เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ปัญหาคือประชาชนในพื้นที่ชลประทานรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายใหม่นี้หรือไม่
การจัดรูปที่ดินในพื้นที่ชลประทานนั้น มีกฎหมายเดิมอยู่แล้วตั้งแต่ พ.ศ 2517
การจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ การพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกในระดับไร่นาที่เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอยู่แล้วให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถทําการเพาะปลูกได้ตลอดปี โดยเน้นเรื่องน้ำเป็นประการสําคัญ เพื่อให้พื้นที่ทําเกษตรกรรมได้รับน้ำทุกแปลง และมีทางลําเลียงหรือถนนเข้าถึง มีการปรับระดับ หรือจัดรูปแปลงใหม่ หรือโยกย้ายแปลงที่ดิน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการเพาะปลูกและการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างสูงสุด เช่น รูปร่างที่ดินแปลงเดิมบิดเบี้ยว ก็จัดให้มีรูปร่างเป็นรูปเหลี่ยม หรือเกษตรกรมีที่ดินหลายแปลงแต่แยกกันอยู่ในบริเวณเขตดําเนินการจัดรูปที่ดินก็สามารถสับเปลี่ยนย้ายที่ให้รวมเป็นแปลงเดียวกันมาอยู่รวมกัน หรือการปรับระดับดิน ให้สม่ำเสมอ เป็นต้น
การจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงนับว่าเป็นการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมที่ต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบชลประทานหลัก ที่ได้จัดสร้างคลองส่งน้ำสายใหญ่และสายซอยไว้ ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์จะเป็นผู้ที่อยู่ติดคลองส่งน้ำสายใหญ่หรือคลองซอยเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่มิได้มีพื้นที่ที่ติดกับระบบชลประทานหลัก ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากระบบชลประทานหลักได้อย่างสะดวกและทั่วถึง
โดยหลักการการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงขนาดการถือครองที่ดินที่เจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่เดิมแต่ประการใด เพียงแต่เจ้าของที่ดินทุกรายต้องสละที่ดินบางส่วนเพื่อใช้สำหรับก่อสร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์ที่ใช้ร่วมกัน คือ คูส่งน้ำ คูระบายน้ำ ถนนหรือทางลำเลียง เพื่อให้เจ้าของที่ดินมีส่วนในการพัฒนาและดูแลรักษาโดยร่วมออกค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากการที่รัฐบาลได้ออกเงินอุดหนุนให้ส่วนหนึ่ง
เดิมไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ
แต่กฎหมายใหม่จะจัดตั้ง “สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง” มีอำนาจดำเนินการจัดน้ำเพื่อเกษตรกรรม ลำเลียงน้ำจากทางน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำอื่นเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการจัดรูปที่ดิน ฯลฯ
ให้มีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมีอำนาจเสนอ รมว.เกษตรฯ ออกประกาศกำหนดแนวเขตสำรวจการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมขึ้นได้ในพื้นที่ที่เห็นสมควรให้มีการจัดลำเลียงน้ำจากทางน้ำชลประทานหรือหล่งน้ำอื่นไปใช้เพื่อประโยชน์พื้นที่
สรุปว่า อย่างน้อยที่สุด เกษตรกรในเขตชลประทานจะต้องจ่ายค่าน้ำ และถ้าหากมีการขยายพื้นที่ส่งน้ำชลประทาน “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง” คือผู้ทรงอำนาจชี้เป็นชี้ตาย เกษตรกรจะรู้ข้อมูลกฎหมายนี้หรือไม่ ก็จะต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมายนี้
ปัญหาอีกข้อหนึ่งคือ กฎหมายนี้อาจจะร่างกันไว้ก่อนเกิดแผนบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านบาทซึ่งก็มีงานส่วนที่เกี่ยวกับการชลประทานด้วย จึงควรตรวจสอบให้ละเอียดเสียก่อน
สยามรัฐ วันที่ 20 ก.พ. 56
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.