"ที่ผ่านมาเรามักแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ปลายเหตุ โดยมองความสามารถในการหารายได้ผ่านนโยบายประชานิยมเป็นหลัก ซึ่งท้ายที่สุด ไม่ช่วยให้เกิดความยั่งยืน"
สืบเนื่องจากกรณีของการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีมรดก ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากแล้วนั้น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2557 นี้ ขณะที่ฝ่ายนักวิชาการเเละภาคประชาชนบางส่วนต่างมีความเห็นให้ควรผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินเเละสิ่งปลูกสร้างฯ ที่มีทีท่าจะถูกดอง
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หากวัดน้ำหนักกันแล้ว ‘ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ มีความสำคัญมากกว่า ‘ภาษีมรดก’ เพราะภาษีที่ดินฯ ไม่เพียงสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นเท่านั้น ยังเป็นกลไกที่ช่วยกำกับดูแลการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยเติมเต็มกับภาษีของประเทศในการเรียกคืนผลประโยชน์และการบริการสาธารณะในพื้นที่กลับมา เพื่อนำไปการพัฒนาประเทศต่อไป
“ปัจจุบันยังมองไม่เห็นภาพการปฏิรูปเรื่องภาษีที่ดินฯ เพราะอาจเกิดจากกระแสการผลักดันภาษีมรดก ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าว และว่า ภาษีที่ดินฯ นับเป็นระบบและกลไกที่ขาดหายไปตลอดการกระจายอำนาจที่ผ่านมา จึงคาดหวังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น
สำหรับรูปแบบการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ศ.ดร.สกนธ์ ระบุว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2520 มีการเรียกเก็บภาษีจากมูลค่าของที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยใหญ่ในการเพิ่มขึ้นของบริการสาธารณะหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นำมาพัฒนาระบบบริการสาธารณะให้กับประชาชน ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน อาคารโรงเรือนต่าง ๆ ต้องเสียภาษีทั้งหมด
ทั้งนี้ โดยการประเมินจากโครงสร้างภาษีที่กำหนดไว้ในกฎหมาย การประเมินดังกล่าวถือว่าเป็นช่องโหว่ของการทุจริต และนำไปสู่การหลบเลี่ยงภาษีได้ง่าย อีกทั้งกฎหมายปัจจุบันยังเก่าแก่สมควรที่จะยกเลิกและร่างขึ้นมาใหม่ เพื่ออุดช่องโหว่ในการทุจริตคอร์รัปชันทั้งหมด
'กระจายอำนาจ' ต้องเดินหน้าต่อ
ศ.ดร.สกนธ์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน จะต้องไม่มองเฉพาะด้านอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม แต่จำเป็นต้องมองทุกอย่างให้เป็นองค์รวมอย่างบูรณาการเชิงนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงให้เกิดขึ้น มิฉะนั้นอาจประสบปัญหาดังกรณีเหตุการณ์อุทกภัย ปี 2554 ที่มุ่งประเด็นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก แต่สุดท้ายกลับนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชุมชน
“ขณะนี้ถือเป็นจังหวะเหมาะสมที่รัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เราต้องออกแบบนโยบายของส่วนราชการที่ให้ความสำคัญกับบริบทพื้นที่ระดับชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ผ่านการมองข้ามโครงสร้างในองค์กรของตนเอง” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าว
ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยังแก้ไขไม่ได้นั้น ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวว่า เกิดจากหลายปัจจัย เช่น สิทธิการถือครองที่ดิน ความสามารถเข้าถึงแหล่งทุน การเพิ่มศักยภาพของประชาชนในการหารายได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เรามักแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ปลายเหตุ โดยมองความสามารถในการหารายได้ผ่านนโยบายประชานิยมเป็นหลัก ซึ่งท้ายที่สุด ไม่ช่วยให้เกิดความยั่งยืน
พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่าง โครงการรับจำนำข้าว เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาปลายเหตุด้านรายได้ ทั้งที่ในเมื่อราคาผลผลิตปรับตัวสูงขึ้นยาก รัฐบาลก็ควรหันมาส่งเสริมการลดต้นทุนมากกว่า ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ต้องระมัดระวัง เพราะนโยบายประชานิยมเป็นเพียงการหวังผลระยะสั้นอันฉาบฉวย ส่วนความยั่งยืนไม่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
“การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องไม่มองในแง่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาควบคู่กับคุณภาพชีวิต ประชาชนมีความสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยที่ภาครัฐมีหน้าที่ในการสนับสนุนและส่งเสริมมากกว่าจะดำเนินงานเองทั้งหมด”
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นด้วยว่า ถือเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานให้เกิดความยั่งยืน เพราะหากไม่กระจายอำนาจลงไป แต่ใช้ระบบการจัดการส่วนกลางที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ การคาดหวังให้ประชาชนดูแลตนเองและมีความเข้มแข็ง ตลอดจนการสร้างความรับผิดรับชอบระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นกับประชาชนจะขาดหายไป
"ปัจจุบันภาครัฐไม่อาจปฏิเสธหลักการกระจายอำนาจไปได้ จำเป็นต้องเดินหน้าต่อ เพียงแต่จะมาออกแบบหลักการจัดการ และการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของประชาชนกันอย่างไร เพื่อเข้ามาทำหน้าที่กำกับตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ"
ศ.ดร.สกนธ์ ยังระบุถึงข้อกังวลทุจริตคอร์รัปชันจะมีมากขึ้นนั้น ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต้องยอมรับว่า การกระจายอำนาจที่ผ่านมาเกิดขึ้นเร็ว ทำให้ส่วนราชการไม่มีการเตรียมตัวรองรับ จนส่งผลให้เกิดช่องว่างและการทุจริตคอร์รัปชันขึ้น แต่หากให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบ พร้อมกับสื่อมวลชนที่กว้างขวางขึ้น จะเกิดการตรวจจับขึ้นทันที ถือเป็นการช่วยป้องกันได้อีกทางหนึ่ง...
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 1 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.