โครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลที่มียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ที่รับจำนำข้าวทุกเมล็ด และให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดที่มีปัญหาทุกจริตทุกขั้นตอน มีการฟ้องผู้ทุจริตต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยศาลพิพากษาลงโทษอดีตนายกรัฐมนตรีฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และพิพากษาลงโทษรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการ ข้าราชการ 3 คน เอกชน อีก 22 คน
สำหรับเอกชน ศาลได้พิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วย ส่วนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ข้าราชการ 3 คน ต้องรับผิดทางแพ่งตามคำสั่งทางปกครองที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนได้ฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
นอกจากคดีอาญาและคดีปกครองดังกล่าวข้างต้น ยังมีการสอบสวนและดำเนินคดีอาญากับผู้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพข้าวและรับมอบข้าวสารจากโครงการรับจำนำเข้าเก็บในคลังสินค้ากลางที่ผลการตรวจสอบวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวจากการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพในสต็อกของรัฐจากโครงการรับจำนำข้าวที่ดำเนินการโดยรัฐบาล คสช.
ปรากฏว่าเป็นข้าวผิดชนิด ผิดมาตรฐาน คือ บริษัทเซอร์เวย์คู่สัญญาขององค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) เซอร์เวย์เยอร์ หัวหน้าคลังเจ้าหน้าที่อคส. และอตก. ที่ประจำคลังสินค้า และเจ้าของคลังสินค้า ที่อคส.และอตก. ทำสัญญาฝากเก็บข้าวที่มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาคุณภาพข้าวด้วย
รวมแล้วประมาณ 900 กว่าคดี ซึ่งมีคดีที่มีคำพิพากษาแล้วบางส่วน และมีคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน และการพิจารณาของศาลประมาณ 800 กว่าคดี
ในชั้นการพิจารณาของศาล ในชั้นสืบพยาน ประเด็นที่ฝ่ายจำเลย มักจะยกขึ้นมาต่อสู้ คือ
1. ในกรณีที่ข้าวที่เก็บในสต็อกที่เป็นมูลคดีเป็นสินค้ามาตรฐาน เช่น ข้าวหอมมะลิไทย จะต่อสู้ว่า สำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ผู้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างก็ไม่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า จากสำนักงานมาตรฐานสินค้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออกพ.ศ.2503
ความเป็นจริง การตรวจสอบคุณภาพข้าวในสต๊อกของรัฐ เป็นการตรวจคุณภาพข้าวที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการสต็อกข้าวของรัฐ มิใช่การตรวจข้าวที่เป็นสินค้ามาตรฐานที่ส่งออกที่ผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐาน
จัดให้มีการตรวจสอบสินค้า และขอใบรับรองมาตรฐานสินค้าจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าหรือสำนักงานสาขาหรือผู้ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นผู้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ตามที่บัญญัติในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้า พ.ศ.2503 ที่ผู้ดำเนินการตรวจสอบและผู้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานสินค้า
2. ในการชักตัวอย่างสินค้าข้าวในสต็อกของรัฐ คณะทำงานฯ ชักตัวอย่างไว้เพียงร้อยละ 3 ของปริมาณสินค้าในกองนั้น ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ที่กำหนดให้ชักตัวอย่างร้อยละ 5 ของปริมาณสินค้า
ความเป็นจริง ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดให้ชักตัวอย่าง ร้อยละ 5 นั้น เป็นกรณีการตรวจข้าวที่เป็นสินค้ามาตรฐานที่ส่งออก ตามมาตรา 17 การชักตัวอย่างข้าวในสต๊อกของรัฐ มิใช่การชักตัวอย่างข้าวที่ส่งออกตามมาตรา 17 จึงไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว
การที่คู่มือการปฏิบัติงานของคณะทำงานฯ กำหนดให้ชักตัวอย่างร้อยละ 3 นั้นเป็นแนวปฏิบัติที่ปฏิบัติกันในวงการตรวจข้าว ซึ่งไม่น้อยกว่าหลักเกณฑ์ตามมาตรฐาน มกอช. 4004-2555 ที่ใช้เป็นแนวทางตาม ISO 13690:1999 Cereals, Pulse and Milled Products Sampling of Statistic Batches ที่เป็นสากล
ข้าวที่เก็บในคลังหากเป็นข้าวที่ถูกต้องตามมาตรฐาน การชักตัวอย่างร้อยละ 3 ไม่ถึงร้อยละ 5 จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคุณภาพที่เป็นจริงได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งแค่ชักตัวอย่างเพียงร้อยละ 3 ยังพบว่าเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐาน หากชักตัวอย่างร้อยละ 5 ยิ่งทำให้โอกาสตรวจพบว่าเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมากขึ้นเสียอีก
3. ทหารที่เป็นผู้ปฏิบัติงานชักตัวอย่างของคณะทำงานนั้นไม่มีความรู้ความชำนาญในการตรวจสอบคุณภาพข้าว
ความเป็นจริง ผู้ชักตัวอย่างข้าวมิได้เป็นผู้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่าง ตัวอย่างข้าวที่คณะทำงานชักไว้ต้องมีการดำเนินการเข้ารหัสและจัดส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าวหรือบริษัทเซอร์เวย์ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์
ในขั้นนี้ผู้ตรวจวิเคราะห์จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าว ในชั้นการชักตัวอย่างจึงไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์ในการวิเคราะห์ตัวอย่างเป็นผู้ชักตัวอย่างแต่อย่างใด
เพราะผู้ชักตัวอย่างไม่ได้เป็นผู้ตรวจวิเคราะห์เหมือนกรณีเจาะเลือดคนไข้เพื่อการตรวจรักษา พยาบาลผู้เจาะเลือดไม่ได้เป็นผู้ตรวจวิเคราะห์ ตัวอย่างเลือด จึงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านการวิเคราะห์ตัวย่างเลือด เพียงแต่ให้รู้และมีประสบการณ์ในการใช้เข็มเจาะเลือด เพราะนักเทคนิคการแพทย์ที่มีความรู้ทางด้านนี้เป็นผู้ตรวจวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม ก่อนออกปฏิบัติงานก็ได้มีการฝึกอบรมแนะนำวิธีการใช้ฉ่ำแทงกระสอบเพื่อเก็บตัวอย่างให้ทหาร แทงตัวอย่างอย่างไรไม่ให้เจ็บมือและวิธีปรับรูกระสอบไม่ให้ข้าวไหลออกมามากเกินไป
4. ข้าวที่ผิดมาตรฐานหรือเสื่อมคุณภาพนั้นไม่ใช่ความผิดของจำเลย แต่เป็นเพราะเป็นข้าวที่เก็บไว้นานแล้ว จึงเสื่อมสภาพตามกาลเวลา
ความเป็นจริง ระยะเวลาในการเก็บรักษาข้าวจะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อ คุณลักษณะของข้าวที่กำหนดเป็นมาตรฐานข้าว อย่างไรหรือไม่ จำแนกได้ที่สำคัญ ดังนี้ คือ
คุณลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญตามระยะเวลาที่เก็บ เช่น ปริมาณข้าวหักที่เกิดขึ้นในขณะสีข้าว เก็บไว้นานอาจจะมีข้าวหักเพิ่มขึ้นบ้างหากกระสอบนั้นถูกแรงกดทับหรือมีแรงกระแทก แต่จะไม่เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ หรือข้าวท้องไข่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตอนเป็นรวงข้าว การเก็บข้าวไว้นานจะไม่มีผลทำให้มีข้าวท้องไข่เพิ่มมากขึ้น
เมล็ดข้าวยุ่ยเป็นผุยผงหรือเป็นลายขึ้นรา ข้าวที่เก็บไว้นานอาจถูกมอดกัดกินยุ่ยเป็นผุยผงหรือเป็นลายขึ้นรา เพราะถูกความชื้น กรณีเช่นนี้ย่อมเป็นความผิดของคู่สัญญาที่มีหน้าดูแลรักษาคุณภาพข้าว แต่ละเลยไม่ดูแลรักษาคุณภาพข้าว ไม่รมยาฆ่ามอดตามรอบเวลา
หรือปล่อยให้ข้าวถูกความชื้น คุณลักษณะของข้าวที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาที่เก็บ ที่อยู่เหนือการควบคุม คือ สีของเมล็ดข้าวที่อาจเปลี่ยนเป็นเหลืองหากเก็บไว้นาน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 ต.ค. 2565
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.