ทุกวันนี้ ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ดีมากสำหรับเกษตรกรรม เพราะมีปัจจัยตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ แสงแดด อุณหภูมิ มีชายฝั่งทะเลสองด้าน (ด้านทิศตะวันออก คือ อ่าวไทย ทะเลจีนใต้ ส่วนด้านทิศตะวันตก คือ ทะเลอันดามัน)
และมีลมมรสุมพัดผ่านสองทิศทาง (ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (พ.ค. - ต.ค.) หรือลมฝน และลมมรสุมตะวันออก เฉียงเหนือ (พ.ย. - ม.ค.) หรือ ลมหนาว) พัดเอาความชื้นและฝนมาตกตามฤดูกาล ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำนา (ปลูกข้าวนาปี และนาปลังได้ปีละหลายครั้ง) รวมทั้งการทำพืชไร่ พืชสวน การประมง และการปศุสัตว์ด้วย
การที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องราคาพืชผลตกต่ำและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรผู้ผลิตซึ่งเป็น “ต้นน้ำ” นั้น นอกเหนือจากการประกันราคา และการใช้เงินอุดหนุนพืชผลทางเกษตรแล้ว
เราควรจะต้องทำอย่างครบวงจรด้วย “วิถีทางอุตสาหกรรม” ด้วย (คือการเชื่อมโยงผลผลิตจากต้นน้ำเข้าสู่กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็นกระบวนการผลิตที่ต่อเนื่องกัน จนถึงการขายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าได้อย่างยั่งยืน)
หลักการสำคัญ ก็คือ การสร้างกลไกที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้พืชผลทางการเกษตรอย่างเป็นระบบแบบครบวงจร เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกร แทนที่จะขายเป็นวัตถุดิบเบื้องต้นเท่านั้น
ถึงแม้ว่าปัจจุบัน เกษตรกรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการขายพืชผลทางเกษตรได้มากขึ้น แต่ก็เป็นเพียง “ต้นน้ำ” เท่านั้น ส่วนกลางน้ำ และปลายน้ำ ยังขาดการเชื่อมโยง (เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม) และขาดเทคโนโลยี (เพื่อเพิ่มผลิตภาพ) ซึ่งต้องอาศัยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยกันสร้าง “ห่วงโซ่แห่งคุณค่า” (Value Chain) ให้ครบวงจร
"เกษตรอุตสาหกรรม” (Agro-Industry) จึงเป็น “คำตอบ” ในวันนี้
“เกษตรอุตสาหกรรม” (Agro-Industry) (หลายท่านเรียกว่า “อุตสาหกรรมเกษตร”) หมายถึง การดำเนินการผลิตพืช ผลิตสัตว์ และการแปรรูปวัตถุดิบที่เป็นพืชและสัตว์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค โดยผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งใช้เครื่องจักกลหรือหลายๆ วิธีร่วมกันก็ได้ รวมตลอดถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้นั้นด้วย เช่น การผลิตอาหารสำเร็จรูปจากโรงงานหรือในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
องค์ประกอบที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้เป็นทุนเดิมในการผลิตพืชผลทางการเกษตรของไทย จึงเปรียบเสมือนเป็น “สุวรรณภูมิ” โดยแท้ เช่น พื้นที่ลุ่มภาคกลางของประเทศไทย เป็นแผ่นดินทองที่เหมาะกับการปลูกข้าวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เป็นต้น
แต่ปัจจัยที่มนุษย์เราจะต้องเสาะหาเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ก็คือ “พันธุ์พืชและชนิดพืช” ที่เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรแต่ละแห่ง จากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการใส่เข้าไปในกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพในปริมาณสูง และใช้บริโภคเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อคนและสัตว์
และที่สำคัญก็คือ กระบวนการผลิตนั้นๆ จะต้องไม่ก่อให้เกิดขยะ น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ และสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีเกิดขึ้นด้วย มิฉะนั้นจะเกิดผลกระทบระยะยาวและมีผลต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เป็นปัญหาของโลกในปัจจุบัน
เรื่องนี้ ผมได้พูดคุยกับ “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์” และเห็นพ้องกันว่า ทุกวันนี้เพียงแต่ “เกษตรอุตสาหกรรม” อย่างเดียว อาจไม่เพียงพอแล้ว เราจะต้องมี “นวัตกรรม”เพิ่มเข้าไปด้วย โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเป็น “ครัวของโลก” และ “อาหารป้อนโลก” ที่ไทยมีศักยภาพสูงมาก
คำว่า "นวัตกรรม (Innovation)" ที่ว่านี้จะรวมถึง ทั้งที่เป็น Hardware และ Software หรือ Hardware บวก Software ก็ได้ แต่ผู้คนส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักกับ Hardware มากกว่า คือเน้นไปที่เครื่องจักรกล อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ หรือคิดประดิษฐ์ต่อยอดจากของเดิม ที่มีอยู่แล้วให้สามารถใช้งานได้กว้างขวางและสะดวกยิ่งขึ้น
ยิ่งในยุคของ เทคโนโลยีสารสนเทศ AI และ IoT ด้วยแล้ว ก็ยิ่งคิดถึงการอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาผสมผสานเข้ากับเครื่องจักร อุปกรณ์ เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น (ทำน้อยได้มาก)
แต่การที่เราจะก้าวไปสู่เรื่องของ “นวัตกรรมทางการเกษตร” ได้นั้น เราจำเป็นต้องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็งเพื่อรองรับ และสามารถบูรณาการเข้ากับศาสตร์ใหม่ๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ต่อยอดได้ด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ การจะใช้นวัตกรรมอะไร กับสิ่งใดหรือกิจการงานใด เราต้องคิดเสมอว่า “ผลลัพธ์ที่ได้” สอดคล้องกับ “เป้าหมายหลัก” หรือไม่ด้วย
อาทิ ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารนั้น “ผลิตภัณฑ์” ที่ได้จะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายหลักต่อไปนี้ด้วย อันได้แก่ กระบวนการผลิต
(1) ควรต้องใช้พลังงานที่ลดลง
(2) ต้องรักษาคุณภาพของผลผลิตได้ดี
(3) สามารถลดการสูญเสียและเสื่อมคุณภาพในการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษา
(4) ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตต่อพื้นที่เพาะปลูกทั้งทางตรง หรือทางอ้อม
(5) ลดการสูญเสียธาตุอาหารที่มีประโยชน์ในขั้นตอนการแปรรูปอาหาร และ
(6) ไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษตกค้าง เป็นต้น
“นวัตกรรมด้านเกษตรอุตสาหกรรม” ในวันนี้ จึงอยู่ที่ “การลดต้นทุนการผลิต” และ “การเพิ่มผลิตภาพ” แบบบูรณาการเป็นองค์รวม ครับผม!
ที่มา คอลัมน์เศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ By วิฑูรย์ สิมะโชคดี | ผู้นำยุคสุดท้าย / 10 พ.ย. 2565
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.