ทำไมเราต้องสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดิน
สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมายาวนาน ถึงแม้หลายสิบปีที่ผ่านมา การเติบโตของเมืองและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ จะทำให้ชนบทดูล้าหลังและลดความสำคัญลงไป แต่หากพิจารณากันอย่างละเอียด จะเห็นว่าชนบทยังคงเป็นหลังอิงที่สำคัญสำหรับคนทำงานในเมืองจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานหาเช้ากินค่ำในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ภาพการเคลื่อนย้ายของคนจำนวนมากกลับภูมิลำเนายามเทศกาล หรือแม้แต่ภาพการขนถ่ายข้าวสารอาหารแห้งจากชนบทเข้ามาบริโภคเพื่อจุนเจือชีวิตในเมือง ตอบคำถามนี้ได้เป็นอย่างดี
ชนบทในอดีตที่ผ่านมาและแม้แต่ในปัจจุบันยังคงเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ สำหรับป้อนให้กับคนในเมือง อาหารหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ธัญพืช ผัก ปลา และเนื้อสัตว์ ล้วนถูกผลิตขึ้นโดยคนในชนบท ก่อนการนำเข้าสู่ขั้นตอนของการแปรรูปโดยบริษัทอุตสาหกรรมเกษตร บริษัทค้าส่งและค้าปลีก เพื่อให้พร้อมต่อการบริโภคและส่งต่อถึงมือของคนในเมือง
ในขณะที่สังคมก้าวไปข้างหน้า เมืองใหญ่เพิ่มความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ เมืองใหญ่และเมืองเล็กได้กลายเป็นแหล่งงาน และแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับลูกหลานคนในชนบท โดยเฉพาะเมื่อชนบทอ่อนแอ เกษตรกรรายย่อยขาดทุนจากการทำการผลิต เมืองได้ก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ทำให้คนชนบทอยู่รอดได้ นอกเหนือไปจากรายได้จากภาคเกษตรกรรม
ปัจจุบันมีคนที่อาศัยอยู่ในชนบทประมาณ 20 ล้านคน คนพวกนี้ทำมาหากินอยู่ในชนบทพึ่งพิงภาคเกษตรกรรม และที่ดินคือปัจจัยการดำรงชีพที่สำคัญของพวกเขา ที่ยังคงผูกพันให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชนบทได้
น่าเสียดายที่ที่ดินในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้ถูกเปลี่ยนแปลงหน้าที่และความหมายไปอย่างมาก ที่ดินได้กลายสภาพเปลี่ยนสถานะเป็นทรัพย์สมบัติ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเมืองต้องการที่จะครอบครอง เหมือนการมีบ้าน มีรถ หรือมีบัตรเครดิต ในขณะที่ที่ดินในอดีตมีหน้าที่ตามธรรมชาติในการเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับคนในสังคม โดยมีคนในชนบท หรือเกษตรกรเป็นผู้ครอบครองและทำการผลิต
ปัญหาการแย่งชิงที่ดินระหว่างคนชนบท บ้านจัดสรร เขตนิคมอุตสาหกรรม และนักเก็งกำไรที่ดิน จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าสังคมมีการแบ่งปัน และรู้ว่าควรจะมีการจัดสรรที่ดินส่วนหนึ่งในสังคม ไว้ให้เกษตรกรในชนบทได้ทำการผลิต เพื่อให้ที่ดินที่มีสถานะส่วนหนึ่งเป็นทรัพยากรของสังคมหรือต้นทุนทางสังคม ได้ทำหน้าที่และถูกใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรกรรม เพื่อหล่อเลี้ยงคนในสังคม และมีความเป็นธรรมให้กับผู้ผลิตที่ควรจะได้ถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดิน
สังคมไทยมีเกษตรกร 5.7 ล้านครัวเรือน ปัจจุบันมีเกษตรกร 3.2 ล้านคนที่กำลังเดือดร้อนเรื่องที่ดิน ในจำนวนนี้ มีเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเลย 1.3 ล้านคน มีที่ดินอยู่บ้างแต่ไม่พอทำกิน 1.6 ล้านคน และขอเช่าที่ดินรัฐอยู่ 3 แสนคน (ข้อมูลจากการจดทะเบียนคนจน โดยกระทรวงมหาดไทย)
การไม่มีที่ดินทำกิน หรือการมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอของเกษตรกร จะทำให้ชีวิตของคนในชนบทไม่มั่นคง ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาหลากหลายประการ ที่เห็นได้ชัดคือ จะมีการอพยพจากชนบทสู่เมืองมากยิ่งขึ้น การอพยพจะไม่เป็นเพียงการอพยพชั่วคราวที่มีเพียงคนรุ่นลูกหลาน แต่จะเป็นการอพยพถาวรที่มาเป็นลักษณะทั้งครอบครัวมากขึ้น และจะทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมในเมืองใหญ่ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว อาจจะไม่สามารถรองรับคนในชนบทได้ทั้งหมด
การละทิ้งถิ่นฐานของคนชนบทและเกษตรกรรายย่อยในอนาคตข้างหน้า จะทำให้ระบบการผลิตอาหารในสังคมไทย เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ความหลากหลายของพืชอาหาร จะถูกจำกัดด้วยระบบการผลิตที่อาจจะต้องพลิกโฉมไปสู่การผลิตในแปลงขนาดใหญ่ ผลิตในระบบอุตสาหกรรม ที่เน้นในด้านปริมาณมากกว่าด้านความหลากหลายที่อาจจะไม่คุ้มทุน พืชพันธุ์ธัญญาหารหลายชนิดอาจจะไม่ถูกผลิตหรือถ้ายังผลิตอยู่ จะเป็นไปในลักษณะถูกจัดเข้าสู่ระบบที่ถูกควบคุมการผลิตโดยอุตสาหกรรม หรือกลุ่มบริษัท หากนึกภาพไม่ออก ก็น่าจะนึกถึงการล้มหายตายจากไปของร้านโชว์ห่วยขนาดเล็กที่มีสีสันทั้งหลาย พร้อมๆ กับการเติบโตขึ้นของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่ให้ความสะดวกสบาย และไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ หรือวิถีการใช้ชีวิตใหม่ๆ สำหรับคนในเมือง
ความพยายามเรียกร้องเพื่อให้ได้ที่ดินคืนมาทำการผลิต หรือความพยายามของคนในชนบทที่ต้องการจะทำกินและอยู่ในถิ่นฐานเดิมของตนเองให้ได้ด้วยระบบเกษตรกรรมขนาดเล็ก คือสิ่งที่สังคมควรต้องสนับสนุน
ความอยู่รอดได้ของคนในชนบทหรือความมั่นคงของสังคมในชนบท คือส่วนหนึ่งของความมั่นคงของคนในเมืองและสังคมโดยภาพรวม ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เกือบจะเป็นปัจจับพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนในสังคมควรจะมีและควรจะได้รับ
หากเกษตรกรรายย่อยในชนบทสังคมไทยกลายเป็นคนไร้ที่ดินไปเสียหมด สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่ไม่มีความสมดุลและไม่มีความเป็นธรรม และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องสนับสนุนให้เกษตรกรในชนบทมีที่ดินทำกิน
เขียนโดย พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ / 23 พฤษภาคม 2010
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.