เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศ.พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเสวนาเรื่อง "จากต้นน้ำสู่ครรภ์มารดา : ปัญหาการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช"
ว่า ทีมวิจัยได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัครหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์จำนวน 82 คน ในโรงพยาบาล 3 แห่ง คือ รพ.อำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ และรพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โดยมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ และร้อยละ 39 เป็นชาวนา หรือประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยรพ.ได้เก็บตัวอย่างปัสสาวะ และส่งวิเคราะห์ที่มหิดล พบว่า มีสารไกลโฟเสต และสารพาราควอต ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะมีความเสี่ยงรับสารไกลโฟเสตกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไปถึง 11.9 เท่า และมีความเสี่ยงรับสารพาราควอตมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 1.3 เท่า ที่น่าตกใจคือ แม้ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่หากอาศัยอยูใกล้พื้นที่เกษตรกรรมก็มีความเสี่ยงด้วย รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยในบ้านเดียวกัน แต่ทำงานในพื้นที่เกษตร หญิงตั้งครรภ์ก็มีความเสี่ยงด้วย
ผศ.สุพัตรา ปรศุพัฒนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการวิจัยสารคลอร์ไพริฟอสกับผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง ว่า สารดังกล่าวเป็ฯสารกำจัดศัตรูพืชที่เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งรับประทาน การหายใจ สัมผัสทางผิวหนัง โดยเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าสู่กระแสเลือด และสู่สมอง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาการ และอาจส่งผลต่อความผิดปกติทางอารมณ์ ภาวะซึมเศร้า โดยสารดังกล่าวเมื่อเข้าสู่ร่างกายแม่ก็จะถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ได้ทันที โดยที่ผ่านมาได้ศึกษาในหนูทดลอง โดยให้สารดังกล่าวกับหนูซ้ำๆในขนาดต่างกัน พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีอารมณ์คล้ายภาวะซึมเศร้า โดยเอาหนูไปว่ายน้ำกลับไม่ว่าย แต่ยอมจมน้ำ ซึ่งผิดธรรมชาติของสัตว์ นอกจากนี้ในสหรัฐมีการสำรวจประชากรอาชีพเกษตรกรรมกว่า 5 หมื่นคนเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการรับสารดังกล่วและการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย พบว่าในกลุ่มที่รับสารคลอร์ไพริฟอสในขนาดสูง เฉลี่ยทำงานคลุกคลีกับสารเคมีนี้ประมาณ 56 วันต่อปีจะมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 2.37 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ได้รับสารนี้
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน กล่าวว่า ปี2559 ไทยแพนได้มีการตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้รวมประมาณ 296 ตัวอย่าง ซึ่งแน่นอนยังพบสารตกค้างมากกว่า 480 ชนิด ที่น่าสังเกตคือ เป็นผักผลไม้ในห้างโมเดิร์นเทรด ทำให้คิดว่าการซื้อผักผลไม้ในตลาดอาจปนเปื้อนน้อยกว่าหรือไม่ โดยสารที่มีปัญหาที่สุด คือ สารคาร์เบนดาซิม พบในตัวอย่างแทบทุกชนิด เรื่องนี้จึงต้องร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ต้องช่วยการตรวจสอบสม่ำเสมอ และหาทางป้องกันการใช้สารเคมีเหล่านี้ เนื่องจากผลกระทบไม่ใช่แค่ปลายทางที่การบริโภคเท่านั้น ต้นน้ำ กลางน้ำ
ที่มา : มติชน วันที่ 8 พ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.