ผลวิจัยชี้ชาวนาควรทำประกันภัยเเล้งลดความเสี่ยง 'ผู้ส่งออกฯ' ระบุ คสช.ยุบจำนำข้าว-ประกันรายได้ถูกต้อง หวังช่วยชาวนาพึ่งตัวเอง ชงตั้ง ‘Rice Board’ ส่งเสริมระบบคุณภาพข้าว
วันที่ 5 สิงหาคม 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุม ‘ระบบประกันภัยนาข้าวไทย:สถานะความก้าวหน้าและประเด็นเชิงนโยบาย’ ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย อาคาร เอสเอ็ม ทาวเวอร์
รศ.ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร ในฐานะนักวิจัย เปิดเผยถึงข้อสรุปการจัดการความเสี่ยงเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสมกับสังคมไทยว่า ปัจจุบันไทยมีระบบการพัฒนาทะเบียนเกษตรกรและข้อมูลการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพแล้ว ฉะนั้น จึงควรส่งเสริมให้มีการทำนา 2 ครั้ง/ปี แต่หากเกษตรยังต้องการทำนา 3 ครั้ง/ปี แบ่งเป็น นาปี 1 นาปี 2 และนาปรัง ภาครัฐจะให้เงินช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดการภัยเหลือเพียง 2 ฤดู คือ นาปี 2 และนาปรัง เพราะช่วงดังกล่าวเกิดอุทกภัยมาก จึงไม่เหมาะทำธุรกิจประกันภัย
สำหรับเวลาที่เหมาะสมในการทำระบบประกันภัยนาข้าวนั้น นักวิจัย ระบุเป็นนาปี 1 ซึ่งเกษตรกรซื้อประกันภัยจะได้รับเงินจ่ายสมทบจากภาครัฐ และรับเข้าโครงการรับจำนำ 100% แต่ไม่ทุกเมล็ด ทั้งนี้ หากเกษตรกรไม่ซื้อประกันภัยจะไม่ได้รับเงินจ่ายสมทบจากภาครัฐ แต่จะมีการประกันรายได้ไม่เกิน 30 ไร่
“เกษตรกรที่ทำนาปี 1 ต้องใช้ระบบประกันภัยแล้งและเข้าสู่ระบบโครงการรับจำนำ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรซื้อประกันภัยเร็วขึ้น ส่วนนาปรังเข้าสู่ระบบประกันรายได้ และนาปี 2 ให้เลือกระบบใดระบบหนึ่ง” รศ.ดร.ชฎา กล่าว
ด้านนายวัลลภ มานะธัญญา ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบเกษตรกรไม่พอใจกับระบบประกันภัยนาข้าวที่ไม่ให้ความเป็นธรรม เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติกลับได้รับผลประโยชน์ไม่คุ้มค่า เนื่องจากตลาดไม่เสรี ฉะนั้นแทนที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ภาครัฐน่าจะเข้ามาลงทุนเสียเอง และวางแผนงบประมาณเต็มที่ จนเกษตรกรรู้สึกถึงความคุ้มค่าหากได้ซื้อประกัน ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมขึ้นมากกว่า เพราะเป็นความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ การจัดการความเสี่ยงเพาะปลูกข้าวนั้นไม่จำเป็นต้องนำมาเกี่ยวโยงกับโครงการรับจำนำข้าวและประกันรายได้ เพราะมองว่าแนวทางบริหารจัดการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองนั้นถูกต้องแล้ว แต่หากไม่ปฏิบัติเช่นนั้น อีกไม่กี่ปีข้างหน้า เกษตรกรจะขาดความรู้ จนอยู่ไม่ได้ และสุดท้ายต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝ่ายเดียว
ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จึงเสนอทางออกที่เกษตรกรไม่จำเป็นเข้าระบบประกันภัย โดยเรียกร้องให้ภาครัฐลงทุนแผนพัฒนาระบบชลประทานเพิ่มขึ้นและเกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทัดเทียมเวียดนามที่มีสูง 80% ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำอย่างเดียว แต่ควรเน้นการบริหารจัดการอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่
“คสช.ควรเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการข้าวภาคเอกชน (Rice Board) ซึ่งประกอบด้วย เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ผู้แทนภาครัฐ เหมือนกับธุรกิจอ้อยที่สามารถสร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย แต่ต้องไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง” นายวัลลภ กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 5 ส.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.