ภาษีที่ดินกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม
ความเหลื่อมล้ำของการถือครองที่ดินในสังคมไทย เป็นที่ปรากฏชัดมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมา รัฐบาล ในยุคสมัยต่างๆ ไม่เคยมีกลไก หรือมาตรการใดๆ ในการเข้ามาแทรกแซง จัดการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินในสังคม
ดังเช่นข้อมูลที่พบว่าในปัจจุบัน 90 % โดยภาพรวมของคนในสังคมไทย หรือประมาณ 58 ล้านคนทั่วประเทศ ชั่วชีวิตมีที่ดินถือครองไม่เกินคนละ 1 ไร่ ในขณะที่เกษตรกรจำนวน 10 ล้านคน (40 เปอร์เซ็นต์) จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งควรจะได้รับการจัดสรรให้มีที่ดินทำกินอย่างเพียงพอ กลับตกอยู่ในสภาพไร้ที่ดินทำกิน หรือ มีที่ดินทำกินต่ำกว่า 10 ไร่
ในขณะที่นักลงทุนการเกษตร นักเก็งกำไรที่ดิน บริษัทธุรกิจเอกชน และ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ กลับมีที่ดินถือครองสูงถึงหลายหมื่นไร่ หากข้อมูลไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผยต่อสังคม มีเพียงอาชีพนักการเมืองเท่านั้น ที่ต้องแจ้งทรัพย์สินครอบครอง และล่าสุดพบว่า รัฐมนตรีในรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำนวน 29 คน มีที่ดินถือครองรวมกัน 5,418 ไร่ หรือ เฉลี่ยคนละประมาณ 200 ไร่
โครงสร้างการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม และปัญหาการไร้ที่ทำกินของเกษตรกรรายย่อย ที่ผ่านมา ได้สร้างแรงกดทับ และความไม่พอใจให้กับเกษตรกรรายย่อย และคนยากจนในชนบทไทยมาโดยตลอด
เมื่อรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เสนอร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยให้สัมภาษณ์ว่า จะเป็นกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดิน พัฒนาที่ดินรกร้างว่างเปล่า เป็นแหล่งรายได้สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดเก็บภาษีนี้จะนำไปสู่ตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อให้รัฐจัดสรรที่ดินให้ผู้ไม่มีที่ดินทำกิน
ประเด็นสำคัญ ซึ่งน่าสนใจที่ภาคส่วนต่างๆ น่าจะเข้ามามีส่วนร่วม และน่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนในสังคมวงกว้าง คือ ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินฉบับนี้ หน้าตาเป็นอย่างไร และจะสามารถทำหน้าที่เป็นมาตรการในการกระจายการถือครองที่ดิน ให้กับคนยากจนในสังคมได้จริงหรือ
หากพิจารณาจากเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีที่ดิน โดยภาษีที่จัดเก็บได้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินใน 3 ประเภท คือที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เก็บได้ไม่เกิน 0.05 % ของมูลค่าที่ดิน ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยไม่ประกอบเชิงพาณิชย์ เก็บได้ไม่เกิน 0.1 % ที่ดินนอกจาก สองประเภทแรก เก็บได้ไม่เกิน 0.5 % ในที่ดินประเภทหลังนี้ หากทิ้งไว้ว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน ให้เก็บเพิ่มได้ เป็น 2 เท่า ในทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 2 % ในกรณีหากมีการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน ให้ อปท. มีอำนาจ จัดเก็บเงินบำรุงกองทุนธนาคารที่ดิน คำนวณเป็น % ของ ภาษีที่ดินที่ต้องชำระ และนำส่งเข้ากองทุนดังกล่าว
หากการกระจายการถือครองที่ดิน ถูกตีความว่าหมายถึง ที่ดินที่อยู่ในมือนักลงทุน นักเก็งกำไรที่ดิน บริษัทธุรกิจการเกษตร และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่ถือครองอยู่จำนวนมาก ซึ่งหลายส่วนเป็นที่ดินทิ้งให้ว่างเปล่า ด้วยเหตุผลของความเป็นธรรม ที่ดินเหล่านี้ควรมีการถ่ายโอน หรือกระจายมาสู่คนไร้ที่ทำกิน หรือเกษตรกรรายย่อยที่มีความต้องการใช้ที่ดินเหล่านั้น เพื่อการยังชีพและสร้างรายได้ที่พอเพียง การกระจายการถือครองที่ดินที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นได้ เมื่อภาครัฐกำหนดนโยบาย และมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพพอ ที่จะสร้างให้เกิดการกระจายที่ดินดังกล่าว
มาตรการภาษีที่ดิน ที่จะสร้างให้เกิดเป็นภาระหรือตันทุนในการถือครองที่ดิน ให้กับผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมาก ก็จะต้องเป็นภาษีที่ดิน ในอัตราที่ทำให้ผู้ถือครองที่ดินเกิดต้นทุนในการถือครองที่ดินจริง หรือมีแรงจูงใจด้านอื่นประกอบ ที่ทำให้ผู้ถือครองต้องการขายที่ดินให้กับภาครัฐ และ กองทุนธนาคารที่ดิน
หากในสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยปัจจุบัน ที่ราคาที่ดินในชนบทสูงขึ้นถึงปีละประมาณ 6 % เมื่อพิจารณาจากภาษีที่ดินสูงสุด 2% ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ หากนักเก็งกำไรที่ดิน ต้องการเก็บที่ดินไว้ ย่อมสามารถทำได้โดยการจ่ายส่วนต่างระหว่างภาษีที่ดิน กับราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี การถ่ายโอนที่ดินสู่มือคนจน หรือ กระจายการถือครองที่ดิน ด้วยเงื่อนไขการจัดเก็บภาษีที่ว่านี้ คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ในขณะที่การจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน ที่ดูว่า จะเป็นศูนย์รวมของที่ดินที่จะถูกนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรรายย่อย กลับยังไม่ได้ปรากฏแนวคิดหรือรูปธรรมที่ชัดเจนให้เห็นในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาถึงความเป็นธรรม ในการจัดเก็บภาษีที่ดินฉบับนี้ การเก็บภาษีที่มากขึ้นตามประเภทของการใช้ที่ดิน จากพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของการจัดเก็บภาษีด้านหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กลับไม่ได้มีการแยกแยะระหว่างเกษตรกรรายย่อยที่ถือครองที่ดิน 10-20 ไร่ กับบริษัทธุรกิจเอกชนที่ถือครองที่ดิน 5,000 ถึง 50,000 ไร่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การจัดเก็บภาษีที่ดินตามร่างพระราชบัญญัตินี้ กลับให้คนทั้ง 2 ประเภท เสียภาษีในอัตราเดียวกัน ซึ่งไม่ได้สร้างให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีแต่อย่างใด
สังคมไทย ควรมีมาตรการบางประการ เพื่อควบคุม จำกัดการถือครองที่ดินของนายทุนขนาดใหญ่ ไม่เฉพาะนายทุนนักลงทุนที่ดินจากต่างชาติเท่านั้น แต่ควรสร้างมาตรการควบคุมรวมไปถึงนักลงทุน นักเก็งกำไรที่ดินภายในประเทศด้วย ในขณะเดียวกัน กลุ่มบริษัท หรือผุ้ที่ถือครองที่ดินอยู่จำนวนมาก ควรรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการถ่ายโอนที่ดินจำนวนหนึ่ง ขายคืนให้กับรัฐบาล ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลนำไปจัดสรร หรือให้เกษตรกรซึ่งอยู่ในฐานะที่ลำบากได้เช่าซื้อเพื่อทำกิน
ที่สำคัญ กลุ่มคนที่มีที่ดินจำนวนมากเหล่านี้ ควรรับผิดชอบต่อความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการยอมเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มเกษตรกรทั่วไป ยิ่งถือครองที่ดินมาก มีทรัพย์สินมาก ยิ่งควรต้องจ่ายคืนให้สังคมมาก ด้วยการเสียภาษีในอัตราที่ดินที่ก้าวหน้าตามจำนวนการถือครองที่ดิน ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลนำภาษีที่ได้จากกลุ่มผู้มีโอกาสสูงในสังคมเหล่านี้ มาจัดหา จัดซื้อที่ดินให้กับคนยากจน และคนที่ขาดแคลนโอกาสจากสังคมในห้วงเวลาที่ผ่านมา
แม้ว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินที่เป็นธรรม จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในสังคมปัจจุบัน แต่ด้วยบทเรียนความเจ็บปวดจากความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม สิ่งนี้ควรจะทำให้ภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ร่วมกันคิด ร่วมกันรับผิดชอบ สร้างแรงผลักดันทางสังคม เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมร่วมกัน
บทความโดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.