การประชุมประจำปี 2557 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช. หรือสภาพัฒน์ ) เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หนึ่งในหัวข้อย่อยสัมมนาที่สภาพัฒน์นำเสนอ ก็คือเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย การศึกษาและตลาดแรงงานตอบโจทย์อย่างไร “ และเป็นที่สังเกตุว่า แม้ประเทศไทยจะพัฒนาไปกี่ปี แต่ความเหลื่อมล้ำทั้งด้านมิติรายได้,เศรษฐกิจ,การศึกษา การเข้าถึงโอกาสระหว่างคนเมืองและชนบท ถึงวันนี้กลับทิ้งห่างขึ้น
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสศช. กล่าวว่า แม้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ไทย ในภาพรวมจะดีขึ้น โดยค่าสัมประสิทธิ์จีนี ( GINI :สถิติบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำ )ปี 2556 อยู่ระดับ 0.465 ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำกว่าเมื่อเทียบกับปี 2554,2552 และ2550 ที่ 0.484 , 0.490 และ 0.499 ตามลำดับ ( ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งดี ) อย่างไรก็ดีค่าสัมประสิทธิ์ช่วงดังกล่าว ( 0.4-0.5) ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง
ขณะที่จำแนกตามพื้นที่ พบว่ากรุงเทพมหานคร มีความเหลื่อมล้ำรายได้สูงสุด แม้สัดส่วนคนยากจนจะต่ำสุดก็ตาม โดยค่าจีนี ปี 2556 อยู่ที่ 0.451 แตกต่างจากเมื่อ 15 ปีหรือ 25 ปีที่แล้ว ที่ความเหลื่อมล้ำรายได้สูงสุดคือภาคใต้ ส่วนกทม.ต่ำสุดในบรรดา 5 ภาคด้วยกัน
“สาเหตุที่ปัจจุบัน กรุงเทพฯมีความเหลื่อมล้ำสูง ส่วนหนึ่งเกิดจากคนมีรายได้ต่ำเข้ามาประกอบอาชีพในเมืองมากขึ้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ระหว่างคนในเมือง และมีแนวโน้มว่าความเหลื่อมล้ำเช่นนี้จะมากขึ้นในอนาคต “ ดร.ปรเมธี กล่าว
ส่วนความเหลื่อมล้ำเชิงมิติเศรษฐกิจ พบว่า คนรวยสุดของประเทศ ( 10% บนสุดของแท่งกราฟ) มีสัดส่วนรายได้รวมกันถึง 36.81 % ของรายได้รวมทั้งประเทศ ส่วนคนจนล่างสุด 10 % ของประเทศ มีรายได้รวมกันเพียง 1.06 % ของรายได้ทั้งประเทศ โดยค่าความเหลื่อมล้ำต่างกันถึง 34.9 เท่า
ด้านหนี้สิน ( สะท้อนการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ) 10 % ของกลุ่มคนรวยบนสุด มีหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนประมาณ 10.9 เท่า ส่วนคนจนสุด 10 % ล่างมีหนี้สิน 29.8 เท่า หรือแตกต่างกัน 18.9 เท่า
และมองในด้านการถือครองที่ดินด้วยแล้ว คนรวยบนสุด และคนจนล่างสุด ยิ่งทิ้งห่างถึง 853.6 เท่าตัว โดยคนรวย 10% บนสุดถือครองที่ดินรวมกันประมาณ 58.33 ล้านไร่ ส่วนคนจน10 % ล่างสุดถือครองรวมกันแค่ 7 หมื่นไร่
ด้านการศึกษา พบว่า 10% ของกลุ่มบนที่มีรายได้สูงสุด มีโอกาสที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีกว่า 60 % ส่วน10 % ในกลุ่มที่มีรายได้น้อยสุด มีโอกาสเข้าเรียนต่อปริญญาตรีไม่ถึง 5 % ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ครัวเรือน 10% ในกลุ่มยากจนสุด มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 918.7 บาท ส่วน 10 % กลุ่มคนรวยสุด มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อปีที่ 13,033.9 บาท
ที่น่าสังเกตุโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ตั้งแต่ปี 2551-2556 แม้ในระดับประถมจะเริ่มเท่ากัน แต่กลับเหลื่อมล้ำมากขึ้นในการศึกษาชั้นสูง อัตราการเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี ( รวม ปวส. ) ของคนเมืองจะสูงกว่าคนชนบทมาโดยตลอด กทม. มีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากสุด
เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมและด้านการเมือง คนจนหรือผู้มีรายได้น้อย การต่อสู้ทางกฎหมายก็ยังต่ำกว่าประชากรในกลุ่มอื่น ๆของประเทศ โดยอำนาจตัดสินใจ /อำนาจต่อรองทางการเมือง การกำหนดนโยบายยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนที่เข้าถึงหรือใกล้ชิดการเมืองเป็นหลัก
ส่วนด้านผลตอบแทนแรงงาน ยังตกอยู่กับเจ้าของทุนมากกว่ากระจายไปยังแรงงาน และความเหลื่อมล้ำของผลตอบแทนแรงงานระหว่างกลุ่มการศึกษาต่าง ๆยังสะท้อนออกมาให้เห็นในรูปของช่องว่างของค่าจ้างแรงงานในแต่ละกลุ่มอาชีพและในแต่ละภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น โดยภาคเกษตรกรรมจะได้ผลตอบแทนแรงงานต่ำที่สุด
“โอกาสการศึกษาที่เข้าถึงไม่เท่ากัน ยังส่งผลต่อความแตกต่างรายได้ที่เกิดขึ้นด้วย และจะยิ่งมากขึ้นในช่วงหลังนี้ด้วย “ ดร.ปรเมธี กล่าว
แผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 ( 2555-2559 ) ให้ความสำคัญกับการยึด”คนเป็นศูนย์กลางของพัฒนา “ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข และประโยชน์ของประชาชนเอง จึงไม่สามารถมองข้ามปัญหา”ความเหลื่อมล้ำ” ของประเทศ เพราะไม่แล้ว ไม่เพียงสังคมจะไม่มีความสุข และไม่บรรลุตามเป้าหมายของแผนพัฒนาฯที่วางไว้
หากความเหลื่อมล้ำรุนแรง ยังนำไปสู่ความขัดแย้ง สร้างความแตกแยก และท้ายสุดย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อศักยภาพและการพัฒนาประเทศ.
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 4 ต.ค. 2557
โดย...สุวิภา บุษยบัณฑูร