1.ภาพรวมปัญหาสลัม
สลัมหรือชุมชนแออัดเป็นผลพวงมาจากแนวทางการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล ซึ่งเริ่มต้นมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติฉบับแรก ทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรมและเมือง โดยละเลยการพัฒนาระบบเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในชนบท ได้ทำให้ผู้คนที่ล้มละลายจากภาคการเกษตรเข้ามาแสวงหาแหล่งงานและโอกาสของชีวิตในเมือง ทั้งในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองภูมิภาค
ผู้อพยพเหล่านี้ เมื่อไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ เพราะที่ดินมีราคาแพง ประกอบกับภาครัฐขาดมาตรการรองรับด้านที่อยู่อาศัยอย่างพอเพียง จึงจำเป็นต้องบุกเบิกที่ดินว่างเปล่าใกล้แหล่งงานเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งได้ขยายกลายเป็นชุมชนแออัดในที่สุด
จากฐานที่มาดังกล่าว คนสลัมจึงเป็น ผู้บุกเบิกถิ่นฐานในเมือง พวกเขาลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาต่ำ แม้จะแออัดและดูไม่เป็นระเบียบ แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ถือเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาลอย่างมหาศาล นอกจากนี้ การดำรงอยู่ของชาวสลัมยังเกี่ยวพันอย่างมากกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมือง ภาคการผลิต พาณิชยกรรม การก่อสร้างและธุรกิจบริการ ต่างต้องพึ่งพาแรงงานจากชุมชน งานหนักและอาชีพที่ไม่มีใครอยากทำ เป็นต้นว่า เก็บขยะ กวาดถนน ขับรถเมล์ ฯลฯ ก็ล้วนแต่คนสลัมทำ
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาครัฐแล้วข้อเท็จจริงเหล่านี้ ไม่ได้ถูกนำไปเป็นฐานคิดเพื่อทำความเข้าใจกับสภาพปัญหา หน่วยราชการต่างๆอาศัยแต่มุมมองทางกฏหมายมาเป็นมาตรการหลักในการแก้ไขปัญหาสลัม ชุมชนถูกประทับตราว่าเป็น “ผู้บุกรุก” ดังนั้นจึงขาดสิทธิในการได้รับการบริการพื้นฐานจากรัฐ รวมไปถึงการพัฒนาด้านต่างๆเสมอเหมือนคนเมืองทั่วไปและท้ายสุดมักไปจบลงที่การใช้กฏหมายในการรื้อย้ายชุมชน
ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ( องค์การมหาชน ) ระบุว่าปัจจุบันมีชุมชนแออัดทั่วประเทศประมาณ 3,750 ชุมชน 1.14 ล้านครอบครัว ประชากร 5.13 ล้านคน นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ – รายได้ ปัญหาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว กล่าวได้ว่าปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยหรือปัญหาการไล่รื้อ คือปัญหาหัวใจสำคัญของชาวสลัม ตัวเลขของทางการระบุว่า ขณะนี้มีชุมชนที่มีปัญหาเรื่องการรื้อย้าย 445 ชุมชน กำลังอยู่ในระหว่างการไล่ที่ 180 ชุมชน และที่มีกระแสข่าวว่าจะไล่ประมาณ 265 ชุมชน ทั้งสองส่วนมีประชากรที่จะได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อราว 2 แสนคน
2.กฏหมายที่ใช้บังคับไล่รื้อคนสลัม
ในการไล่รื้อชาวสลัม เจ้าของที่ดินทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนมักใช้ตัวบทกฏหมายเป็นเครื่องมือในการขับไล่ กฏหมายที่มักถูกใช้ในการไล่ต้อนคนจนในเมืองให้ต้องรื้อย้าย ได้แก่ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ปี พ.ศ. 2502 , พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ปี 2522 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 , กฏหมายอาญาในคดีบุกรุก และกฏหมายแพ่งในคดีฟ้องขับไล่ ซึ่งกฏหมายดังกล่าวพอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
2.1 ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ปี พ.ศ. 2502 ซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการรื้อถอนบ้านเรือนได้หลังจากครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ทางราชการปิดประกาศและมีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนจากประชาชนได้
2.2 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ปี 2522 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 ซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งรื้อถอนอาคารบ้านเรือนที่ไม่ได้รับอนุญาตในการปลูกสร้างตามมาตรา 42 ภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดแล้วประชาชนไม่ทำตามก็จะถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย
2.3 กฏหมายอาญาในคดีบุกรุก ซึ่งเจ้าของที่ดินทั้งภาครัฐและเอกชนมักใช้แจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อชาวสลัม
2.4 กฏหมายแพ่ง ซึ่งเจ้าของที่ดินทั้งรัฐและเอกชนมักใช้ในการฟ้องขับไล่ชาวสลัมให้ออกจากพื้นที่และเรียกค่าเสียหาย
3. กรณีตัวอย่างของชาวสลัมที่ถูกดำเนินคดี
3.1 กรณีชุมชนที่ถูกไล่รื้อโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ปี พ.ศ. 2502 ได้แก่ ชุมชนคลองเป้งลีลานุช เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ชุมชนคลองเป้งลีลานุช มีประชากรอยู่อาศัยราว 120 ครัวเรือน ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมคลองเป้ง ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่กรุงเทพมหานครดูแลมานานกว่า 40 ปี ชุมชนถูกสำนักงานเขตวัฒนาขับไล่โดยใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ปี พ.ศ. 2502 เมื่อปี 2547 โดยทางสำนักงานเขตแจ้งว่ามีเอกชนไปร้องต่อศาลปกครองว่าสำนักงานเขตละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการขับไล่ผู้บุกรุกในที่ดินสาธารณะ ดังนั้นสำนักงานเขตจึงอาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ปี พ.ศ. 2502 มาดำเนินการขับไล่ชาวชุมชนให้รื้อถอนบ้านเรือนออกไป ทำให้เกิดการรื้อถอนบ้านเรือนจำนวน 5 หลังคาเรือน ในชุมชนคลองเป้งลีลานุช เมื่อปลายปี 2547
3.2 กรณีชุมชนที่ถูกไล่รื้อโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ปี 2522 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 ได้แก่ชุมชนปากคลองสวน และชุมชนหลังสน.ทองหล่อ
ชุมชนปากคลองสวน ตั้งอยู่ในเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร มีประชากรประมาณ 37 ครัวเรือน ซึ่งอยู่อาศัยมากว่า 20 ปี ชาวชุมชนปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ริมคลองสวนซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาในปี 2551 สำนักงานเขตยานนาวา โดยฝ่ายโยธา ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 ของพรบ.ควบคุมอาคาร ปี 2522 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 โดยกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่เนื่องจากชาวชุมชนเป็นคนจนเมืองที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงไม่สามารถทำการรื้อย้ายบ้านเรือนได้ ทางสำนักงานเขตจึงได้ไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจนครบาลบางโพงพาง ซึ่งทางตำรวจได้ดำเนินการตามกฏหมายและส่งเรื่องให้พนักงานอัยการทำการฟ้องร้องต่อศาลในฐานความผิดก่อสร้างอาคารรุกล้ำ , ยึดถือครอบครองที่สาธารณะประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต , ก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
ผลจากการดำเนินคดีทำให้มีชาวชุมชน 2 ราย ถูกศาลตัดสินพิพากษาให้รื้อย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่สาธารณะและสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี โดยรอลงอาญา รวมทั้งสั่งปรับทำให้ชาวบ้านต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินกว่า 20,000 บาทต่อราย
ชุมชนหลังสน.ทองหล่อ ตั้งอยู่ในเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร มีประชากรประมาณ 44 ครัวเรือน อยู่อาศัยมากว่า 50 ปี ชาวชุมชนตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองเป้ง ซึ่งอยู่บริเวณหลังสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ วันที่ 15 กันยายน 2552 มีคำสั่งจากทางสำนักงานเขตวัฒนา แจ้งให้ชาวชุมชนรื้อถอนอาคารตามาตรา 42 ของพรบ.ควบคุมอาคาร ปี 2522 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 ภายใน 30 วัน โดยสำนักงานเขตวัฒนาแจ้งว่าได้มีผู้อยู่อาศัยในอาคารคอนโดมีเนียมที่อยู่ติดกับชุมชนร้องเรียนมาว่าชาวชุมชนต่อเติมบ้านเรือนอันส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยและทัศนียภาพของผู้อยู่อาศัยในคอนโดมีเนียม ดังนั้นจึงเรียกร้องให้สำนักงานเขตวัฒนาดำเนินการรื้อย้ายบ้านเรือนในชุมชน อย่างไรก็ตามเนื่องจากชาวชุมชนเป็นผู้มีรายได้น้อยไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองจึงไม่สามารถรื้อย้ายตามคำสั่งของเขตวัฒนาได้ ทำให้ทางสำนักงานเขตวัฒนาไปแจ้งความดำเนินคดีกับชาวชุมชนที่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
3.3 กรณีชุมชนที่ถูกไล่รื้อโดยกฏหมายอาญาในคดีบุกรุก ได้แก่ ชุมชนหมู่บ้านพิมาน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ชุมชนหมู่บ้านพิมาน ตั้งอยู่ในที่ดินของบริษัทสมประสงค์แลนด์ มหาชนจำกัด ในเนื้อที่ 94 ไร่ ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่าภายหลังการทำโครงการหมู่บ้านจัดสรรต้องล้มละลายเนื่องจากวิกฤตฟองสบู่แตกในปี 2540 ชาวชุมชนรุ่นแรกเป็นคนงานก่อสร้างของบริษัท พอโครงการก่อสร้างล้มละลายแล้วพวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างจึงพากันย้ายจากเพิงพักคนงานมาอยู่ในตัวอาคารหมู่บ้านที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ จากนั้นก็มีเครือญาติพี่น้องและผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยทยอยเข้ามาปักหลักปลูกสร้างบ้านเรือนจนกลายเป็นชุมชนที่มีขนาด 300 ครัวเรือน ต่อมาในปี 2548 , 2550 ทางบริษัทสมประสงค์แลนด์ได้ส่งผู้แทนมาติดประกาศขับไล่โดยให้ชุมชนย้ายออกภายใน 30 วัน จากนั้นในปี 2552 ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุกกับทางแกนนำชุมชนจำนวน 4 คน ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ในชั้นของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลท่าข้าม
3.4 กรณีชุมชนที่ถูกไล่รื้อโดยกฏหมายแพ่ง ในกรณีการขับไล่ด้วยการฟ้องร้องตามประมวลกฏหมายแพ่ง มักเกิดขึ้นกับชุมชนที่อยู่ในที่ดินเอกชนที่เจ้าของที่ดินฟ้องร้องต่อศาลให้สั่งบังคับรื้อย้ายบ้านเรือนในชุมชน แต่เนื่องจากชาวชุมชนยังไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยใหม่ได้จึงปฏิเสธการรื้อย้ายและนำไปสู่กระบวนการบังคับคดีตามกฏหมาย รวมถึงการแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาขัดคำสั่งศาลในการไม่ยอมรื้อย้าย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.