สรรพากรย้ำให้ความเป็นธรรม มากกว่ามุ่งเน้นรีดสร้างรายได้
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ศึกษาแนวทางการพิจารณาการจัดเก็บภาษีมรดกจากหลายภาคส่วน ทั้งจากนักวิชาการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และในต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีความแตกต่างกันในวิธีปฏิบัติ แบ่งได้เป็น 3 แนวทาง คือ 1.จัดเก็บจากกองมรดก 2.จัดเก็บจากผู้ให้มรดก และ 3.จัดเก็บจากผู้รับมรดก ซึ่งกรมสรรพากรก็กำลังพิจารณาข้อดีและข้อเสียว่า จัดเก็บจากแนวทางใดจึงจะเหมาะสมและปิดช่องโหว่ได้มากที่สุดเพื่อเสนอให้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้พิจารณา แต่การจะนำไปใช้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของ คสช.
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีดังกล่าว มุ่งเน้นที่จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียภาษีมากกว่าการจัดเก็บรายได้ เพราะผู้ถือทรัพย์สินที่เป็นมรดกนั้น ควรที่จะมีการเสียภาษี โดยบางรายมีทรัพย์สินจำนวนมาก และได้ยกให้กับลูกหลาน แต่ไม่มีภาระภาษี ซึ่งกรมสรรพากรเห็นว่า หากผู้ที่มีทรัพย์สินจำนวนมากจะต้องมีการเสียภาษี ก็ไม่น่าจะกระทบกับรายได้มากนัก
“ถ้าเราจะจัดเก็บภาษีตัวนี้ ก็มองในแง่ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีในระบบมากกว่ารายได้ที่จะเข้ามา เพราะถือเป็นการกระจายรายได้ของคนรวยและสร้างความเป็นธรรมแก่สังคม”
นายประสงค์ กล่าวว่า แม้สถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนและทรัพย์สินจะเกิดขึ้นระหว่างประเทศกันมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่า จะไม่กระทบต่อการจัดเก็บภาษีมรดก เพราะไม่ว่าผู้ที่ถือครองทรัพย์สินในประเทศใดๆ ก็จะต้องเสียภาษีในประเทศนั้นๆ ส่วนผู้ที่ถือครองสินทรัพย์ประเภท เงินสด หรือตราสารหนี้ในต่างประเทศ ท้ายที่สุดแล้ว ก็จะต้องนำเงิน หรือผลกำไรกลับมาในประเทศ
“ไม่ว่าผู้ถือครองทรัพย์สินจะอยู่ประเทศใด เขาก็จะต้องเสียภาษีในประเทศนั้นๆ อยู่แล้ว ขณะที่อัตราภาษีของเราก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ และผมเชื่อว่า ผู้ที่มีทรัพย์ในต่างประเทศถึงจุดหนึ่งจะยกให้ลูกหลานก็ต้องมีการจัดการ หรือเคลื่อนย้ายทรัพย์สินกลับมา”
ส่วนกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีแผนจะเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ไขภาษีในการควบรวมกิจการ เขากล่าวว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าว จะต้องขึ้นอยู่กับว่า กิจการใดที่เราต้องการส่งเสริม โดยผู้เสนอจะต้องศึกษาว่า ธุรกิจใดมีความเหมาะสม เพราะบางธุรกิจให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่บางธุรกิจส่งเสริมแล้วให้ประโยชน์แก่สังคม เช่น การควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเมื่อควบรวมแล้วจะทำให้การปล่อยสินเชื่อในระบบดีขึ้น รองรับการแข่งขันในอาเซียน เป็นต้น
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 7 ส.ค. 2557