โดย ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ศูนย์นาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ขณะที่ ยานอวกาศ รถยนต์ อากาศยาน และภาคส่วนอื่นๆ ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นไปอย่างไม่มีขีดจำกัด แต่ภาคเกษตรกรรมกลับถูกทอดทิ้งมานาน ทำให้การเกษตรย่ำอยู่กับที่ ทั้งๆ ที่เกษตรกรรม คือ “ครัว” ที่ผลิตอาหารป้อนมนุษย์โลก
อย่างไรก็ตามเมื่อมองปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของโลกในอนาคต ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตัวการของปัญหาโลกร้อน รวมถึงการคาดการณ์จำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ในปี ค.ศ.2050 ซึ่งจะทำให้สังคมเมือง (Urbanization) มีขนาดใหญ่ขึ้นถึงร้อยละ 70 ของทั้งหมด นำไปสู่ความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ทำให้ภาคเกษตรจำเป็นต้องใช้น้ำมากขึ้นถึงกว่าร้อยละ 70 สิ่งเหล่านี้ทำให้นานาประเทศหันกลับมามองเรื่องการพัฒนาด้านการเกษตรที่จะกลายเป็นอนาคตของโลก
โดยในศตวรรษที่ 21 การเกษตรกรรมของโลกจะเข้าสู่ยุค Paradigm Shift หรือการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ กลายเป็น “เกษตรกรรม เวอร์ชัน 2.0” ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภาคเกษตรกรรม ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การเปลี่ยนจากเกษตรกรรมที่พึ่งพาสารเคมี สู่การเกษตรแบบชีววิทยาสังเคราะห์ (Bio-agriculture หรือ Synthetic Biology) และการเปลี่ยนจากเกษตรกลางแจ้ง (Outdoor Farming) ซึ่งเป็นเกษตรแบบดั้งเดิมที่ต้องต่อสู้กับสภาพดินฟ้าอากาศ สู่เกษตรในร่ม (Indoor Farming) ที่ทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในสิ่งปลูกสร้างที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อม ดังเช่น การทำไร่ในอาคารสูง (Vertical Farming), การทำเกษตรในแนวดิ่ง, การทำฟาร์มในเมืองเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารได้เองทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์, การปลูกเนื้อสัตว์ (In vitro meat) แทนการเลี้ยงสัตว์ที่มีชีวิต และการผลิตอาหารสังเคราะห์ (Synthetic foods)
เมื่อระบบการเกษตรเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยของ เกษตรอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm หรือ Intelligent Farm) เพื่อให้สามารถผลิตอาหารป้อนประชากรโลกที่จะมากขึ้นในอนาคต เกษตรกรและบุคลากรทางการเกษตรจะให้ความสำคัญกับ การทำฟาร์มที่มีความแม่นยำสูง (Precision Farming) โดยเน้นการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการดูแลทุกกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ผ่านระบบเซ็นเซอร์ที่จะทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือสมัยใหม่เพื่อให้กระบวนการผลิตถูกต้อง ตั้งแต่เริ่มหว่านเมล็ด รดน้ำ ให้ปุ๋ย ให้ยาปราบศัตรูพืช การเก็บเกี่ยวและคัดเลือกผลผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ปัจจุบันเกษตรกรรมความแม่นยำสูงเป็นที่นิยมกันมากในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย รวมถึงหลายประเทศที่เริ่มทำการวิจัยด้านนี้ ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย
ขณะเดียวกันยังเน้น การทำฟาร์มอัจฉริยะ ที่มีการนำเทคโนโลยีทันสมัยทั้งระบบคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร ระบบเซ็นเซอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพมาผสมผสานกับงานด้านการเกษตร ควบคู่กับ การเกษตรแบบวิศวกรรมเปลี่ยนแปลง (Geoengineering) ที่จะนำเอาเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การเปลี่ยนให้พื้นดินที่ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้อย่างทะเลทรายให้เป็นแหล่งผลิตอาหารในอนาคต
ปัจจุบันหลายประเทศ รวมถึงหลายบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเกษตรและอาหารมากขึ้น และต่อไปโลกจะเข้าสู่อาหารยุคดิจิตอล ที่ผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตอาหารเองโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นและจีน ที่มุ่งปฏิรูปเกษตรกรรม สนับสนุนการรวมที่นามาทำเกษตรแปลงใหญ่ (Sharing Farming) ที่เปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ถือหุ้นตามมูลค่าทรัพย์สินที่ลงไปในบริษัทที่ร่วมทุนกัน โดยเกษตรกรจะเป็นพนักงานหรือเป็นเพียงผู้ถือหุ้นก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเรื่องนี้ต้องเข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน, เวียดนามดึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างฟูจิตสึมาพัฒนาระบบสมาร์ทฟาร์ม ด้วยการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาสนับสนุนด้านการเกษตร เช่นการใช้กล้องบันทึกภาพการเติบโตของพืชผักที่ปลูก ส่งตรงข้อมูลเข้าโปรแกรมทางมือถือเพื่อวิเคราะห์การเจริญเติบโต พร้อมระบบสั่งการการให้น้ำ-ให้ปุ๋ยแบบอัตโนมัติ , เกาหลีพัฒนาเมืองอาหาร ด้วยการส่งเสริมให้คนในเมืองที่มีมากกว่า 5 ล้านคน ลงมือปลูกผักกินเองในบ้านตนเอง หรือทำสวนผักชุมชน , สิงคโปร์ปลูกผัก-เลี้ยงปลาเก๋าในอาคาร ปลูกผัก-เลี้ยงผึ้งบนหลังคา
ส่วนบริษัทที่หันมาสนใจด้านการเกษตร เช่น ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่นหันมาพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร, Google กำลังทำการปลูกเนื้อสัตว์เฉพาะส่วน เช่น ปลูกอกไก่ ปลูกขาหมู ปลูกเนื้อสันใน-สันนอก ที่สามารถควบคุมรสชาติและคุณค่าทางอาหารได้, บริษัทไอทีในสหรัฐอเมริกาและจีน หันมาตื่นตัวลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารและการทำฟาร์มเกษตร สำหรับไทยเราผู้นำด้านการเกษตรอย่างซีพี (CP) เองก็ได้พัฒนาการเกษตรไปอีกขั้น ด้วยโครงการเกษตรกรรมหมุนเวียนทันสมัย ผิงกู่ ที่ประเทศจีน โดยเลี้ยงไก่ไข่ 3 ล้านตัว แบบครบวงจร และนำมูลไก่ไปใช้ในพื้นที่ปลูกท้อ ในพื้นที่ 2.5 หมื่นไร่บริเวณรอบๆ ฟาร์มที่ซีพีได้ร่วมมือกับบริษัทผลิตผลไม้รายใหญ่ในจีนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกท้อออร์แกนิก เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในอนาคตคือ การเกษตรจะถูกผนวกไปกับ อาหาร วัสดุ ท่องเที่ยว สุขภาพ พลังงาน ดังนั้นนักลงทุนที่ทำธุรกิจอุตสาหกรรมจะหันมาทำเกษตรทั้งหมด เช่น ปตท.ที่หันมาทำธุรกิจปลูกกาแฟเนื่องจากมีกำไรจากการทำร้านกาแฟ จึงเกิดความคิดเอาอาหารมาแทนพลังงานในอนาคต, SCG ที่มองเกษตรคืออนาคตจึงปลูกต้นไม้เองเพื่อมาป้อนธุรกิจตนเอง
อาจเรียกยุคนี้ว่า Bio economy คือการเพาะปลูกอะไรก็ได้ที่จะเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบสำหรับปิโตรเคมี หรือการเปลี่ยนน้ำมันใต้ดินให้เป็นน้ำมันบนดิน
“แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรอยู่แล้ว แต่ก็ต้องปรับตัวเองเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยต้องมองว่าเกษตรกรคือนักธุรกิจเกษตร ไม่ใช่เพียงผู้ผลิตสินค้าเกษตรเท่านั้น รวมทั้งต้องทำให้ระบบนิเวศธุรกิจ หรือ Business Ecosystem มีความเข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของบุคลากรด้านการเกษตรมากขึ้น เช่น สร้างผู้พัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรและการส่งออก การพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนด้านการเกษตร เป็นต้น”
เมื่อแทบทุกประเทศหันมามองการทำเกษตรที่จะกลายเป็นอนาคตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกษตรกรรม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จะอาศัยและอยู่ร่วมกันได้อย่างผสมกลมกลืน และต่อไปมีความเป็นไปได้สูงที่โลกจะเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมเกษตร (The New Imperialism) เหมือนกับยุคล่าอานานิคมในอดีต โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีพื้นที่ทำการเกษตรแต่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทุนหนา อย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศไทยก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับตัวเตรียมรับมือกับเรื่องดังกล่าว เพื่อให้มีทั้งอาหารเลี้ยงคนในชาติและส่งอาหารป้อนคนทั้งโลกได้ ตามวิสัยทัศน์การเป็น “ครัวของโลก” ที่รัฐบาลหลายยุคสมัยดำเนินการมาตลอด
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 15 ก.ย. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.