3 สมาคมชาวนารุมสับมาตรการยกระดับราคาข้าวเปลือกรัฐ ชี้ "ฝนตกไม่ทั่วฟ้า" ให้จำนำยุ้งฉางได้เฉพาะข้าวหอมมะลิ-ข้าวเหนียว ส่วนข้าวขาวไล่ให้ไปกู้ ธ.ก.ส.กลายเป็นหนี้ก้อนใหม่ หวั่นถูกกดราคารับซื้อข้าวเปลือก ด้าน "บิ๊กตุ๊" ฉัตรชัย เรียกประชุมโรงสี-ผู้ส่งออกอาทิตย์หน้า หากราคาข้าวไม่ขยับเตรียมงัดาตรการทางกฎหมายเข้าจัดการ
คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา "อนุมัติ" มาตรการช่วยเหลือยกระดับราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/2558 ด้วยการ 1)ขยายวงเงินในมาตรการให้ความช่วยเหลือชาวนาที่นำข้าวมาเข้าสู่โครงการรับ จำนำยุ้งฉางจาก 80% เป็น 90% โดยชาวนาที่นำข้าวหอมมะลิเข้าจำนำยุ้งฉางสามารถขอเงินกู้จากธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ตันละ 15,400 บาท ส่วนข้าวเหนียวได้ตันละ 11,700 บาท โดยแต่ละรายสามารถจำนำได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อครัวเรือน หรือ 20 ตัน มีกำหนดระยะเวลา 4 เดือนจากพฤศจิกายน 2557-กุมภาพันธ์ 2558 คาดว่าจะมีข้าวร่วมโครงการ 2 ล้านตัน และ 2)อนุมัติสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรสามารถขอกู้จาก ธ.ก.ส.ได้อีกไร่ละ 2,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 2 เดือนนับจากเดือนพฤศจิกายน 2557 โดยรัฐบาลประมาณการว่า วงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการโครงการนี้รวมทั้งสิ้น 5,980.16 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะจ่ายค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือกเกษตรกรเป็นเงินจ่ายขาด 3,000 ล้านบาท กับวงเงินชดเชยต้นทุนเงินที่ต้องขออนุมัติเพิ่มเติมอีก 2,980.16 ล้านบาท ส่วนวงเงินสินเชื่อที่ใช้จะเป็นเงินจาก ธ.ก.ส. 52,454 ล้านบาท
พล.อ.ฉัตร ชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากที่มาตรการนี้มีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงพาณิชย์จะเรียกผู้ประกอบการโรงสี-ผู้ส่งออกข้าวมาหารือในสัปดาห์หน้า เพื่อกำชับให้แต่ละฝ่ายช่วยกันยกระดับราคาข้าวเปลือกภายในประเทศ หากยังไม่สามารถยกระดับราคาได้ "อาจจะ" มีความจำเป็นต้องพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่เข้าไปดำเนินการว่า "จะทำอย่างไร" การดูแลราคาข้าวควรให้แต่ละฝ่ายไปกำหนดราคา มาให้ชัดเลยว่า ราคาต้นทาง-ปลายทางตันละเท่าไร เช่น ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ที่ตั้งราคาข้าวเปลือกตันละ 16,000 บาท คำนวณมาจากราคาส่งออกที่ตันละ 950 เหรียญสหรัฐ และชาวนาก็ต้องเรียนรู้ว่า ราคาข้าวในตลาดโลกขึ้นก็จะขายข้าวเปลือกได้แพงกว่านี้ แต่ถ้าราคาข้าวในตลาดลดลงต้องยอมรับว่า จะขายได้ถูกลง
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวว่า มาตรการจำนำยุ้งฉางยังขาดความชัดเจนทั้งในเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติตาม มาตรการ จึงมีประเด็นคำถามมากมาย ทั้งเรื่องความพร้อมของชาวนา แม้ว่าชาวนาบางรายจะมียุ้งฉางสามารถเข้าร่วมโครงการได้ทัน แต่สภาพของยุ้งฉางที่มีพร้อมหรือไม่ อาจต้องซ่อมแซมก่อน หรือลานตากข้าวก่อนขึ้นยุ้งฉางมีหรือไม่ ประเด็นนี้ชาวนาจะนำเงินจากที่ไหนมาซ่อม แม้รัฐบาลจะเปิดช่องทางให้ชาวนาสามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำมาใช้ในสภาพคล่องได้ แต่ช่วงระหว่างที่นำข้าวเข้าจำนำยุ้งฉางและยังไม่สามารถนำข้าวออกมาขายได้ ชาวนาจะนำเงินจากส่วนไหนมาใช่จ่าย ดังนั้นขอให้รัฐบาลกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ชัดเจนกว่านี้ก่อนที่จะเริ่มใช้มาตรการในเดือนพฤศจิกายน
ด้าน นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่าชาวนาภาคกลางจะไม่ได้ประโยชน์จากการจำนำยุ้งฉาง เพราะการทำนาในภาคกลางจะไม่มียุ้งฉาง หลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วชาวนาก็จะต้องขายข้าวเลย เพราะไม่มีพื้นที่กว้างมากพอที่จะทำลานตากข้าว จึงเห็นว่ามาตรการนี้ช่วยเหลือจำเพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานมากเกินไป ทั้งที่การปลูกข้าวหอมมะลิไม่ได้มีเพียงพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานเท่านั้น แต่ชาวนาภาคกลางยังมีข้าวหอมปทุม-ข้าวหอมจังหวัดอีกด้วย
"แม้ว่าจะมีมาตรการนี้ออกมา ชาวนาที่ปลูกข้าวหอมมะลิและไม่มียุ้งฉางก็ต้องนำข้าวไปขายให้กับโรงสีและได้ ราคาต่ำอยู่ดี โดยปัจจุบันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยตันละ 13,000-14,000 บาท แต่ข้าวเปลือกหอมปทุม-ข้าวหอมจังหวัดเฉลี่ยตันละ 7,000-8,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกขาวเฉลี่ยราคาตันละ 6,000-7,000 บาท"
อย่างไร ก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่มมาตรการให้เงินสินเชื่อชาวนากู้จาก ธ.ก.ส.ได้ไร่ละไม่เกิน 2,000 บาท แต่สิ่งที่ชาวนาต้องการมากที่สุดก็คือ ขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือลดต้นทุนปุ๋ย, เมล็ดพันธุ์ข้าว, ค่าเช่าอื่น ๆ ให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เพราะมาตรการช่วยลดต้นทุนที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ไร่ละ 432 บาท ปัจจุบันใคร ๆ ก็ทราบดีว่า "ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างแท้จริง"
นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า ตามที่กำหนดให้มีการประชุมร่วมชาวนากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก ๆ 15 วัน ครั้งต่อไปจะหารือประมาณช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางเครือข่ายชาวนาจะนำเรื่องปัญหาที่เกิดจากมาตรการช่วยเหลือชาวนาทั้ง 2 มาตรการเข้าสู่การพิจารณาด้วย เพราะมาตรการเหล่านี้ยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือชาวนาได้ครอบคลุมทั้งหมด ชาวนาที่ปลูกข้าวขาวจะทำอย่างไร
ก่อนหน้านี้ทางสมาคมได้ เสนอว่า มาตรการจำนำยุ้งฉางควรให้ครอบคลุมข้าวขาวด้วย "ไม่ใช่จำนำเฉพาะข้าวหอมมะลิกับข้าวเหนียว" แต่เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เพียงรับไปศึกษาดู และยังต้องการให้ชาวนาทำการสำรวจพื้นที่ชาวนาที่มีข้าวขาวและมียุ้งฉางเป็น ของตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ชาวนาไม่สามารถสำรวจออกมาเป็นตัวเลขได้ เนื่องจากชาวนาไม่มีเอกสารหรือข้อมูลที่จะลงสำรวจให้ได้ การปฏิบัติยากกว่าที่หน่วยงานลงพื้นที่สำรวจเอง
"มาตรการนี้ถือเป็นการช่วยเหลือแบบปิดกั้นและจำกัดเรื่องชนิดข้าวเกินไป พื้นที่ปลูกข้าวขาว-ข้าวหอมมะลิในภาคกลางก็มี เช่น สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ส่วนเรื่องของยุ้งฉาง ผมยอมรับว่าชาวนาภาคกลางมีน้อยมาก น้อยกว่าภาคเหนือ-ภาคอีสาน แต่การปลูกข้าวหอมมะลิภาคกลางของเราก็มี แต่อาจจะไม่หอมเท่าภาคอื่น ภาคกลางมีข้าวหอมปทุม ข้าวหอมจังหวัดที่เป็นที่นิยมและต้องการในตลาด มาตรการนี้ออกมาเร่งด่วนและยังขาดข้อมูลจากชาวนา ผมอยากให้ชาวนามีส่วนร่วมในการเสนอมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้วย"
ส่วน มาตรการให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องไร่ละ 2,000 บาท นายวีระกล่าวว่าชาวนาส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติ เพราะปัจจุบันชาวนาที่ยังเป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. สามารถขอกู้เพิ่มได้หรือไม่ หรือหากสามารถกู้ได้มาแล้ว ชาวนาจะมีศักยภาพในการชำระหนี้หรือไม่ เนื่องจากหนี้เดิมก็มี กู้มาแล้วถือเป็นหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นไปอีก โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของชาวนา เพราะสุดท้ายแล้วไม่รู้ว่าจะขายข้าวได้ในราคาเท่าใด
ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการระยะสั้นที่ช่วยเหลือชาวนา และเป็นการชะลอปริมาณผลผลิตข้าวที่ออกมาในตลาด เมื่อราคาข้าวดีขึ้น ชาวนาสามารถนำข้าวออกมาขายได้ ด้านจิตวิทยาจะส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศมีเสถียรภาพ ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่14,000-14,500 บาท/ตัน จากราคาเป้าหมายรัฐบาลตันละ 16,000 บาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการช่วยเหลือชาวนาระยะกลาง ระยะยาว เช่น เรื่องการจัดโซนนิ่ง
ส่วนนายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ฝนตกชุกมากจนชาวนาบางส่วนเร่งเกี่ยวข้าวสดที่ยังอ่อนออกมาเร่งขายให้ กับโรงสี จึงมีปัญหาความชื้นสูง 30% ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิลดลงเหลือตันละ 11,000-11,500 บาท ส่วนข้าวเจ้านาปรังความชื้น 15% ตันละ 8,000 บาท ดังนั้นขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรเร่งเก็บเกี่ยว ส่วนราคารับซื้อข้าวสารของผู้ส่งออกปรับสูงขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิใหม่ตันละ 16,500 บาท ข้าวขาว 5% ทรงตัวตันละ 12,400-12,500 บาท
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดให้ภาคเอกชนยื่นซองเสนอราคาประมูลข้าวสารในสต๊อก ของรัฐบาลครั้งที่ 3 ปรากฎมีผู้ชนะการประมูล 18 ราย คิดเป็นบริมาณข้าว 203,000 ตัน มูลค่า 1,930 ล้านบาท ทั้งนี้การเปิดประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาลแบบทั่วไปรวม 3 ครั้งที่ผ่านมาสาสารถระบายข้าวออกไปได้แล้ว 348,285 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 3,579 ล้านบาท
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 ต.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.