ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตอาหารของโลกข้อมูลจาก 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตร และอาหาร ได้แก่ สภาหอการค้าฯ สถาบันอาหาร และสภาอุตสาหกรรมฯ ระบุว่าในปี 2564 มีการส่งออกสินค้าอาหาร มูลค่ารวม 1,107,450 ล้านบาทขยายตัวเพิ่มขึ้น11.8% เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารในลำดับที่ 13 ของโลกจากจำนวน 24 ประเทศ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยอยู่ 2.30% ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่มีส่วนแบ่งที่ 2.32%
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร และประเทศผู้ส่งออกอาหารแต่จากผลการสำรวจเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่สำรวจเป็นประจำทุกปีโดย “Economic Intelligence Unit(EIU)” หน่วยงานที่ทำหน้าที่วิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลกพบว่า "ดัชนีความมั่นคงทางอาหาร" (global food security index) ของ 113 ประเทศทั่วโลกล่าสุดในปี 2565
ดัชนีความมั่นคงอาหารไทยรูด 13 อันดับ
ในส่วนของประเทศไทยได้คะแนนรวม 60.1คะแนน อันดับรวมลดลงมาอยู่ที่ 64 ของโลก ปรับลดลงจากในปี 2564 ที่เคยอยู่ที่ 51 โดยลดลงถึง 13 อันดับ ส่งผลให้อันดับความมั่นคงทางอาหารของไทยอยู่ในอันดับ 5 ของอาเซียนรองจาก สิงคโปร์ที่ได้อันดับ28(ตกลงจากอันดับที่15ในปีก่อน) มาเลเซียอันดับ41(ตกลงจากอันดับที่39ในปีก่อน) เวียดนามอันดับ46(ขยับขึ้นจากปีก่อนที่ได้อันดับ61ในปีก่อน) และอินโดนิเซียอันดับที่63(ขยับขึ้นมาจากอันดับที่69ในปีก่อน)
ทั้งนี้เมื่อดูในรายละเอียดพบว่าในหมวดของความสะดวกในการหาซื้ออาหาร (Affordability)นั้นประเทศไทยได้คะแนนสูงที่83.7คะแนน แต่เมื่อดูคะแนนในหมวดอื่นๆคือในเรื่องของการเข้าถึงอาหารซึ่งมีมิติของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพที่ดี (availability) ประเทศไทยได้คะแนนในหมวดนี้เพียง52.9คะแนนจากเต็ม100คะแนน
อินโดฯเวียดนามแซงไทยเรื่องความยั่งยืน - การปรับตัว
ส่วนคะแนนในหมวดเรื่องความยั่งยืนและการปรับตัวของภาคเกษตรกร (sustainability and adaptation) นั้นประเทศไทยได้คะแนนเพียง51.6คะแนน ซึ่งเท่ากับเกือบสอบตก ส่วนในหมวดที่ได้คะแนนต่ำกว่าครึ่งก็คือหมวดของคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร (safety and quality) ซึ่งได้คะแนนเพียง 45.3 คะแนน
โดยใน2หมวดหลังคือเรื่องของความยั่งยืน และความปลอดภัยและคุณภาพอาหารไทยมีคะแนนเฉลี่ยรวมน้อยกว่าอินโดนิเซียและเวียดนามทำให้ทั้งสองประเทศมีอันดับที่ขยับแซงหน้าประเทศไทยในการจัดอันดับในปีล่าสุด
นักวิชาการชี้นโยบายเกษตรไทยผิดพลาด
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองชาติ กล่าวว่าแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีแรงงานภาคเกษตรขนาดใหญ่ และเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารมาอย่างยาวนาน แต่ดัชนีความมั่นคงทางอาหารที่ประกาศออกมาในปีล่าสุดนั้นเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงนโยบายภาคเกษตรที่ผิดพลาดในเรื่องการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร และเพิ่มคุณภาพอาหาร
ตลอดระยะเวลากว่า10ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีการใช้งบประมาณเพื่ออุดหนุนภาคการเกษตรไปประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ใช้ในการจำนำสินค้าเกษตร (ข้าว)ประมาณ 6 แสนล้านบาท และการประกันรายได้สินค้าเกษตรและการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านมาตรการคู่ขนานประมาณ 6 แสนล้านบาท แต่ไม่ว่าจะเป็น “นโยบายจำนำ” หรือ "ประกันรายได้" ก็ไม่ใช่นโยบายที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตร เกษตรกรส่วนใหญ่ของเรายังยากจนและมีปัญหาหนี้สิน
ชี้หลายประเทศเลิกนโยบายอุดหนุนมุ่งพัฒนาคุณภาพ
ในทางตรงกันข้ามในหลายประเทศทะยอยยกเลิกนโยบายในลักษณะการอุดหนุนเกษตรกร แต่เปลี่ยนมาเป็นนโยบายที่เน้นในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้เทคโนโลยี และความรู้ทางภาคเกษตรลงไปช่วยเหลือให้เกษตรกรปรับตัวได้ สามารถทำการเกษตรที่มุ่งไปที่พืชคุณภาพสูงเห็นได้ว่าดัชนีเรื่องความมั่นคงมางอาหารก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างกรณีของประเทศเวียดนามนั้นชัดเจนว่าในช่วง10ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มปริมาณการปลูกข้าวพื้นนุ่มที่มีราคาสูงเพื่อส่งออก จากเดิมเคยส่งออกได้เพียง2แสนตันในปี2554ปัจจุบันเวียดนามส่งออกข้าวพื้นนุ่มได้ 2.3 ล้านตัน ซึ่งราคาที่ขายได้ก็เพิ่มขึ้นจากที่ขายข้าวขาวปกติในราคาเฉลี่ย370ดอลลาร์ต่อตัน มาเป็น520ดอลลาร์ต่อตันซึ่งช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรได้ ขณะที่ประเทศไทยปริมาณการส่งออกข้าวพื้นนุ่มและข้าวหอมมะลิที่มีราคาสูงปริมาณลดลงปัจจุบันเหลือแค่2.1ล้านตันต่อปีเท่านั้นซึ่งปริมาณของการผลิตข้าวคุณภาพสูงของไทยเริ่มหดตัวลงเรื่อยๆ
หวั่นประชานิยมเกษตรฉุดการคลังประเทศลงเหว
นายสมพรกล่าวต่อว่าสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปก็คือในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้นโยบายที่เกี่ยวกับภาคเกษตรของพรรคการเมืองต่างๆที่จะออกมาซึ่งต้องจับตามองว่าจะมีการเพิ่มเพดานการประกันรายได้ หรือประกาศวงเงินจำนำสินค้าเกษตรในราคาสูงกว่าเดิมหรือไม่ เพราะหากต้องการคะแนนเสียงจากเกษตรกรเพื่อชัยชนะทางการเมืองก็อาจมีการประกาศนโยบายในลักษณะนี้ออกมาได้โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของภาคเกษตรและความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ
“นโยบายภาคเกษตรของเราไม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวเราใช้วิธีการอุดหนุนทั้งส่วนต่างราคาและค่าเก็บเกี่ยว ซึ่งเท่ากับว่าเราใช้เงินภาษีในการอุดหนุนราคาข้าวซึ่งทำให้แรงจูงใจของเกษตรกรที่จะพัฒนาการปลูกพืช ปลูกข้าวคุณภาพดีนั้นลดลงไป ตอนนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จริงจังและนำเสนอนโยบายระยะยาวที่จะทำให้ภาคเกษตรเราเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้ สิ่งที่น่ากังวลก็คือในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทุกพรรคการเมืองก็จะเสนอนโยบายประชานิยมทางภาคเกษตร ว่าจะอุดหนุนเท่าไหร่เพื่อจะเอาชนะกันทางการเมือง ปลายทางของการทำนโยบายลักษณะนี้ก็คือการตกเหวทางการคลังเพราะภาระของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อนาคตไม่ต่างจากอาเจนตินา หรือบังกลาเทศ ที่เกิดวิกฤตทางการคลังของประเทศจนล่มสลาย” นายสมพรกล่าว
สอบตกคุมคุณภาพอาหาร
สำหรับในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารที่ประเทศไทยสอบตกนั้นก็มาจากปัญหาการผลิตอาหารที่ผิดพลาดโดยในส่วนของเรื่องอาหารนั้นเราผลิตอาหารได้มาก และการหาซื้ออาหารจากแหล่งจำหน่ายต่างๆสามารถทำได้ง่าย แต่หากพูดถึงเรื่องของคุณภาพอาหารนั้นถือว่าเรื่องของคุณภาพนั้นเราไม่ประสบความสำเร็จในการจัดสรรอาหารที่มีคุณภาพให้กับประชาชนหรือการควบคุมคุณภาพอาหารที่จำหน่ายอาจทำได้ไม่ทั่วถึง สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ไม่ได้ติดต่อ แต่เกี่ยวข้องกับอาหารการกินต่างๆเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผลกระทบต่อเนื่องต่อเรื่องสุขภาพของประชาชนด้วย
ข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ 7 ต.ค 2565
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.