วงเสวนาเร่งดันรัฐบาลเสนอภาษีที่ดิน-โฉนดชุมชนเป็นนโยบาย ลดเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ สำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม ได้จัดการประชุมแสดงความคิดเห็นต่อการร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องเรื่องที่ดิน โดยม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปที่ดิน โดยชุมชนติดปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากภาครัฐพยายามทำให้ชุมชนแตกแยก เพื่อให้สามารถปกครองได้ ขณะเดียวกัน แม้จะมีการพูดว่ามีการกระจายอำนาจแล้ว แต่การกระจายในรูปแบบของรัฐก็คือ นำอำนาจรัฐส่วนย้อยลงไปปกครองท้องถิ่นแทน สังเกตได้ชัดว่ารัฐดูดทรัพยากรจากท้องถิ่นเพียงฝ่ายเดียว
“ปัจจุบัน ชาวบ้านถูกร้องเรียนจากที่ดินจำนวนมาก เนื่องจากกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ยึดถือชุมชนเป็นพื้นฐาน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่มีนิยามคำว่าชุมชน หน่วยงานราชการก็เช่นกัน มีแต่ปัจเจกชนทั้งสิ้น ซึ่งผิด โลกปัจจุบัน เราไม่สามารถปล่อยให้รัฐส่วนกลางเข้ามากำหนดบทบาทเพียงฝ่ายเดียวอยู่แล้ว อันที่จริง ข้อเสนอคณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้รุนแรงสุดโต่ง ไม่ว่าเรื่อง ตั้งธนาคารที่ดิน จำกัดขนาดที่ดิน ทุกอย่างเป็นทางสายกลางด้วยซ้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสไว้หลายครั้ง เรื่องการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ เรื่องศาลยุติธรรม หรือเรื่องกระบวนการยุติธรรม แต่หน่วยงานทั้งหลายที่มีความจงรักถักดี กลับไม่ยอมรับ เราขีดรูปแบบประชาธิปไตยให้เป็นไปตามระบบทุนนิยมทั้งนั้น แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ก็ปล่อยให้บรรษัทใหญ่เป็นคนชี้นำสังคม อำนาจมากสุดจึงไม่ใช่ประชาชน ซึ่งชุมชนต้องรวมตัวกัน เพื่อไม่ให้รัฐคอยแต่จะกำจัดบทบาทคนจนเพียงอย่างเดียว”ม.ร.ว.อคินกล่าว
ขณะที่น.ส.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าภาษีที่ดิน มีร่างพระราชบัญญัติรอไว้แล้ว ซึ่งผ่านการตรวจสอบคณะกรรมการกฤษฎีกาไปตั้งแต่ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการสนับสนุนในร่างแถลงนโยบายในรัฐบาลชุดนี้ แต่ในทางปฏิบัติ กลับไม่ได้รับการยืนยันว่าจะทำต่อ จึงบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไม่ได้ ทำให้ยังไม่ทราบว่าจุดยืนของรัฐบาลเกี่ยวกับภาษีที่ดินคืออะไร
“ภาษีที่ดินต้องมาจากสามฐาน รายได้ บริโภค ทรัพย์สิน มีการจัดเก็บอยู่แล้ว ทีเก็บจากฐานทรัพย์สินของไทย ยังไม่มีการเก็บอย่างแท้จริง มีแต่ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งล้าสมัย ไม่ได้มีการปรับเป็นปัจจุบันและจะเก็บบนมูลค่าของค่าเช่า ที่ผู้เสียภาษีรายงาน และไม่ได้มีมาตรการบังคับตรวจสอบ บทลงโทษก็ไม่รุนแรง โอกาสเลี่ยงก็เยอะมาก ทั้งนี้ ภายในร่างพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นคนจัดเก็บ หากที่ดินปล่อยไว้ ไม่ได้ทำประโยชน์ 3 ปีแรก ให้จัดเก็บในอัตรา 0.5% ของฐานภาษี และหากยังไม่ได้ทำประโยชน์เป็นเวลาติดต่อกันให้เพิ่มอัตราภาษีอีก 1 เท่าในทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2% ของฐานภาษี โดยให้อปท.จัดเก็บสูงกว่าอัตราดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้” น.ส.ดวงมณีกล่าว
โพสต์ทูเดย์ 27-09-55
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.