แม้มาตรการช่วยเหลือชาวนาของ คสช. ด้วยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการบริษัทเมล็ดพันธุ์ และบริษัทปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนการผลิตของชาวนาลง 582 บาทต่อไร่ จะเป็นมาตรการที่น่าสนใจ และน่าติดตามผลในการปฏิบัติบังคับใช้ แต่สำหรับชาวนาอีกกลุ่มหนึ่ง ที่กำลังเผชิญกับภาวะหนี้ท่วมและกำลังจะสูญเสียที่ดิน พวกเขาอาจจะไม่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้ก็เป็นได้
ในงานศึกษาของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน พบว่าชาวนาในพื้นที่ชลประทาน จังหวัดชัยนาท มีหนี้สินเฉลี่ยสูงถึง 555,404 บาทต่อครัวเรือน หนี้สินของชาวนาในพื้นที่ชลประทาน จะสูงกว่าชาวนานอกเขตชลประทาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ทำนาแบบเข้มข้น ชาวนาทำนามีเป้าหมายเพื่อขายและส่งออกเป็นหลัก จึงกู้หนี้เพื่อลงทุนทำนามากกว่าชาวนานอกเขตชลประทาน
หนี้เฉลี่ยห้าแสนกว่าบาทนั้น คิดเป็นเงินต้นจากการกู้ยืม 323,649 บาท หรือร้อยละ 60 อีกกว่าร้อยละ 40 หรือประมาณ 233,209 บาท เป็นดอกเบี้ยและค่าปรับที่เพิ่มขึ้น จากจำนวนปีที่ชาวนาไม่สามารถชำระคืนหนี้สินได้
นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวนาภาคกลางสูญเสียที่ดิน ข้อมูลนี้ไม่แตกต่างจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2551 ที่ระบุว่าเกษตรกรร้อยละ 70 ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ที่ดินติดจำนอง และเช่าที่ดินทำการเกษตร (อ้างในรายงานโครงการวิจัยเพื่อการปฏิรูปกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล)
แหล่งเงินกู้ หรือสถาบันการเงินที่ชาวนากู้ยืมมีทั้งหมด 8 แหล่งด้วยกัน คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์การเกษตร ธนาคารพาณิชย์เอกชน นายทุนหนี้นอกระบบ ร้านค้าปุ๋ยและสารเคมี ญาติพี่น้อง และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดย ธกส.คือแหล่งเงินกู้รายใหญ่สุด ดังที่ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธกส.ทั้งสิ้น 5,473,804 ราย (รายงานความก้าวหน้าโครงการวิจัยนโยบายภาครัฐและบทบาทของสถาบันการเงิน ต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย)
เกษตรกรในจังหวัดชัยนาทในพื้นที่ศึกษาร้อยละ 54 มีหนี้สินกับ ธกส. เฉลี่ย 261,623 บาท ต่อครอบครัว จำนวนปีที่กู้ยืมมาแล้วเฉลี่ย 11 ปี รองลงมาร้อยละ 43 และร้อยละ 30 มีหนี้สินกับกองทุนหมู่บ้าน และธนาคารพาณิชย์เอกชน ในขณะที่เกษตรกรเป็นหนี้นอกระบบเฉลี่ยครอบครัวละ 191,916 บาท ในรายที่มากที่สุดคือ 750,000 บาท
โดยสาเหตุหลักของการกู้หนี้ ร้อยละ 98 นำมาใช้เพื่อซื้อปัจจัยในการเพาะปลูก ซื้ออุปกรณ์การผลิต ใช้หนี้เก่า ใช้จ่ายในครอบครัว อาทิ ค่าเล่าเรียนลูก ค่ารักษาพยาบาล และซ่อมแซมบ้านเรือน ที่สำคัญเกษตรกรร้อยละ 54 และร้อยละ 66 ไม่ได้เข้าร่วมโครงการขึ้นทะเบียนคนจน (แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ) และโครงการพักชำระหนี้ของ ธกส. ในขณะที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 33 และ ร้อยละ 24 ตอบว่าทั้งสองโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรไม่ได้ ชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงโครงการช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของรัฐบาล และเกษตรกรอีกจำนวนหนึ่ง แม้เข้าร่วมโครงการก็มีความเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
จากงานศึกษา มูลเหตุแห่งหนี้ของเกษตรกร มาจากสาเหตุหลัก 4 ประการ ประการแรกเกี่ยวเนื่องกับการที่เกษตรกรไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต หรือปัจจัยการเพาะปลูก ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงและต้องพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกมาก เช่น ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง ในพื้นที่ศึกษา มีเกษตรกรร้อยละ 20 สูญเสียที่ดินไปในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา โดยร้อยละ 70 สูญเสียที่ดิน 1 แปลง ร้อยละ 30 สูญเสียที่ดิน 2-3 แปลง ที่ดินที่ถูกขายเฉลี่ยอยู่ที่ 11-20 ไร่ ร้อยละ 87 ในจำนวนนี้ ตอบว่าจำเป็นต้องขายที่ดินเพื่อปลดหนี้ ส่วนปัจจัยการเพาะปลูกอื่นที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ แต่ต้องซื้อและพึ่งพาจากภายนอก คือ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการจ้างแรงงานต่างๆ
มูลเหตุหนี้ประการที่สองมาจากผลกระทบจากภัยธรรมชาติ การกู้หนี้ของเกษตรกรจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นทันที เมื่อเกษตรกรประสบกับภาวะวิกฤตได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง โรคแมลงระบาด ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเสียหายต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี ทำให้ชาวนาต้องกู้ยืมหนี้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงไม่สามารถชำระหนี้คงค้างที่มีอยู่
มูลเหตุประการที่สามมาจากปัจจัยทางสังคม ความเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกร ที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เกษตรกรในพื้นที่ศึกษาจังหวัดชัยนาทมีอายุเฉลี่ย 57 ปี ไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง ไม่รู้หนังสือ ถูกโกงและถูกเอาเปรียบจากนายทุนเงินกู้หนี้นอกระบบ ในขณะที่ลูกหลานไม่ต้องการสานต่ออาชีพชาวนา รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่สูง คือเฉลี่ยเดือนละ 10,557 บาท ต่อครอบครัว ในจำนวนนี้ร้อยละ 41 เป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ในขณะที่ชาวนาร้อยละ 73 ตอบว่าต้องซื้อข้าวสารกินในปริมาณปานกลางถึงมาก
มูลเหตุสุดท้ายประการที่สี่ คือการที่เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายรัฐและสถาบันการเงิน มีหลายโครงการที่ภาครัฐสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าร่วมโดยกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนการผลิต แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายเกษตรกรกลายเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงและรับภาระหนี้จากความล้มเหลวในการผลิตในโครงการที่รัฐส่งเสริมเหล่านั้น เช่น โครงการส่งเสริมการเลี้ยงวัว โครงการส่งเสริมการปลูกไผ่ โครงการลดพื้นที่ทำนาหันมาทำไร่นาสวนผสม และอื่นๆ ที่มากกว่านั้นก็คืออัตราดอกเบี้ยสูงที่เกษตรกรต้องจ่าย หากผิดนัดชำระหนี้ หรือถูกปรับลดระดับชั้นลูกค้า ทำให้เกษตรกรแบกรับภาระหนี้และดอกเบี้ยไม่ไหว บางรายหันไปพึ่งเงินหมุนจากหนี้นอกระบบ และจบลงด้วยการขายที่ดินและทรัพย์สินเพื่อใช้หนี้
ภาวะหนี้สินและมูลเหตุหนี้ทั้งสี่ประการนี้ กำลังส่งผลให้ชาวนาสูญเสียที่ดินมากขึ้น ปัญหาการสูญเสียที่ดินของชาวนาเกี่ยวโยงอย่างสำคัญกับปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความมั่นคงทางอาหารของคนในสังคม และทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย
หากเราเล็งเห็นว่า ปัญหาหนี้สินที่กำลังส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของชาวนาเป็นประเด็นสำคัญ นอกจากมาตรการการลดต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือให้ชาวนาบางกลุ่มมีลมหายใจเดินหน้าต่อไปได้แล้ว อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือชาวนาอีกกลุ่ม ที่กำลังมีหนี้ท่วมท้น เสมือนการห้ามเลือดที่ไหลออกไม่หยุด เพื่อให้ชาวนากลุ่มนี้ สามารถมีชีวิตรอดต่อไปได้เช่นกัน ต่างกันตรงที่ว่า ในชาวนากลุ่มหลังนี้ อาจจะต้องใช้ยาแรง เพื่ออุดรูรั่วขนาดใหญ่ที่ปล่อยเอาไว้นานมาแล้วเท่านั้นเอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.