ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าที่ควรมีในสังคมไทย
การเก็บภาษีที่ดินต่ำในประเทศไทย ทำให้เจ้าของที่ดิน ได้ประโยชน์จากค่าเช่าที่ดินและราคาที่ดินที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนทำอะไร สิ่งนี้ทำให้ผู้คนที่มีเงินมาก พากันหาซื้อที่ดิน เก็บสะสมไว้เป็นทรัพย์สิน เพื่อเก็งกำไร
การกักตุนที่ดินและการเก็งกำไรที่ดิน ก็คือผลโดยตรงของภาษีที่ดินที่ต่ำในสังคมไทยนั่นเอง
การเก็งกำไรที่ดินทำให้ เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของที่ดินทั้งในเมืองและชนบท ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพที่ควรจะเป็น เกิดการจ้างงานน้อยกว่าที่ควร ผลผลิตโดยรวมของประเทศต่ำ เคยมีการคำนวณว่าการกักตุนที่ดินในสังคมไทย ทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศถึงปีละ 127,000 ล้านบาท
ที่ดินที่เราเห็นว่างๆ รกร้างว่างเปล่า มักมีเจ้าของแล้ว การกักตุนที่ดินในเมือง ทำให้เมืองมีขนาดใหญ่แต่หลวม ผู้คนต้องหาบ้านอยู่นอกเมือง รัฐต้องเสียเงินขยายสาธารณูปโภค ต้องมีการเดินทางเข้าออกเมืองและชานเมือง การกักตุนและใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เต็มประสิทธิภาพในเมือง จึงส่งผลต่อเนื่องถึงการจลาจร มลพิษ การใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน
ในขณะที่การกักตุน เก็งกำไรที่ดินในชนบท ทำให้เกษตรกรยากจนจำนวนมากที่ไม่มีกำลังซื้อ ไม่สามารถเข้าถึงที่ดิน ไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดิน และทำการผลิตเพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัวได้อย่างที่ควรจะเป็น ที่ดินจำนวนมากในชนบทที่ถูกปล่อยร้างว่างเปล่า จึงขัดกับข้อเท็จจริงในสังคมที่ว่า เกษตรกรจำนวนมากต้องการที่ดินทำกินเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในขณะเดียวกัน ความขาดแคลนในที่ดินทำกินในพื้นที่ชนบทนี้ ได้ผลักดันให้เกษตรกรจำนวนหนึ่ง อพยพถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเข้าหักร้างถางพง บุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อเป็นพื้นที่ทำกินของครอบครัว
ภาษีที่ดินที่ควรมีการจัดเก็บในสังคมไทย ควรเป็นภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าที่เก็บจากมูลค่าของที่ดิน ลักษณะของการใช้ประโยชน์ของที่ดิน และขนาดการถือครองที่ดิน เหตุที่ต้องมีการจัดเก็บตามขนาดการถือครองที่ดิน เนื่องจากผู้ที่ถือครองที่ดินมากกว่าที่ควรจะเป็น ตามที่สังคมกำหนด ควรจะต้องรับภาระจ่ายภาษีคืนให้กับสังคม ในอัตราภาษีที่ก้าวหน้า เช่นเดียวกันกับการเก็บภาษีก้าวหน้าตามลักษณะการใช้ประโยชน์ของที่ดิน เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่คุ้มค่า ปล่อยให้ทิ้งร้างว่างเปล่า สร้างผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับสังคมโดยรวม อีกทั้งส่งผลให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งเสียโอกาสในการเข้าถึงและทำการผลิตในที่ดินที่ว่างเปล่า เจ้าของที่ดินจึงควรต้องจ่ายคืนภาษีที่ดินให้กับการสูญเสียทางเศรษฐกิจของสังคม ส่วนการเก็บภาษีที่ดินตามมูลค่าของที่ดิน เนื่องจากที่ดินได้ถูกเปลี่ยนคุณค่าให้กลายเป็นทรัพย์สิน และสร้างรายได้จำนวนมากให้กับผู้ที่ถือครองที่ดิน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายรายได้และทรัพย์สินในสังคม เจ้าของที่ดินที่มีมูลค่าสูงและมีรายได้สูงจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงสมควรคืนภาษีให้กับสังคมในอัตราที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม
หากรัฐเก็บภาษีที่ดินให้สูงพอ จะช่วยบรรเทาปัญหาการเก็งกำไร และกักตุนที่ดินได้ ที่ดินที่ถูกกักตุน และปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า จะถูกนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ หรือการนำออกมาให้เช่า เพื่อให้เจ้าของที่ดินมีรายได้คุ้มกับภาษีที่ต้องจ่าย หากรายได้จากการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่คุ้มค่ากับภาษีที่ดินที่ต้องจ่าย เจ้าของที่ดินก็จะขายที่ดินออกไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการถือครอง
ดังนี้ เกษตรกรและผู้คนทั่วไป จะสามารถหาซื้อ หรือเช่าที่ดินทำกินมาทำการผลิตได้ เป็นนายของตนเองได้ง่ายขึ้น จะทำให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศสูงขึ้น
นอกเหนือจากนั้น รายได้จากภาษีที่ดิน จะทำให้รัฐบาลสามารถลดภาษีทางอ้อมด้านอื่นที่เป็นภาระกับคนจนและผู้บริโภค เช่นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาสินค้า และของกินของใช้จะต่ำลง คนในสังคมจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นี่คือการทำให้ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของทรัพยากรที่ดินของสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้จะไม่ได้มีการนำที่ดินมาแจกจ่ายให้กับทุกคนจริง แต่ได้มีการนำรายได้จากภาษีที่ดิน ทรัพย์สินของคนที่มีที่ดินมาก มาสร้างให้เกิดผลประโยชน์กับคนจนและคนอื่นๆ ในสังคม
เพราะที่ดินคือต้นทุนและทรัพยากรของสังคม ที่สมควรกระจายการถือครองให้กับเกษตรกรผู้ทำการผลิตอย่างเป็นธรรม และกระจายผลประโยชน์ของการถือครองให้กับคนทั่วไปในสังคมอย่างเท่าเทียม
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.