แผนโซนนิ่งเร่งระดมข้อมูลจังหวัดหาพื้นที่เหมาะสม-ไม่เหมาะสม แต่ต้องรอยุทธศาสตร์ 4 พืชคลอดก่อน รัฐ-เอกชนออกความเห็น ต้องมีกลไกสร้างแรงจูงใจปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การสนับสนุนของรัฐเพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม สมาคมมันสำปะหลังพร้อมรวมกลุ่มเชื่อมต่อคลัสเตอร์กับชาวไร่
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดเตรียมข้อมูลแผนโซนนิ่งภาคเกษตรว่า ขณะนี้ให้หน่วยงานราชการจังหวัดไปสำรวจพื้นที่ภาคเกษตรที่ถูกจัดโซนตามความเหมาะสม 4 ระดับ (S1-S4) และรายงานกลับมาว่าในพื้นที่มีความต้องการอย่างไร
ส่วนข้อสรุปว่าจะลดหรือเพิ่มพื้นที่ของพืชต่าง ๆ เท่าไหร่จะต้องรอให้แผนยุทธศาสตร์ 4 สินค้าพืช ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และแผนยุทธศาสตร์ข้าวกับยางพาราเสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะกำหนดพื้นที่โซนนิ่งได้
นายชวลิตกล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่ทางกรมพัฒนาที่ดินจัดทำเป็นการโซนนิ่งจากภาพรวมความเหมาะสมของดิน แหล่งน้ำ สภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีปริมาณผลผลิตในพื้นที่มากพอตั้งโรงงานเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทาน
เงินเกี๊ยว-รัฐอุดหนุนจูงใจ
นายชวลิตให้ความเห็นว่า แรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพืชใด ๆ คือเรื่องราคา ซึ่งที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรแห่ปลูกจนผลผลิตล้นตลาด การโซนนิ่งจะต้องเปลี่ยนระบบนี้โดยแนะนำให้เกษตรกรเข้าใจระบบตลาดโลกและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ รวมถึงใช้แรงจูงใจแบบเดียวกับระบบเงินเกี๊ยวในพืชอ้อย มีกองทุนของแต่ละพืช หรือใช้เงินสนับสนุนจากรัฐ
ด้านนายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S4) ที่ปลูกข้าวอยู่ 27-28 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะปลูกพืชอื่น
โดยแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงเป็นได้หลายอย่าง เช่น การปรับปรุงดินและน้ำในพื้นที่นั้น ให้ความมั่นใจด้านราคารับซื้อแน่นอน ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าพืช แต่จะใช้กลไกอะไรเป็นแรงจูงใจต้องขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ที่กำลังจัดทำอยู่
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมอาหารสัตว์ไทย กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า พื้นที่ที่จะจัดโซนนิ่งคือบริเวณที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม ซึ่งมันสำปะหลังและอ้อยยังมีความต้องการผลผลิตเพิ่ม ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีความต้องการเพิ่มจาก 5 ล้านตันเป็น 8 ล้านตันในอนาคต จะเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ก่อน หากไม่สำเร็จก็จะพิจารณาเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก
นายพรศิลป์กล่าวว่า การจะเปลี่ยนพื้นที่หนึ่ง ๆ ให้ปลูกพืชอย่างอื่นต้องมีการเจรจากันตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งพืชใหม่และพืชเดิมที่เคยปลูกอยู่ ส่วนกลไกจูงใจต้องบริหารความเสี่ยง โดยถ้าราคาตลาดโลกลดต่ำกว่าต้นทุนการผลิต รัฐต้องพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนถ้าจะทำเป็นลักษณะกองทุนก็ควรทำเป็นกองทุนรวมทุกพืชเศรษฐกิจมากกว่าแยกจากกัน
ส.มันฯหวังตั้งคลัสเตอร์ร่วมชาวไร่
นายเสรี เด่นวรลักษณ์ กรรมการสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สภาหอการค้าไทยต้องการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นมันสำปะหลังประมาณ 2 ล้านไร่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนว่าจะใช้พื้นที่ไหน แต่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติกำลังศึกษาแร่ธาตุในดินที่เหมาะสมปลูกอยู่ และหวังว่ากรมพัฒนาที่ดินจะมีข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้วและพร้อมเปิดเผยให้ทราบ
นายเสรีกล่าวว่า ต้องการให้พื้นที่ปลูกมีลักษณะการรวมกลุ่มระหว่างเกษตรกรกับโรงงาน โดยสมาคมการค้ามันสำปะหลังพร้อมจะประสานกับเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนมาปลูกมัน เพราะผู้ประกอบการต้องการผลผลิตเพิ่มอยู่แล้ว สามารถหารือกันเพื่อสร้างเป็นคลัสเตอร์
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.