โฉนดชุมชนกับการปฏิรูปวิถีเกษตรกรรมไทย
ความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับเกษตรกรที่มีข้อพิพาทสิทธิที่ดินกับหน่วยงานรัฐ ด้วยการดำเนินนโยบายโฉนดชุมชนของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ผ่านมา ดูจะเป็นนโยบายที่ก้าวหน้าและโดนใจคนจนมากที่สุดนโยบายหนึ่ง โดยเฉพาะกับกลุ่มคนจนกว่า 3 ล้านคนที่ขาดแคลนที่ดินทำกินและรอคอยการแก้ไขปัญหามาแล้วหลายรัฐบาล
แต่พอความพยายามของนโยบายนี้เริ่มต้น กลับมีแนวโน้มว่าแนวความคิดแบบรัฐเดิมที่ต้องการรวมศูนย์อำนาจไว้เพราะไม่ไว้ใจประชาชนและมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะส่วน เพราะไม่ต้องการให้สะเทือนถึงเสถียรภาพ รัฐบาล ได้กลับกลายมาเป็นอุปสรรคในการทำงานผลักดันเรื่องโฉนดชุมชน ที่ต้องกลับมาถามรัฐบาลหนักๆ กันอีกครั้งว่า นโยบายโฉนดชุมชนยังคงมีเป้าหมายเพื่อกระจายการถือครองที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมอย่างที่เริ่มต้นไว้หรือเป็นเพียงนโยบายขายฝันทำไว้เล็กน้อยพอเป็นน้ำจิ้ม เพื่อให้สามารถกลับมาขายฝันต่อในสมัยหน้า
การสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรทั่วประเทศควรจะต้องถูกสรุปบทเรียนอย่างจริงจังจากรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โฉนดชุมชนเป็นหลักคิดในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ทั้งใน “ที่ดินชุมชน” ที่ เกษตรกรมีข้อพิพาทกับรัฐเรื่องกรรมสิทธิ์และต้องการให้รัฐรับรองสิทธิตามความชอบธรรม รวมไปถึงที่ดินเอกชนหรือที่ดินบุคคลที่เกษตรกรรายย่อยและชุมชนเมืองบางแห่ง สรุปบทเรียนแล้วว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินปัจเจกจะทำให้ชุมชนไปไม่รอด จึงต้องการใช้ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมเพื่อรักษาที่ดินของชุมชนไว้ไม่ให้ถูกนำมาเก็งกำไรหรือขายต่อ
ที่ ผ่านมาการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเกษตร โดยสนับสนุนระบบพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงานแบบเอียงกระเท่เร่หันขวาเข้าหาทุน ใหญ่ ได้ทำให้เกษตรกรรายย่อยและภาคเกษตรกรรมของไทยกลายเป็นภาคการผลิตที่เกือบจะ ต้องเรียกว่าพิการ เพราะไม่สามารถพึ่งพิงตนเองได้ ที่สำคัญ ปัจจุบันพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงานได้ดูดกลืนผืนดินแทบทุกตารางนิ้วของ พื้นที่ชนบท จนแทบจะไม่เหลือพื้นที่ไว้สำหรับระบบการผลิตพึ่งพิงตนเอง และเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ต้องการเข้าคิวเดินเข้าสู่ระบบคอนแทรค ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) เป็นลูกจ้างของบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่
เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยไม่ได้แยกแยะจัดสัดส่วนให้สมดุลระหว่าง การเติบโตของภาคเศรษฐกิจเกษตรขนาดใหญ่กับการดูแลปกป้องภาคเกษตรกรรมที่มีเกษตรกรรายย่อยกว่า 20 ล้านคนเป็นองค์ประกอบ ทำให้เกษตรกรรายย่อยแทนที่จะได้รับการสนับสนุนให้เข้มแข็งในระดับท้องถิ่น กลับถูกดูดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจส่งออก ตกเป็นเบี้ยล่างเพราะไม่เข้าใจระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ทุนใหญ่สามารถกำหนดราคาส่งออกและทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำได้
การสูญเสียที่ดินและการประกาศขายที่ดินของเกษตรกรรายย่อยในชนบทจึงกลายเป็นเรื่องยิ่งกว่าธรรมดา คาดว่าสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) รับทราบปัญหานี้ดี เพราะแม้แต่พื้นที่ ส.ป.ก. ก็ถูกขายสิทธิและยากเหลือเกินที่จะตรวจสอบและเรียกคืนได้
โฉนดชุมชนเป็นภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่ในชนบทที่คิดได้แล้วว่า ที่ดินเกษตรกรรายย่อยในชนบทไทยไม่ช้าจะต้องถูกขายทอดให้เป็นของบริษัทเกษตร ขนาดใหญ่ที่มีทุนมากพอ มีสายป่านยาวพอที่จะต้านทานราคาปุ๋ยยาที่สูงและราคาพืชผลที่ต่ำ ผู้รู้เหล่านี้จึงเสนอระบบกรรมสิทธิ์แบบใหม่เพื่อให้ชุมชนที่ประสงค์จะดูแลพื้นที่เกษตรในชุมชนให้เป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกรรายย่อยต่อไป จัดทำโฉนดชุมชนร่วมกัน เข้าใจว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเสนอให้รัฐบาลจัดทำโฉนดชุมชนอย่างจริงจังตามนโยบายที่กล่าวไว้
ในความหมายข้างต้นนี้โฉนดชุมชนจึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ที่ดินของรัฐ แต่ยังหมายถึงที่ดินแปลงใดก็ตามที่เกษตรกรรายย่อยหรือคนในชุมชนเมือง ซึ่งประสงค์ร่วมกันจะทำโฉนดชุมชนเพื่อคุ้มครองชุมชนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือมีระบบกรรมสิทธิ์ร่วม โดยชุมชนกำหนดเจตนารมณ์อย่างชัดเจนร่วมกันว่าไม่ต้องการที่จะขายที่ดินให้กับนายทุนข้างนอก
ทั้งนี้การที่สมาชิกชุมชนหรือองค์กรชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเจตนารมณ์ การใช้ที่ดินของคนในชุมชน ยังจะสามารถก้าวไปได้ไกลถึงการสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้สมาชิกชุมชนทำระบบการ เกษตรที่ยั่งยืนและสมดุลได้อีกด้วย ขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันขององค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐในการสร้างความเข้าใจและสนับสนุนให้ต่อเนื่อง
ในกรณีหากคนในชุมชนต้องการขายที่ดิน เนื่องจากมีอายุขัยเลยวัยทำการเกษตรหรือเดือดร้อนจริงๆ ก็สามารถขายที่ดินให้กับธนาคารที่ดินชุมชนได้ เพื่อให้ที่ดินได้ถูกหมุนไปสู่การใช้ประโยชน์โดยเกษตรกรรายอื่นในชุมชนต่อไป ในความหมายเช่นนี้ โฉนดชุมชนจึงมีความหมายกว้างขวางมาก ทั้งในแง่ของการรับรองสิทธิที่ดินอันชอบธรรมของเกษตรกรในที่ดินรัฐ การคุ้มครองรักษาที่ดินเอกชนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในชุมชนที่พร้อม การกระจายการถือครองที่ดินจากคนที่ไม่ต้องการใช้ประโยชน์ไปสู่คนที่ต้องการ และการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปที่ดิน
เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ รัฐบาลจึงต้องเข้าใจโครงสร้างของปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกันในภาพใหญ่ จะไม่ดีกว่าหรือ หากรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่รัฐและถือโอกาสสร้างเงื่อนไขที่สามารถคุ้มครองรักษาพื้นที่เกษตรกรรมในที่ดิน เกษตรกรทั่วไปที่มีความพร้อมได้ในคราวเดียวกัน
การทำงานของรัฐบาลที่มุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะส่วนของเกษตรกร อาทิเช่น ปุ๋ยและยาราคาแพงต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตต่ำไม่คุ้มทุน หนี้สินเกษตรกร การขายที่ดินให้กับนายทุน เช่าที่ดินของนายทุนและเป็นลูกจ้างทำกิน โดยละเลยโครงสร้างของปัญหาในภาพรวม น่าจะมีบทเรียนพอสมควรแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรทั้งระบบได้
ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะมองเห็นภาพรวมของปัญหาที่ดินและปัญหาภาคเกษตรกรรม ซึ่ง เชื่อมโยงกันและใช้นโยบายโฉนดชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคำว่า “โฉนดชุมชน”
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์
กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.