ชาวนาขอราคาข้าวเปลือกเจ้าตันละ 1 หมื่นบาท ชี้เป็นราคาที่ชาวนาพอมีกำไร ขณะที่ผลสำรวจพบภาคเกษตรไทยถูกเมินอย่างหนัก เกษตรกร 85% ไม่ให้ลูกหลานกลับมาทำการเกษตรอีก ขณะที่นิสิตสาขาเกษตรศาสตร์ลดลงปีละ 5–10% เกิดปัญหาเกษตรกรมีแต่คนแก่ ส่งผลประสิทธิภาพการผลิตรั้งท้าย แนะรัฐดึงแรงงานต่างด้าวเข้ามาปีละ 500,000 คน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในระยะสั้น
นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับคณะหารือด้านข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์และตัวแทนชาวนาจาก 5 สมาคมนัดแรกวันที่ 26 ก.ย.นี้ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมนั้น สมาคมฯจะเสนอให้ผลักดันราคาข้าวเปลือกเจ้าให้ขายได้ตันละ 10,000 บาท ข้าวหอมปทุมธานีตันละ 11,000 บาท และข้าวหอมมะลิตันละ 15,000 บาท “ข้อเสนอดังกล่าวเป็นราคาที่ชาวนาของสมาคมฯต้องการ ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสม และชาวนาพอมีกำไร แม้นโยบายของรัฐบาลจะเร่งลดต้นทุนปัจจัยการผลิต จัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว และพัฒนาผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มสูงขึ้น แต่ต้องใช้เวลาหรือฤดูกาลหน้าถึงจะเห็นผล จึงอยากให้รัฐลงมาช่วยเยียวยาข้าวในฤดูกาลนี้ก่อน”
ข้าวเปลือก
ทั้งนี้ หากนำต้นทุนการปลูกข้าวมาเทียบกับราคาที่ได้ โดยต้นทุนปลูกข้าวเฉลี่ยที่ไร่ละ 5,000 บาท แต่จะได้ผลผลิตข้าวเปลือกไร่ละ 750 กิโลกรัม (กก.) เท่านั้น หรือต้องปลูกข้าว 3 ไร่ จึงจะได้ข้าว 2 ตัน หากราคาข้าวเปลือกขายได้ตันละ 8,000 บาท เท่ากับว่าชาวนาจะได้เงิน 16,000 บาท จากการปลูกข้าว 3 ไร่ หรือชาวนาขายข้าวได้กำไรเพียงไร่ละ 300 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะยังถูกหักค่าความชื้น จึงยิ่งทำให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาต่ำลงอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือราคาข้าวของชาวนาในฤดูกาลใหม่ที่จะถึง เช่น จัดตลาดนัดข้าวเปลือก การให้โรงสีเข้าไปซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงกว่าตลาดตันละ 100-200 บาท มาเก็บเป็นสต๊อกล่วงหน้า และชดเชยดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้ รวมทั้งจะเร่งผลักดันให้ชาวนาเก็บสต๊อกข้าวไว้ในยุ้งฉาง เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวนานำข้าวเอามาขายพร้อมกัน จนทำให้ราคาตกต่ำ
ขณะที่นายกัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร สาเหตุเกิดจากแรงงานภาคเกษตรวัยหนุ่มที่เข้ามาทดแทนเกษตรกรซึ่งมีอายุมากขึ้นในปัจจุบัน ยังมีจำนวนน้อย โดยการสำรวจความเห็นครอบครัวเกษตรกรพบว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ต้องการให้ลูกหลานกลับเข้ามาทำงานในภาคเกษตรอีก สอดคล้องกับจำนวนนิสิตสาขาเกษตรศาสตร์ที่ลดลงเฉลี่ยปีละ 5-10% “ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่กลับเข้าสู่ภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรไทยมีอายุเฉลี่ยสูงและขาดแคลนแรงงาน จนทำให้ประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตรไทยลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ รั้งท้ายภาคการผลิตอื่นๆ โดยดัชนีผลิตภาพภาคเกษตรไทยอยู่ที่ 0.8 เท่านั้น ขณะที่ภาคบริการดัชนีผลิตภาพสูงถึง 6.6”
นายกัมปนาทกล่าวว่า การเพิ่มขีดความสามารถการผลิตภาคเกษตรไทย ยังไม่สามารถทำได้ทันที เพราะระยะสั้นต้องแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานให้ได้ก่อน การนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ส่วนระยะยาวรัฐต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะเพิ่มแรงงานภาคเกษตรที่เหมาะสมกับประเทศเป็นจำนวนเท่าใด เพราะหากใช้แรงงานภาคเกษตรมากเกินไปการผลิตจะไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากใช้คนมากกว่าเครื่องจักร
ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรไทยทั้งระบบมี 16 ล้านคน สศก.ประเมินว่าจำเป็นต้องมีแรงงานเข้ามาเพิ่มเฉลี่ยปีละ 3% หรือเพิ่มแรงงานเข้ามาปีละ 500,000 คน เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเลือกใช้แรงงานต่างด้าว แต่จำนวนแรงงานต่างด้าวที่เข้าสู่ภาคเกษตรยังมีน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากงานมีความลำบากและผลตอบแทนน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม จึงไม่สามารถดึงดูดแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้เพียงพอ สำหรับข้อเสนอเพื่อดึงดูดแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ภาคเกษตรมากขึ้น
1.ตรวจสอบความต้องการแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรให้ชัดเจน และเตรียมจำนวนให้เพียงพอ 2.แก้ไขระเบียบและข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการใช้แรงงานต่างด้าว โดยเสนอให้ทำตามสมุทรสาครโมเดล ที่กรมประมงใช้แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวในภาคประมง โดยใช้วิธีตั้งจุดขึ้นทะเบียนแบบเบ็ดเสร็จ หรือวันสต๊อป เซอร์วิส แล้วออกใบอนุญาตทำงาน แบบแยกประเภทให้แก่แรงงาน เช่น ใบสีเขียวให้ทำประมง สีเหลืองทำปศุสัตว์ 3.รัฐควรเร่งแก้ปัญหาการขูดรีดค่านายหน้าแรงงานต่างด้าว 4.เปิดให้แรงงานต่างด้าวยื่นขอใบอนุญาตทำงานในภาคเกษตรได้มากขึ้น 5.นายจ้างภาคเกษตรควรเพิ่มสวัสดิการ ให้แรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น เช่น ประกันสังคมและรับประกันการจ่ายค่าจ้าง รวมถึงร่วมจัดระเบียบแรงงานที่อยู่ห่างไกล เช่น สวนยางพารา สวนปาล์ม และสวนผลไม้ 6.ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากที่มีพรมแดนติดกับไทย เช่น อินโดนีเซีย ปากีสถานและบังกลาเทศ เพราะมีค่าแรงขั้นต่ำถูกกว่าไทยมาก
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.