ภาคการเกษตรของไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรส่งออก โดยเฉพาะ “ข้าว” ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในหลายประเทศมานาน แต่ด้วยภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานครัวเรือนทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ว่าจ้างผู้ให้บริการทำงานแทน
ความอ่อนแอของระบบวิจัยและส่งเสริมการเกษตร ขณะที่คู่แข่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และทุ่มการวิจัยพัฒนาพันธุ์ตามความต้องการของตลาด ฯลฯ ทำให้ผลผลิตต่อไร่หยุดเติบโต ภาคการเกษตรของไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ความนิยมที่เคยมีต่อข้าวไทยเริ่มเสื่อมสลายลง
ภาคเกษตรของไทยเคยขึ้นแท่นเป็นแชมป์ส่งออกข้าวยาวนานถึง 30 ปี แต่หลังปี 2554 เป็นต้นมา ไทยสูญเสียแชมป์ส่งออกโดยเสียส่วนแบ่งในตลาดข้าวทุกประเภท เพราะไม่สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติและราคาตามที่ตลาดโลกต้องการได้อย่างที่เวียดนามทำได้
ด้านผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยก็ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งและประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนว่าภาคเกษตรไทยหยุดเติบโตมาระยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่ความสามารถทางการผลิตและแข่งขันของไทยลดถอยลง แต่ทั่วโลกมีความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น
จากแนวโน้มประชากรที่จะเพิ่มขึ้น ราวอีก 1 หมื่นล้านคนในปี 2595 โดยภาคเกษตรโลกต้องผลิตอาหารเพิ่มอีกราว 56% จะเห็นได้ว่าไทยมีโอกาสอยู่ตรงหน้า แต่ไทยกำลังเจอกับคู่แข่งที่เก่งขึ้น มีเทคโนโลยีที่ดีกว่า ประกอบกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผลผลิตลดลงและแปรปรวนอย่างมากโดยเฉพาะปีที่ฝนแล้ง
ความท้าทายนี้ทำให้เกษตรกรต้องเร่งปรับตัวไปสู่เกษตรแบบยั่งยืน เช่น ลดการใช้น้ำซึ่งเป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจก เพราะการขังน้ำในนาเป็นเวลานานเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มปริมาณก๊าซมีเทน เป็นต้นเหตุให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ภาคเกษตรประสบความท้าทายอีกประการคือ ชาวนาหนุ่มสาวมีจำนวนลดลงอย่างมากและที่มีอยู่ส่วนมากคือ ผู้สูงวัย
โจทย์สำคัญสำหรับไทย คือ จะทำอย่างไรให้ชาวนาส่วนใหญ่สามารถปรับตัวรับมือกับความท้าทายต่างๆ ข้างต้น สามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพื่อเพิ่มรายได้จากการทำเกษตรอย่างยั่งยืนได้ ผลการวิจัย “ภาพอนาคตเกษตรกรรายเล็กของไทย” ชี้ ว่า ภาครัฐต้องมีนโยบายผลักดันให้ชาวนาออกจากจุดเดิมหรือฉากทัศน์เดิม คือ การเป็น “ชาวนามือถือ” ไปสู่ “ชาวนามืออาชีพ”
และภาครัฐต้องปรับบทบาท จากเป็นผู้คิดนโยบายส่งเสริมแบบตัดเสื้อโหล และอุดหนุนรายได้เกษตรกรมาตลอดไปสู่การอำนวยความสะดวก สนับสนุนทุนและประเมินผลโครงการส่งเสริมการเกษตรทั้งเกษตรกรและพันธมิตร ได้แก่ นักวิชาการ นักธุรกิจเป็นผู้ริเริ่มจากความต้องการของแต่ละพื้นที่
การอุดหนุนรายได้เกษตรกร โดยไม่ได้ออกแบบการสนับสนุนให้ปรับตัวตามสภาพการแข่งขันของตลาด ทำให้ชาวนาต้องคอยอาศัยพึ่งพาการอุดหนุนอยู่ตลอด นโยบายเช่นนี้ทำให้ภาคเกษตร และชาวนาหยุดเติบโต สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน กระทบสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร
เพื่อจัดทำข้อเสนอการปรับเปลี่ยนบทบาทภาครัฐ และยุทธศาสตร์พัฒนาข้าวและชาวนาไทย งานวิจัยได้ฉายภาพชาวนาไทยออกเป็น 4 ฉากทัศน์ ประกอบด้วย
ฉากทัศน์ที่ 1 ชาวนามือถือ 2 ชาวนาไฮเทครายใหญ่ 3 วิสาหกิจชาวนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง และ 4 คือ ฉากทัศน์ที่ เป็นอนาคตที่พึงปรารถนา คือการทำให้เกิดพันธมิตรประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์ข้าวหลากชนิด หรือชาวนามืออาชีพ
ฉากทัศน์ 1 ชาวนามือถือ ที่มีอยู่จำนวนมากในปัจจุบัน มักจ้างคนอื่นทำนา ส่วนตนเองหันไปประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรหรือไม่ก็อายุมากแล้วไม่สามารถทำนาเองได้ การทำนาจึงเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือโทรสั่งงานโดยยึดประสบการณ์เดิมในการทำนา และต่างคนต่างทำ พึ่งพาการอุดหนุนจากรัฐเป็นหลัก
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้รัฐส่งเสริมให้ ชาวนามือถือ ก้าวไปสู่ วิสาหกิจชาวนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ชาวนาไฮเทครายใหญ่ หรือที่ดีที่สุดคือ พันธมิตรผลิตภัณฑ์ข้าวหลากชนิด
สำหรับกลุ่ม ชาวนาไฮเทครายใหญ่ (ฉากทัศน์ 2) คือ ชาวนาที่สามารถเข้าถึงทุน ทำนาในที่ดินขนาดใหญ่ ใช้ความรู้ เทคโนโลยี ทำเกษตรแม่นยำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำนาที่เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ปัจจุบันเกษตรในกลุ่มนี้ยังมีจำนวนไม่มาก
ดังนั้น การส่งเสริมชาวนามือถือปรับมาสู่การเป็นชาวนาไฮเทค ภาครัฐต้องลดอุปสรรค กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อชาวนารายได้น้อย-ปานกลาง ให้สามารถเข้าถึงที่ดินทำกินและเทคโนโลยี การเช่าที่ดินขยายพื้นที่เพาะปลูก ถือเป็นจุดเริ่มต้นส่วนใหญ่ของเกษตรกรกลุ่มนี้ รวมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อที่ดินโดยการลดต้นทุนการบังคับคดี
วิสาหกิจชาวนาแบบเศรษฐกิจพอเพียง (ฉากทัศน์ 3) เป็นฉากทัศน์ที่ชาวนาส่วนใหญ่หันมาร่วมกลุ่มผลิต แปรรูป และธุรกิจกันมากขึ้น ทั้งจากการส่งเสริมโดยชุมชน หรือเอกชน ผลิตข้าวมูลค่าสูง เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้องสี ข้าวญี่ปุ่น โดยมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่หลายชนิด
เช่น น้ำมันรำข้าว เครื่องสำอาง ฯลฯ แต่ขนาดการผลิตและตลาดมีจำกัด การส่งเสริมชาวนามือถือมาสู่จุดนี้ ภาครัฐควรเสริมสภาพคล่อง เพื่อให้ชาวนาผลิตข้าวพันธุ์ที่สอดคล้องกับตลาด ขายรายได้ดี และสนับสนุนเทคโนโลยีที่ทำให้การผลิตข้าวคุณภาพดีที่มีต้นทุนต่ำลง และส่งเสริมช่องทางตลาด
ฉากทัศน์สุดท้าย ฉากทัศน์ที่ 4 คือ ที่ผลการวิจัยวางเป้าหมายว่าประเทศไทยควรไปถึงมากที่สุด เพราะ เป็นการสร้าง “พันธมิตรผลิตภัณฑ์ข้าวหลากชนิด” ที่เกิดจากการร่วมกลุ่มกันของเกษตรกรรายเล็ก ภาคธุรกิจ
เช่น โรงสี ผู้ส่งออก และนักวิชาการในการผลิตข้าวและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าว สร้างมูลค่าสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ตรงความต้องการของตลาดและมีผลผลิตต่อไร่สูง แม้รายได้ของเกษตรกรในฉากทัศน์นี้จะไม่สูงเท่ากับกลุ่มชาวนาไฮเทครายใหญ่ แต่ผลผลิตจะเป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรมีความมั่นคงและความยั่งยืนในการทำการเกษตรสูง หรือ เรียกได้ว่าเป็น ชาวนามืออาชีพ
ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะใช้ขับเคลื่อนไปสู่ฉากทัศน์ที่ 4 คือ ยุทธศาสตร์การผลิตภัณฑ์ข้าวสีเขียวเพื่อสุขภาพด้วยองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม/ธุรกิจชุมชน โดยเพิ่มการลงทุนด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าว การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าวให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
เช่น น้ำ พลังงาน การใช้สารเคมี รวมทั้งการวิจัยด้านการตลาด และปรับวัตถุประสงค์การอุดหนุนชาวนา โดยใช้เงินอุดหนุนบางส่วนมาส่งเสริมความรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ให้ชาวนาลงทุนใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และปรับวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และควรมีบริการให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรทั้งในรูปแบบอัตโนมัติและแบบปรึกษากับนักวิชาการ
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนจากการค้าข้าวตลาดมวลชนมาเป็นการค้าสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche markets) เป็นการพลิกโฉมรูปแบบธุรกิจที่จำเป็นต้องมี “การประสานนโยบายการส่งเสริม” ในเชิงรุกระหว่างผู้เกี่ยวข้อง (Proactive policy)
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมการเกษตรจากรูปแบบการส่งเสริมแบบ “เสื้อโหล” เป็นการส่งเสริมแบบสร้าง “พันธมิตรพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวไทย” 4 ฝ่าย คือ
เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรผู้ขอรับการส่งเสริม ภาคเอกชนผู้ริเริ่มการส่งเสริมและหาตลาด ภาควิชาการและประชาสังคมผู้มีบทบาทด้านการประสานงานและให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่กลุ่มเกษตรกร และภาครัฐผู้สนับสนุนทุนบางส่วนในการส่งเสริม รวมเป็น “พันธมิตรสี่ประสาน”
สุดท้ายนี้ เนื่องจากภาคเกษตรมีแรงงานจำนวนมากในขณะที่ GDP ภาคเกษตรเหลือเพียง 8-9% ทำให้รายได้ต่อหัวของแรงงานภาคเกษตรต่ำ กระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงยังไม่เสร็จสิ้น หน้าที่สำคัญของรัฐบาลและนักการเมือง คือ การดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจนอกภาคเกษตร
โดยสร้างงานและพัฒนาทักษะแรงงานชนบทให้สามารถทำงานได้หลากหลายขึ้นนอกภาคเกษตร และที่สำคัญคือจะต้องสามารถทำงานในภูมิลำเนาหรือสามารถเลือกพื้นที่ที่อยากจะใช้ชีวิตได้
ดังนั้น ยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนา คือ การกระจายอำนาจการพัฒนาทั้งด้านการคลัง กฎหมายและการปกครอง.
ที่มา คอลัมน์เศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ
By นิพนธ์ พัวพงศกร, ชวัลรัตน์ บูรณะกิจ | TDRI 03 พ.ย. 2565
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.