ตามกฎหมายรัฐจะว่าผิดกะว่าไป เฮาถือว่าเฮามาเอาที่ของเฮาคืน แล้วกะบ่หวังว่าสิร่ำสิรวยดอก
แต่ถ้าถามว่าถ้าบ่มี ที่ดิน 5 - 6 ไร่สิตายบ่ อีหลีแล้วกะบ่ตายดอก ถ้าว่าใจบ่ขาด แต่ว่ามันแฮงย่ำแย่ หลายต่อหลายคนเข้าไปแย่งชิงงานกันในกรุงเทพฯ คนมันกะล้นงานอยู่แล้ว...”
“ผมว่าส่วนหนึ่งกะให้พี่น้องอยู่หม่องนี่ซะ เว้าไปแล้วหม่องนี่กะคือสิทธิเก่าอันชอบธรรมของเฮา ผมบอกว่าชอบธรรมเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าแม้ว่าที่ดินหม่องนี่ตกไปเป็นที่ดินของรัฐ ผมถือว่ารัฐบาลเบียดเบียน รัฐแย่งชิง ปล้นทรัพย์สมบัติของชาวบ้าน”
ถ้อยคำอันหนักแน่นจากปากพ่อลุน สร้อยสด ชาวบ้านเก้าบาตร ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่กลั่นออกมาจากหัวจิตหัวใจ ผู้ที่ครั้งหนึ่งปู่ย่าตายายของแกเคยแบกจอบ คราด ไถ ลงมือบุกเบิกที่ดินแถบนี้ด้วยน้ำพักน้ำแรง หยาดเหงื่อแรงกาย หวังมีที่ดินทำกินเลี้ยงดูครอบครัว และเป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลานรุ่นต่อไป
พ่อลุนและเพื่อนบ้านอีก ๑๗๑ ครอบครัว เดิมเป็นคนตำบลลำนางรอง ก่อนจะเข้ามาตั้งหมู่บ้านใหม่ชื่อ “บ้านเก้าบาตร” ซึ่งเป็นพื้นที่กรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านเก้าบาตรและกรมป่าไม้ พ่อลุน ลูกชายและพ่อมวล ถูกฟ้องร้องคดีบุกรุกแผ้วถางที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ทั้งที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ทำกินเดิมที่พวกเขาเคยบุกเบิกทำประโยชน์
พ่อลุนเล่าว่า ราว ๔๐ ปีก่อน รัฐมีนโยบายเปิดป่าดงใหญ่บางส่วนให้ชาวบ้านบริเวณนั้นเข้าไปทำกิน เป้าหมายไม่ใช่การให้เกษตรกรคนจนได้มีที่ดินทำกิน แต่เพื่อให้เป็นกันชน แนวปราการต่อต้านการก่อการร้ายตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ยุคนั้น ใครมีแรงงานมากบุกเบิกได้มาก ครอบครัวละ ๕๐-๓๐๐ ไร่ ทหาร หน่วยงานราชการ ฝ่ายปกครองก็มิได้ขัดขวาง ส่งเสริมสนับสนุนให้บุกเบิกเสียด้วยซ้ำ
แต่แล้วความหวังของพ่อลุนและเพื่อนบ้านก็เริ่มสั่นคลอน หลังเหตุการณ์สู้รบกับก่อการร้ายตามแนวชายแดนเบาบางลง ผู้คนถิ่นอื่นอพยพเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รัฐมีนโยบายอพยพชาวบ้าน จัดตั้งเป็นหมู่บ้าน จัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ ๑๖ ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย ๑ ไร่ และที่ทำกิน ๑๕ ไร่ โดยให้สิทธิเป็น สทก. สิทธิทำกิน คือทำกินได้แต่ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน ส่วนที่ดินเดิมที่เหลือจากการจัดสรร และเคยบุกเบิกทำกินกันครอบครัวละ ๕๐-๓๐๐ ไร่ ก็ถูกกันไม่ให้เข้าไปทำกินได้ดังเดิม
“ทหารเขาบอกว่า อยู่หม่องนี่บ่ปลอดภัย อยู่กันกระจัดกระจาย เผื่อเขายิงปืนใหญ่มาสิเฮ็ดจังได๋”
แม้ช่วงหลังรัฐจะมีการจัดสรรที่ดินเพิ่มเติมให้เขย หรือสะใภ้ใหม่ ใครดวงดีก็จับฉลากได้ คนที่ไม่ได้ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น หรืออาศัยอยู่กับญาติ ทำงานรับจ้างรายวันเพราะไม่มีที่ดินทำกิน
ปี ๒๕๒๘ รัฐเปิดให้เอกชน กลุ่มบุคคลเข้ามาเช่าพื้นที่เสื่อมโทรมในเขตป่าสงวนดงใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยบุกเบิกทำกินไว้เดิมก่อนมีการจัดสรร ผู้ที่ได้สิทธิเช่าส่วนใหญ่เป็นนายทุน สัญญาเช่าเกือบ ๓๐ ปี เสียค่าเช่าแค่ปีละ ๑๐-๒๐ บาทต่อไร่ แต่ชาวบ้านก็ไม่สามารถเช่าได้ ด้วยข้ออ้างเงื่อนไข “ไม่มีรถไถใหญ่ ก็ไม่สมควรทำประโยชน์” ทั้งที่สิทธิของพวกเขา คือ “เจ้าของที่ดิน ไม่ใช่คนขอเช่าด้วยซ้ำ”
ระยะเวลาร่วม ๓๐ ปี นายทุน บริษัทเอกชนได้กำไรจากการปลูกพืชเศรษฐกิจโตไวเป็นกอบเป็นกำ พร้อม ๆ กับผืนดินป่าดงใหญ่ที่ไร้คุณภาพ เสื่อมลงทุกวัน ด้วยฤทธิ์สารเคมีนานาชนิด แม่น้ำลำห้วยที่เคยใสสะอาดเต็มไปด้วยสารพิษตกค้าง สัตว์เล็กสัตว์น้อยในป่าก็หาได้ยากเต็มที ระบบนิเวศที่เคยอุดมสมบูรณ์ให้ได้อาศัยพึ่งพาตลอดทั้งปี ก็ถูกแทนที่ด้วยต้นยูคาฯ ทำให้ป่ากลายเป็นทะเลทรายสีเขียว พ่อลุนและเพื่อนบ้านได้แต่เฝ้ามอง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า การพากันลงชื่อคัดค้านการต่อสัญญาเช่าของบริษัท
“ชาวนา ชาวไร่ และคนจนไร้ที่ดินเหล่านี้ ต้องการที่ดินผืนเล็ก ๆ เพื่อผลิตอาหารและมีรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว” นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงที่ดินที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทยปี ๒๕๕๐ มาตรา ๕๐
ปี ๒๕๔๘ พ่อลุนและเพื่อนบ้านเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
ปี ๒๕๕๒ ได้เข้าไปปักหลักตั้งถิ่นฐานในแปลงที่หมดสัญญาเช่าของบริษัท พื้นที่ ๑,๙๐๐ ไร่ เพื่อพลิกฟื้นแผ่นดินเดิมที่ถูกแย่งชิงไปโดยรัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ มองข้ามหยาดเหงื่อแรงกายที่ได้บุกเบิกด้วยสิทธิอันชอบธรรม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือครองที่ดินให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืน คือเป้าหมายของพ่อลุน ชาวบ้านเก้าบาตร และเกษตรกรไร้ที่ดินทั่วประเทศ
กระท่อมไม้ยูคาฯ มุงหญ้าคาแทนสังกะสี คือบ้านของชาวบ้านเก้าบาตร แม้ไม่มีไฟฟ้า ประปา ร้านค้า หรือเครื่องอำนวยความสะดวกใด ๆ แต่หมู่บ้านแห่งนี้เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ น้ำจิตน้ำใจ และรอยยิ้มที่เป็นมิตร
ที่ดินหมดสัญญาเช่า หากแต่ตอยูคาฯเก่าก็ยังคงโยงยึดผืนดิน ร่องรอยการดูดกลืนกินสารอาหารในดินกว่า ๓ ทศวรรษ จนเหลือแต่เพียงความแข็งกระด้างของซากดิน ข้าวและมันสำปะหลังกำลังถูกแซมลงดินด้วยจอบ เสียม และรถไถนาเดินตาม กล้วยกลายเป็นพืชปรับปรุงดินขนานดี เป็นร่มเงาก่อนลงจำพวกไม้ยืนต้น ไม้ธรรมชาติต่อไป
ทุกครอบครัวจะมีที่ดินทำกินเฉลี่ยประมาณ ๕-๖ ไร่ หากแต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ก็ยังเป็นของส่วนรวมของทุกคน เพราะหลักการของบ้านเก้าบาตร ที่ดินแปลงนี้จะจัดทำเป็น “โฉนดชุมชน” เป็นสิทธิรวมหมู่ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน มีการวางแผนการผลิตที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น คำนึงถึงระบบนิเวศน์ สภาพแวดล้อมและ ความยั่งยืน ไม่ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ไม่ทำลายป่าสมบูรณ์ ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุล และอยู่ร่วมกันบนฐานวัฒนธรรมที่ดีงาม กฎ กติกาของชุมชน
หลักการพลิกฟื้นแผ่นดินเดิมดูเข้าที มีความเป็นไปได้ มีนโยบายรัฐบาลที่เป็นแนวทางการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการขั้นตอนเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือการถูกกลั่นแกล้ง จากหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ขับไสเกษตรกรรายย่อยให้พ้นทางด้วยการฟ้องร้องยัดเยียดคดีความให้กับแกนนำ ซึ่งพ่อลุน คือเหยื่อหนึ่งของกฎหมายที่อยุติธรรม
เรื่อง คดีกะส่วนคดี ถึงจังได๋กะหลีกเลี่ยงบ่ได้ กะแก้ไปตามกระบวนการเฮาบ่แหม่นคนผิด เฮาบอกว่าเฮาบ่แหม่นคนผิด เฮาบ่แหม่นผู้บุกรุก เฮาเป็นเกษตรกร พ้อคดีกะพ้อไป แต่ว่าพ้อความยากจนหนักกว่าคดี ความยากจนเดือดร้อนกว่าคดี แต่ว่าคดีมาซ้ำเติมเฮาอีก แล้วหมู่เฮาสิหาความสุขความสบายใจ หาความมั่นคงแบบยั่งยืนได้จังได๋”
นโยบายมอบโฉนดชุมชน คือความหวังของพ่อลุน และเกษตรกรไร้ที่ดินทั่วประเทศ การฟ้องร้องดำเนินคดี หรือข่มขู่ ใช้กำลังบังคับโยกย้าย คงไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหานี้ แต่การปฏิรูปที่ดินจะเป็นจริงได้ นอกจากการต่อสู้ของผู้เป็นเจ้าของที่ดินโดยชอบธรรมแล้ว ทุกหน่วยงานของรัฐควรเปิดใจ อย่าทำให้ศรัทธาของประชาชนที่เคยมีต่อภาครัฐ ต้องลดน้อยเสื่อมถอยลงกว่านี้เลย
ที่ผ่านมารัฐบาลไทย ให้สิทธินายทุนเช่าพื้นที่ของเกษตรกรที่เคยบุกเบิกมากว่าสามสิบปี เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวหลายหมื่นไร่ ผลประโยชน์จึงตกอยู่กับคนจำนวนน้อยถ้าเทียบกับชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดิน ทำกิน ทั้งผู้มีอำนาจ นักการเมืองในสังคมไทยบางคนมีที่ดินหลายหมื่นไร่แต่ไม่ได้ทำประโยชน์ แต่สำหรับพ่อลุนและชาวบ้านเก้าบาตรการต่อสู้เพื่อให้ได้ที่ดินทำกินเพียง เล็กน้อยกลับมีปัญหาอุปสรรคมากมาย แม้กระทั่งที่ดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นมรดกโดยชอบธรรมของบรรพบุรุษ ก็ยังต้องกอบกู้ขอคืนกลับมา แม้จะต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำมาหากิน แต่พวกเขาก็หวังว่า สักวันหนึ่งจะได้มีสิทธิ์ทำกินในที่ดินของตนเองโดยชอบธรรม
แม้กฎหมายก็มิอาจอยู่เหนือหยาดเหงื่อแรงงานผู้ก่นสร้างผืนดิน.
เขียนโดย อุบล บุญมาก /25 กรกฏาคม 2011
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.