การแก้ปัญหาที่ดินกับความกล้าหาญของรัฐ
ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไขไม่ได้ในหลายรัฐบาล แม้รัฐบาลทุกชุดจะหยิบยกความสำคัญของปัญหาที่ดิน แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากปัญหาที่ดินเกี่ยวพันอย่างลึกซึ่งกับอำนาจของนักการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ การตัดสินใจทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่ผ่านมา จึงสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลทุกชุด กลายเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของทุกรัฐบาล ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลชุดปัจจุบัน
ที่ดินในสังคมไทยถ้าจะมองโดยภาพกว้าง สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ที่ดินของรัฐ และที่ดินของเอกชนและประชาชนทั่วไป ในสภาพสังคมปัจจุบัน ที่ดินที่เป็นของเอกชนและประชาชนทั่วไป ปัญหาหลักคือที่ดินจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในมือของนักค้าที่ดิน ที่ดินถูกครอบครองโดยคนในเมืองที่ไม่ต้องการใช้ประโยชน์ หรือที่ดินถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าไม่มีใครใช้ประโยชน์ รวมไปถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำในที่ดินซึ่งถูกมองเป็นทรัพย์สิน ซึ่งคนมีเงินสามารถกว้านซื้อและสะสมไว้ได้มากเป็นแสนไร่ ขณะที่เกษตรกรยากจนต้องเช่าที่ดินคนอื่นแค่สองถึงสามไร่เพื่อทำกินประทังชีวิต
ในที่ดินของรัฐ การหลุดมือของที่ดินในเขต ส.ป.ก. ซึ่งได้มีการปฏิรูปแจกจ่ายเกษตรกรไปแล้วเกือบ 30 ล้านไร่ ถึงแม้รัฐบาลจะมีเงื่อนไขที่ห้ามเกษตรกรขายที่ดิน เพื่อให้ตกทอดถึงลูกหลาน แต่เพราะสภาวะที่ถูกกดดันทางเศรษฐกิจและอาการไปไม่รอดของภาคเกษตรกรรม เกษตรกรจำนวนมากก็ตัดสินใจขายสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก. ให้กับนักค้าที่ดิน และนักสะสมที่ดินด้วยเช่นกัน
ยังมีประเด็นการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินกันไม่ได้ระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่อ้างว่าที่ดินเป็นสิทธิของรัฐ ในที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทีป่าสงวนแห่งชาติ ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์ ในขณะที่ชุมชนท้องถิ่นและเกษตรกรก็อ้างว่าที่ดินเป็นสิทธิของบรรพชนได้มาโดยชอบธรรม แต่ถูกรุกรานโดยกฎหมาย ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิกันมากที่สุด ในบรรดากรณีการเรียกร้องสิทธิที่ถูกส่งมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อชี้ให้เห็นว่า การจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินในสังคมไทยเกี่ยวพันกับปัญหาภาคเกษตรกรรม ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในสังคม ถ้าหากรัฐบาลมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหา จึงต้องมองให้เห็นภาพรวม ความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อกัน ที่สำคัญจะต้องกำหนดนโยบาย และมาตรการหลายอย่างควบคู่กันจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาที่สะสมมานี้ได้
ในที่ดินที่เป็นของเอกชนและประชาชนทั่วไป ต้องบรรเทาปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน ลดสภาวะการเก็งกำไร หรือการค้าที่ดินในลักษณะเป็นทรัพย์สินและเป็นสินค้า เพราะการเก็งกำไรและการซื้อขายที่ดินเป็นสินค้า ทำให้ที่ดินราคาสูงมากจนไม่มีเพดาน กลายเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขายที่ดิน หรืออีกนัยหนึ่งคือ ที่ดินถูกปั่นให้มีราคาสูงมากเกินไปสำหรับการทำเกษตรกรรมหรือการอยู่อาศัยของคนจน
การบรรเทาปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน ต้องมีมาตรการหลายแบบ แบบแรกคือ ตั้งภาษีที่ดินให้สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก ควรจะต้องมีการคำนวณว่า อัตราภาษีที่ดินทีก้าวหน้าในอัตราเท่าไร จึงจะสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ถือครองที่ดินให้ยอมขายที่ดินให้รัฐและธนาคารที่ดิน หรือสร้างแรงจูงใจให้กับคนมีที่ดินจำนวนมาก ขายที่ดินหรือบริจาคที่ดินให้กับรัฐและธนาคารที่ดิน เพื่อนำที่ดินเหล่านั้นมากระจายให้กับเกษตรกรผู้เช่าที่ดิน หรือคนยากจนที่ต้องการที่ดินแปลงเล็กเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้
เช่นกันกับผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากโดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไร รัฐควรสร้างแรงจูงใจให้มีการขายที่ดินให้กับรัฐและธนาคารที่ดิน หรือตั้งภาษีที่ดินให้สูงสำหรับผู้ที่ปล่อยที่ดินไว้รกร้างว่างเปล่า เพื่อให้ผู้ถือครองที่ดินยอมขายที่ดินออกมา (ควรตั้งนิยามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ให้รัดกุม ไม่ใช่ให้ผู้ถือครองที่ดินหลอกเอาง่ายๆ แค่ปลูกกล้วยไว้สองสามต้นก็เรียกว่าใช้ประโยชน์ที่ดินแล้ว)
ที่กล่าวมาแล้วสองมาตรการ เป็นมาตรการที่ใช้ในกรณีซึ่งที่ดินได้หลุดมือไปจากเกษตรกรรายย่อยไปอยู่ในมือของนักค้าที่ดิน และนักสะสมที่ดินแล้ว นอกเหนือจากนี้รัฐเองก็ต้องคิดถึงการหยุดยั้งการขายที่ดินของเกษตรกรรายย่อยด้วยเช่นกัน ด้วยการสร้างแรงจูงใจและมาตรการที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถรักษาที่ดินของตนเองไว้ได้
มาตรการสำคัญประการหลังนี้ คือ การอุดหนุนและช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ให้สามารถพึ่งพิงตนเองได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดของเกษตรกรที่สมควรได้รับบทเรียนมาพอสมควรแล้ว กับการทำการผลิตแบพืชเชิงเดี่ยวที่ลงทุนสูง ซึ่งพอราคาตกก็ขาดทุนและเป็นหนี้ก้อนโต ให้หันกลับมาทำเกษตรในระบบที่หลากหลาย ไม่เสี่ยง ไม่ลงทุนสูงและส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม สิ่งนี้ต้องเดินควบคู่ไปกับการเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดของรัฐบาลต่อทิศทางการพึ่งตนเองของสังคมไทยด้วยเช่นกัน
หากชุมชนใดสมัครใจที่จะทำการผลิต และสร้างความมั่นคงในที่ดินของชุมชนด้วยรูปแบบโฉนดชุมชน รัฐก็ควรให้การสนับสนุน เพราะโฉนดชุมชนในพื้นที่เอกชนและ ประชาชนทั่วไป ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยรักษาที่ดินของตนเองไว้
ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึงคือการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเกษตรกรที่อ้างสิทธิบนที่ดินผืนเดียวกัน โดยฝ่ายหนึ่งอ้างกฎหมายและหลักฐานการพิสูจน์สิทธิด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างสิทธิตามบรรพบุรุษ ผู้บุกเบิกก่อนกฎหมาย และสิทธิเกษตรกรตามรัฐธรรมนูญ ซึงดูแนวโน้มอีกห้าสิบปีก็พิสูจน์สิทธิกันไม่จบ
ประเด็นสำคัญสำหรับกรณีหลังนี้คือ หากรัฐมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับเกษตรกรทั่วประเทศที่กำลังเรียกร้องสิทธิกันอยู่จริง ก็ไม่ต้องไปพิสูจน์สิทธิ์หรือถกเถียงว่าเป็นสิทธิ์ของใคร เพราะนอกจากจะเสียเวลา ยังมีบทเรียนจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
มาตรการที่สำคัญคือรัฐควรสร้างเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ทำกินอยู่ในที่ดินพิพาท ทำกินในแปลงดังกล่าวด้วยระบบที่ยั่งยืน ดูแลสิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือรัฐในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าและน้ำ ห้ามไม่ให้มีการขายสิทธิ์ที่ดินโดยอาจนำรูปแบบโฉนดชุมชนมาใช้ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจและสนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นดูแลทรัพยากรของตนเอง อย่างไรก็ตามควรมีการตั้งกรรมการระดับชาติและระดับท้องถิ่นในรูปแบบกรรมการรัฐร่วมกับประชาชนขึ้นมากลั่นกรอง และตรวจสอบชุมชนที่จะเข้าสู่โครงการรัฐร่วมประชาชนทำโฉนดชุมชนเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม
ด้วยมาตรการเหล่านี้ ปัญหาที่ดินกระจุกตัวและการทับซ้อนสิทธิ์ที่ดินก็จะคลี่คลายลงได้บ้าง หลายเรื่องที่กล่าวมาจะเป็นไปได้จริง ก็ต่อเมื่อรัฐบาลมีความกล้าหาญพอที่จะตัดสินใจทางนโยบายและกล้ากำหนดมาตรการที่ปฏิบัติได้จริง ให้สมดังที่กล่าวไว้ในนโยบายและคำแถลงของรัฐบาลด้วยท่าทีตั้งใจมั่นเมื่อปลายปีที่แล้ว
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.