รัฐบาลเดินหน้ายกระดับแผนบริหารจัดการที่ดินเป็นนโยบายระดับประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพใช้ที่ดิน สผ.คาดชงร่างนโยบายและแผนบริหารจัดการที่ดิน กำหนด 4 ยุทธศาสตร์หลักเสนอ ครม.พิจารณาได้ภายใน ก.พ.นี้ ด้านสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเสนอ ควรเปิดโอกาสให้เอกชนพัฒนาที่อยู่อาศัย-อุตสาหกรรมได้มากขึ้น
นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 14 ตุลาคมปีที่ผ่านมา กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2557 หรือ คทช. มีอำนาจจัดทำร่างนโยบายและแผนบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ การจัดทำร่างนโยบายและแผนฯจะแล้วเสร็จนำเสนอ ครม.ได้ใน ก.พ.นี้ วัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินให้เป็นแนวทางเดียวกัน
สำหรับการจัดร่างนโยบายและแผนฯ เพื่อแก้ปัญหาที่ดินและทรัพยากรดินที่ไม่เกิดประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยวางกรอบยุทธศาสตร์แก้ปัญหา 4 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ด้านการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน 2.ยุทธศาสตร์ด้านการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรม 3.ยุทธศาสตร์ด้านการจัดที่ดินให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และ 4.ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
ทั้งนี้ คทช.มีมติเห็นชอบในหลักการให้นำร่างยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เป็นกรอบการจัดทำร่างนโยบายและแผนฯ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนโยบายที่ดินแห่งชาติทบทวนร่างยุทธศาสตร์ ให้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ
นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีงบประมาณกว่า 4 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 70% เป็นการพัฒนาระบบราง สร้างรถไฟฟ้า รถไฟเชื่อมต่อระหว่างเมืองและเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต นับเป็นรอยต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่
จากนโยบายการลงทุนรถไฟฟ้าทำให้ราคาที่ดินแพงขึ้นเร็ว ย่านเพลินจิตราคาที่ดินเสนอขายตารางวาละ 2 ล้านบาท ที่ดินย่านสาทรและบางรักเสนอขายตารางวาละ 1.5 ล้านบาท ที่ดินใกล้รถไฟฟ้าถนนสุขุมวิทช่วงต้นไม่เกินซอยสุขุมวิท 55 เสนอขายตารางวาละกว่า 1 ล้านบาท ส่วนที่ดินในเมืองทั่วไปปัจจุบันราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 1 แสนบาท ส่งผลให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยมีต้นทุนสูงขึ้น เช่น ราคาทาวน์เฮาส์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อ 5-6 ปีก่อนราคายูนิตละ 1-2 ล้านบาท ปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ส่วนราคาคอนโดมิเนียมย่านชานเมืองที่อยู่ห่างจากการพัฒนาระบบราง มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 20 ตารางเมตร ปัจจุบันราคายูนิตละเกือบ 1 ล้านบาท
"มีความเห็นว่าการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือประชาชนจะต้องมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เมื่อที่ดินมีสาธารณูปโภคครบครันแล้ว ควรเปิดโอกาสให้พัฒนาได้ทั้งที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมได้มากขึ้น เพราะเมื่อเอกชนเข้ามาพัฒนาแล้วก็จะลดภาระรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเข้ามาพัฒนาเพิ่ม" นายอิสระกล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 9 ก.พ. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.