พีมูฟ ชี้ ประชาชนประมาณ 50 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ เรียกร้องเร่งเดินหน้านโยบายการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า และกลไกธนาคารที่ดิน ที่สามารถกระจายการถือครองที่ดินได้อย่างเป็นธรรม
2 พ.ย.65 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ออกแถลงการณ์ ประณามคัดค้านนโยบายให้สิทธิต่างชาติถือครองที่ดินในประเทศไทย โดยแถลงการณ์ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สร้างความเหลื่อมล้ำ การผูกขาดอำนาจการจัดการที่ดินอยู่ทรัพยากรอยู่ที่รัฐราชการ และการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยิ่งสะท้อนชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลยังคงเดินหน้านโยบาย ขายผืนดินถิ่นอาศัยที่ควรจะเป็นส่วนรวมของคนในสังคม ให้กลายเป็นสินค้าในตลาดทุนนิยม มุ่งตอบสนองตัวเลขทางเศรษฐกิจของคนบางกลุ่มทั้งในประเทศและกลุ่มเศรษฐีหรือทุนต่างประเทศ ในขณะที่ประชาชนจำนวนมาก ยังต้องเผชิญกับปัญหาการเข้าไม่ถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ไร้สิทธิในที่ดิน ต้องต่อสู้เรียกร้องกับอำนาจรัฐที่ผูกขาดที่ดินและคนรุ่นต่อไปที่แทบจะไม่มีโอกาสในการเข้าถึงสิทธิในที่ดินเพื่อคุณภาพชีวิตพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีวาระการพิจารณาที่นำเสนอโดยกระทรวงมหาดไทย เสนอร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยรัฐบาลให้สิทธิชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสามารถซื้อและถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทอย่างน้อย 3 ปี โดยคาดการณ์กันว่าจากมาตรการดังกล่าว ภายใน 5 ปี (2565- 2569) จะมีชาวต่างชาติ มาพำนักในไทยมากกว่า 1 ล้านคน และจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เห็นว่า การดำเนินการเช่นนี้ของรัฐบาล จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยเฉพาะคนจนและกลุ่มเกษตรรายย่อยปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินและปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยนั้นอยู่ในระดับที่รุนแรงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่มีกลุ่มทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่สามารถถือครองที่ดินได้สูงสุดถึง 630,000 ไร่ ในขณะที่ประชาชนอีกประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 50 ล้านคน ไม่อาจเข้าถึงที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้เลยแม้เพียงตารางนิ้วเดียว รวมถึงสถานการณ์ดังกล่าวยิ่งทวีรุนแรงขึ้นอีกหลังพิษโควิด-19 ที่ปรากฏตัวเลขของคนไร้บ้านที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล
“ เมื่อประชาชนไม่สามารถเข้าถึงที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ จึงจำต้องอยู่อาศัยและทำกินอยู่ในผืนดินผืนป่าที่รัฐประกาศทับ ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ปรากฏภาพโศกนาฏกรรมการแย่งยึดที่ดินของหน่วยงานภายใต้นโยบายรวมศูนย์อำนาจการจัดการที่ดินและทรัพยากรของรัฐอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลไหน ประชาชนต่างถูกพรากสิทธิ ติดคุก ถูกกล่าวหาและจัดการประหนึ่งอาชญากร หลายชุมชนต้องถูกบังคับคดีไล่รื้อ ด้วยข้ออ้างว่ารัฐบาลต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลนี้ยังไม่หยุดอ้างวาทกรรมการพัฒนา ประเคนที่ดินให้นายทุนทั้งไทยและต่างชาติให้สามารถทำลายทรัพยากร กอบโกยผลประโยชน์ไม่รู้จักพอ“
แถลงการณ์ระบุ
อีกทั้ง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ชงวาระมอบผืนป่าให้นายทุนเข้าทำประโยชน์ผ่าน ครม. เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้เพื่อปลูกป่าและทำสวนป่าตามกฎหมาย อ้างเรื่องการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เปิดโอกาสให้นายทุนผู้ทำลายโลกได้ “ฟอกเขียว” ตามอำเภอใจ ในขณะที่ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่ากลับถูกข้อจำกัดทางกฎหมายมากมายเล่นงาน จนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามวิถีคนอยู่กับป่า และถูกตราหน้าให้เป็นแพะรับบาปในปัญหาการตัดไม้ทำลายป่ามาโดยตลอด
ขปส. เห็นว่า ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำในทางนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์นั้น รัฐบาลกลับทำหูทวนลมต่อเสียงเรียกร้องและการผลักดันทางนโยบายของภาคประชาชนเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะกลไกว่าด้วยการเก็บภาษีที่ดิน ที่ภาคประชาชนพยายามผลักดันให้เกิดการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าเพื่อให้นายทุนผู้ถือครองที่ดินมากต้องกระจายที่ดินออกมาให้หน่วยงานด้านการกระจายการถือครองที่ดินจัดการ แต่กลับเป็นกลไกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่อาจแก้ปัญหาได้ เปิดช่องทางให้นายทุนยังคงสามารถกว้านซื้อที่ดินและเลี่ยงการจ่ายภาษีได้ต่อไป รวมถึงการปฏิบัติงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. กลับไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน ยังคงใช้แนวคิดแบบสถาบันการเงินทั่วไปที่ค้ากำไรกับชาวบ้าน ขูดรีดดอกเบี้ยมหาศาลจากเกษตรกร ไม่เคยจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเร่งดำเนินการกระจายการถือครองที่ดินและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมได้
ขปส. จึงขอประณามรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ครม. ที่ทำให้ “ที่ดินคือชีวิต” ยิ่งกลับกลายเป็น “สินค้า” ในระบบทุนนิยม ใช้หลักมือใครยาวสาวได้สาวเอา เอื้อต่างชาติ มองเพียงเม็ดเงินทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้คนที่จะต้องได้รับผลกระทบ
“ สิ่งนี้เป็นการเดินหน้าตอกย้ำซ้ำเติมปัญหาที่ดินและความเหลื่อมล้ำให้ยิ่งหยั่งรากลึกในสังคมไทยของรัฐบาลในครั้งนี้คือระเบิดเวลาสู่ความพังพินาศและหายนะในอนาคตที่มีชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน “
แถลงการณ์ระบุ
ขปส. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องหยุดนโยบายที่มุ่งเปลี่ยนที่ดินเป็นสินค้าที่ไม่ได้ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในวิกฤตความเหลื่อมล้ำ การกระจุกตัว ความไม่เป็นธรรมในสิทธิที่ดิน ของสังคมไทย โดยเฉพาะการเอื้อประโยชน์การซื้อขายที่ดินให้กลุ่มทุนผู้มั่งคั่งโดยทันที รวมถึงยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่เดินหน้าในสมัยรัฐบาลคสช. ที่ละเมิดสิทธิในที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยของชุมชน แล้วเร่งเดินหน้านโยบายการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ต้องเดินหน้ากลไกธนาคารที่ดินที่สามารถกระจายการถือครองที่ดินได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนต้องหยุดการผูกขาดอำนาจการจัดการที่ดินและทรัพยากร คืนสิทธิชุมชนและอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถจัดการที่ดินและทรัพยากรได้ด้วยตนเอง
ที่มา ข่าวจากhttps://theactive.net/