สัมปทานพื้นที่อุทยานให้กลุ่มทุน
เมื่อได้อ่านร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.... ในปี ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ.๒๕๐๔ นับเป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปี ผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดการจัดการอุทยานแห่งชาติยังคงเหมือนเดิมที่ยังหวง อำนาจและให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการ แม้ว่ามีการเพิ่มแนวคิดใหม่เข้ามา ๒ ประการคือ
ประการแรก การมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตผ่อนปรน แต่ ดูเหมือนว่าเป็นการสร้างภาพพจน์ของการมีส่วนร่วมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ในการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรปกครองท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และผู้มีสิทธิในที่ดินในการกำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติ การเพิกถอนอุทยานแห่งชาติและการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน สำหรับ การอยู่อาศัย และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในเขตผ่อนปรนมีสิทธิทำได้ชั่วคราวเท่านั้น และต้องอยู่ภายใต้โครงการที่เจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมดูแล
ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากผู้มีสิทธิในที่ดินพิสูจน์สิทธิแล้วปรากฏว่าผู้นั้น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยมาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ผู้นั้นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมต้องยอมจำนน ต่อการให้รัฐเวนคืนที่ดินและต้องย้ายออกไปจากพื้นที่อุทยาน โดยรัฐจ่ายค่าชดเชยให้หรือถ้าไม่ยอมก็ต้องอยู่อาศัยในเขตผ่อนปรน ที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ
ข้อเสนอในร่างกฎหมายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้ยกร่างกฎหมายไม่ได้เรียนรู้บทเรียนความล้มเหลวของการจัดการอุทยานแห่งชาติที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ ๕๐ ปี ตั้งแต่มีการขยายแนวเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าถาวร และป่าคุ้มครอง ซึ่งปรากฏว่ามีความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติจำนวนมาก และมีการร้องเรียนจากสมัชชาคนจน แต่รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยการใช้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ในการเป็นแนวทางพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ดังเช่นที่นำแนวทางของมติ ค.ร.ม.นี้มาเขียนยกร่างกฎหมาย
เป็น เวลา ๑๐ ปีของการพิสูจน์สิทธ์ในที่ดิน กรมอุทยานฯและรัฐบาลยังไม่มีคำตอบว่าจะคุ้มครองสิทธิของประชาชนและชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือไม่ ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ไม่มั่นคง เจ้าหน้าที่ป่าไม้เลือกปฏิบัติเร่งจับกุมชาวบ้านที่ตัดไม้และปลูกใหม่ในแปลงที่ดินเดิม และฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเป็นจำนวนเงินแสนเงินล้านบาทกับคนที่ไม่มีทางสู้ทั้งเงินทุนและอำนาจ
แสดงให้เห็นว่า การพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐล้มเหลว สิ่งสำคัญคือวันนี้ กรมอุทยานฯและรัฐบาลต้องตอบคำถามว่าภายหลังการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ชุมชนไม่ว่าจะดั้งเดิมหรือไม่ และผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องมีสิทธิในที่ดินเมื่อผลการพิสูจน์ปรากฏว่าพวกเขาตั้งถิ่นฐานและอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตพื้นที่อุทยาน และรัฐต้องให้การสนับสนุนส่งเสริมให้พวกเขารักษาที่ดินนั้นไว้ด้วยมาตรการต่างๆ มิใช่ไปละเมิดสิทธิในที่ดินให้เขาต้องถูกควบคุมจากเจ้าหน้าที่อุทยานเหมือนเดิม แนวทางพิสูจน์สิทธิในที่ดินจึงไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในกฎหมาย
ประการที่สอง สัมปทานพื้นที่อุทยานให้กลุ่มทุนหาผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว ตามมาตรา ๔๐ ของร่างกฎหมายบัญญัติไว้ว่า“อธิบดี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีอำนาจอนุญาต หรือทำความตกลงผู้พันให้บุคคลใดเข้าไปลงทุนก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆเพื่อ ดำเนินกิจการท่องเที่ยวและการบริหารที่พักแรมได้แห่งละไม่เกิน ๑๐ ไร่....”
การดำเนินการดังกล่าวเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้น เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติกับกลุ่มทุน ในสภาวการณ์ที่กรมอุทยานฯล้มเหลวในการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ให้เป็นพื้นที่นันทนาการศึกษาเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติล้มเหลวทั้งในการบริการท่องเที่ยว และการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวล้มเหลวในการดูแลผลประโยชน์ของอุทยานแห่งชาติซึ่งมีการคอรัปชั่นไม่ส่งเงินเข้าส่วนกลาง ในขณะที่ส่วนกลางของกรมอุทยานฯก็ไม่ได้จัดสรรงบประมาณในการดูแลพื้นที่ท่อง เที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ
แนวคิดที่ง่ายที่สุดสำหรับภาครัฐที่กระทำอยู่เสมอ คือให้อนุญาตแก่บริษัทเอกชนสัมปทานทำประโยชน์ ภายใต้การควบคุมของรัฐ และสุดท้ายรัฐไม่สามารถควบคุมเอกชนได้ เพราะมีการคอรัปชั่นร่วมกันระหว่างกลุ่มทุนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นเมื่อมีการใช้ประโยชน์จนเสื่อมโทรม รัฐยังนำเอาภาษีประชาชนมาฟื้นฟูทรัพยากร ดังเช่นบทเรียนการให้สัมปทานทำประโยชน์ในหลายกิจกรรม ตั้งแต่สัมปทานทำไม้ เหมืองแร่ ระเบิดหิน
และล่าสุดแม้ว่าให้องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) จัดการหาผลประโยชน์ในพื้นที่ท่องเที่ยวในไนท์ซาฟารีเวิลด์ และพื้นที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานยังประสบภาวะขาดทุน ประชาชนในพื้นที่ไม่ร่วมมือและยังทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่กรมอุทยานฯและรัฐบาลได้นำมาพิจารณาทบทวนหรือไม่
บทเรียนของการจัดการอุทยานแห่งชาติรวมทั้งเขตพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทยมีให้เห็นและสรุปเป็นข้อเสนอได้ หากกรม อุทยานฯและรัฐบาลจะไม่ทำตัวเป็นตาบอดคลำช้าง และย้อนมองในระดับโลกว่ามีการปรับเปลี่ยนแนวคิดไปอย่างไร ข้อตกลงนานาชาติรวมถึงองค์กรนานาชาติด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น สหพันธ์อนุรักษ์โลก (World Conservation Union/IUCN) และกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund/WWF) ได้ชี้เห็นว่าการจัดการอุทยานแห่งชาติในระดับโลก จำเป็นต้องเคารพสิทธิของชุมชนที่อาศัยอยู่หรือพึ่งพิงทรัพยากรในพื้นที่ โดยการส่งเสริมในรูปแบบการจัดการร่วมกัน ยอมรับระบบกรรมสิทธิ์ดั้งเดิม และระบบการควบคุมและการใช้ทรัพยากรของชุมชนซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และยังคงรักษาเป้าหมายของพื้นที่อนุรักษ์ไว้
ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะกรมอุทยานฯและรัฐบาลยังต้องการรวมศูนย์อำนาจโดยรัฐ ไม่แยกแยะกลุ่มคนและชุมชนที่มีศักยภาพในการดูแลรักษาป่าไว้ได้กับกลุ่มคนที่ทำลายป่า การแก้ไขปัญหาแบบเหมารวมว่าชาวบ้านทำลายป่าทุกพื้นที่ แต่กลับให้กลุ่มทุนทำประโยชน์ในพื้นที่อุทยาน จึงไม่ต่างไปจากการยื่นอ้อยเข้าปากช้าง และมาทำลายทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกัน ทำให้สงสัยว่าเจตนารมณ์ของกรมอุทยานฯรักษาทรัพยากรธรรมชาติจริงหรือ หรือว่าต้องการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับกลุ่มทุน
ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องมีพื้นที่ป่าธรรมชาติ และมีอุทยานแห่งชาติให้ทุกคนได้มีสิทธิในการท่องเที่ยว และร่วมดูแลรักษาอุทยาน โดยมีภาระหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันและไม่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนหรือรัฐเท่านั้น ทางออก ของการจัดการอุทยานแห่งชาติเริ่มได้วันนี้ด้วยการสร้างโอกาสให้กับชุมชนและ กลุ่มคนที่พร้อมจะจัดการร่วมกับอุทยานและมีความประสงค์จะมีสิทธิในที่ดินและร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติทั้งใน และนอกพื้นที่อุทยานอย่างมีศักดิ์ศรี
สำหรับพื้นที่อุทยานบริเวณใดที่ชุมชนจัดการไม่ได้ กรมอุทยานฯยังคงดูแลรักษาอยู่โดยให้ประชาชนในพื้นที่และในจังหวัดนั้นๆที่ อุทยานตั้งอยู่ร่วมจัดการอุทยานแห่งชาติเพื่อการนันทนาการ และเพื่อการศึกษาธรรมชาติสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาศึกษาหาความรู้ โดยมีการบริหารจัดการร่วมกันกับองค์กรชุมชนที่อนุรักษ์พื้นที่ องค์กรปกครองท้องถิ่นในจังหวัดหรือหลายจังหวัด หลายตำบลร่วมกัน
กรมอุทยานฯทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน โดยมีกองทุนในระดับท้องถิ่นให้มีการจัดสรรประโยชน์ให้กับคนในท้องถิ่น เพื่อสร้างสำนึกของการหวงแหนว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นของคนในท้องถิ่น ไม่ใช่ของหลวงจากส่วนกลาง การบริหารจัดการอุทยานที่ผ่านมาล้มเหลวเพราะชาวบ้านเห็นว่าเป็นของรัฐไม่ใช่ของชุมชน
เขียนโดย ศยามล ไกยูรวงศ์ /20 มีนาคม 2010
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.