การลดราคารับจำนำข้าวของรัฐบาล จากเกวียนละ 15,000 บาท เหลือเกวียนละ 12,000 บาท ด้วยเหตุผลเพื่อความสมดุลทางงบประมาณ ที่จะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ อาจจะทำให้ชาวนาหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง อยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก อาจจะต้องเจอกับสภาพที่ขาดทุนการผลิตมากกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะต้นทุนการผลิตจำพวก ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าเช่านา รวมไปถึงอาหารการกินที่ชาวนาภาคกลาง ต้องพึ่งพาจากตลาด ได้ทยอยขึ้นราคาตามโครงการรับจำนำข้าวมาหลายเดือนแล้ว เมื่อรัฐบาลมีนโยบายปรับลดราคารับจำนำข้าวลง ต้นทุนการผลิตเหล่านี้ไม่ได้ลดราคาตามลงมาด้วย ประกอบกับที่รัฐบาล ไม่ได้มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่จะช่วยเหลือ ในการลดต้นทุนการผลิตดังกล่าวให้กับชาวนา ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ชาวนาจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระผลกระทบจากการสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตเหล่านี้ด้วยตนเอง
ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ปัญหาหนี้สิน และการสูญเสียที่ดิน ปัญหาเรื้อรังของชาวนาที่ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดงานศึกษาของกลุ่มองค์กรชาวนา ร่วมกับนักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำงานศึกษาสถานภาพการถือครองที่ดิน ปัญหาหนี้สิน และความมั่นคงทางอาหารของชาวนาภาคกลางและชาวนาภาคใต้ ในพื้นที่จังหวัดอยุธยา เพชรบุรี และจังหวัดตรัง เพื่อดูแนวโน้มการสูญเสียที่ดิน การสูญเสียความมั่นคงทางอาหารทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพของชุมชนชนบท โดยเฉพาะการสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร อันเนื่องมาจากการสูญเสียฐานทรัพยากร ที่ดิน แหล่งน้ำ ที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะได้ทยอยเขียนมาเล่าให้ฟังตามลำดับ
ในพื้นที่จังหวัดอยุธยา ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ เพราะตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการทำนาเพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาหารและพืชเศรษฐกิจหลักของคนไทยมาช้านาน แต่อยุธยาในวันนี้เปลี่ยนไปมากจนผู้เขียนคาดไม่ถึง ชาวนาในอยุธยาปัจจุบันไม่ได้ทำนาบนผืนดินของตนเอง แต่ต้องเช่าที่ดินคนอื่นทำนาเสียเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ทำนากว่า 72 เปอร์เซ็นต์ หรือ 833,049 ไร่ เป็นนาเช่าหรือพื้นที่เกษตรให้เช่าทั้งสิ้น ชาวนาเช่าส่วนใหญ่เล่าว่า ต้องเช่าที่ดินคนอื่นทำนามานานแล้ว ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ จนมาถึงรุ่นของตนเอง ในขณะที่ชาวนาเช่าจำนวนหนึ่ง เพิ่งสูญเสียที่ดินไปในรุ่นของพ่อแม่นี้เอง สาเหตุหลักมาจากปัญหาหนี้สิน ที่พ่อแม่ไม่สามารถชำระคืน ซึ่งเจ้าของเงินกู้ มักให้ชาวนาทำสัญญากู้เงินแบบโอนลอยที่ดิน มอบเอกสารที่นาไว้ให้กับเจ้าของเงินกู้ตั้งแต่ตอนกู้เงิน เมื่อชาวนาไม่สามารถใช้หนี้ได้ตามกำหนด จึงสูญเสียที่นาให้กับเจ้าของเงินกู้ไป
ในชุมชนที่ศึกษา ชาวนา 85 เปอร์เซ็นต์ ต้องเช่าที่นาคนอื่นเพื่อทำนา สาเหตุของการเช่าที่นามีหลากหลาย แต่หลักใหญ่ใจความคือ ไม่มีที่นาเป็นของตนเองแล้ว (58 เปอร์เซ็นต์) และมีที่ดินไม่เพียงพอต่อการทำนา (42 เปอร์เซ็นต์) ชาวนาเหล่านี้ ไม่ได้เพิ่งเช่าที่นาเพื่อทำนา ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ชาวนาในจังหวัดอยุธยา สูญเสียที่ดินมาแล้วตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ และรุ่นพ่อแม่ ชาวนาในรุ่นปัจจุบันตั้งแต่เกิดมา จึงพบว่าพ่อแม่ของตนเองเช่าที่นาคนอื่นทำนาอยู่แล้ว
ชาวนาในรุ่นปัจจุบัน เช่านาโดยเฉลี่ย 22 ไร่ มีทั้งรายที่เพิ่งเช่านาคนอื่นทำได้เพียง 2 ปี และรายที่เช่าต่อเนื่องยาวนานถึง 40 ปี เจ้าของนาผู้ให้เช่าโดยส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนในชุมชน แต่เป็นคนในเมืองอยุธยา คนจากจังหวัดอื่น และคนในกรุงเทพฯ ที่มีเงิน และต้องการซื้อที่ดินเก็บไว้ ที่นาในอยุธยาจึงเป็นของคนต่างถิ่นจากหลากหลายพื้นที่ ชาวนาโดยส่วนใหญ่มักไม่รู้จักและไม่มีโอกาสได้พบเจอกับเจ้าของที่นาที่ตนเองเช่าอยู่ เพราะเจ้าของนามักให้นายหน้าในชุมชน ซึ่งมีอยู่เพียง 2-3 ราย เป็นคนประสานงานเรื่องเงื่อนไขในการเช่านา และค่าเช่านาแทน
ตั้งแต่มีโครงการรับจำนำข้าว เจ้าของนามักจะเรียกเก็บค่าเช่านาเป็นเงินสด โดยคิดค่าเช่านาเป็นอัตราข้าวที่ต้องการในพื้นที่ 1 ไร่ ต่อ 1 ปี ค่าเช่านาในแต่ละแปลง ราคาจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพพื้นที่นา ถ้าเป็นนาในที่ราบลุ่มให้ผลผลิตดี มีคลองชลประทาน หรือที่เรียกกันว่า นาเอก ค่าเช่านาก็อาจจะสูงขึ้นได้ถึง ไร่ละ 20 ถัง หรือ 25 ถัง หากเป็นนาโท หรือนาที่ให้ผลผลิตไม่ดี สภาพพื้นที่ไม่ดี หรืออยู่ใกล้น้ำเค็ม ค่าเช่านาก็อาจจะลดราคาเหลือเพียงไร่ละ 15 ถัง โดยรวมแล้วชาวนาอยุธยาจึงต้องจ่ายค่าเช่านา ในอัตราที่แตกต่างกันไป หากราคาค่าเช่านาคิดไร่ละ 15 ถัง ชาวนาจะต้องจ่ายค่าเช่านาให้เจ้าของนาไร่ละ 1800 บาท โดยคำนวณจากราคารับจำนำข้าว ซึ่งโดยเฉลี่ยชาวนาในภาคกลางได้รับหลังหักค่าความชื้นแล้วคือเกวียนละ 12,000 บาท หรือ กิโลกรัมละ 12 บาท หรือหากคิดราคาค่าเช่านาไร่ละ 20 ถัง และ 25 ถัง ชาวนาก็จะต้องจ่ายค่าเช่านา ไร่ละ 2400 บาท และ 3000 บาท ตามลำดับ ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะหากชาวนาต้องเช่าที่นา 22 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เฉลี่ยที่ชาวนาอยุธยาเช่า ค่าเช่านาที่ต้องจ่ายต่อปี คือ 66,000 บาท ค่าเช่านาจึงเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน
การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับชาวนา ซึ่งเป็นคนหมู่มากของประเทศและอยู่ในสถานะที่ยากจน ลำพังโครงการรับจำนำข้าวที่มีอยู่ จึงไม่เพียงพอ และหากไม่ละเอียดถี่ถ้วนจะสร้างปัญหาเพิ่มให้กับชาวนา ดังที่ทำให้ตันทุนการผลิตสูงขึ้นแต่ไม่มีมาตรการรองรับเช่นที่เป็นอยู่ แม้การรับจำนำข้าวจะทำให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้นและมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น แต่นั่นจะไม่ได้ทำให้ชาวนามีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลเองน่าจะรู้ข้อนี้ดี เพราะปัญหาด้านนโยบายหรือปัญหาทางโครงสร้าง ที่จะทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของชาวนาโดยส่วนใหญ่ดีขึ้นยังไม่ได้ถูกแก้ไข ปัญหาเหล่านั้นคือปัญหาชาวนาไม่มีที่นา ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญเป็นของตนเอง รวมไปถึงปัจจัยการผลิตอื่นที่จำเป็น ที่ทำให้ชาวนาต้องยอมจำนนกับสภาพต้นทุนการผลิตที่สูงต่ำขึ้นลง ตามราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์ ค่าจ้างรถไถและรถเกี่ยวข้าว รวมถึงดอกเบี้ยเงินลงทุนทำนา ที่ล้วนถูกกำหนดโดยนายทุนภายนอกทั้งสิ้น
เช่นนี้แล้ว คงพอมองเห็นภาพว่าปัญหาของชาวนาผู้เช่าในเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ จะไม่ได้ถูกเยียวยาแก้ไขให้ดีขึ้นจากยาเม็ดเดียวของโครงการรับจำนำข้าว
เขียนโดย
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.