เล็งพื้นที่กาญจนบุรีกว่า 7 แสนไร่ ระบุนอกเขตชลประทานส่งเสริมให้ปลูกพืชตระกูลถั่ว พร้อมหามาตรการส่งเสริมปลูกข้าวพันธุ์ดีมากขึ้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปริมาณข้าว 17 ล้านตัน ที่มีอยู่ในสต็อกรัฐบาลจะต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปีในการระบายข้าวให้หมด และสต็อกข้าวที่มีอยู่กดดันราคาราคาข้าวให้อยู่ที่ตันละ 8,000 - 9,000 บาท รัฐบาลจึงต้องหาแนวทางในการดูแล โดยจะไม่หาทางทำเพื่อแก้ไขราคาข้าว แต่จะแก้ไขปัญหาให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น
รัฐบาลมีแผนที่จะลดพื้นที่ปลูกข้าวลงให้ได้ประมาณ 1 ล้านไร่ โดยจูงใจให้ชาวนาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ และในช่วงเดือนมี.ค.ที่จะถึงนี้ จะลงไปหารือกับกลุ่มชาวนาหารือถึงแนวทางเพิ่มรายได้ โดยมีแผนที่จะจูงใจให้ชาวนาหันไปปลูกอ้อยแทนข้าวในพื้นที่ภาคกลาง เพราะจากการคาดการณ์ราคาผลผลิตทางการเกษตรในปี 2558 อ้อยจะสามารถขายได้ราคาดีที่สุด โดยตามแผนได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพาะปลูกบริเวณจ.กาญจนบุรี ประมาณ 700,000 ไร่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวยังมีโรงงานน้ำตาลจำนวนมากที่สามารถรองรับผลผลิตอ้อยที่จะปลูกเพิ่มเติมได้ทั้งหมด
"ในปี 2558 มีแค่อ้อยอย่างเดียวที่ขายออกแน่ และพอไปดูอ้อย ก็พบว่า ที่กาญจนบุรี โรงงานมีมากกว่าพื้นที่ปลูก จึงรองรับได้ทั้งหมด และที่ผ่านมาก็ได้ขีดเส้นตำบล อำเภอไว้แล้ว มีพื้นที่ประมาณ 7 แสนไร่ ที่สามารถเปลี่ยนจากข้าวมาปลูกอ้อยได้ โดยยืนยันว่า มีคนซื้อแน่นอน ขณะที่รัฐเองจะสนับสนุนพันธุ์ที่มีคุณภาพให้ด้วย ซึ่งแผนนี้จะเริ่มในนาปี 2558 นี้เลย"ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
การแก้ปัญหาของชาวนารายย่อยที่อยู่นอกเขตชลประทาน และประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำ ซึ่งกลุ่มนี้พบว่า มีอยู่ประมาณ 2 ล้านไร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่มีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ รัฐบาลจะหมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ไปชี้แจงทางเลือกให้กับชาวนา หากใครต้องการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น ปลูกดอกดาวเรืองที่เป็นที่นิยมในพื้นที่ หรือปลูกพืชตระกูลถั่ว ก็สามารถเปลี่ยนใจมาปลูกได้ตามความสมัครใจ โดยรัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนพันธุ์พืชที่เหมาะสมให้
สำหรับชาวนาที่ปลูกข้าวขาวคุณภาพต่ำ รัฐมีแนวทางส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวคุณภาพดีทดแทน เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเสาไห้ ซึ่งรัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนพันธุ์ให้เช่นเดียวกัน คาดว่างบประมาณที่ใช้จะมีจำนวนไม่มาก หากเทียบกับการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมาหลายแสนล้านบาท และถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวนาเพิ่มขึ้นและก้าวข้ามปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือได้ครอบคลุมกับความต้องการทั้งหมด และรัฐเองก็ไม่ได้บังคับแต่จะให้ชาวนาสมัครใจด้วยตัวเอง
“ต่อไปรัฐจะบอกชาวนาและวางแผนร่วมกันว่า ต่อไปหากปลูกข้าวพันธุ์ไหนแล้วขายได้ราคาดี ตลาดต้องการข้าวประเภทไหน เท่าไหร่ เพื่อจะเป็นทางเลือกได้ให้ชาวนาปลูกข้าวได้ตรงความต้องการ และหากทำได้จริง ทั้งแผนลดพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น และเปลี่ยนมาปลูกข้าวพันธุ์ดีจะลดพื้นที่ปลูกข้าวได้ประมาณ 1 ล้านไร่ซึ่งการลดพื้นที่เพาะปลูกลงจะส่งผลให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 ม.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.