แกนนำม็อบชาวนายันสู้ไม่ถอยปักหลักหน้ากระทรวงเกษตรฯต่อ หากยังไม่ร่างสัญญาแก้หนี้ ลุยหารือบ่ายครึ่งพรุ่งนี้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟู ย้ำหนี้ที่เกิดไม่ใช่ความผิดชาวบ้าน
นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาและแกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่าเรื่องนี้พัฒนาไปจากเดิมมาก ไม่ใช่เรื่องนโยบาย แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ฝ่ายปฏิบัติไม่ทำงาน
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าการเรียกร้องในครั้งนี้ต้องการเร่งรัดในกระบวนการภาคส่วนใด นายชรินทร์กล่าวว่า หลักอยู่ที่กองทุนและ ธ.ก.ส.ก็มี ส่วนอีก 3 ธนาคารที่เหลือ คือธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เขาไม่ติดใจอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะเหลือแค่ ธ.ก.ส.กับกองทุน ซึ่งถ้า ธ.ก.ส.ทำเสร็จจบก็ร่างสัญญาได้เลย
“เรื่องง่ายๆ แค่นี้เอง ใครจะอยากมา มติ ครม.ให้เวลา 3 ปี สำหรับโครงการนี้ นี่สูญเปล่าไปแล้ว 7 เดือน 36 เดือน ไป 7 แล้วก็เหลือ 29 เดือน แล้วคุณทำอย่างนี้ได้ไง เสียโอกาสเยอะมาก และถ้าสมมุติเราทำสัญญาไปแล้ว เริ่มส่งเงินกัน บางคนเขาก็มีกำลังที่จะส่งเพราะเงินต้นเหลือครึ่งเดียว ถ้าส่งได้ 3-5 ปี ก็มีสิทธิเอาโฉนดคืนเขาก็อาจจะได้ นี่ก็สูญเปล่าไป 7 เดือน เข้าเดือนที่ 8” นายชรินทร์กล่าว
“ตั้งธงกันว่าถ้ายังไม่ได้สัญญาก็ยังไม่กลับ ฉะนั้น พรุ่งนี้ตัวสัญญาต้องเสร็จ ซึ่งถ้าไม่เสร็จก็กดดันต่อ ไม่เสร็จได้อย่างไร เพราะเรามีความชอบธรรม 1000% ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย แนวทางยกร่างสัญญาก็มีอยู่แล้ว แล้วทำไมคุณไม่ทำ ยื้อกันไปยื้อกันมา” นายชรินทร์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าตอนนี้มีผู้ประสบปัญหาเรื่องนี้ประมาณกี่ราย นายชรินทร์กล่าวว่า ทั้งหมดเลยคือ 52,000 ราย ยังไม่ได้เซ็น นี่เฉพาะล็อตแรก และประเด็นคือตามโครงการนี้กำหนดไว้ 320,000 ราย แค่ล็อตแรก 50,000 ราย กองทุนก็ยังสำรวจไม่เสร็จ ธ.ก.ส.บอกรอให้กองทุนสำรวจเสร็จก่อน ถามว่ารอเสร็จก่อนได้อย่างไร ทำไมกองทุนยังสำรวจไม่เสร็จ ทำวันละ 100 รายก็จบแล้ว ทำไมถึงทำไม่ได้
“ตอนนี้ได้ข้อมูลมา 20,000 ราย ก็เหลืออยู่อีกประมาณ 30,000 ราย ที่เหลืออาจจะไปใช้หนี้แล้ว อาจจะไปปรับโครงสร้างหนี้กับหนี้เดิม ผมถามว่าคำว่าอาจจะ คือยังไม่เจอตัวเขาใช่ไหม ก็เงียบ ซึ่งจะไปเจอได้อย่างไรในเมื่อคุณไม่ลงพื้นที่ เช่น จาก 20,000 คน มี 17,000 คน ที่จะมาเข้าโครงการ และอีก 2,000 คน ไม่ขอเข้า อะไรอย่างนี้เป็นต้น 20,000 คน ที่มารายงานตัวคือคนที่มาจาก 2-3 เครือข่าย เหล่านี้ เพราะฉะนั้นคุณไม่ได้ออกแรงอะไรเลย เหมือนเอาทรายไปดักปลา ปลามาเข้าเอง คุณยังไม่ได้ออกแรงเดินไปหาคนเลย เมื่อวานผมซัดเยอะ เขาก็ยอมรับ” นายชรินทร์กล่าว
นายชรินทร์กล่าวต่อไปว่า เมื่อวานตนจึงสรุปให้ ธ.ก.ส.ตั้งเรื่องขอเงินชดเชยรัฐที่ 17,000 รายก่อน ตามที่กองทุนได้ข้อมูลมาว่าใน 17,000 ราย หนี้ 100% เท่าไร ดอกเบี้ยค้างชำระเท่าไร แล้วคุณจะขอชดเชยเท่าไหร่ คุณทำแค่นี้วานนี้แล้วเริ่มทำสัญญากันก่อน
“เมื่อวานนี้ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรมานั่งเป็นประธาน ซึ่งเกี่ยวที่เรามาใช้พื้นที่กระทรวง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัติกองทุน เพราะฉะนั้น อย่างไรก็ไม่พ้นความรับผิดชอบ ซึ่งความรับผิดชอบนี้แค่กำกับให้งานนั้นเดิน กระทรวงเกษตรถือว่าทำบทบาทถูก เมื่อวานก็มานั่งหัวโต๊ะ และเร่งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ ธ.ก.ส.และกองทุน ซึ่งตอบผมไม่ได้สักคำถามเดียว” นายชรินทร์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าได้ถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องอะไรบ้าง นายชรินทร์กล่าวว่า ถามว่าคุณไม่ได้ลงพื้นที่กันใช่หรือไม่ ก็ยอมรับ และ ธ.ก.ส.มาตั้งกองทุนต้องเสนอข้อมูลทั้ง 52,000 ราย หมดก่อนถึงเริ่มการร่างสัญญา แล้วข้อเท็จจริงเป็นไปได้หรือไม่ ตนก็ว่าเป็นการซื้อเวลา
“ถ้าพูดกันตามเนื้อผ้า ธ.ก.ส.ก็เสียหาย รัฐก็เสียหาย และถามว่าควรไหม ก็ควร เพราะรัฐต้องรับผิดชอบ หนี้ที่เกิดก็ไม่ใช่ความผิดของชาวบ้าน เป็นความผิดในนโยบายของคุณเอง คุณกำหนดนโยบายแบบนี้ กำหนดว่าต้องทำการเกษตรเพื่อส่งออก แล้วคุณก็ไม่เคยคุ้มครองต้นทุนให้เขา ไม่เคยคุ้มครองราคาขาย ราคาผลผลิตให้เขา ปุ๋ยยาสารเคมีที่เกษตรกรใช้ทุกประเภททั้งนา ไร่ สวน ไม่เคยถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุม ปล่อยขึ้นลงตามใจชอบ ปีก่อนหน้านี้ปี 2563 ข้าวราคา 6,000 บาทต่อตัน กระสอบละ 600-700 บาท ปีนี้ข้าวขึ้นมาถึง 7,000-8,000 บาทต่อตัน ปุ๋ยขึ้นเป็นกระสอบละ 1,000 บาท คุณทำอย่างนี้ได้อย่างไร” นายชรินทร์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าต้องการความช่วยเหลือด้านใดหรือไม่ นายชรินทร์กล่าวว่า ความจริงแล้วชาวบ้านที่มากันคราวนี้ประเมินกันว่าไม่น่าจะอยู่ยาว ตนเช็กเมื่อเช้านี้ว่าไม่มีจังหวัดไหนตั้งโรงครัว เพราะอาศัยซื้อกินเป็นหลัก เนื่องจากมีคนทำขายที่มาจากสมาชิกของผู้ชุมนุม ขายในราคาถูกและอิ่ม เช่น ข้าวแกง 30 บาท เป็นต้น ชาวบ้านจึงเลือกใช้วิธีนี้ และมีคนนำข้าวกล่องมาบริจาคบ้าง สิ่งที่เป็นปัญหาของชาวบ้าน คือพวกยาสามัญประจำบ้าน ส่วนยาของแต่ละคนที่เป็นโรคประจำตัวก็เตรียมกันมา ยาแก้ไข้ แก้เมื่อย แก้แพ้ มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลหรือไม่ นายชรินทร์กล่าวว่า ไม่มี มาถ่ายรูปอย่างเดียวว่าเหลือเท่าไหร่ มาเพิ่มหรือน้อยลง แต่ไม่ว่า ไม่มีปฏิกิริยาอะไรกับเรา
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่ามีทางกทม.มีการอำนวยความสะดวกให้หรือไม่ นายชรินทร์ กล่าวว่า มีการส่งสุขาเคลื่อนที่มาให้และบริการน้ำอาบ ส่วนน้ำดื่ม ชาวบ้านไม่ค่อยได้ซื้อเนื่องจากมีคนมาบริจาค
“คนอื่นอาจจะมองเป็นเรื่องเล็กแต่เป็นเรื่องใหญ่ของพวกเขา และที่สำคัญคือไม่มีความชอบธรรมอะไรเลยที่จะยื้อ ยื้อไปทำไม พวกผมไม่เล่นทางกฎหมาย ถ้าเล่นทางกฎหมายผมฟ้องก็ได้ มติ ครม.ออกมาตั้ง 7 เดือนแล้วคุณไม่ทำอะไรกัน แต่กฎหมายต้องใช้เวลาหลายปี ม็อบดีกว่า” นายชรินทร์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าขณะนี้กำลังใกล้เข้าช่วงเอเปคแล้ว หากมีการให้เคลื่อนย้ายจะมีการย้ายหรือไม่ นายชรินทร์กล่าวว่า ถ้าช่วงทำสัญญาเราอาจจะถอยให้ หมายความว่าอาจจะย้ายไปอยู่กระทรวงการคลัง เพราะอยู่ในช่วงเอเปค แต่ถ้าไม่เสร็จก็ไม่ถอย
“ถอยทำไม คุณจะให้เราถอยคุณก็ต้องทำให้เสร็จ ถ้าเสร็จเราถอยอยู่แล้ว” นายชรินทร์กล่าว
ที่มา คอลัมน์การเมือง มติชน / 10 พฤศจิกายน 2565
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.