พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 34 แห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในปีนี้ 21,019 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มากกว่าปี 2559 รวม 7,984 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เมื่อรวมกับเขื่อนขนาดกลางอื่นๆ ทั้งประเทศ จะมีปริมาณน้ำรวม 47,483 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุ และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,663 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 มากกว่าปี 2559 รวม 8,762 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ 17,661 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 11,714 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนที่วางไว้ ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 222 กุมภาพันธ์ มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.28 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 3.28 ล้านไร่
นอกจากนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการวางแผนใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ รวมกัน 5,950 ล้าน ลบ.ม. โดยสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน 3,754 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า ณ วันที่22 กุมภาพันธ์ มีการเพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งสิ้น 5.30 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.63 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 4,230 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71ของแผนที่วางไว้ ทำให้คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พฤษภาคม จะมีปริมาณน้ำคงเหลือใน 4 เขื่อนหลัก ใช้การได้ประมาณ 4,463ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนงานเดิมที่วางไว้ประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม.
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่27-28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เกิดคลื่นลมแรงจากตะวันออกเฉียงเหนือ หรือสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge) พัดสู่อ่าวไทย ทำให้ปริมาณน้ำเค็มและน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นผลักดันเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาถึงสถานีสูบน้ำสำเหล่ กรมชลประทาน จึงเพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อัตรา 70-75 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนพระรามหก อัตรา 30-50 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ควบคุมการขึ้นลงน้ำทะเล ทำให้ ค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำเหล่ลดลงเหลือ 0.16 กรัมต่อลิตร เข้าสู่เกณฑ์ปกติแล้ว
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาพอากาศในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เอื้ออํานวยต่อการปฏิบัติการฝนหลวง จึงได้ส่งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจากนครสวรรค์ บินปฏิบัติการบริเวณเขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เป็นเวลา 2 วัน ทำให้ได้ปริมาณน้ำพอสมควร ขณะที่การติดตามตรวจสอบค่าฝุ่นละอองในอากาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ จ.แม่ฮ่องสอน พบว่ามีค่า 150 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ก่อนจะลดลงมาเหลือ 120 ไมโครกรัม/
ลบ.ม.นอกจากนี้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจ.เชียงใหม่ ได้เตรียมพร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันด้วยการเผาไหม้ โดยจะปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันหมอกไฟในภาคเหนือ ต่อไป
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 3 มี.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.