ข้อเสนอต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เกี่ยวกับนโยบายและแนวทาง มาตรการการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
โดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ( คปท.)
ภาพรวมปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในประเทศไทยความขัดแย้งระหว่างคนจนไร้ที่ดินและหน่วยงานภาครัฐ
ปัญหาพื้นฐาน
1) ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าประมาณ 100 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 130 ล้าน ไร่ ทรัพยากรที่ดินในประเทศไทยมีเพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์ของคนไทยทุกคนใน ประเทศ ถ้าทรัพยากรที่ดินเหล่านี้จะมีการจัดสรร แบ่งปัน และกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม
2) ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศคือ ประมาณ 90 % มีที่ดินถือครองแค่ไม่ถึง 1 ไร่ ในขณะที่ประชาชนกลุ่มเล็ก ที่เหลือ 10 % มีที่ดินถือครองคนละ มากกว่า 100 ไร่ ชี้ให้เห็นถึง ความเหลื่อมล้ำของสัดส่วนคนในสังคมไทยที่มีที่ดินน้อยและมีที่ดินมาก
3) ข้อมูลจากการวิจัยของมูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทย ปี 2544 พบว่า 70% ของ ที่ดินที่มีการถือครองในประเทศไทยถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ หรือใช้ประโยชน์ไม่ถึง 50% ประเมินความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 127,000 ล้าน บาทต่อปี ข้อมูลบ่งชี้ว่า มีคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยถือครองที่ดินจำนวนมากไว้ โดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร หากเก็บไว้เพื่อเก็งกำไร เป็นสินค้าเพื่อขายต่อ
4) ในขณะที่ข้อมูลจากการจดทะเบียนคนจนของกระทรวงมหาดไทยระบุว่า มีประชาชนมาลงทะเบียนว่าตนเองมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยนับ รวมได้ 4.2 ล้านปัญหาแบ่งเป็นคนไม่มีที่ดินเลย 1.3 ล้านคนมีที่ดินทำกินอยู่บ้างแต่ไม่พอทำกินแม้ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง 1.6 ล้านคน ขอเช่าที่ดินรัฐและครอบครองที่ดินรัฐอยู่ 3 แสนคนรวมแล้วมีเกษตรกรและคนไร้ที่ดินในสังคมไทยทีมีปัญหาที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านครอบครัวข้อมูล จากการสำรวจและการวิจัยเรื่องที่ดินจากทุกสถาบันโชว์ทุกครั้งว่าปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่เกษตรกรทั่วประเทศเห็นว่าสำคัญ และวิกฤตสำหรับเกษตรกรไทยแต่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ มีเพียงมาตรการสำรวจและศึกษาวิจัยต่อไปโดยไม่มีมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม
รากฐานของปัญหา
1) การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในสังคมไทยที่ผ่านมา ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมใน สังคม แต่มุ่งเน้นการเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้กับเอกชนและ เกษตรกร ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนไร้ที่ดินได้
2) สังคม ไทยไม่มีกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน ใครรวยก็มีสิทธิซื้อที่ดินจำนวนเท่าไรมาถือครองไว้ก็ได้ จะซื้อครึ่งหรือค่อนประเทศก็ไม่มีใครจำกัดสิทธิได้ ในขณะที่คนจนจะสูญเสียที่ดินและไร้ที่ดินทำกินจำนวนกี่ล้านครอบครัวก็ได้รัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจเข้าไปจัดการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน
3) สังคม ไทยไม่มีกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายที่สำคัญที่จะทำให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากเอา ไว้ และไม่ได้ใช้ประโยชน์ ต้องเสียภาษีที่ดินจำนวนมากในระดับที่ไม่สามารถเก็บกักที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไรต้องปล่อยขายที่ดินออกมา ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถช้อนซื้อที่ดินเหล่านั้นไว้เพื่อนำมาปฏิรูปจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ต้องการที่ดินทำกิน
4) การปฏิรูปที่ดินของรัฐที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมายปฏิรูปที่ดิน ปี 2518 ที่ ต้องการให้รัฐใช้อำนาจและมาตรการต่างๆ นำที่ดินที่ถือครองโดยเอกชน มากระจายให้กับคนจนไร้ที่ดิน แต่กลับเบี่ยงเบนประเด็นไปที่การจัดสรรที่ป่าสงวนแห่งชาติให้กับเอกชน
5) ที่ ผ่านมาคนจนไร้ที่ดินและไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีช่องทางและไม่สามารถเข้ามาใช้อำนาจรัฐในการบริการจัดการทรัพยากรที่ดิน ให้เกิดความเป็นธรรมได้ การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินรวมศูนย์อำนาจอยู๋ที่ภาครัฐส่งผลให้เกิดการคอรัปชั่น ขาดการตรวจสอบ และกรณีพิพาทความขัดแย้งเรื่องที่ดินจำนวนมาก
ปรากฏการณ์ความขัดแย้ง
1) ในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ มีการออกเอกสารที่ดินโดยมิชอบ ผิดกฎหมาย ในหลายกรณีทั้งในที่ดินเอกชน ที่ดินที่ชุมชนใช้ประโยชน์อยู่ เช่น ที่ดินทำกิน ที่ป่าชุมชน ที่สาธารณประโยชน์ และที่ ส.ป.ก.ที่ดินที่ถูกออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบเหล่านี้ต่อมาได้ถูกนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กลายเป็นหนี้เน่า NPL ถูกธนาคารฟ้องร้องยึดและขายทอดตลาด กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมือประชาชนมีมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เป็นรูปธรรม โดยการเข้าทำกินปฏิรูปการถือครองโดยประชาชน รัฐได้ใช้อำนาจทางกฎหมายกับคนจนไรที่ดินเหล่านี้ด้วยการจับกุมดำเนินคดีความ
2) ในภาคเหนือภาคใต้และภาคอีสานด้วยความจำกัดในข้อมูลรัฐได้ประกาศเขตป่าอนุรักษ์ และเขตป่าสงวนบนพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัย ที่สาธารณประโยชน์และที่ป่าชุมชนของชาวบ้านก่อให้เกิดกรณีพิพาทความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และชาวบ้านซึ่งกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินและการแก้ไขปัญหายังถูกรวมศูนย์อยู่ที่ภาครัฐปัจจุบันรัฐบาลได้ใช้อำนาจทางกฎหมายทีแข็งกร้าวมากขึ้นนอกจากฟ้องร้องคนจนในคดีอาญาแล้วยังฟ้องร้องเพิ่มในคดีแพ่งเรียกร้องให้คนจนจ่ายค่าเสียหายให้กรมอุทยานฯ ครอบครัวละ 2-5 ล้านบาท ต่อครอบครัว
3) ในภาคอีสานและภาคใต้รัฐได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนสัมปทานเช่าพื้นที่ป่าสงวนระยะยาวเพื่อทำกิจการเหมืองแร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจยูคาลิปตัสยางพาราและปาล์มน้ำมัน เมื่อเอกชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าเกินกว่าสัญญาเช่าหรือสัญญาเช่าหมดลงคนจนไร้ที่ดินเรียกร้องให้รัฐหยุดสัญญาเช่าแต่ไม่เป็นผลเมื่อประชาชนมีมาตรการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองโดยการเข้าทำกินปฏิรูปที่ดินการถือครองโดยประชาชนรัฐได้ใช้อำนาจทางกฎหมายด้วย การจับกุมดำเนินคคีข้อหารุนแรง นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง รัฐบาลได้ดำเนินการอพยพ ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยเดิม โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือแต่ประการใด สภาพปัจจุบัน กลุ่มชาวบ้านดังกล่าวข้างต้นยังอยู่ในภาวะไร้ที่ดินทำกิน ต้องอาศัยแรงงานรับจ้างในการดำรงชีพเป็นด้านหลัก
4) ในขณะที่ชุมชนสลัมกว่า 3,700 ชุมชน ทั่วประเทศ อยู่ในภาวะสั่นคลอน ไม่ได้ถูกรับรองและไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย อยู่ในสภาพที่จะถูกไล่รื้อจากหน่วยงานภาครัฐ และบริษัทธุรกิจเอกชนวันใดก็ได้
ปรากฏการณ์ ที่กล่าวแล้วข้างต้น คือสภาพปัญหา และข้อพิพาทที่เกิดขึ้นของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายได้ดำเนินการผลักดันข้อเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัด และกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการแก้ไขปัญหายังคงเป็นไปอย่างล่าช้า และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เดือดร้อน ทำให้สภาพปัญหาเหล่านี้ยังคงปรากฏอยู่โดยทั่วไปในหลายพื้นที่
กล่าวสำหรับรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ( คปท.) ได้จัดกิจกรรมรำลึก 33 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.) ในวันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2550 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมนำเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ และคนจนเมือง ในการนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ เป็นตัวแทนเข้าร่วมเวทีดังกล่าวด้วย ซึ่งมีสาระสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นจริง หากมีการผลักดันร่วมกันต่อไป
หลักการสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน : เพื่อสร้างความมั่นคงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนไร้ที่ดิน และคนจนไร้ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ
1)ที่ดินเป็นทรัพยากรของสังคมและทรัพยากรการผลิตที่สำคัญสังคมจะต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ให้คนจนและเกษตรกรรายย่อยมีที่ดินเป็นของตนเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในที่อยู่อาศัย
2) รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิในการอยู่อาศัยและทำมาหากินของเกษตรกรและคนจน โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม มิใช่การยึดตามตัวบทกฎหมายที่ขัดแย้งกับสภาพสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของสังคมท้องถิ่น
3) ที่ดิน ที่กักตุนไว้เพื่อเก็งกำไร มีเจ้าของ แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ คือตัวบ่งชี้ความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ควรถูกมาใช้ในการผลิตและจัดสรรให้มีประโยชน์ต่อเกษตรกรไร้ที่ดิน และคนจนไร้ที่อยู่อาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมในการใช้ที่ดิน
4) รัฐต้องมีนโยบายและดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 8 ด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา 85 แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่ว ถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น
มาตรการเร่งด่วน
1)ยุติปัญหาการใช้ความรุนแรงของหน่วยงานภาครัฐกับคนจนไร้ที่ดิน ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายของรัฐเช่นการอพยพโยกย้ายการทำลายชีวิตทรัพย์สินการใช้กฎหมายข่มขู่และคุกคามชาวบ้านผู้เดือดร้อน
2)ยุติการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับรัฐจนกว่าการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายจะแล้วเสร็จและกรณีที่มีการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน ให้รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมกับชาวบ้านโดยเร่งด่วน
3) ยุติการไล่รื้อชุมชนแออัด ตั้งคณะกรรมการที่ชุมชนมีส่วนร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดิน
4)ในกรณีพื้นที่ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้ราษฎรสามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทำกินเดิมได้ โดยมิให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด
5)ให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมในการแก้ไขปัญหาของ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีองค์ประกอบของตัวแทนรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับผู้แทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 30 วัน ภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
มาตรการระยะสั้น
1)จัดตั้งคณะกรรมการในรูปองค์กรอิสระ เพื่อดำเนินการตรวจสอบการถือครอง และทำประโยชน์ที่ดินของเอกชน บริษัทธุรกิจและนักการเมืองที่ถือครองที่ดินขนาดใหญ่ สัญญาเช่าสัมปทานที่ดินรัฐขนาดใหญ่ และเจ้าพนักงานที่ดินที่มีพฤติกรรมไม่เป็นกลาง
2)เพิกถอนที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ และและที่ดินที่เจ้าของทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ นำมาปฏิรูปการถือครองให้กับคนจนไร้ที่อยู่อาศัยและคนจนไร้ที่ดินทำกิน คุ้มครองและเคารพสิทธิขององค์กรชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนในสังคมท้องถิ่น โดยไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมบังคับและล่วงละเมิดสิทธิของสังคม ท้องถิ่น
3) ชะลอการประกาศเขตหรือการขยายเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายอื่นๆ จนกว่ากระบวนการตรวจสอบพิสูจน์รับรองสิทธิ์ของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากนโยบาย กฎหมายเหล่านี้จะแล้วเสร็จ
4)ประกาศ นโยบายหยุดการไล่รื้อชุมชนแออัด และตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการไล่รื้อชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาตามแนวนโยบายบ้านมั่นคง
5) ให้ร ัฐบาลมีคำสั่งยุติการดำเนินการผลักดันโครงการคาร์บอนเครดิต ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.)ที่จะนำพื้นที่สวนป่า ออป. ประมาณ ๒๐๐ แปลงเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑.๒ ล้านไร่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตามข้อตกลงการพัฒนากลไกแบบสะอาด (CDM) ในพิธีสารเกียวโต ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่สวนป่า ออป. หลายแห่งทับซ้อนหรือมีการปลูกสร้างทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานร่วม ดังนั้น รัฐบาลต้องดำเนินการเร่งรัดตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นให้แล้วเสร็จ จากนั้นให้นำที่ดินมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้กับประชาชนผู้เดือดร้อนต่อไป
มาตรการระยะยาว
1)ดำเนินการแก้ไข เพิกถอนหรือยกเลิกกฎหมายและนโยบาย มติ คำสั่ง ระเบียบข้อบังคับ และกลไกที่มีผลกระทบและปิดกั้นต่อสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมจัดการ ทรัพยากร และการเข้าถึงสิทธิในที่ดินของประชาชน อาทิพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ร.บ. สวนป่า และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นต้น
2)สร้างเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชน ให้ประชาชนเกิดการรวมกลุ่ม เข้ามามีส่วนร่วมในกลไกการกำหนดนโยบายด้านที่ดิน และแนวทางการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัฐเข้าถึงการตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินทุกระดับ
3) อุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรยากจนอย่างเต็มที่ โดยการยกเลิกหนี้สินอันเกิดจากนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐ สนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ประกันราคาพืชผลการผลิตให้คุ้มกับตันทุนการผลิตที่เกษตรกรต้องจ่ายไป ช่วยเหลือด้านการแปรรูปผลผลิตและสนับสนุนการขายผลผลิตในตลาดท้องถิ่น ยุติการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าเสรี ที่บีบให้เกษตรกรทำการผลิตภายใต้กลไกตลาดที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทธุรกิจส่งออก ขนาดใหญ่
4)การกำหนดมาตรการทางด้านกฎหมาย และนโยบายในการกระจายสิทธิการถือครองที่ดินอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยรับรองสิทธิการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน การกำหนดอัตราภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า การกำหนดเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม การจัดตั้งธนาคารที่ดิน อนุญาตให้ชุมชนแออัดที่อยู่อาศัยในที่ดินรัฐสามารถเช่าที่ดินเพื่อพัฒนาที่ อยู่อาศัยได้ 30 ปี
ธันวาคม 2551
เครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.