พัฒนาการธนาคารที่ดินในสังคมไทย
การเรียกร้องผลักดันต่อรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินมีมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ.๒๔๘๕(พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ.๒๕๑๑) การเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ถือเป็นพลังสำคัญที่กดดันให้ ฝ่ายการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการในขณะนั้น ออกมาขานรับและร่วมกันผลักดันนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร เช่น ในปีพ.ศ ๒๕๑๗ ดร.ไชยยงค์ ชูชาติ ได้มีข้อเสนอโครงการจัดตั้ง “ธนาคารที่ดิน” ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้มี พระราชบัญญัติการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ๒๕๑๘ ซึ่งระบุให้ตั้งกองทุนการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมถึงมีการออกระเบียบกองทุนหมุนเวียนจัดซื้อที่ดินให้เกษตรกรชาวนาชาวไร่
ปี ๒๕๓๔ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่องแผนพัฒนาการเกษตรและปฏิรูปที่ดินโดยให้มีการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินขึ้นในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)ในระยะแรก ๕ ปีเป็นการจำลองการปฏิบัติงานในรูปแบบธนาคารที่ดินและได้อนุมัติวงเงิน ๑,๐๐๐ ล้านบาท
การสานต่อเจตนารมณ์จากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรและคนจน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ชุมนุมเคลื่อนไหวผลักดันนับจากปี ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน ส่งผลในทางรูปธรรม ต่อนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภาในเดือนธันวาคม ๒๕๕๑ ให้มีการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรยากจนในรูปแบบของธนาคารที่ดิน มีคณะทำงานศึกษาโครงสร้างระบบภาษีที่ดิน มาตรการการเงินการคลังและแนวทางการจัดตั้งธนาคารที่ดิน และได้มีคณะทำงานเพื่อยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน
และก่อนการประกาศยุบสภา ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันที่ ๑๖กุมภาพันธ์ – ๙ มีนาคม ๒๕๕๔ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้ชุมนุมร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ผลักดันในเรื่องการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากรและความเป็นธรรมทางสังคม จากการเคลื่อนไหวเรียกร้องตลอดระยะเวลา ๒๒ วันมีหลายเรื่องที่ประสบผลสำเร็จในจำนวนนั้นได้มี ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ผ่านความเห็นชอบของมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔
พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)พ.ศ.๒๕๕๔ ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ โดยหน้าที่สำคัญของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน คือ การดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดิน และทำหน้าที่เป็นธนาคารที่ดินชั่วคราว เพื่อจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ดินของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และจัดซื้อที่ดินจากเอกชน เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกร ผู้ยากจน หรือผู้ประสงค์จะขอใช้ประโยชน์ในที่ดิน ได้เช่า เช่าซื้อ หรือเข้าทำประโยชน์ รวมทั้งสนับสนุนทางการเงินแก่การปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สนับสนุนให้ชุมชนมีการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันในรูปแบบโฉนดชุมชน
ในระยะเริ่มแรกของสถาบันฯให้คณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินประกอบด้วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนองค์กรชุมชนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนสองคน เป็นกรรมการ และให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ในขณะนี้ครบหนึ่งปีที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้เซ็นหนังสือคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินชั่วคราวทั้งที่กฎหมายได้ระบุไว้ไม่เกิน ๑๘๐ วัน นับแต่ราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้
พ.ศ |
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ |
๒๕๑๒ |
กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติออกระเบียบว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนจัดซื้อที่ดินของกรมสหกรณ์ |
๒๕๑๖ |
มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนคำร้องของราษฎรขอความเป็นธรรมกับหนี้สิน(ก.ส.ส)เพื่อออกไปไกล่เกลี่ยประนอมหนี้แก่เกษตรกรชาวนา ชาวไร่ |
๒๕๑๗ |
ดร.ไชยยงค์ ชูชาติ ได้ทำข้อเสนอโครงการจัดตั้งธนาคารที่ดินเน้นการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
๒๕๑๘ |
มีการประกาศใช้พรบ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ๒๕๑๘ ม.๙ให้จัดตั้งกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และรัฐบาลมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการกลางช่วยเหลือชาวนา ชาวไร่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี |
๒๕๑๙ |
ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเงินหมุนเวียนกองทุนจัดหาที่ดินช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ ซึ่งเกิดจากการเรียกร้องของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ |
๒๕๒๐ |
ดร.ไชยยงค์ ชูชาติ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินอีกครั้ง |
๒๕๒๑ |
มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสปก.กับธกส.เพื่อศึกษาลู่ทางในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ผลของการศึกษาเห็นสมควรให้จัดตั้งธนาคารที่ดินโดยอยู่ร่วมกับธกส. |
๒๕๒๒ |
คณะทำงานร่วมระหว่าง ส.ป.กกับธ.ก.ส.นำร่างพรบ.เสนอคณะรัฐมตรีโดยครม.มีมติเมื่อ๑๖ม.ค๒๕๒๒ให้ปรับปรุงร่างพรบ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและร่างพรบ.ธนาคารเพื่อเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร |
๒๕๒๕ |
คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติได้มีมติให้จัดตั้งธนาคารที่ดินโดยเร็วที่สุดให้อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ธกส.และได้เสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๒๒ มิ.ย ๒๕๒๕ คณะรัฐมนตรีรับหลักการ คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ(ก.ช.ช)มอบหมายให้คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษารายละเอียด ในขณะเดียวกันทาง ก.ช.ช.ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดตั้งธนาคารที่ดินซึ่งมีผู้จัดการใหญ่ ธกส.เป็นประธาน ภายใต้คณะอนุกรรมการที่ดิน มีความเห็นว่าระยะแรกธนาคารที่ดินควรจะตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานหนึ่งของธกส.ก่อนเนื่องจากธกส.เป็นรัฐวิสาหกิจมีความคล่องตัว นอกจากนี้ยังมีสำนักงาน กำลังคน และเขตการดำเนินงานกระจายอยู่ทั่วประเทศอยู่แล้ว ในเวลาไล่เลี่ยกันทางคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รายงานผลการศึกษาต่อ ก.ช.ช ว่าเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางด้านการเงินและโครงสร้างการจัดการที่ดินไปพร้อมกันแต่ธนาคารที่ดินในประเทศไทยควรจัดตั้งขึ้นใหม่ให้เป็นเอกเทศ |
๒๕๒๘ |
สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการช่วยเกษตรกรและผู้ยากจนเพื่อช่วยเหลือด้านที่ดินและหนี้สิน |
๒๕๓๔ |
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่องแผนพัฒนาการเกษตรและปฏิรูปที่ดินโดยให้มีการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินขึ้นในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)ในระยะแรก ๕ ปีเป็นการจำลองการปฏิบัติงานในรูปแบบธนาคารที่ดินและได้อนุมัติวงเงิน ๑,๐๐๐ ล้านบาท |
๒๕๓๖ |
นายชวน หลีกภัย ได้ประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่ากองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเกษตรกรและผู้ยากจนด้านหนี้สินได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ๑,๓๙๐ ล้านบาท |
๒๕๔๕ |
ได้มีการปฏิรูประบบราชการ ได้โอนงานช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนซึ่งสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
๒๕๔๖ |
คณะรัฐมนตรีมีมติรวมเงินกองทุนและกองทุนทั้ง๓กองทุนเข้าด้วยกันให้มีชื่อใหม่ว่า “กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน” |
๒๕๕๑ |
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาข้อ ๔.๒.๑.๘ ว่าให้จัดหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรยากจนในรูปแบบของธนาคารที่ดิน |
๒๕๕๒ |
คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินไว้๓แนวทาง · สิทธิชุมชนและโฉนดชุมชน · มาตรการทางภาษี · ธนาคารที่ดิน |
๒๕๕๔ |
ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๓๓ก |
เรียบเรียงโดย นางสาวสมจิต คงทน
กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน
สำนักประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.