ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมเกษตรกรกรรมของไทย ผ่านมาแล้วไม่น้อยกว่า 50 ปี นับตั้งแต่มีการปฏิวัติเขียวและก่อตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในปี 2509 และเปลี่ยนแปลงมากอีกครั้ง ในช่วงปี 2525-2530 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ มีการนำรถไถ เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาใช้ในพื้นที่ภาคกลาง
ตัวเลขหนี้สินชาวนาไม่เคยลดลง ตรงกันข้ามกลับมีหนี้เกษตรกรที่ผิดนัดค้างชำระ ที่นาถูกประกาศขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดี ถูกยึดจากหนี้นอกระบบ หลุดมือจากเกษตรกรไปสู่นายทุนและนักเก็งกำไรที่ดินอย่างรวดเร็ว ขยายผลจากภาคกลางไปสู่ภาคอื่นๆ และยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสภาวะที่ธุรกิจการค้า การลงทุน และการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวและเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของตลาดสินค้าเกษตรระดับโลก โดยมีชาวนาเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่ง ในระดับล่างและเล็กสุด ที่สำคัญไม่เคยได้รับผลกำไรของธุรกิจค้าข้าวระดับโลกที่กำลังเติบโต และสร้างความร่ำรวยให้กับคนหลายกลุ่ม
สถานะทางเศรษฐกิจของชาวนาปัจจุบันอยู่ในสภาพที่เปราะบาง ไม่มีหลักประกันที่มั่นคง โดยเฉพาะในยามที่ต้องเจอกับภาวะวิกฤต ในขณะที่นักการเมืองและพรรคการเมืองมีนโยบายแก้ไขปัญหาชาวนามาแล้วหลายยุคสมัย ทั้งสงเคราะห์และประชานิยม แต่ก็เหมือนแกล้งให้เพียงพยุงตัวอยู่ได้ แต่ไม่สามารถเติบโตและพึ่งตนเองอย่างเข้มแข็ง เพราะนโยบายสงเคราะห์ช่วยเหลือและประชานิยมที่ผ่านมา ไม่เคยไปถึงปัญหารากเหง้าของชาวนา และเสริมความเข้มแข็งให้กับชาวนาและเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง
สถานการณ์หนี้สินชาวนา
- เกษตรกรทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 5.9 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 24 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 78 หรือประมาณ 19 ล้านคน มีปัญหาภาระหนี้สิน (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2554/2555)
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2551 เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 107,230 บาท ส่วนเกษตรกรที่มีอาชีพรับจ้างในภาคเกษตร มีหนี้สินเฉลี่ย 62,995 บาท ในขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ปี 2554 เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 76,697 บาท
- ประเมินภาพรวมหนี้สินเกษตรกรของทั้งประเทศ อยู่ที่ประมาณ 4.5-7.5 แสนล้านบาท
- มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจำนวน 5,946,932 ราย ขึ้นทะเบียนขอให้กองทุนฟื้นฟูซื้อหนี้เพื่อรักษาที่ดิน 490,653 ราย จำนวนเงินหนี้ 76,285 ล้านบาท จนถึงปี 2555 มีเกษตรกร 20,451 ราย ได้รับการซื้อหนี้แล้ว ในวงเงิน 4,107 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 4 ของเกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือ
- ในส่วนเกษตรกรสมาชิก กองทุนฟื้นฟูฯ หากแบ่งสถานะหนี้เป็น 6 ประเภทคือ 1) หนี้ปกติ 2)หนี้ผิดนัดค้างชำระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงและค่าปรับ 3)หนี้ถูกส่งฟ้องดำเนินคดี 4)หนี้ถูกบังคับคดีขายที่ดินทอดตลาด 5)หนี้รอการขายที่ดินทอดตลาด และ 6)หนี้ที่เจ้าหนี้ถูกฟ้องล้มละลาย มีสัดส่วนหนี้ปกติต่อหนี้ที่มีปัญหา 60:40 (ปี 2555)
รากฐานปัญหาหนี้สินชาวนา
1.ระบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืน การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตพืชที่หลากหลายและพึ่งพาตนเอง ไปสู่การผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่พึ่งพาปัจจัยภายนอก จากที่เคยใช้ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในไร่นา แรงงานในครอบครัว และเทคโนโลยีการผลิตแบบพึ่งตนเอง ไปสู่การผลิตที่ต้องซื้อปัจจัยจากภายนอกทั้งหมด ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยาคุมหญ้า ยาปราบศัตรูพืช ฮอร์โมนเร่งผลผลิต ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่รถไถนาและรถเกี่ยวข้าว รวมทั้งจ้างแรงงานจากภายนอกในทุกขั้นตอนของการผลิต กลายเป็นระบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืน และไม่ยืนอยู่บนพื้นฐานการพึ่งตนเอง
2.ต้นทุนการผลิตสูง เมื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่การผลิตสมัยใหม่ แต่ไม่มีการควบคุมราคาปัจจัยการผลิต ประกอบกับชาวนาต้องใช้ปัจจัยการผลิตในปริมาณที่สูงขึ้นทุกปี เพื่อเร่งบำรุงดินให้ได้ผลผลิตดีเท่าเดิม หรือเพิ่มพื้นที่การทำนาให้มากขึ้นเพื่อให้มีรายได้เท่าเดิม ทำให้ชาวนามีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทุกปี ไม่มีลดลง
3. ไม่มีที่ทำกิน หรือมีที่ดินจำกัดไม่เพียงพอกับการทำนา สถิติการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรสูงขึ้นตามลำดับ ร้อยละ 42 ของเกษตรกร หรือประมาณ 10 ล้านคน ไม่มีที่ทำกินหรือมีที่ดินน้อยกว่า 9 ไร่ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2549)
4.ค่าเช่าที่นาสูง ชาวนาร้อยละ 45 ต้องเช่าที่นาทำนา ในบางกรณีเมื่อสูญเสียที่นาแล้วต้องเช่าที่นาตัวเองทำนา ด้วยอัตราค่าเช่านาเฉลี่ย 1,500 - 2,500 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต ขึ้นอยู่กับสภาพที่นา พื้นที่ประมาณ 30 ล้านไร่ ทั่วประเทศ หรือร้อยละ 19.6 ของพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ กลายเป็นพื้นที่เช่าเพื่อการเกษตร พื้นที่นาในภาคกลางร้อยละ 36-40 เป็นพื้นที่เช่าทั้งสิ้น ที่นาที่กลายเป็นพื้นที่ที่เช่ามากที่สุดคือที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่เช่าถึงร้อยละ 72 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า จังหวัดเหล่านี้ในภาคกลาง ชาวนาสูญเสียที่ดินในอัตราสูงสุด การสูญเสียที่ดินของของชาวนาภาคกลาง มีทั้งสาเหตุจากปัญหาหนี้สิน และจากการถูกกว้านซื้อที่ดินโดยกลุ่มนายทุน เพื่อนำไปทำธุรกิจบ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรม และเก็งกำไรที่ดิน
5.ผลผลิตข้าวเสียหายจากภัยธรรมชาติเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งต่อเนื่อง ทั้งน้ำท่วมยาวนาน ฝนแล้ง โรคและแมลงระบาด ทำให้ผลผลิตข้าวของชาวนาเสียหาย ชาวนาที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว เมื่อเผชิญกับวิกฤตภัยธรรมชาติ มักไม่สามารถรับมือและต้องกู้หนี้เพิ่มขึ้น
6.ราคาผลผลิตไม่แน่นอนและไม่คุ้มต้นทุน ชาวนาส่วนใหญ่ที่ไม่มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ไม่สามารถรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปผลผลิตข้าวและทำตลาดข้าวของตนเอง เช่น ไม่มีโรงสีของกลุ่ม หรือไม่ผลิตข้าวที่มีการเพิ่มมูลค่า เช่น ข้าวอินทรีย์ ชาวนากลุ่มใหญ่นี้มักต้องเผชิญกับราคาข้าวที่บิดเบือน ซึ่งถูกกำหนดโดยโรงสีหรือพ่อค้าคนกลาง แม้จะมีโครงการรับจำนำข้าว แต่โรงสีมักเป็นจุดสุดท้ายในการกำหนดราคารับซื้อข้าวของชาวนา
7.ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม สังคมชาวนาเป็นสังคมผู้สูงอายุ เฉลี่ยอายุ 51 ปี มีพื้นฐานการศึกษาน้อย คนรุ่นใหม่ขาดแรงจูงใจในการสืบทอดอาชีพ ค่าใช้จ่ายด้านอาหารคิดเป็นร้อยละ 47 ของรายจ่ายทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงจากการศึกษาบุตรและภาษีสังคม รวมทั้งค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคอื่นที่สูงขึ้นตามลำดับ ทำให้รายได้ของชาวนาไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ส่งผลให้มีการกู้ยืมหนี้สินมาใช้ในชีวิตประจำวัน
8.นโยบายภาคเกษตรไม่มีทิศทางคุ้มครองเกษตรกร ระบบเกษตรกรรรมในสังคมไทย มีทั้งที่เป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นของบริษัทธุรกิจการเกษตร เกษตรพันธะสัญญา และเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรในระบบพันธะสัญญาไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีพอจากนโยบายรัฐ ทำให้ต้องเผชิญกับสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับการคุ้มครองจากการเปิดการค้าเสรี การรุกคืบของพืชพลังงานที่กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือแม้แต่การรุกคืบของกลุ่มทุนอื่นที่ต้องการใช้ประโยชน์บนที่ดินเกษตรกรรมที่มีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เติบโตอย่างมั่นคง และไม่ได้ถูกหยิบยกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขยายผลเป็นทางออกของเกษตรกรทั้งประเทศ
9. ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสถาบันการเงินรัฐและเอกชนเมื่อชาวนาเผชิญวิกฤต ไม่สามารถชำระคืนหนี้สินให้กับสถาบันการเงินรัฐและเอกชน สถาบันการเงินรัฐและเอกชนที่มีอยู่ ไม่ได้มีเป้าหมายในการพัฒนาและคุ้มครองเกษตรกรรายย่อย ทำให้ชาวนาเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยเพดานสูงสุด ค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้ที่สูง ถูกฟ้องดำเนินคดี ถูกยึดที่ดินขายทอดตลาด รวมไปถึงถูกฟ้องล้มละลาย ทำให้สูญเสียที่ดินโดยที่ไม่ได้รับการคุ้มครองเป็นการเฉพาะ จากนโยบายและมาตรการเพื่อฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเกษตรกรรายย่อย
หลักการสำคัญของแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา
1.การแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาควรตั้งอยู่บนพื้นฐาน การช่วยเหลือและการเสริมความเข้มแข็งให้ชาวนาพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจในระยะยาวเป็นสำคัญ สนับสนุนความรู้และการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง การพัฒนาเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถรับมือ ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาของตนเองได้ รวมถึงการมีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาปัจจัยการผลิตและสินค้าเกษตร และนโยบายการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับชาวนา
2.เกษตรกรรายย่อยและชาวนา คือกลุ่มคนที่ควรได้รับสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและทรัพยากรการเกษตร สวัสดิการสังคม และการคุ้มครองจากนโยบายรัฐ เพราะนอกจากเป็นคนกลุ่มใหญ่ หนึ่งในสามของจำนวนประชากร ยังมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานล่างของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เป็นกำลังสำคัญในโครงสร้างด้านเศรษฐกิจของไทยที่อิงภาคเกษตรกรรม ซึ่งต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และการท่องเที่ยว ที่สำคัญคุณภาพของภาคเกษตรกรรมและความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย ยังหมายถึงคุณภาพอาหาร ความหลากหลายของอาหารและความมั่นคงทางอาหารของคนในสังคมไทยในอนาคตด้วย
แนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาทั้งระบบ
1.สนับสนุนการปรับเปลี่ยนการทำนาเคมีมาสู่การทำนาอินทรีย์ หรือการทำนาแบบลดต้นทุนการผลิต ด้วยการสนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตเอง การควบคุมโรคและแมลงด้วยวิธีธรรมชาติ หรือการเข้าถึงแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูก เช่น มีโครงการ 1 ตำบล หนึ่งโรงปุ๋ยอินทรีย์ หรือศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ที่กระจายไปในชนบทและเกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย การทำนาแบบอินทรีย์ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการพึ่งตนเอง การลดต้นทุน และเพิ่มความหลากหลายของพืชและอาหารในแปลงนาเป็นสำคัญ
การปรับเปลี่ยนการทำนาเคมีไปสู่การทำนาอินทรีย์ จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนจาก 6,000-8,000 บาท เหลือ 2,000-4,000 บาท/ไร่/รอบการผลิต (ไม่รวมค่าเช่านา) รวมทั้งจะส่งผลดีต่อแหล่งอาหารและสิ่งแวดล้อม สุขภาพของชาวนาและผู้บริโภคด้วย
2. จัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรที่ไม่มีที่นาหรือมีที่นาไม่ถึง 10 ไร่ เพื่อให้สามารถมีรายได้เพียงพอแก่การเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ในระยะสั้นสามารถใช้กลไกที่มีอยู่เดิมอย่าง สปก. ที่มีกองทุนเพื่อการจัดซื้อที่ดินให้เกษตรกรเช่าซื้อ ส่วนในระยะยาวควรจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกรให้กว้างขวางอย่างเป็นระบบ การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวนา จะช่วยลดต้นทุนค่าเช่านาซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25-30 ของต้นทุนการทำนาทั้งหมด
3.กำหนดสัดส่วนพื้นที่เกษตรกรรมและอาหารและคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกกว้านซื้อจากนายทุนและนักเก็งกำไรที่ดิน เพื่อรักษาที่ดินให้เป็นพื้นที่ผลิตอาหาร และอยู่ในมือของเกษตรกรรายย่อย รวมไปถึงการเก็บภาษีที่ดินอย่างจริงจังหรือกำหนดเพดานการถือครองที่ดินเกษตร เพื่อลดจำนวนผู้กว้านซื้อและถือครองที่ดินเกษตร ซึ่งมีอยู่จำนวนมากแต่ทิ้งที่ดินไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีที่ดินเพียงพอจะทำกิน
4.แก้ไขกฎหมายการเช่าที่นาเพื่อเอื้อให้เกษตรกรเข้าถึงที่นาเช่น การลดระยะเวลาสัญญาเช่านาจาก 6 ปี เหลือ 3 ปี ทบทวนค่าเช่านาใหม่ทุกปีในราคาที่เป็นธรรมต่อผู้เช่าและผู้ให้เช่า รวมทั้งปฏิรูปเพื่อให้คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบถ่วงดุลเงื่อนไขและความเป็นธรรมของการเช่านา
5.ประกันภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อคุ้มครองและลดความเสี่ยงของชาวนาในภาวะวิกฤตที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง โรคและแมลงระบาด ซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ชาวนาและเกษตรกรคือผู้ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากผลผลิตจะลดลงและเสียหายมากขึ้น
6.สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อจัดการผลผลิตของตนเอง เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำซ้ำซาก และถูกกำหนดราคาโดยโรงสีเพียงอย่างเดียว ควรส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้ชาวนาจัดทำโรงสีรวมของกลุ่ม เช่น 1 ตำบล 1 โรงสี ที่อาจรวมไปถึง ลานตากข้าว ยุ้งฉางเก็บข้าว ซึ่งจะสามารถทำให้ชาวนามีอำนาจต่อรองในการขายข้าว รวมไปถึงการจัดการตลาดข้าวของกลุ่ม โดยการเพิ่มมูลค่าข้าวเป็นข้าวอินทรีย์ พันธุ์ข้าวพื้นบ้านวิตามินสูง หรือข้าวที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
7.ปรับทิศทางภาคเกษตรกรรมเพื่อรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่สินค้าเกษตรราคาถูกจะทะลักเข้าสู่ประเทศไทย รัฐควรมีนโยบายสนับสนุนความเข้มแข็งของเกษตรกร คุ้มครองพื้นที่เกษตรจากการรุกคืบของพืชพลังงาน อุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์ที่ดินอื่นๆ เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมมีความเข้มแข็ง รวมไปถึงเพิ่มคุณค่าและมูลค่าสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพที่แข่งขันได้ และสนับสนุนเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติเพื่อความอยู่รอดและความเข้มแข็งของเกษตรกร
8.การปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐให้มีทิศทางคุ้มครองเกษตรกร เช่น การปฏิรูปธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้มีทิศทางสนับสนุนการทำนาแบบอินทรีย์ มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและคงที่สำหรับเกษตรกร รวมถึงเป็นกลไกหนึ่งของรัฐที่สร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกษตรกรสามารถรักษาที่ดินทำกินไว้ได้ โดยไม่มีการยึดทรัพย์หรือขายทอดตลาดที่ดินของเกษตรกรอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
9.โอนย้ายหนี้ในระบบและนอกระบบของเกษตรกรมาที่กองทุนฟื้นฟูฯเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรซึ่งกำลังจะหลุดมือไปสู่สถาบันการเงินและนายหน้าค้าที่ดิน ทั้งนี้ควรมีการปฏิรูปกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ให้ปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมือง เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเหลือเกษตรกรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งมีงบประมาณที่เพียงพอในการจัดซื้อหนี้ของเกษตรกร
กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน(LocalAct)
มิถุนายน 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.