่างไม่เป็นธรรม จึงออกประกาศว่า ผู้ใดข่มขืนใจชาวนา หรือใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต หรือทรัพย์สินของชาวนา ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ประกาศฉบับนี้ทำให้เห็นว่า ปัญหาหนี้สินชาวนาและการไม่ได้รับความเป็นธรรมของชาวนาจากหนี้นอกระบบ อยู่ในสายตาและความสนใจของ คสช. ถึงได้ออกประกาศที่มีความเฉพาะเจาะจงให้คุ้มครองความปลอดภัยของชาวนาอย่างที่ว่ามา
ปัญหาหนี้นอกระบบของชาวนา เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้สินชาวนา ซึ่งจะว่าไปแล้วชาวนาไทยที่ถูกคาดหวังให้ผลิตข้าวเพื่อส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ร้อยละ 78 หรือแปดในสิบครอบครัว ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สิน ที่หมุนเวียนสลับไปมาระหว่างหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ จนหยั่งรากลึก ยากและเกินความสามารถในการชำระคืนได้ หากดูตัวเลขสถิติจำนวนเกษตรกรที่มีอยู่ปัจจุบัน 5.8 ล้านครอบครัว หากหนึ่งครอบครัวมีสมาชิกเฉลี่ย 4 คน จำนวนเกษตรกรทั้งหมดในบ้านเราจะมีอยู่ราว 23 ล้านคน หรือหนึ่งในสามของประชากรทั้งประเทศ ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยตัวเลขจำนวนเกษตรกรที่มีหนี้สินในปี 2554/2555 พุ่งสูงขึ้นเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าเทียบเป็นจำนวนเกษตรกร น่าจะอยู่ที่ประมาณ 18 ล้านคนที่มีปัญหาหนี้สิน ซึ่งไม่น้อยเลย
สำหรับประชาชนคนทั่วไป การมีหนี้สินอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะการเป็นหนี้เพื่อเพิ่มทรัพย์สินให้กับครอบครัว หรือการเป็นหนี้ที่มีความสามารถในการชำระคืน แต่สำหรับเกษตรกรและชาวนา ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา ชาวนาและเกษตรกรเป็นหนี้ เพราะพวกเขาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน กับระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปของระบบเศรษฐกิจ ที่เติบโตและทำกำไรอย่างมหาศาลจากการค้าและการลงทุนในภาคเกษตร ทุกองคาพายพของภาคเกษตรกรรมบ้านเราจึงถูกทำให้เปลี่ยนแปลง โดยการเกื้อหนุนหรือเอื้ออำนวยจากนโยบายรัฐนั่นเอง
ที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนที่สุด คือราคาที่ดินสำหรับการเกษตร ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ราคาที่ดินในภาคกลาง รอบกรุงเทพฯและปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ เปลี่ยนแปลงมาแล้วไม่น้อยกว่า 25 ปี ที่ดินมีมูลค่าสูงมาก การกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ติดต่อกัน และการซื้อที่นา ที่สวน ที่ไร่ เก็บไว้เพื่อเก็งกำไรของกลุ่มนักธุรกิจ ได้แผ่ขยายอิทธิพลอย่างทรงพลัง ชาวนาและเกษตรกรจำนวนมาก เมื่อขาดความคุ้มครองจากรัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย เมื่อหมดทางเลือก หรือเห็นทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ก็มักจะเลือกที่จะขายที่นา ที่สวนของตัวเอง เพื่อขยับขยายไปหาที่ดินผืนอื่นที่ราคาถูกกว่า หรือเปลี่ยนอาชีพไปเป็นแรงงานรับจ้างเสียเลย
ดังตัวเลขเกษตรกรนาเช่า และเกษตรกรรับจ้างในภาคกลาง ที่สูงขึ้นตามลำดับและสูงมากกว่าภาคอื่น คือมีจำนวนเกษตรกรถึงร้อยละ 45 หรือประมาณ 10 ล้านคน อยู่ในสถานะที่ต้องเช่าที่ดินคนอื่นเพราะไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินไม่เพียงพอ โดยในภาคกลางมีเกษตรกรนาเช่าสูงถึงร้อยละ 45 หรือ 1.5 ล้านคน จากเกษตรกรภาคกลาง 3.4 ล้านคน ในขณะที่ภาคเหนือ มีเกษตรกรผู้เช่า 2 ล้านคน จากเกษตรกรภาคเหนือ 5.4 ล้านคน และลดจำนวนลงในภาคอื่น ในขณะที่งานวิจัยของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน พบว่ามีเกษตรกรนาเช่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปี 2555 สูงถึง 85%
อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ลากจูงให้เกษตรกรติดกับดักหนี้สิน อย่างที่ถอนตัวได้ยากในวันนี้ คือระบบเกษตรที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การทำนาและการทำเกษตรทุกวันนี้ ไม่ได้ใช้และพึ่งพาปัจจัยการผลิตที่ทำได้เองอย่าง มูลสัตว์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ในไร่นา หรือใช้แรงงานในครอบครัว และเครื่องมือการเกษตรที่ผลิตได้เองอย่างในอดีตอีกต่อไป แต่ทุกอย่างต้องลงทุนด้วยเงินทั้งนั้น ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมีฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช ค่าจ้างรถไถนา ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว ค่าจ้างอื่นๆ และหากชาวนาต้องการเพิ่มผลผลิตข้าวให้มากขึ้น นั่นหมายถึงการลงทุนซื้อปัจจัยการผลิตเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ทั้งฮอร์โมนเร่งผลผลิต เร่งผล เร่งดอก ทั้งยาคุมและฆ่าหญ้าสารพัด ซึ่งหมายถึงเงินลงทุนและหนี้สินที่เพิ่มขึ้น เพราะชาวนาไม่ได้มีเงินเก็บออม งานศึกษาพบว่า เงินลงทุนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของชาวนามาจากเงินกู้ยืมที่มีดอกเบี้ยทั้งสิ้น
เมื่อระบบการทำนาเปลี่ยน ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น แต่ปริมาณผลผลิตข้าวที่ได้ยังขึ้นกับดินฟ้าอากาศ ไม่มีหลักประกันความเสี่ยง หากชาวนาต้องเจอวิกฤตภัยแล้ง น้ำท่วม โรคแมลงระบาด ต้นทุนที่สูงขึ้นก็อาจกลายเป็นหนี้ค้างชำระที่สูงขึ้นได้ทันที และมีชาวนาจำนวนมากสูญเสียที่ดินเพราะวิกฤตที่รับมือไม่ได้เหล่านี้
ส่วนราคาข้าว เอาเข้าจริงแล้วถึงแม้จะมีโครงการรับจำนำข้าวและโครงการช่วยเหลือของรัฐ แต่ผู้ที่กำหนดราคาข้าว ณ จุดขายของชาวนากลับเป็นโรงสี เพราะโรงสีคือผู้บอกว่าข้าวของชาวนาเช็คแล้วคุณภาพเป็นอย่างไร ความชื้นเท่าไร และควรจะได้ราคาจริงเท่าไร ไม่ว่ารัฐจะกำหนดราคารับจำนำไว้เท่าไรก็ตาม ราคาผลผลิตข้าว จึงเป็นสิ่งที่ชาวนาทุกวันนี้กำหนดเองไม่ได้ เพราะชาวนาไม่มีการรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปผลผลิตของตนเอง และไม่มีกลุ่มที่เข้มแข็ง ที่มีอำนาจต่อรองราคากับผู้รับซื้อผลผลิตข้าว หรือโรงสีได้
ท้ายที่สุดปัญหาสำคัญ ที่ทำให้ชาวนาอ่อนแอและไร้อำนาจต่อรอง รวมทั้งกำหนดราคาข้าวตัวเองไม่ได้ นั่นคือปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้สินที่จ่อคิว รอถูกถ่ายโอนไปเป็นหนี้ผิดนัดชำระ และต้องเผชิญกับดอกเบี้ยอัตราเพดานสูงสุดรวมทั้งค่าปรับ และหากชาวนาผิดนัดชำระหนี้ยาวนาน ภายในสิบปีชาวนาจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยสถาบันการเงิน ทั้งจากสถาบันการเงินเอกชน หรือแม้แต่สถาบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรก็ตาม เมื่อยังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้อีก ที่ดินของชาวนา ก็จะถูกกรมบังคับคดีประกาศขายทอดตลาด และนี่คือจุดสุดท้ายของเส้นทางการทำนา ที่ชาวนากลัวที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียที่นาของตัวเอง
มีเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้กับกองทุนฟื้นฟูและยังไม่ได้รับการจัดการหนี้หรือช่วยเหลือทั้งสิ้น 357,879 ราย ในจำนวนนี้ มีหนี้ปกติอยู่ร้อยละ 60 อีกร้อยละ 40 คือ หนี้ที่ผิดนัดชำระแล้ว(ค่าปรับและดอกเบี้ยสูง) หนี้ที่ถูกดำเนินคดี หนี้ที่ถูกบังคับคดีให้ขายทอดตลาด หนี้ที่เป็นทรัพย์สินรอการขายทอดตลาด และหนี้ที่ถูกฟ้องร้องซ้ำให้ล้มละลาย ตัวเลขที่ว่ามานี้ นับเฉพาะเกษตรกร 5.9 ล้านราย ที่มาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เท่านั้น ยังไม่นับเกษตรกรอีก 17 ล้านราย ที่ยังไม่รู้ชะตากรรม ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ในรอบ 15 ปี นับจากมีพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรขึ้นมา กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถช่วยเหลือซื้อหนี้เกษตรกรจากสถาบันการเงิน เพื่อให้เกษตรกรรักษาที่ดินไว้ได้เพียง 4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20,451 ราย หรืออาจจะกล่าวได้ว่า แม้กฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯ จะเป็นกฎหมายที่ดี มีเจตนารมณ์ช่วยเหลือเกษตรกร แต่ในการปฏิบัติ กลับถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองที่หวังผลจากนโยบายประชานิยม ทำให้กองทุนฯ นี้ กลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา ช่วยเหลือเกษตรกรได้น้อยมาก
หากจะแก้ไขปัญหาชาวนาอย่างยั่งยืน จึงต้องมองให้เห็นภาพกว้างของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดและสถานะของชาวนาปัจจุบัน การจ่ายเงินรับจำนำข้าวได้ต่อชีวิตการทำนาให้กับชาวนา เพราะชาวนาได้นำเงินไปใช้คืนหนี้สิน เพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินก้อนใหม่มาลงทุนได้อีก แต่หากจะแก้ไขปัญหาชาวนาอย่างยั่งยืน ต้องไม่ละเลยปัญหาที่ดินของชาวนา การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเพื่อลดต้นทุน การประกันภัยพิบัติ การรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปผลผลิต และการสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด รวมไปถึงการหยุดยั้งขั้นตอนการสูญเสียที่ดิน อันเนื่องมาจากหนี้สินของชาวนาไว้ให้ได้มากที่สุด
ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ 13 มิถุนายน 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.