ภาพรวมปัญหาคดีความคนจน
ชาวบ้านในชนบทจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเขตป่ากลายเป็นผู้ผิดกฎหมายเมื่อเกิดข้อพิพาท รัฐอ้างสิทธิตามเอกสารสิทธิ์ ในขณะที่ใช้ประโยชน์และครอบครองมานานแล้ว แต่ตกสำรวจเนื่องจากการกำหนดแนวเขตเป็นการใช้ภาพถ่ายทางอากาศไม่ได้เดินสำรวจจริง เฉพาะสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มีชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าจำนวนกว่า 360 ชุมชน ซึ่งชุมชนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น
การกระจุกตัวของที่ดิน คนส่วนน้อยถือครองที่ดินจำนวนมาก เช่น นักการเมือง นายทุนภาคเกษตร และมีผู้มีอิทธิพลอีกไม่น้อยที่ได้นำที่ดินไปออกเอกสารสิทธิ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการปั่นราคาที่ดินทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงที่ดินและที่ อยู่อาศัยได้ โดยมีข้อมูลระบุว่าในปี2544พบจำนวนผู้ไร้ที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น 811,871 ครอบ ครัว (ปรีชา วทัญญู นโยบายเศรษฐกิจที่ดินของไทยในศตวรรษใหม่ กรมพัฒนาที่ดิน) ประกอบกับกลไกการกระจายการถือครองที่ดินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถ แก้ไขปัญหาคนที่ไม่มีที่ทำกินได้ เช่น พรบ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ2518 พรบ.ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ 2498 ในมาตรา6บัญญัติให้เวนคืนที่ดินเอกชนที่ปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่าเกิน 10 ปี
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นที่กล่าวมาทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ ที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิการถือครองทั้งที่ดินของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะช่วงปี 2545-2546 และเมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าที่ดินเหล่านั้นได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรียกที่ดินกลับคืนมาและ นำมาจัดสรรให้ผู้เดือดร้อนต่อไป แต่เมื่อกระบวนการล่าช้าหรือถึงขั้นเพิกเฉยก็ได้เข้าไปขอใช้ประโยชน์ใน พื้นที่ การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้เกษตรกรจำนวนมากถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุก
สำหรับสลัมหรือชุมชนแออัดในเมืองที่เป็นผลพวงมาจากแนวทางการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล และละเลยการพัฒนาระบบเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในชนบท ได้ทำให้ผู้คนที่ล้มละลายจากภาคเกษตรเข้ามาแสวงหาแหล่งงานและโอกาสของชีวิตในเมือง เมื่อไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ เพราะที่ดินมีราคาแพง ประกอบกับถูกประทับตราว่าเป็น “ผู้บุกรุก” ดังนั้นจึงขาดสิทธิในการได้รับการบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐ รวมถึงการพัฒนาด้านต่างๆเสมอเหมือนคนเมืองทั่วไปและท้ายสุดมักจบลงด้วยการ ใช้กฎหมายในการรื้อย้ายชุมชน รวมถึงการร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการระดับสูงผู้มี อำนาจทุจริตออกโฉนดทับที่ดินทำกินชาวบ้านและนำไปแบ่งขายให้บุคคลอื่น เมื่อที่ดินมีราคาแพงขึ้นบุคคลเหล่านี้จึงได้นำเอกสารสิทธิ์มาฟ้องร้องชาว บ้านจำนวนมาก
สถานการณ์คดีคนจน
คดี ความในขบวนประชาชน ซึ่งในขณะนี้ประกอบด้วย เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (จ.ภูเก็ต,จ.อุบลราชธานี) กลุ่มอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม(จ.สระบุรี) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (จ.ตรัง,จ.สุราษฎร์ธานี,จ.ชัยภูมิ,เพชรบูรณ์,จ.ยโสธร,จ.ร้อยเอ็ด,จ .ตาก,จ.ลำพูนและเครือข่ายสลัมสี่ภาค) ที่ยังอยู่ในกระบวนยุติธรรม มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 361 ราย 143 คดี เป็นคดีแพ่ง 87 คดี 140 ราย คดีอาญา 56 คดี 221 ราย
คดีที่อยู่ในชั้นบังคับคดี (ถูกไล่ที่ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จำคุก และชำระค่าเสียหาย) 19 คดี 119 ราย ได้เเก่ คดี อาญา 10 คดี 80 ราย คดีเเพ่ง 9 คดี 39 ราย ถูกจำคุก 3 คดี 22 ราย อยู่ระหว่างพักโทษ 1 คดี 1 ราย เสียชีวิตระหว่างคดีอยู่ในชั้นศาล 5 รายและเสียชีวิตระหว่างถูกจำคุก 1 ราย
กฎหมายต่างๆที่นำมาใช้กับชาวบ้าน
เมื่อปัญหาเกิดในพื้นที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ได้นำกฎหมายต่างๆมาใช้จัดการ เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 4(1) โดยให้ความหมายคำว่า “ป่า “หมายถึง ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน มาตรา 29 กล่าวถึงการเก็บหาของป่าหวงห้าม ต้องขออนุญาตและต้องเสียค่าภาคหลวง มาตรา 54 กำหนด ห้ามก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือยึดถือครอบครองป่า และให้สันนิษฐานว่าผู้ใดครอบครองพื้นที่ป่า ถือว่าเป็นผู้แผ้วถาง ตามมาตรา 55 และกำหนดโทษแก่ผู้ที่กระทำผิดตามมาตรา 54 คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 ได้ขยายความคำว่า”ป่า”เพิ่มเติมขึ้นไปอีกว่า มาตรา 4“ที่ดินรวมตลอดถึงภูเขา ห้วย หนอง คลองบึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะและที่ชายทะเลที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย” และยังสามารถกำหนดพื้นที่อื่นใดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มเติมได้อีกตาม มาตรา 6 แต่ในการที่จะประกาศเขตป่าสงวนในพื้นที่แห่งใดนั้น ได้เปิดช่องให้ผู้ครอบครองยื่นหนังสือต่อฝ่ายปกครองได้ภายในกำหนด 90 วัน ซึ่งข้อกำหนดในกฎหมายป่าฉบับนี้จะบัญญัติเหมือนกันคือห้ามยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินป่าตามมาตรา 14 แต่ในข้อกำหนดห้ามนั้น กฎหมายฉบับนี้ยังให้สิทธิในการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยได้ตามกำหนดระยะเวลา ไม่เกิน 30 ปี (ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม) ตามมาตรา 16,16 ทวิ,16 ตรี
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 กำหนดห้ามยึดถือครอบครองพื้นที่เช่นกันในมาตรา 16 ส่วนพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีสามารถกำหนดบริเวณพื้นที่ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ได้ โดยต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 33 ซึ่งในเขตรักษาพันธุ์ฯห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 37 และห้ามยึดถือครอบครองพื้นที่ตามมาตรา 38 ,42 หากฝ่าฝืนมีความผิดระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น
หากเป็นคดีความที่ไม่ใช่พื้นที่ป่าไม้ คือเป็นพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐหน่วยอื่น กฎหมายที่อาจนำมาใช้ในการดำเนินคดีจะเป็นกฎหมายอาญา ข้อหาบุกรุก ตามมาตรา 362,363,365
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.