คนทั่วไปอาจยังไม่คุ้นเคยกับ ‘แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลาย ป่าไม้’ ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ นำมาเป็นเกณฑ์ฟ้องร้องกับชาวบ้าน
ความจริงที่ปรากฏคือ แบบจำลองคดีโลกร้อนนี้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการแจ้งข้อกล่าวหา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำนวนมาก
ด้วยสูตรคำนวณจากแบบจำลองคดีโลกร้อน ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหลักเกณฑ์ คือ
1.การทำให้ธาตุ อาหารในดินสูญหาย คิดเป็นมูลค่า 4,064 บาทต่อไร่ต่อปี 2.การทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี 3.การทำให้สูญเสียน้ำออกไปจากพื้นที่ โดยการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี 4.การทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี 5.ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี 6.การทำให้ฝนตกน้อยลง 5,400 บาทต่อไร่ต่อปี และ 7.มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่า 3 ชนิด
ข้อมูล จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งมีเกษตรกรสมาชิก คปท. ด้วยข้อหาทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม(คดีโลกร้อน) ถูกฟ้องร้องไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 34 ราย ค่าเสียหายรวมกว่า 13 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเกษตรกรอื่นๆทั่วประเทศ ที่ถูกดำเนินคดีแบบเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย
จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวของ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) และเครือข่ายองค์กรชุมชนต่างๆ ในการระดมความคิดเห็นและจัดทำรายงานวิจัยเพื่อโต้แย้งแบบจำลองคดีโลกร้อน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญในเวทีประชุมวิชาการและเวทีสาธารณะในหลายครั้ง และมีข้อสรุปตรงกันว่า แบบจำลองที่สร้างขึ้นมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนและไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์
ล่าสุด คปท.ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายวสันต์ พานิช ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เพื่อเพิกถอนคำสั่งการใช้แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และกันยา ปันกิติ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ช่วยกันเล่าถึงการเคลื่อนไหวในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และในฐานะผู้ได้รับผลกระทบและความไม่เป็นธรรมจากคดีโลกร้อนโดยตรง
คดีโลกร้อนในพื้นที่ทับซ้อน
ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ เขตป่าของชาวบ้าน เพื่อใช้เป็นที่ทำกินนับเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้านมายาวนาน ซึ่งในระยะหลังได้เกิดกรณีที่หน่วยงานรับเป็นโจทก์ฟ้องเกษตรกรว่าผู้บุกรุก ทำลายป่าเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่งมากขึ้น
สมนึก กล่าวว่า คดีโลกร้อนถูกนำมาใช้แจ้งข้อกล่าวหากับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ประมาณเมื่อ พ.ศ.2547 โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ได้นำแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม มาเป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าเรียกหาจากชาวบ้าน อาทิ การทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุในดิน การทำให้เกิดสูญหาย ซึ่งแบบจำลองที่นำมาใช้บังคับกับชาวบ้าน ไม่มีความเป็นธรรม เพราะในวิถีชีวิตเกษตรกรรมของชาวบ้านโดยเฉพาะในเขตป่า ส่วนใหญ่ยังคงยึดถือวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม การกล่าวหาชาวบ้านว่าไปทำลายหน้าดิน ทำให้สูญเสียแร่ธาตุตามแบบจำลอง การทำให้น้ำในดินระเหยนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
“การใช้เกณฑ์ดัง กล่าวมาเอาผิดกับชาวบ้าน ทำให้เกิดข้อโต้แย้งมากมาย จึงเป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง โดยอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการที่เข้ามาช่วยทำงานในพื้นที่ อย่างเช่นกรณีที่ชาวบ้านทำสวนยาง ซึ่งจำเป็นต้องโค่นยางเพื่อปลูกใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แล้วกรณีทำให้โลกร้อนมากขึ้นหรือไม่ มีการวัดอุณหภูมิระหว่างที่ดินทำกินของชาวบ้านกับป่า ปรากฏว่าในการทำวิจัยในพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งเป็นที่โล่งและโค่นยางเพื่อปลูกใหม่ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อดูว่าอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าในเวลากลางคืนอุณหภูมิในป่าจะสูงกว่าในพื้นที่เกษตร แต่ในเวลากลางวันในพื้นที่เกษตรจะร้อนกว่าในป่า...
“เมื่อถัวเฉลี่ยกันแล้ว การวัดอุณหภูมิระหว่างพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า การทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน ไม่ได้ทำให้อากาศร้อนขึ้น หรือการจะทำให้โลกร้อนนั้น ไม่สามารถวัดหรือทำวิจัยแค่จุดหนึ่งจุดใด แต่ต้องอาศัยสถิติของอากาศทั่วโลก ใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี ถึงจะพิสูจน์ได้ว่าจุดนั้นทำให้อากาศร้อนขึ้นหรือไม่”
เขายังตั้งข้อ สังเกตด้วยว่า ข้อหาทำให้โลกร้อน รัฐได้กระทำกับชาวบ้านโดยเฉพาะที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือที่ดินอยู่ในเขตป่า แตกต่างเกษตรกรที่มี น.ส.3 หรือมีเอกสารสิทธิ์กลับไม่เคยถูกข้อกล่าวหานี้ ทำไมข้อหานี้เกิดในที่ดินผืนหนึ่ง แต่ในพื้นที่ติดกัน ซึ่งไม่มีโฉนดถูกดำเนินคดี
สืบเนื่องมาจากการดำเนินคดีการฟ้องร้องดำเนิน คดีต่อชาวบ้านเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม ทางเครือข่ายฯ จึงได้มีการประสานงานกับทางนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์รวม 15 คน ที่เห็นถึงปัญหาและเข้าร่วมกระบวนการประเมินแบบจำลองในช่วงเดือน กันยายน-ธันวาคม 2554
“นักวิชาการที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางเครือข่ายฯ เห็นว่าแบบจำลองนี้ขาดความน่าเชื่อถือ อาทิ อาจารย์สมศักดิ์ สุขวงศ์ มาช่วยเหลือให้คำปรึกษาในการทำวิจัยให้ชาวบ้าน และเป็นคนหนึ่งที่ร่วมเป็นพยานในศาล เพื่อโต้แย้งกับแบบจำลองของกรมอุทยาน”
นอกจากนั้นยังมีนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้าน วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วนศาสตร์ แบบจำลองคณิตศาสตร์ และด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ อาทิ อ.เดชรัต สุขกำเนิด อ.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ อ.ประสาท มีแต้ม
“การให้ความคิดเห็นทางวิชาการอย่างเป็น อิสระ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ สามารถฟันธงได้เลยว่า แบบจำลองที่ผ่านการวิจัยของดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล นักวิชาการของกรมอุทยานฯ นั้น ใช้ไม่ได้ ไม่เป็นที่ยอมรับในทางหลักวิชาการ และเห็นว่ารายงานวิจัยที่คณะนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดทำขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบจำลองเพื่อประเมินมูลค่าป่าต้นน้ำและระบบนิเวศน์ป่าไม้ ดังกล่าว ยังไม่เคยผ่านการประเมินเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ
“จาก หลักฐานอ้างอิงทางวิชาการที่จะมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะในลำดับต่อไป ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน จึงขอให้ทางสภาทนายความเป็นธุระในการฟ้องร้องกับกรมอุทยานแห่งชาติ ให้ยกเลิกแบบจำลองโลกร้อน ซึ่งนำมาคิดค่าเสียหายกับชาวบ้าน ซึ่งถือว่าประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรมอุทยาฯ กรมป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์อีกด้วย”
ภาคเกษตรกรรม ต้นเหตุ ‘โลกร้อน’ ?
ในระยะปลายปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศหรือโลกร้อน ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของผู้คนอย่างมาก
กันยา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอากาศเกิดขึ้นจริง โลกร้อนขึ้น ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ฝนตกผิดฤดู สิ่งเหล่านี้ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบต่อการทำการเกษตรอย่างหนัก แต่เกษตรกรไม่ใช่ต้นเหตุสำคัญ ซึ่งคนที่เป็นต้นเหตุสำคัญจะต้องมีส่วนเข้ามารับผิดชอบต่อเราด้วย อย่างปีที่แล้ว ผลไม้ไม่ออกผลเลย เพราะฝนตกก่อนฤดูกาล ทำให้ผลไม้ไม่ออกช่อดอก ซึ่งปีนี้ก็น่าจะซ้ำรอยเดิม เพราะที่ผ่านมาพวกเราได้ทำการเกษตรแบบพึ่งฟ้าพึ่งฝน อาศัยดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติเป็นหลัก จากข้อมูลภาคอุตสาหกรรมและพลังงานเป็นตัวการสำคัญในการสร้างมลพิษและทำลาย สิ่งแวดล้อมมาถึง 70 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
“วิถีการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ แต่เดิมอยู่ในลักษณะการทำสวนสมรม หรือการเกษตรแบบผสมผสาน ในสวนแปลงหนึ่ง มีทั้งการปลูกยางพารา ลองกอง มังคุด ผักพื้นบ้าน แต่รัฐสนับสนุนชาวสวนยางชาวบ้าน ส่งเสริมให้ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นการเกษตรที่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงที่ทำลายระบบนิเวศน์ และเป็นการทำลายวิถีการเกษตรในชุมชนท้องถิ่นแบบดั้งเดิม พวกเราไม่ใช่ผู้บุกรุก แต่เป็นผู้ดูแลรักษาและเห็นประโยชน์ของการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน”
เธอยอม รับว่า การบุกรุกพื้นที่ป่าของชาวบ้าน เป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่ปัญหาสำคัญคือ กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ หน่วยงานราชการไม่เคยไปตรวจสอบดูก่อนเลยว่า ชาวบ้านอาศัยอยู่หรือทำกินมาก่อนหรือไม่ อยู่ๆก็เข้ามาดำเนินการขีดเส้นในพื้นที่ทำกินชาวบ้าน แล้วประกาศเป็นเขตพื้นที่ของตัวเอง
“ข้อหาที่ว่าการเกษตรกรรมในพื้นที่ป่าทำให้โลกร้อน ทั้งที่ประเทศเราดำเนินวิถีชีวิตด้วยการทำการเกษตรกรรมมายาวนาน แต่ภาคอุตสาหกรรมกลับไม่ถูกกล่าวถึง ทำไมชาวบ้านจึงถูกแจ้งข้อกล่าวหาในปัจจุบัน ซึ่งการกระทำเหล่านี้ถือว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนที่อยู่ในภาค เกษตรกรรม...
“การคิดแบบจำลองโลกร้อนจากนักวิจัยไม่กี่คน เป็นการทำลายเกษตรกรทั้งประเทศ ทั้งที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุสำคัญทำให้โลกร้อน ราชการกลับไมเคยตำหนิภาคอุตสาหกรรม แต่กลับเป็นเกษตรกร เมื่อคนในสังคมเห็นว่า คดีความเหล่านี้ไม่ถูกต้อง สร้างความอยุติธรรมกับประชาชน จึงมีคำถามว่า การคิดคำนวณที่นำมาใช้กับชาวบ้านถูกต้องหรือไม่ สมควรที่จะนำไปใช้กับคนทั่วประเทศหรือไม่”
สำหรับผลกระทบที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดีโลกร้อน กันยา กล่าวว่า ชาวบ้านในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินที่ถูกดำเนินคดีอยู่จำนวนหนึ่ง เมื่อได้รับแจ้งข้อกล่าวหาส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเมื่อเข้าไปแล้วก็จะพ่ายแพ้คดีไปทั้งหมด ส่งผลให้ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายจำนวนมาก ที่ต่อสู้ในลักษณะบุคคลไม่มีทางต่อสู้ จึงต้องรวมตัวกันเพื่อสู้กับอำนาจรัฐ
“เมื่อ ประชาชนถูกคดีแล้วย้ายออกจากพื้นที่หรือไม่ พวกเขาก็ไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่หรอก เพราะไม่รู้ว่าจะไปทางไหน แต่พวกเขาทำเกษตรแบบหลบๆซ่อนๆ เมื่อมีคดีความมาก็ไม่ได้ไปรายงานตัว เขาก็ทำแบบนี้ แต่เมือถูกคดีแล้ว คนที่มีการจดทะเบียนสมสมก็ต้องหย่ากัน เพราะว่าถ้าพวกเขามีทรัพย์สินที่ถูกกฎหมายอยู่บ้าง บ้านก็จะถูกยึดหรืออายัดทำให้ครอบครัวล่มสลาย”
ปัญหาเหล่านี้ ต้องย้อนกลับไปถามว่า พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงทุกวัน แต่หน่วยราชการกลับไม่มีความรับผิดชอบหรือแก้ไขปัญหาใหญ่เหล่านี้ได้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เจ้าหน้าที่ซึ่งมีบทบาทในการอนุรักษ์กลับเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการบุกรุก ทำลายป่า
“ที่ผ่านมา รัฐดำเนินการผิดพลาด แต่กลับไม่ยอมรับความจริงและไม่ยอมรับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนใน การทำการเกษตรกรรม ดังนั้น ภาคประชาชนต้องหันมาตระหนักและจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติด้วยการเกษตรที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
คดีโลกร้อน จึงนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เกิดความผิดพลาดของรัฐ และโยนความรับผิดชอบไว้กับประชาชน
ที่มา : เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1028 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 คอลัมน์รายงานพิเศษ เขียนโดย นภาพร แจ่มทับทิม หน้า 22-23
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.