กรมการข้าวได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่โดยเกษตรกรมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนของระบบการผลิตข้าวในชุมชน ซึ่งศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ผลิตเมล็ดพันธุ์หลัก เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์สู่พื้นที่เป้าหมายจังหวัดสตูล
โดยในปี 2566 ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุงร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สมัชชาหรือภาคีชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสตูลพัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ซึ่งเกษตรกรมีส่วนร่วม โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวคอยให้คำแนะนำควบคู่กับการพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งอาหารและไม่ใช่อาหาร ผ่านโครงการวิจัย หรือโครงการยุทธศาสตร์ต่างๆ ของกรมการข้าว
โดยกำหนดเป้าหมาย ปี 2567 ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4 ในชุมชนได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อความยั่งยืนของระบบการผลิตข้าวพันธุ์นี้ในชุมชน และลดภาระการผลิตเมล็ดพันธุ์ของหน่วยงานราชการได้
นายกฤษณะ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เปิดเผยว่า การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4 ต้นแบบการผลิตข้าวเฉพาะถิ่นเพื่อความยั่งยืนของชาวนาภาคใต้ ข้าวพันธุ์อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4 เป็นข้าวพื้นเมืองที่ปลูกมาอย่างยาวนานในจังหวัดสตูล
ในอดีตเมื่อครั้งที่มีการระบาดของศัตรูข้าว และเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายทั้งหมด แต่มีข้าวพันธุ์หนึ่งที่รอดจากความเสียหายครั้งนี้ และสามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ ชาวบ้านเลยอุทานในเชิงชื่นชมแก่ข้าวพันธุ์นี้ออกมาว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮ์” ซึ่งแปลว่า ขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานข้าวพันธุ์ดี
มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลายมาให้ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจึงมีการเรียกชื่อของข้าวพันธุ์นี้ว่าพันธุ์ “อัลฮัมดุลิลลาฮ์” จุดเด่นของข้าวพันธุ์นี้นอกจากความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลายแล้ว ยังให้ผลผลิตสูง และมีความเลื่อมมัน ทำให้รสชาติเป็นที่ถูกปากของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดสตูล
ดั่งคำกล่าวว่า “อร่อยหนักหนา น่ารับประทาน อิ่มท้องนาน ทำงานทน” กรมการข้าว ได้รับรองพันธุ์ ข้าวเจ้าสายพันธุ์อัลฮัมดุลิลลาฮ์ PTLC15002-4 จากศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง โดยได้รับรองพันธุ์ในชื่อ “อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563
โดยข้าวพันธุ์นี้ เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตเฉลี่ยในนาเกษตรกร 611 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวนเมล็ดดีต่อรวงมาก คุณภาพการสีดีมาก ขนาดเมล็ดค่อนข้างป้อม ข้าวหุงสุกค่อนข้างนุ่ม ไม่เหนียว - ไม่ร่วน อมิโลสสูง
ซึ่งตรงกับรสนิยมการบริโภคของชาวไทย มุสลิมในพื้นที่จังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาสวนนาน้ำฝนในจังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง
ที่มา: คอลัมน์ข่าว คมชัดลึกออนไลน์ / 25 ธันวาคม 2565