กรณีการปลูกสวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกินชาวบ้านตำบลทุ่งพระจังหวัดชัยภูมิและได้ดำเนินคดีกับชาวบ้านจำนวน31รายในคราวเดียวกัน
การปลูกสวนป่าคอนสารและโครงการหมู่บ้านป่าไม้เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ 2521 มาจนถึงปัจจุบันเนื่องจากการสัมปทานทำไม้ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ทั้งหมด 4,401 ไร่
การปลูกสร้างสวนป่ามีปัญหาตั้งแต่แรกเริ่มเพราะปลูกสร้างเกินพื้นที่เป้าหมาย ที่กำหนดไว้ โดยรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทำกินเดิมของชาวบ้าน จนทำให้เกิดปัญหาข่มขู่ คุกคาม และใช้อำนาจของผู้มีอิทธิพล ผู้ปกครองท้องถิ่นบังคับเรียกเก็บใบเสียภาษีบำรุงท้องที่โดยสัญญาว่าจะจ่าย ชดเชยให้ชาวบ้านไร่ละ 100 บาท แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว แม้มีกลุ่มผู้เดือดร้อนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีทางเลือกได้สมัครเป็นสมาชิก โครงการหมู่บ้านป่าไม้ ซึ่งได้สิทธิทำงานเป็นลูกจ้างของออป. ได้ที่ทำกินคนละ 5 ไร่ และที่อยู่อาศัยอีก 1 ไร่ แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถจัดสรรที่ดินตามที่สัญญาไว้ให้กับชาวบ้านได้
ชาวบ้านตำบลทุ่งพระได้รวมตัวกันคัดค้านมาตั้งแต่เริ่มโครงการด้วยการร้องเรียน ผ่านนักการเมือง นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และได้ชุมนุมครั้งแรกช่วงปี 2539-2540 ครั้งที่สองเมื่อปี 2547ได้ชุมนุมที่หน้าสำนักงานสวนป่าคอนสาร จนมีมติให้ตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการประชุมคณะทำงานครั้งแรกวันที่29 มี.ค 2548 มีข้อสรุปว่าชาวบ้านจำนวน 227 รายได้รับความเดือดร้อนจริงโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เดือดร้อนจากการปลูกสวนป่าฯทับที่ดินทำกิน กลุ่มที่เป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ และกลุ่มชาวบ้านที่เป็นครอบครัวขยายทำให้ไม่มีที่ดินทำกิน และที่ดินทำกินไม่เพียงพอ และวันที่ 7 ก.ค 2548 ได้มีการประชุมคณะทำงานอีกครั้งโดยมีปลัดอาวุโสอำเภอคอนสารเป็นประธานที่ประชุม ซึ่งในครั้งนี้มีมติสำคัญคือให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และให้นำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชาวบ้านผู้เดือดร้อน
แม้ว่าจะมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารแต่ก็ไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่อย่าง ใด ทำให้กลุ่มผู้เดือดร้อนเดินหน้าร้องเรียนต่ออนุคณะกรรมการสิทธิในการจัดการ ที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้จัดให้มีเวทีพูดคุยเพื่อหามาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาไปทั้งหมด 3 ครั้ง และเมื่อวันที่ 28 ธ.ค 2550 ได้มีหนังสือแจ้งไปยังนายญวนตรี รังรา ตัวแทนกลุ่มผู้ประสบปัญหาบ้านทุ่งพระอย่างเป็นทางการถึงมติของคณะอนุกรรมการสิทธิฯว่า “การ กระทำของกรมป่าไม้และองค์การอุตสหกรรมป่าไม้ในการปลูกสร้างสวนป่าคอนสารเป็น การกระทำที่ละเมิดสิทธิทำกินและทรัพย์สินของผู้ร้องรวมถึงกระบวนการแก้ไข ปัญหาของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็กระทำไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องด้วย”และได้เสนอมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาให้รัฐบาลยกเลิกสวนป่าคอนสารภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนและพัฒนากระบวนการผลิตและ การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน
29 ธ.ค 2551 ประชาคมตำบลทุ่งพระจากทุกหมู่บ้านได้มีมติยกเลิกสวนป่าคอนสารอีกครั้ง และให้ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับผู้เดือดร้อนจำนวน 1,500 ไร่เพื่อเข้าไปทำประโยชน์บรรเทาความเดือดร้อนก่อนในเบื้องต้น
ปัจจุบันองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ยังรุกหนักได้เข้าไปตัดไม้ธรรมชาติ ไม้ยูคาลิปตัส แล้วทำการปลูกยางพารา ถั่วเหลือง และข้าวโพด
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 หลังจากได้เรียกร้องต่อสู้มานานกว่า 30 ปี ทำให้ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนจาก277ครอบครัวในตำบลทุ่งพระเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และจะดำเนินการตามนโยบายโฉนด และการเข้าไปตรวจสอบใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทำให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ดำเนินคดีฟ้องขับไล่กับชาวบ้านจำนวน 31 รายในวันที่ 27 ก.ย 2552 พร้อม มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามมิให้ชาวบ้านขยายพื้นที่ออกไปจากเดิมที่ได้ทำ ประโยชน์อยู่แล้ว และห้ามนำวัสดุเข้าไปปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกไม้ยืนต้นและห้ามสกัดขัดขวางเจ้าหน้าที่เข้าบำรุงดูแลพื้นที่พิพาท ซึ่งถือว่าเป็นคดีที่รัฐ(ออป.เป็นหน่วยงานของรัฐ)ฟ้องชาวบ้าน แทนที่จะดูแลปกป้องสิทธิทำกินซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่พวกเขา ได้ใช้ประโยชน์มายาวนาน
ปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่ได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าจะมีมติจากคณะทำงานระดับพื้นที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และที่ประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสานแล้วให้นำที่ดินมาจัดสรรให้กับผู้เดือดร้อน
เขียนโดย สมจิต คงทน 19 พฤษภาคม 2010
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.