464สส.รวยที่2.7หมื่นไร่ แนะเก็บภาษีทรัพย์สิน
นักวิชาการเปิดโปง ส.ส. 464 ราย รวยที่ดิน 2.7 หมื่นไร่ มูลค่านับหมื่นล้านบาท ระบุกลุ่มผู้ที่ถือครองมากสุด 10% ถือครองที่ดินถึง 80% ขณะที่การถือครองหุ้นกระจุกตัว 10 อันดับแรก รวย 1 แสนล้านบาท ติดโผไม่กี่ตระกูล แนะเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ช่วยกระจายทรัพย์สินและรายได้ใหม่ให้เกิดความเสมอภาค
ในงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อการแสดงผลงานวิจัยในหัวข้อต่างๆ ของศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันพฤหัสบดี ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง “การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย" โดยศึกษาถึงการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย ซึ่งพิจารณาจากทรัพย์สิน ได้แก่ ที่ดิน บ้าน สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ ทรัพย์สินทางการเงิน และหลักทรัพย์ ระหว่างปี พ.ศ.2549-2555 พบว่า สังคมไทยมีความไม่เสมอภาคของการถือครองทรัพย์สินรวมสุทธิค่อนข้างสูง จากข้อมูลการถือครองที่ดินที่มีโฉนดของกรมที่ดิน ปี 2555 พบภาพรวมทั้งประเทศ มีการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินสูงมาก
"หากพิจารณาเป็นรายภาค ภาคกลางถือเป็นภาคที่มีความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดินมากที่สุด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดินน้อยที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัดจะพบว่า สมุทรปราการ ปทุมธานี มีการกระจุกตัวในการถือครองที่ดินมากที่สุดต่างจากจังหวัดศรีสะเกษ พัทลุง ที่มีการกระจุกตัวน้อย" ผศ.ดร.ดวงมณีระบุ
ทั้งนี้ สัดส่วนการถือครองที่ดินของนิติบุคคลพบว่า กลุ่มของผู้ที่มีที่ดินมากสุด 20% แรก ถือครองที่ดินต่างจากกลุ่มที่มีที่ดินน้อยสุดถึง 729 เท่า โดยผู้ถือครองที่ดินสูงสุดมีที่ดินถึง 2,853,859 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีการระบุไว้ว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว แต่มีข้อสังเกตว่า อาจเป็นการถือครองโดยเจ้าของรายเดียว ที่มีชื่อ-นามสกุลเหมือนกันหรือหลายรายก็เป็นได้ ทำให้มีขนาดการถือครองสูงมากเช่นนี้
ส่วนการถือครองที่ดินของบุคคลธรรมดาพบว่า กลุ่มที่มีที่ดินมากที่สุด 20% แรก ถือครองที่ดินต่างจากกลุ่มที่มีที่ดินน้อยสุดถึง 600 กว่าเท่า โดยบุคคลธรรมดาที่ถือครองที่ดินสูงสุด มีที่ดินในครอบครองถึง 630,000 ไร่ หากจำแนกผู้ถือครองที่ดิน โดยนำสัดส่วนการถือครองที่ดินของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมาหาค่าเฉลี่ย ยังพบตัวเลขกลุ่มผู้ที่ถือครองมากสุด 10% ถือครองที่ดินถึง 80% ของที่ดินมีโฉนดทั้งหมด ส่วนประชาชนกลุ่มที่เหลืออีก 90% กลับถือครองที่ดินเพียง 20% ของที่ดินมีโฉนดทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเป็นอย่างมาก
สำหรับการถือครองที่ดินของนักการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันนั้น ผศ.ดร.ดวงมณีระบุว่า จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 118 ราย ถือครองที่ดินมีมูลค่ารวมกันถึง 8,000 ล้านบาท ส่วน ส.ส.เขต จำนวน 346 ราย ถือครองที่ดินมีมูลค่ารวม 7,800 กว่าล้านบาท และถ้าดูจากขนาดการถือครองที่ดิน ทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.เขต ถือครองที่ดินรวมกันทั้งสิ้นกว่า 27,000 ไร่
"จากตัวเลขนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเพราะเหตุใดเมื่อมีการพูดถึงเรื่องภาษีที่ดิน การดำเนินการต่างๆ จึงไม่ค่อยขยับไปไกลมากนัก น่าจะมีคำอธิบายอยู่ในตัว"
อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ยังกล่าวถึงการถือครองหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยว่า บุคคลธรรมดาที่ถือครองหุ้นใน 10 อันดับแรก ซึ่งมีมูลค่าหุ้นสูงสุดที่ยังคงอยู่ในรายชื่อ ทั้งในปี 2552-2554 มีทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายอนันต์ อัศวโภคิน, นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์, นายนิติ โอสถานุเคราะห์, นายวิโรจน์ ธนาลงกรณ์ และนายวรวิทย์ วีรบวรพงศ์ นอกจากนั้นจะมีการเข้าและออกจาก 10 อันดับแรกอยู่บ้าง ส่วนมูลค่าการถือหุ้นรวมของ 10 อันดับแรกในปี พ.ศ.2553 และ 2554 มีจำนวนมากกว่า 1 แสนล้านบาท
“ถ้ามีการจัดลำดับมูลค่าการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามตระกูล จะพบว่า ในปี พ.ศ.2554 ตระกูลมาลีนนท์ มีมูลค่าหุ้นมากที่สุด คิดเป็น 37,859 ล้านบาท ส่วนตระกูลที่มีมูลค่ามากสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ มาลีนนท์, วิจิตรพงศ์พันธุ์, จิราธิวัฒน์, อัศวโภคิน, ทองแดง, กาญจนพาสน์, ปราสาททองโอสถ, จันศิริ, มหากิจศิริ และโสภณพนิช”
ผศ.ดร.ดวงมณีกล่าวว่า ผลการศึกษาการถือครองหลักทรัพย์นี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าผู้ถือครองหุ้นที่มีมูลค่าสูงในสังคมไทย มักเป็นบุคคลไม่กี่คน ไม่กี่ตระกูล ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนในการถือหุ้น หรือมีหุ้นอยู่ในจำนวนที่น้อยมาก ฉะนั้นการถือครองหุ้นยังพบการกระจุกตัวในคนบางกลุ่มเช่นกัน
"เมื่อสังคมไทยมีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งค่อนข้างสูง อีกทั้งความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สิน ยังมีแนวโน้มสูงกว่าความไม่เสมอภาคในรายได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคได้คือ การกระจายการถือครองทรัพย์สินใหม่ เช่น การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ซึ่งจะช่วยกระจายทรัพย์สินและรายได้ใหม่ให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น กลุ่มคนที่มีทรัพย์สินในครอบครองมูลค่าสูงก็จะต้องจ่ายภาษีประเภทนี้สูง จะสามารถนำภาษีจำนวนนี้ไปกระจายประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งน้อย ผ่านนโยบายทางการคลัง เช่น การจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชน เป็นต้น” ผศ.ดร.ดวงมณีกล่าว
ไทยโพสต์ 17-08-55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.