ปี พ.ศ. 2527 กรมป่าไม้ โดยสำนักงานป่าไม้เขตนครราชสีมา ( สำนักบริหารในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 ในปัจจุบัน ) ได้เข้ามาดำเนินการปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัสป่าโคกยาว ในบริเวณทิศตะวันออกห้วยว่านน้ำ
และเลียบไปตามลำน้ำพรม เนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินทำกินของราษฎรบ้านทุ่งลุยลาย และบ้านโนนศิลา ที่ถือครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา ทำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิมในปี พ.ศ. 2529 โดยมีกองกำลังทหารพรานจาก ทพ. 25 ชุมแพ จำนวนประมาณ 28 นาย นำโดย พันตรียิ่งยศ ศรีเจริญ ได้เข้ามาขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน โดยอ้างว่าจะดำเนินการปลูกฟื้นฟูพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นป่าธรรมชาติตามเงื่อนไขการสัมปทานตัดไม้ และให้สัญญากับชาวบ้านว่าจะจัดหาที่ดินทำกินชดเชยให้กับราษฎรที่ถูกอพยพคนละ 15 ไร่ จำนวนทั้งสิ้น 72 ราย ซึ่งพื้นที่รองรับการอพยพดังกล่าวอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบ้านทุ่งลุยลาย ( บริเวณทุ่งสายใจ ห้วยหินฝน ห้วยเดื่อ และห้วยยาง ) ที่มีการถือครองทำประโยชน์ของราษฎรอยู่เดิมแล้ว ทำให้เกิดเรื่องพิพาทกันของราษฎรทั้งสองกลุ่ม โดยกลุ่มราษฎรที่ถือครองทำกินอยู่เดิมได้เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักราชเลขานุการ สำนักพระราชวัง โดยมีท่านผู้หญิงสุปภาดา เกษมสันต์ เป็นผู้รับเรื่อง ผลการยื่นหนังสือปรากฏว่าเจ้าของพื้นที่เดิมสามารถเข้าทำประโยชน์ต่อไปได้ ส่วนราษฎรที่ถูกอพยพไม่มีที่ดินทำกิน และเกิดความเดือดร้อนจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนการเข้าดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าของกรมป่าไม้ ได้เริ่มเข้ามาในปี พ.ศ. 2527 โดยการตั้งสำนักงานสวนป่าในระยะแรกที่บริเวณดงซำเตย ต่อมาปี พ.ศ. 2528 จึงเริ่มปลูกสร้างสวนป่า ซึ่งในช่วงดังกล่าวชาวบ้านยังสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ทำกินได้ โดยการปลูกข้าวโพด ถั่วแดง เป็นต้น กระทั่งปี พ.ศ. 2529 กองกำลังทหารจึงมาขับไล่ออกจากพื้นที่ในที่สุด
สภาพปัญหาและผลกระทบ
ชาวบ้านที่เคยถือครองทำกินในพื้นที่บริเวณโคกยาวภายหลังการอพยพขับไล่ออกจากพื้นที่ต้องไร้ที่ทำกิน พื้นที่ที่ทางการให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดสรรให้ก็ไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นที่ดินที่มีเจ้าของอยู่แล้ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาวะทางเศรษฐกิจของชาวบ้านมาโดยตลอด
การดำเนินการแก้ไขปัญหา
ภายหลังการอพยพขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา ชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้ดำเนินการเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาใดๆ ซึ่งสามารถลำดับเหตุการณ์สำคัญในการติดตามปัญหาในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาได้ดังต่อไปนี้
1.) ปี พ.ศ. 2541 ชาวบ้านทุ่งลุยลายได้เรียกร้องต่อหน่วยงานราชการ ได้แก่ นายอำเภอคอนสาร ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ (นายเจริญ จรรย์โกมล ) เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน แต่ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
2.) เดือนตุลาคม 2542 ชาวบ้านทุ่งลุยลายได้ชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอคอนสาร เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา โดยมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการ ผลการประชุม ทางราชการได้รับเรื่องร้องเรียน และรับจะดำเนินการเสนอต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
3.) วันที่ 11 มิถุนายน 2547 ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ณ ห้องประชุมภูแลนคา ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ที่ประชุมมีมติให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิออกไปตรวจสอบพื้นที่เพื่อนำเสนอสภาพปัญหาต่อที่ประชุมอีกครั้ง
4.) เดือนพฤษภาคม 2548 นายก่ำซุง ประภากรแก้วรัตน์ สว.ชัยภูมิ ลงพื้นที่บ้านทุ่งลุยลาย โดยได้ประชุมร่วมกับราษฎร อบต.ทุ่งลุยลาย เกี่ยวกับปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร โดยมีข้อตกลงให้มีการแต่งตั่งคณะทำงานร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่อีกครั้ง
5.) วันที่ 25 สิงหาคม 2548 ตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( นายนพดล พลเสน ) เรื่องปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรตำบลทุ่งลุยลาย
6.) วันที่ 31 สิงหาคม 2548 นายนพดล พลเสน ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือถึงตัวแทนชาวบ้านให้เข้าร่วมประชุมชี้แจงแสดงความคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมาธิการ ในวันที่ 6 กันยายน 2548 โดยผลการประชุมในวันดังกล่าวได้แนวทางให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับพื้นที่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติการแต่งตั้งคณะทำงานตามนัยข้อตกลงดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากปัญหาข้อจำกัดเรื่อง องค์ประกอบของคณะทำงาน และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะทำงาน กระทั่งได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเวลาต่อมา
7.) วันที่ 31 ตุลาคม 2549 ชาวบ้านคณะอนุกรรมการด้านการจัดการที่ดินและป่า ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดประชุมร่วมกับจังหวัดชัยภูมิเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านที่เดือดร้อน ผลการประชุมกรณีสวนป่าโคกยาว ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีสัดส่วนของราษฎรกับหน่วยงานราชการเท่าเทียมกัน
8.) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 นายวรนิตติ์ มุตตาหารัช นายอำเภอคอนสาร มีคำสั่งอำเภอคอนสาร ที่ 310 / 2549 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรอำเภอคอนสาร กรณีสวนป่าโคกยาว โดยให้คณะทำงานมีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง ของราษฎรผู้เดือดร้อนต่อไป
ต่อมา คณะทำงานได้ดำเนินการสำรวจข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเดือดร้อนของราษฎร และดำเนินการรังวัดพื้นที่ โดยใช้เครื่องมือ GPS ผลการดำเนินงาน ปรากฏว่า มีราษฎรเดือดร้อนทั้งสิ้น 28 ครอบครัว 36 ราย พื้นที่ทั้งสิ้น 830 ไร่
9.) วันที่ 7 สิงหาคม 2550 ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรอำเภอคอนสาร ณ ห้องประชุมอำเภอคอนสาร กรณีสวนป่าโคกยาว ที่ประชุมมีมติรับรองความเดือดร้อนของราษฎร และเห็นสมควรให้เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายพิจารณาแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของกลุ่มราษฎร กรณีสวนป่าโคกยาวต่อไป
10.) วันที่ 5 มิถุนายน 2551 ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรอำเภอคอนสาร ณ ห้องประชุมอำเภอคอนสาร กรณีสวนป่าโคกยาว ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหา โดยมีมติให้ราษฎรสามารถเข้าทำกินในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ โดยไม่มีการตัด หรือโค่นต้นไม้หลัก ทั้งนี้ให้มีหนังสือรับรองการเข้าทำประโยชน์ โดยมีผู้ร่วมรับรองประกอบด้วย นายอำเภอคอนสารหรือปลักอาวุโส หัวหน้าสวนป่าต้นน้ำทุ่งลุยลาย หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และราษฎรที่ขอเข้าทำประโยชน์
11.) วันที่ 24 กรกฎาคม 2551 ประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานราชการกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน ที่ หอประชุมอำเภอคอนสาร โดยมีปลัดจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานในการประชุม ผลการประชุมดังกล่าวไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ ทำให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนขอยุติการประชุม
12).วันที่ 4 – 12 มีนาคม 2552 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้ชุมนุมติดตามการแก้ไขปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น วันที่ 9 มีนาคม 2552 นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และวันที่ 11 มีนาคม 2552 คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้จัดประชุมครั้งที่ 1 / 2552 ณ ห้องประชุมอาคารรัฐสภา โดยที่ประชุมได้พิจารณาปัญหาเร่งด่วน กรอบนโยบายการแก้ไขปัญหา และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ข้อเสนอเร่งด่วนเรื่องที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน กรณีราษฎรสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยที่อยู่อาศัยในเขตสวนป่า พื้นที่ป่าไม้ เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตวนอุทยาน ป่าสงวนแห่งชาติ และเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่มีข้อพิพาทกับหน่วยงานภาครัฐ และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินดังกล่าวข้างต้น ที่ประชุมมีมติ ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะอนุกรรมการฯ คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัย และทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อนเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน และแจ้งส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป และให้คณะอนุกรรมการฯที่จะแต่งตั้งขึ้น ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการฯ ต่อไป
ส่วนกรอบ นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหา นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเสนอ โดยให้ยึดหลักการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ตามสภาพพื้นฐานของแต่ละปัญหาและยึดหลักนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นความสัมฤทธิ์ผลของการดำเนินงานเป็นสำคัญ ดังนั้นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎระเบียบ แต่สามารถอะลุ่มอล่วย ให้ดำเนินการได้ ก็ให้ดำเนินการต่อไป โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขกฎระเบียบก็ให้คณะอนุกรรมการฯ ที่จะแต่งตั้งไปดำเนินการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย และนำเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไป
13).วันที่ 24 มีนาคม 2552 นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่ 1/2552 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ทั้งสิ้น 6 ชุด โดยหนึ่งในนั้นมีคณะอนุกรรมการฯ ด้านการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
14).วันที่ 7 เมษายน 2552 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมกรมควบคุมมลพิษ โดยที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้ง และมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กรอบแนวทางการแก้ไขปัญหา และมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
15). วันที่ 3 กรกฏาคม 2552 ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2552 ณ ห้องประชุมตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ในกรณีการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ชุดปัญหาพื้นที่ป่าไม้ ที่ประชุมมีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปราโมทย์ ผลภิญโญ อนุกรรมการฯและผู้ช่วยเลขานุการ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ร่วมกันหารือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภายใน 2 สัปดาห์
16.) วันที่ 22 กรกฎาคม 2552 นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมหารือ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ขัดข้องในการดำเนินงานตามนโยบายโฉนดชุมชนในเขตพื้นที่ป่าไม้ และกระบวนการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามกลไกที่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ให้ดำเนินการต่อไป
17.) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2553 ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้อื่นๆที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา
18.) วันที่ 15 มิถุนายน 2553 ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2553 ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการผลการ ทำเนียบรัฐบาล ดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้อื่นๆที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา
19.) วันที่ 26 เมษายน 2554 คำสั่งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินแห่งประเทศไทย ที่ 1/2554 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินในเขตป่าไม้ โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเป็นกรรมการ
สถานภาพปัจจุบัน
การดำเนินการแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้า
ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
1.) ให้รัฐบาลยกเลิกสวนป่าออกจากที่ดินทำกินเดิมของชาวบ้านโดยเด็ดขาด
2.) ให้นำที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน พร้อมกับการพัฒนาเป็นพื้นที่นำร่องการจัดการทรัพยากรและที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” และการจัดตั้ง “ธนาคารที่ดิน” ตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา
3.) ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ ให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้
เขียนโดย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 4 กรกฏาคม 2011
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.