ความเป็นมา
ในปีพ.ศ.2527 ชาวบ้านจำนวน 47 รายในเขตหมู่ที่ 4,6,8,9,11 ตำบล ข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่บ้านพรสรรค์ หมู่ที่ 14 ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ (บ้านพรสวรรค์เป็นหย่อมบ้านหนึ่งของบ้านอังครักษ์ หมู่ที่ 14) ผลจากการขยายตัวขึ้นของชุมชนและมีที่ดินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและการ บริโภคของครอบครัว ประกอบกับในช่วงระหว่างนั้นรัฐบาลได้มีนโยบายให้ราษฎรผู้ยากไร้สามารถอาศัย ทำกินในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมได้ ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงได้เข้าไปบุกเบิกในพื้นที่ โดยเริ่มแรกทำการบุกเบิกที่ดินทำกินเพื่อปลูกพืชล้มลุกประเภทผักพื้นบ้าน เพื่อการบริโภคในครัวเรือน
17 กุมภาพันธ์ 2529 ชาวบ้านจำนวน 45 ครอบครัวได้ติดต่อกับป่าไม้เขตจงหวัดเชียงใหม่เพื่อขอเข้าทำประโยชน์ใน พื้นที่ทำกินตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติและขอให้ส่วนราชการจัดแบ่ง พื้นที่ให้คนละ 1ไร่ ในวันที่ 27 เมษายน 2530 เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7 หัวหน้าศูนย์ปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติที่ 1 ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า คณะอนุกรรมการอำนวยการโครงการจัดหมู่บ้านป่าไม้ ป่าจอมทอง มีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2530ให้ราษฎรดังกล่าวจำนวน 45 ราย ไปยื่นคำขอใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่สำนักงานป่าไม้อำเภอจอมทอง ชาวบ้านจึงได้ดำเนินการตามมติดังกล่าว โดยวันที่ 23 กรกฎาคม 2530 นายใจ๋ ดวงเดช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 (ปัจจุบันแยกเป็นหมู่14) พาชาวบ้านจำนวน 47 รายไปยื่นคำร้องขอเช่าที่ดินกับหน่วยงาน ซึ่งได้เสียเงินค่ามัดจำ ค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว จำนวน 20 บาทต่อไร่ โดยไม่มีการขยาย
และได้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานรัฐเพื่อขอเช่าที่ดินทำประโยชน์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าสงวนเสื่อมโทรม และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มีมติให้ราษฎรไปยื่นคำขอใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ สำนักงานป่าไม้อำเภอจอมทองได้ โดยเสียเงินค่ามัดจำ ค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่ยังไม่มี ความคืนหน้าใดๆ ต่อมาในปีพ.ศ.2539 มีราษฎรอีกหลายกลุ่มได้พยายามเข้าบุกเบิกและตัดไม้ในบริเวณใกล้เคียง จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคลหลายฝ่าย ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมราษฎรจำนวน 40 รายซึ่งเป็นผู้ทำกินอยู่เดิม โดยอ้างว่าราษฎรกลุ่มนี้เป็นผู้บุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันโค่นต้นไม้ในป่าจอมทอง และส่งฟ้องศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 ให้จำเลยมีความผิดในข้อหาบุกรุกและมีคำสั่งบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่
ลำดับเหตุการณ์
หลัง จากได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่และยื่นคำขอหน่วยงานราชการก็มีท่าทียอมรับการ ใช้พื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมของชาวบ้านเป็นอย่างดี โดยภายหลังปีพ.ศ.2530 เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาในพื้นที่เป็นครั้งคราว ต่อมาในปีพ.ศ.2534 ศูนย์บริการเกษตรกรเคลื่อนที่ สชป.1 สังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านเรื่องการหาแหล่งน้ำในการทำเกษตร ทางศูนย์ฯจึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างบ่อพักน้ำและอาคารประกอบห้วยเลี้ยวให้ ชาวบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2534
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2536 มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่าง นายอำเภอจอมทอง (นายเฉลิมชัย วรวุฒิพุทธพงศ์) , ป่าไม้อำเภอจอมทอง (นายศุภกิจ นิ่มสกุล) , เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 5 (นายวรพจน์ ผ่องสมัย) ,นายส่งสุข ภัคเกษมและนายสุรพล เกียรติไชยากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยชาวบ้านที่เข้าอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ซึ่งได้ยื่นคำขออนุญาต เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 47 ราย โดยที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ออกไปตรวจสอบสภาพพื้นที่ทำกินเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา โดยในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2536 หน่วยงานป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือแจ้งให้ชาวบ้านที่ขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน เพื่อนัดวันตรวจสอบพื้นที่ที่มีการขออนุญาต
ต่อมานายส่งสุขและนายสุรพล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดูแลรับผิดชอบป่าไม้ทั้งหมดขณะนั้น) เพื่อเร่งดำเนินการให้ชาวบ้านมีที่ทำกินอย่างถูกต้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสภาพพื้นที่ โดยมีนายปรีชา อบอาย รองปลัดกระทรวงฯเป็นประธาน และมีสส.และข้าราชการท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่มีข้อมูลไม่เพียงพอจึงสรุปผลไม่ได้ วันที่ 31 ตุลาคม 2537 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) รองปลัดกระทรวง (นายปรีชา อบอาย) นายส่งสุข ภัคเกษม นายสุรพล เกียรติไชยากร นายบุญช่วย ภู่จีนาพันธ์ ส.ส.เชียงใหม่ ปลัดเชียงใหม่ นายอำเภอจอมทอง ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ และผู้อำนวยการต้นน้ำ กรมป่าไม้เดินทางตรวจสภาพพื้นที่ทำกินบริเวณหลัก ก.ม.ที่ 3-5 ถนนสายจอมทอง-อินทนนท์ และมีคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการดังนี้
1. เร่ง รัดประกาศผนวกพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยให้ปักปันเขตแดนใหม่และเจียดพื้นที่บางส่วนที่พอจะเจียดได้ให้แก่ราษฎร ได้มีโอกาสมีที่ดินทำกิน
2. คัด เลือกสอบสวนราษฎรทุกคนที่มายื่นแสดความจำนงจะรับที่ดินเพื่อทบทวนสืบเสาะว่า ควรจะได้รับการสงเคราะห์จากรัฐบาลและเป็นคนยากไร้ไม่มีที่ดินพอทำกินหรือไม่
3. เมื่อได้ที่ดินแล้วให้ใช้ที่ดินทุกตารางวาให้เป็นประโยชน์ มีโอกาสทำมาหาเลี้ยงชีพได้
4. ที่ดินที่ได้รับห้ามขายหรือโอน
5. วันที่ 18 พฤศจิกายน 2537 นายปรีชา อบอาย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมกาตรวจสอบสภาพพื้นที่ ได้ทำบันทึกข้อความเสนอรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบถึงผล การดำเนินการตรมคำสั่งของรัฐมนตรีช่วยฯ ว่าเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2537 ได้ ให้คณะทำงานซึ่งมีนายอำเภอจอมทองเป็นประธานไปตรวจสอบคุณสมบัติของราษฎรว่ามี ฐานะยากจนและไม่มีที่ดินเป็นของตนเองกี่ราย โดยในระหว่างปีพ.ศ.2538-2539 ส่วนราชการได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบพื้นที่รวมสองชุดและดำเนินการตรวจสอบเป็นลำดับดังนี้
- ปีพ.ศ.2538 สำนักงานป่าไม้เขตจังหวัดเชียงใหม่ตรวจสอบพื้นที่และมีหนังสือถึงอธิบดีกรมป่าไม้ดังนี้
1) มีพื้นที่พอจะเจียดให้ราษฎรได้จำนวน 191 ไร่
2) พื้นที่สามารถประกาศผนวกให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติมีเนื้อที่ประมาณ 2,699 ไร่ ซึ่งป่าไม้เขตได้แจ้งให้อุทยานแห่งชาติอินทนนท์ทราบแล้ว
3) การสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ป่าไม้เขตได้ตรวจสอบบริเวณใกล้เคียง ปรากฏว่า ยังมีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ (ป่าโซนE) ที่จะมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินสามารถเข้าดำเนินการได้
นอกจากนี้ป่าไม้เขตยังมีความเห็นว่าพื้นที่ซึ่งจะแบ่งให้ราษฎรจำนวน 191 ไร่ มีน้อยกว่าความต้องการของชาวบ้าน จงน่าจะมอบพื้นที่จำนวนดังกล่าวให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินดำเนินการ พร้อมกับผนวกพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อจัดแบ่งให้ราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการ ปฏิรูปที่ดินด้วย จะได้บรรเทาความเดือดร้อน
- ปีพ.ศ. 2539 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามคำสั่งกระทรวงที่ 125/2539 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2539 เสนอผลการพิจารณารวม 3 ข้อคือ
1) มอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการผนวกพื้นที่ปลูกสร้างเสริมสวนป่าเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติ
2) มอบหมายให้กรมป่าไม้ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรที่ยื่นคำขอใช้ประโยชน์และผ่านคุณสมบัติแล้ว 481 ไร่ โดยได้ดำเนินการตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และระเบียบหลักเกณฑ์นโยบายที่ทางราชการกำหนด
3) กรมป่าไม้ควรเร่งดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2539 และรายงานความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการตรวจสอบสภาพพื้นที่ทราบเป็นระยะๆ
จากความเป็นมาของเหตุการณ์นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 ถึง ปีพ.ศ.2539 พบว่าชาวบ้านทั้ง 47 ราย ได้พยายามประสานงานร่วมกับหน่วยงานราชการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนมาโดย ตลอด โดยยึดข้อกฎหมายและระเบียบของราชการในการดำเนินการ นอกจากนั้นเมื่อเข้าใช้ประโยชน์ชาวบ้านก็ยังช่วยกันดูแลป่าบริเวณใกล้เคียง และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดขยายพื้นที่เพิ่มแต่อย่างใด
จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง
จุดเริ่มต้นของการจับกลุ่มชาวบ้านพรสวรรค์ มีข้อสังเกตว่าน่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากการบุกรุกป่าไม้ของราษฎรในพื้นที่ใกล้ เคียง จนกระทั่งทำให้นำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีชาวบ้าน 47 ราย โดยมีเหตุการณ์สำคัญๆที่อาจจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันดังนี้
วันที่ 17 กันยายน 2539 ราษฎร ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่นำราษฎรหลายร้อยคนเข้าไปตัดฟันแผ้วถางป่าบ้านไร่ดงในเขตตำบลบ้านหลวงเป็นเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ ห่างจากที่ดินบริเวณบ้านพรสวรรค์ 10 กิโลเมตร
วันที่ 8 ธันวาคม 2539 ราษฎรหมู่ที่ 11 ต.ข่วงเปา อ.จอมทองประมาณ 100 คนไปตัดฟันแผ้วถางป่าบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4 ในพื้นที่ประมาณ 900 ไร่ เพื่อจับจองพื้นที่ทำกิน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการใด เนื่องจากเห็นว่าอาจเป็นปัญหาในทางการเมือง
วันที่ 13-14 ธันวาคม 2539 ชาวบ้านหมู่ที่ 10 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ รวบรวมราษฎรไปแย่งพื้นที่ของราษฎรหมู่ที่ 11 จนเกิดความขัดแย้ง ตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงจับตัวแกนนำชาวบ้านหมู่ที่ 11 ไปยังสถานีตำรวจ ซึ่งแกนนำคนดังกล่าวอ้างว่าให้จับกุมชาวบ้าน 47 รายในบ้านพรสวรรค์ที่ทำกินบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 3-4 ถนนสายจอมทอง-อินทนนท์ด้วย
วันที่ 17 ธันวาคม 2539 หลัง จากการพาดพิงของแกนนำผู้ถูกจับกุมหรือด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมด้วยอาวุธครบมือจำนวน 300 นายบุกเข้าจับกุมชาวบ้านจำนวน 47 รายในพื้นที่หลักกิโลเมตรที่ 3-4 โดยในเบื้องต้นควบคุมตัวได้เพียง 40 คน และนำตัวไปฝากขังที่ สภ.อ.สารภี สภ.อ.สันกำแพงและสภ.อ.แม่ริม หลังจากนั้นจึงทำสำนวนส่งฟ้องศาลจังหวัดเชียงใหม่ในข้อหาบุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันโค่นต้นไม้ในป่าจอมทองและแยกสำนวนการพิจารณาเป็นรายๆ
หลังจากการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านทั้ง 40 ราย (ถูกจับกุมตัวเพียง 40 ราย อีก 7 คน ไม่ได้อยู่ในพื้นที่) ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดชาวบ้านจึงถูกจับกุมทั้งที่ผ่านมาก็ได้มี การประสานงานกับรัฐบาล หน่วยงานราชการในท้องที่ เพื่อยื่นคำขอใช้ประโยชน์ในที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด อีกทั้งได้ทำกินและอาศัยในบริเวณนั้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2527 นับเป็นเวลากว่าสิบสองปีแล้ว เหตุใดจึงเพิ่งถูกจับกุม
กระบวนการจัดการปัญหา
การยื่นข้อร้องเรียนต่อหน่วยงาน
จากการถูกดำเนินคดีอาญา ชาวบ้านจึงได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปาได้จัดประชุมสมัยวิสามัญครั้งที่ 2 และรับเรื่องของราษฎรทั้ง 47 ราย เข้าพิจารณา โดยในที่ประชุมเห็นว่าชาวบ้านมีฐานะยากจนจริง การขอเช่าพื้นที่ก็เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อประกอบอาชีพ ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2541 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปาได้ประชุม สมัยวิสามัญครั้งที่ 2 ประจำปี 2541 มีมติ เห็นชอบให้กรมป่าไม้มอบพื้นที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 3-5 ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์จำนวน 150 ไร่ให้กับสปก.เป็นผู้ดำเนินการ
นอกจากนั้นยังได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภา เพื่อขอความเป็นธรรม และขอให้ผู้มีอำนาจช่วยคลี่คลายปัญหา โดยได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2541 ว่าได้รับหนังสือและกราบเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว และในเดือนตุลาคม 2541 มีหนังสือจากรัฐสภาแจ้งว่าประธานรัฐสภาได้รับทราบเรื่องแล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในทางนโยบายแต่อย่างใด
การต่อสู้คดีของชาวบ้าน
ภายหลังจากการถูกดำเนินคดีราษฎรทั้ง 47 รายได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความภาค 5 ซึ่ง ได้รับดคีไว้และจัดหาทนายให้เพื่อต่อสู้คดี โดยในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้มีป่าไม้เขตจังหวัด (นายวรวิทย์ เชื้อสุวรรณ) นายสุรพล เกียรติไชยากร (อดีตส.ส.เชียงใหม่) และนายแดง นาระต๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ต.ข่วง เปา อ.จอมทอง ได้ประสานงานให้ราษฎรไปเจรจาที่สำนักงานเขตเชียงใหม่และเกลี้ยกล่อมให้รับ สารภาพตามคำฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าหากเรื่องยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ป่าไม้เขตจะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ หากรับสารภาพและคดีถึงที่สุดทางป่าไม้เขตจะสามารถให้อนุญาตเช้าพื้นที่ทำกิน เดิมได้ ทำให้ชาวบ้านผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดรับสารภาพและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา ว่าจำเลยมีความผิดข้อหาบุกรุก ก่อสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันโค่นต้นไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ให้จำคุกจำเลยทั้ง 40 ราย 6 เดือน แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ โดยคดีอาญาได้ถึงที่สุดแล้ว
ทว่า เมื่อชาวบ้านทั้งหมดรับสารภาพและศาลพิพากษาคดีจนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เหมือนเดิม เพราะเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2542 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอบังคับคดีให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง
1 กุมภาพันธ์ 2542 นายแดง นาระต๊ะ (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ต.ข่วงเปา) ซึ่งเป็นผู้ต่อรองให้ชาวบ้านรับสารภาพส่งหนังสือถึงเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7 ป่าไม้อำเภอจอมทอง เพื่อแจ้งผลการหารือของสภาตำบลข่วงเปา กรณีป่าไม้อำเภอขอใช้พื้นที่ป่าบ้านห้วยหลุ ต.ข่วงเปา เพื่อรองรับราษฎรทั้ง 47 ครอบ ครัว ว่าสภาตำบลไม่เห็นชอบให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากเป็นพื้นที่กันไว้ สำหรับเป็นที่ทิ้งขยะของอำเภอจอมทอง ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2542 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา ได้เปิดประชุมสมัยสามัญที่ 1 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2542 มี มติกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้มีสิทธิขอบใช้ประโยชน์ในพื้นที่บ้านห้วยหลุคือ หนึ่งต้องมีฐานะยากจน สองต้องไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง สามขอเช่าที่ดินได้ไม่เกินคนละ 2 ไร่ และสี่ราษฎรที่จะเช่าให้ขอรวมกันทุกหมู่บ้าน ไม่แยกเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งหมายความว่าจะไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้หากไม่มีการแบ่งให้ราษฎรทั้งหมดก่อน
18 มีนาคม 2542 นายเกรียงชัย วัฒนลักษณ์ ป่าไม้อำเภอจอมทอง มีหนังสือแจ้งให้ราษฎรบ้านพรสวรรค์ส่งเอกสารประกอบการขออนุญาตขอใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มเติม และวันที่ 8 เมษายน 2542 ธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาจอมทอง ได้ทำหนังสือค้ำประกันการเช่าที่ดินของชาวบ้านตามระเบียบการเช่าที่ดินในเขต ป่าสงวน เพื่อให้ชาวบ้านนำไปประกอบคำร้องให้ครบถ้วน ชาวบ้านจึงมีความหวังว่าจะตนจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ได้
ทว่าในวันที่ 21 เมษายน 2542 นายชัยวัฒน์ ผ่องโสภา ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่และป่าไม้อำเภอจอมทองได้เรียกชาวบ้านไปประชุมที่ สำนักงานป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ และแจ้งให้ชาวบ้านว่าไม่สามารถอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เดิม ได้ โดยอ้างว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านจะขอเข้าทำประโยชน์เป็นพื้นที่โครงการปลูกเสริม สร้างป่าของกรมป่าไม้ ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมได้ อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าทำกินในพื้นที่ใหม่ในบริเวณป่าห้วยหลุได้ เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปามีมติให้ต้องเข้าทำกินทั้งตำบลไม่ใช่ เฉพาะชาวบ้านพรสวรรค์ ชาวบ้านจึงเข้าร่วมเรียกร้องกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และนำปัญหาเข้าร้องเรียนต่อ นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้น) กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรี 11 พฤษภาคม 2542 มอบหมายให้ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่รับไปดำเนินการจัดหาที่ดินให้ชาวบ้าน
24 กันยายน 2542 นาย ชัยวัฒน์ ผ่องโสภา ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ และนายไพบูลย์ บุญธรรมช่วย นายอำเภอจอมทอง พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและราษฎรบ้านพรสวรรค์จำนวน 47 ราย ได้ร่วมประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี 11 พฤษภาคม 2542 ทาง ป่าไม้จังหวัดได้แจ้งราษฎรทราบว่าได้ดำเนินการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือด ร้อนให้แล้ว โดยคัดเลือกพื้นที่บริเวณป่าห้วยหลุ หมู่ที่ 12 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง แทนพื้นที่เดิม ซึ่งป่าไม้จังหวัดได้แจ้งว่าได้จัดสรรให้แล้ว จำนวน 2 แปลงเนื้อที่จำนวน 220 ไร่ และ 430 ไร่ ตามลำดับ โดยชาวบ้านได้แจ้งกับป่าไม้จังหวัดว่าพร้อมที่จะออกจากพื้นที่ หากป่าไม้จังหวัดจัดสรรที่ให้โดยไม่ติดขัดกับมติขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ และขอให้ทางป่าไม้ช่วยเหลือทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อชดเชย ที่ชาวบ้านได้เคยสร้างไว้ในพื้นที่เดิม ในระหว่างนี้จึงทำให้ชาวบ้านยังไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ทันที เพราะการดำเนินการของป่าไม้ยังไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่พอใจชาวบ้านเพราะไม่ยอมออกจากที่ดินทันที
6 ตุลาคม 2542 จากการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2542 และ ชาวบ้านยังไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ทันที เนื่องด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้ป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่เชื่อว่าชาวบ้านดื้อรั้นและกระด้างกระเดื่อง จึงได้ทำหนังสือถึงศาลจังหวัดเชียงใหม่ขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับคดีให้ออกจาก ที่ดินพิพาท จากการไต่สวนของศาลมีความเห็นว่ายังไม่มีความคืบหน้าจากทั้งชาวบ้านและ ป่าไม้ และเห็นสมควรให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันหามาตรการแก้ไขปัญหา .โดยจะเลื่อนการบังคับคดีและเพื่อความสะดวกในการเดินทางของชาวบ้านให้นัด พร้อมกันทั้ง 35 ราย ในวันที่ 17 มกราคม 2543 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง
8 ตุลาคม 2542 ตัวแทนชาวบ้านพรสวรรค์ 47 ครอบ ครัวเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายอำเภอจอมทอง เพื่ออธิบายถึงสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมกับทางป่าไม้ อำเภอ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2542 พร้อมได้แสดงเจตนาบริสุทธ์ว่าราษฎรทั้งหมดมิได้มีพฤติกรรมที่ต้องการฝ่าฝืนกฎระเบียบ หรือกฎหมายแต่อย่างใด
หลังจากไม่ประสบความสำเร็จใจการเจรจากับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชาวบ้านก็ยังคงอาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่เดิมต่อเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน มีการตั้งถิ่นฐานที่มั่นคงถาวร มีการพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ แต่ไม่มีการขยายพื้นที่ไปบุกรุกเขตป่าเพิ่มแต่อย่างใด ในส่วนคดีความได้มีการชี้แจงและขอผ่อนผันกับศาลเรื่อยมา โดยข้อเท็จจริงแล้วชาวบ้านก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐและส่วนราชการ มาโดยตลอด แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
สถานการณ์ปัจจุบัน
6 มีนาคม 2550 ชาวบ้านพรสวรรค์ หมู่ที่ 14 ต.ข่วง เปา ได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบพื้นที่ของหมู่บ้านว่าอยู่ในเขต ปฏิรูปที่ดินหรือไม่ แก่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ปฏิรูป ที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือแจ้งกลับมาว่าพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใน เขตที่ ส.ป.ก. มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล (ตำบลข่วงเปา) แต่พื้นที่ดังกล่าวได้กันคืนให้กับกรมป่าไม้ ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้และ ส.ป.ก. ลงวันที 14 กันยายน 2538 แล้ว ส.ป.ก.จึงสามารถเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวได้
กรกฎาคม 2551 ภายหลังจากที่ชาวบ้านทั้ง 40 ราย ถูกพิพากษาให้มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่ง ชาติ ทางกรมป่าไม้ยังได้มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับชาวบ้านอีกรายละ 150,000-500,000 บาท แต่ได้มีการเจรจาและตกลงให้ชดใช้โดยการทำงานภายใต้โครงการปลูกป่าของกรม ป่าไม้ในพื้นที่ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และใช้วิธีการหักลดค่าเสียหายเป็นรายวัน
23 พฤษภาคม 2551 หลังวันที่ 4 มิถุนายน 2541 ซึ่งครบเวลา 10 ปีหลังจากศาลมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดในคดีอาญาข้อหาบุกรุกของชาวบ้านพรสวรรค์ 40 ราย ได้มีหมายบังคับคดีจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้จำเลยและบริวารย้ายออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่ได้ยึดถือครอบครองไว้ภายใน 15 วัน โดยจำเลยทั้ง 40 ราย ได้ยื่นคำร้องคำสั่งบังคับคดีของศาลชั้นต้นต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีข้อโต้แย้งว่าโจทก์มิได้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และขอให้เพิกถอนคำสั่ง แต่ศาลพิจารณาว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากพื้นที่นั้นเป็นคำขอในวิธีการอุปกรณ์ของโทษ ทางอาญาตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่ง ไม่มีกำหนดอายุความ ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลย และศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ขณะนี้การบังคับคดีอยู่ในระหว่างการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา
แต่ เนื่องด้วยความผิดพลาดบางประการจึงทำให้นายอินทร์ สุวรรณหนึ่งในชาวบ้านพรสรรค์และเป็นจำเลยในคดีไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง บังคับคดีต่อศาลฎีกา โดยศาลมีคำสั่งนัดพร้อมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ที่ จะถึงนี้ โดยจะมีซักถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าจำเลยยังคงอยู่ทำกินหรือไม่ และรื้อสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่แล้วหรือยัง หากยังคงทำกินและไม่ได้รื้อสิ่งก่อสร้างออกจะมีการดำเนินออกหมายจับหรือหมาย ขังจำเลย จนกว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะทำการรื้อของและย้ายทรัพย์สินของจำเลยแล้วเสร็จ กรณีของนายอินทร์ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องช่วยเหลือและเยียวยา
7 ตุลาคม 2553 ภายหลังจากการยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายน 2553 คณะ กรรมการสิทธิฯโดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาในบริเวณบ้านพรสวรรค์ ที่เป็นพื้นที่พิพาท โดยพบว่ามีพื้นที่ประมาณ 190 ไร่ มีราษฎรอาศัยและทำกินประมาณ 60 ครอบ ครัว มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร ส่วนที่ดินบริเวณป่าห้วยหลุซึ่งกรมป่าไม้แจ้งว่าได้จัดหาไว้เพื่อรองรับ ราษฎรทั้งหมด ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ ก็ไม่เหมาะสมสำหรับให้ชาวบ้านย้ายเข้าไปอยู่ เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าธรรมชาติ ที่ดินมีลักษณะเป็นดินลูกรังยากต่อการใช้ทำประโยชน์และสร้างบ้านเรือน นอกจากนี้ก็ยังเป็นพื้นที่ที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปาเคยมีมติว่าจะ จัดเป็นที่ทิ้งขยะ หากราษฎรประสงค์จะใช้ประโยชน์ต้องเป็นการจัดสรรให้แก่ทุกคนในตำบล ซึ่งยากต่อการนำไปปฏิบัติได้จริง
ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 ตุลาคม 2553 คณะ กรรมการสิทธิได้มีการประสานงานกับหน่วยงานและร่วมกันจัดประชุมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านพรสวรรค์ โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมประชุม คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ , นายสาธร วงศ์หนองเตย (ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) , ผู้อำนวยการสำนักงานจัดโฉนดชุมชน (ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี) , นายอำเภอจอมทอง , เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ , เจ้าหน้าที่สำนักอนุรักษ์ที่ 16 , เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา และคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่าไม้ ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยหน่วยงานราชการรับทราบและเห็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่แต่ แจ้งว่าตนไม่มีอำนาจตัดสินใจในทางนโยบาย ที่ประชุมจึงมีมติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้แทนจากสำนักนายก รัฐมนตรีเข้าพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณานำพื้นที่นี้เข้าสู่การแก้ไขปัญหาตามแนวทางโฉนดชุมชน ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ในวันที่ 28-29 ตุลาคม นี้ โดยหากมีการพูดคุยเจรจาและหน่วยงานกลางเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ให้อนุกรรมการด้านที่ดินและป่าไม้ ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรวบรวมข้อเท็จจริงและยื่นแถลงต่อศาล ผ่านทนายความผู้รับผิดชอบคดีว่าคดีของชาวบ้านทั้งหมดอยู่ในระหว่างการเจรจา แก้ไขปัญหาและมีการเสนอให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเรื่องโฉนดชุมชน
เรียบเรียงโดย
ฝ่ายข้อมูลเครือข่ายปฏิรูปภาคเหนือ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.