The Rice Trader เป็นนิตยสาร ที่รายงานและเผยแพร่ข่าวการค้าข้าวของโลก ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็นที่นิยมของวงการค้าข้าวในโลก The Rice Trader เป็นผู้จัดงาน WORLD RICE CONFERENCE ซึ่งการจัดงานแต่ครั้ง จะจัดให้มีการประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลกด้วย
ผู้เข้าร่วมประชุม WORLD RICE CONFERENCE ประกอบด้วย เอกชนและภาครัฐในวงการผลิต การส่งออก การนำเข้าข้าวและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในปี 2565 The Rice Trader จัดงาน WORLD RICE CONFERENCE ครั้งที่ 14 ปี 2022 ระหว่างวันที่ 15 -17 พฤศจิกายน 2565 ที่จังหวัดภูเก็ต
ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยบุคคลที่อยู่ในวงการผลิต การค้า การส่งออก การนำเข้าข้าวและกิจการที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าว ทั้งเอกชนและภาครัฐ การจัดงานครั้งนี้มีการจัดประกวดข้าวโลกที่ดีที่สุด เช่นทุกครั้งตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 13 ที่ผ่านมา มีประเทศที่ผลิตและส่งออกข้าวส่งตัวอย่างข้าวเข้าประกวด 10 กว่าประเทศ
ผลการตัดสินมีข้าวที่เข้ารอบรองสุดท้ายจากสองประเทศ คือ ข้าวหอมมะลิไทย (Thai Hommali Rice) จากประเทศไทย และ ข้าวผกาลำดวน (Phaka Lamduan) จากกัมพูชา ปรากฏว่าข้าวผกาลำดวนได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นข้าวที่ดีที่สุดประจำปี 2022 ชนะข้าวหอมมะลิไทยไปด้วยคะแนนใกล้เคียงกันมาก
การตรวจสอบข้าวทางกายภาพก็ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเท่ากันทั้งคู่ คะแนนที่ข้าวผกาลำดวนจากกัมพูชาชนะข้าวหอมมะลิไทยคือ การทดสอบข้าวด้วยการหุงและชิม ปรากฏว่าคะแนนความหอมข้าวผกาลำดวนชนะ จึงได้รับรางวัลชนะเลิศ
การที่ข้าวหอมมะลิไทยพลาดตำแหน่งข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2022 มิได้หมายความว่าข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพด้อยลง ข้าวหอมมะลิไทยยังคงรักษาคุณภาพไว้ได้อย่างดี เว้นแต่ความหอมที่น้อยลง สู้ข้าวผกาลำดวนไม่ได้
The Rice Trader ( https://thericetrader.com/ )ได้จัดงาน World Rice Conference ตั้งแต่ปี 2552 มาแล้ว 13 ครั้ง แต่ละครั้งก็จัดให้มีการประกวดข้าวโลกที่ดีที่สุดด้วย ผลปรากฏว่าข้าวที่ชนะเลิศมีทั้งข้าวจากไทย กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สหรัฐ
สำหรับ ข้าวหอมมะลิของไทยได้รางวัลชนะเลิศมาแล้วรวม 7 ครั้ง ข้าวหอมจากกัมพูชาชนะเลิศ 5 ครั้งรวมครั้งล่าสุด ดังนี้
ปี 2552 รางวัลชนะเลิศ ข้าวหอมมะลิไทย
ปี 2553 รางวัลชนะเลิศ ข้าวหอมมะลิไทย
ปี 2554 รางวัลชนะเลิศ ข้าว Paw Son จากเมียนมา
ปี 2555 รางวัลชนะเลิศ ข้าวหอมจากกัมพูชา
ปี 2556 ครองชนะเลิศร่วมกันระหว่างข้าวหอมจากกัมพูชาและข้าว California Calrose จากสหรัฐ
ปี 2557 ครองชนะเลิศร่วมกันระหว่างข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมจากกัมพูชา
ปี 2558 รางวัลชนะเลิศ ข้าว Calrose จากสหรัฐ
ปี 2559 รางวัลชนะเลิศ ข้าวหอมมะลิจากไทย
ปี 2560 รางวัลชนะเลิศ ข้าวหอมมะลิจากไทย
ปี 2561รางวัลชนะเลิศ ข้าวหอมจากกัมพูชา
ปี 2562 รางวัลชนะเลิศ ข้าว ST25 จากเวียดนาม
ปี 2563 รางวัลชนะเลิศ ข้าวหอมมะลิจากไทย
ปี 2564 รางวัลชนะเลิศ ข้าวหอมมะลิจากไทย
ปี 2565 ล่าสุดรางวัลชนะเลิศ ข้าวหอมผกาลำดวนจากกัมพูชา
การที่ข้าวหอมมะลิจากไทยพลาดตำแหน่งชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลกปี 2565 ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกที่มีนัยสำคัญมากนัก เพราะชื่อเสียงที่ครองตำแหน่งชนะเลิศมา 7 ครั้ง และชื่อเสียงคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทยในต่างประเทศที่เป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้บริโภคมาช้านาน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมการค้าต่างประเทศและผู้ส่งออก ที่ช่วยกันประชาสัมพันธ์และกวดขันคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งออก เข้มงวดขนาดถ้ามีข้อสงสัยว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทยหรือไม่ จะมีการส่งให้ตรวจดีเอ็นเอ ว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทยหรือไม่ ดังนั้น ชื่อเสียงคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทยคงจะเป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อในต่างประเทศอยู่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม วงการผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิไทย ทราบปัญหาเรื่องความหอมของข้าวหอมมะลิไทยที่ลดลงมานานหลายปีแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาพันธุ์ก็พยายามศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีความหอมมากขึ้นและหอมคงทน
สำหรับกรณีที่ข้าวหอมมะลิไทยมีความหอมลดลงก็ไม่น่ากังวลมากนัก เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยติดใจคุณภาพความนุ่ม ความอร่อยที่ยังคงอยู่ จากข้อมูลที่ผู้เคยบริโภคข้าวหอมจากต่างประเทศที่เคยให้ความเห็นว่า ข้าวหอมต่างประเทศอร่อยสู้ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้
การทดสอบข้าวหอมจากต่างประเทศที่ดำเนินการโดยหน่วยงานเอกชนแห่งหนึ่งเป็นการภายใน โดยหุงและให้บุคลากรในหน่วยงานนั้นหลายคนชิม มีความเห็นว่าความนุ่มและความสวยของเมล็ดข้าวสวยไม่แพ้ข้าวหอมมะลิไทย แต่อร่อยสู้ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้ แม้บริโภคข้าวเปล่าก็ยังอร่อย จึงน่าจะชดเชยความหอมที่ลดน้อยลงได้
กรณีที่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกมากคือ การที่ราคาข้าวหอมมะลิไทยมีราคาสูงกว่าข้าวหอมของประเทศคู่แข่ง
เช่น ราคาส่งออกข้าวประเภทข้าวหอม ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ย.2565 ราคาข้าวหอมมะลิไทยสูงกว่าข้าวหอมจากกัมพูชา ชั้นคุณภาพระดับใกล้เคียงกันเฉลี่ยประมาณตันละ 30-50 ดอลลาร์ ทั้งนี้ น่าจะมีสาเหตุประการหนึ่งคือผลผลิตของข้าวหอมมะลิต่อไร่ต่ำ เฉลี่ย 360-370 กิโลกรัมต่อไร่ จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง
หากช่วงใดเงินบาทแข็งค่ามาก ก็จะยิ่งทำให้ข้าวหอมมะลิไทยมีราคาสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น หากมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ก็จะช่วยให้ข้าวหอมมะลิไทยมีราคาลดลง ก็จะเพิ่มศักยภาพให้สามารถส่งออกเพิ่มขึ้นได้อีก.
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ /29 พฤศจิกายน 2565 โดย สกล หาญสุทธิวารินทร์ | ค้าๆขายๆกับกฎหมายธุรกิจ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.